คุณค่าของเหรียญ 1 เยน/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

คุณค่าของเหรียญ 1 เยน

 

ญี่ปุ่นมีเงินเหรียญที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือ 100 เยน 50 เยน 10 เยน 5 เยน และ 1 เยน เหรียญ 1 เยน ทำด้วยอลูมิเนียมเบาๆ มีขนาดพอๆกับเหรียญ 1 บาทของไทย มีมูลค่าประมาณ 0.28 บาท หรือมากกว่า 1 สลึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน

ในชีวิตประจำวัน เหรียญ 1 เยนใช้กันกว้างขวาง ทั้งราคาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต และราคาสินค้าในห้างสรรพสินค้าเมื่อคิดรวมภาษีผู้บริโภค(消費税)แล้ว ในแต่ละวันมีโอกาสได้สัมผัสเหรียญ 1 เยนและเหรียญต่างๆเสมอ

ญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่อยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระราคาค่าสินค้าให้ทันกับเทคโนโลยียุคปัจจุบัน กลายเป็น “สังคมไร้เงินสด”(キャッシュレス社会) ยิ่งเมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนก็ยิ่งพากันหลีกเลี่ยงการสัมผัสธนบัตรและเหรียญต่างๆ การชำระเงินในปัจจุบันจึงเห็นเป็นเพียงตัวเลขที่เข้าหรือออก ไม่ได้รู้สึกหรือจับต้องตัวเงินจากกระเป๋าที่จ่ายออกไป

ราคาขนมปังเมื่อรวมภาษีผู้บริโภค

 

วันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา Japan Post Bank(ゆうちょ銀行)(ธนาคารรัฐวิสาหกิจของไปรษณีย์ญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของ JP Holdings Group ) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใกล้ชิดประชาชน มีที่ทำการอยู่ที่เดียวกับที่ทำการไปรษณีย์ มีสาขาทั่วประเทศ ได้ประกาศคิดค่าธรรมเนียมการฝากเงินเหรียญ ตามอย่างธนาคารใหญ่หลายแห่งที่คิดค่าธรรมเนียมไปก่อนหน้านานหลายปีแล้ว

ธนาคารให้เหตุผลว่า ต้องแบกรับต้นทุนเครื่องนับเหรียญ ค่าซ่อมเครื่อง ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น และยังมีค่าเก็บรักษาเหรียญ ค่าขนส่ง เป็นต้น เนื่องจากประชาชนต่างพากันเลี่ยงธนาคารใหญ่ๆที่คิดค่าธรรมเนียม มาฝากที่ Japan Post Bank ที่พึ่งสุดท้ายของคนมีเหรียญเยอะ และอีกประการหนึ่งคือ เมื่อโควิด–19 แพร่ระบาด ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ผู้คนก็เลยมีเวลามากขึ้น เลยนำเงินเหรียญที่ไม่เคยใส่ใจ กองรวมเป็นกล่องออกมานับ แล้วนำมาฝากที่ธนาคารกันเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการฝากผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ไม่เกิน 25 เหรียญ ค่าธรรมเนียม110 เยน (31 บาท) และรับสูงสุดไม่เกิน 100 เหรียญในแต่ละครั้ง มีค่าธรรมเนียม 330 เยน (93 บาท) ส่วนการฝากที่เคาน์เตอร์ 50 เหรียญแรกไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่ 50 เหรียญถัดไป คิด 550 เยน (154 บาท) ทีเดียว และรับสูงสุด 1,000 เหรียญ มีค่าธรรมเนียมโหดไม่น้อย คือ 1,100 เยน (308 บาท)

ลูกค้านับเงินเหรียญจ่ายค่าสินค้า

ประชาชนทั่วไป ที่มีเงินเหรียญเก็บไว้จนลืม แล้วเอาออกมานับ ต้องไม่ลืมคำนวณค่าธรรมเนียมก่อนจะไปฝากธนาคารกันแล้ว แต่…ยังมีร้านค้าที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินเหรียญจำนวนมากทุกวัน

มาฟังเรื่องราวนี้กันดู จะมีใครคิดบ้างไหมว่าเพียงเงินเหรียญเล็กที่สุด 1 เยน ก็มีความหมายสำหรับคนบางกลุ่มในสังคม

ร้านขนมปังแห่งหนึ่งที่จังหวัดชิบะ ร้านนี้บริหารงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NPO) จ้างพนักงานซึ่งเป็นผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ ขนมปังแต่ละชิ้นเขียนราคาชัดเจน เป็นรวมภาษีผู้บริโภคแล้ว แสดงเป็นเศษ 1 เยน เช่น 108 เยน 151 เยน เป็นต้น

ร้านนี้อยู่ใกล้ๆโรงพยาบาล ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่มาโรงพยาบาล หรือเป็นผู้สูงอายุในละแวกนั้น ในร้านมีที่นั่งให้กินขนมปังและเครื่องดื่ม เจ้าของร้านพูดคุยทักทายเป็นกันเองกับลูกค้าเสมอ เมื่อราคาวัตถุดิบต่างๆขึ้นราคากันถ้วนหน้า เจ้าของร้านพยายามลดต้นทุนอย่างเต็มที่ อยากให้ทุกคนได้กินขนมปังที่มีราคาถูกเท่าที่จะทำได้ ส่วนที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวก็ขึ้นราคาเป็นหลักหน่วย 1 เยน

ทางร้านไม่คิดจะเปลี่ยนมาใช้การโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นตามกระแส “สังคมไร้เงินสด” ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมและกลายเป็นต้นทุนไปอีกทั้งๆที่ไม่ได้มีกำไรมากมาย อีกประการหนึ่ง ลูกค้าผู้สูงวัยต่างก็ไม่คุ้นกับเทคโนโลยีล้ำยุค แต่ที่ร้านยินดีรับเงินสด เป็นผลให้แต่ละวันมีเงินเหรียญจำนวนไม่น้อย บางวันเกิน 1,000 เหรียญทีเดียว

พนักงานผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ฝึกนับเงินยอดขายที่เป็นเหรียญ

ลูกค้าวัย 80 ปีบอกว่า ไม่มีสมาร์ทโฟน และใช้แต่เงินสดเท่านั้น เคยไปร้านอื่นๆ พนักงานมีท่าทีเร่งรัดและรำคาญการนับเงินเหรียญ ก็จำต้องจ่ายเป็นธนบัตร แต่ที่ร้านนี้ค่อยๆนับเหรียญไป คุยกันไป ไม่เคยเร่งคนแก่อย่างเราๆ ขอบคุณที่ทางร้านยังรับเงินเหรียญและเงินสด

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง เจ้าของร้านบอกว่าแต่ละวันที่ผ่านไปใน 1 เดือน สามารถสังเกตได้ถึงลักษณะการชำระเงินที่ต่างกันไป เช่น วันที่เงินบำนาญเข้าบัญชี ลูกค้าก็จะชำระเงินด้วยธนบัตรใบใหญ่ แต่ถ้าเป็นช่วงวันก่อนหน้าวันที่เงินบำนาญเข้า เงินในกระเป๋าเริ่มร่อยหรอ ลูกค้าจะชำระเงินด้วยการค่อยๆนับเงินเหรียญรวมกัน ซึ่งที่ร้านอื่นๆลูกค้าต้องเกรงใจเวลาจะจ่ายเงินเหรียญ

คงไม่มีใครคิดว่าเงินเหรียญเหล่านี้ยังมีความหมายต่อพนักงานที่ไม่เหมือนพนักงานทั่วไป เนื่องจากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมด 30 คน เป็นผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่เป็นแรงงานในการผลิตเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ต้อนรับลูกค้า นำขนมปังไปส่งที่โรงเรียนหรือสถานสงเคราะห์ต่างๆในเมืองด้วย เมื่อเสร็จภารกิจในแต่ละวันเขาจะมีส่วนร่วมในการนับยอดขาย ตัวอย่างเช่นวันนี้ มีเงินเหรียญถึง 589 เหรียญ

เมื่อพนักงานผู้บกพร่องทางการเรียนรู้มีโอกาสจับต้องเงินเหรียญ ไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้จำนวนและตัวเลขเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้ราคาของสินค้า สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการสำคัญในการฝึกฝนให้มีพัฒนาการเพื่อมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองในอนาคต เมื่อฝึกฝนต่อเนื่องประมาณ 1 ปี พบว่าเขาได้ตระหนักรู้ถึงค่าของเงินที่ได้รับเป็นค่าจ้าง ถ้าทุกอย่างจบด้วยการชำระเงินแบบไร้เงินสด เขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

ในเดือนเมษายนนี้ ธนาคารท้องถิ่นเล็กๆก็จะเริ่มคิดค่าธรรมเนียมการฝากเงินเหรียญอีก เจ้าของร้านบอกว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทางร้านจะต้องขึ้นราคาขนมปังเป็นหลัก 10 เยน ถ้าจะคิดค่าธรรมเนียม ช่วยเอามาจ่ายค่าแรงเพิ่มให้ผู้พิการที่ไม่ได้รับค่าแรงสูงนัก ไม่ดีกว่าหรือ

คนญี่ปุ่นถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กให้รู้จักคุณค่าของเงินแม้เพียง 1 เยน แต่เมื่อนำไปฝากธนาคารกลับถูกปฏิบัติอย่างกีดกัน แล้วผู้ใหญ่จะฝึกวินัยเรื่องค่าของเงินให้เด็กรุ่นต่อไปอย่างไร

นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีผู้ต้องรับผลกระทบจากมาตรการคิดค่าธรรมเนียมฝากเงินเหรียญอีก เช่น วัดต่างๆทั่วประเทศที่มีกล่องรับเงินบริจาค(賽銭箱)หรือมูลนิธิต่างๆที่ตั้งกล่องรับเงินบริจาคตามที่ต่างๆ ซึ่งมักได้รับเป็นเงินเหรียญ เมื่อต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการฝากให้ธนาคาร ก็คือ หักจากเงินบริจาคนั่นเอง แม้ขณะนี้เงินบริจาคเพื่อช่วยภัยพิบัติหรือการกุศล(義援金)ธนาคารยังยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ก็ตาม

การปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่…ไม่ควรมีใครถูกลืมทิ้งไว้เบื้องหลัง เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านั้นเอง…