อภิญญ ตะวันออก : แด่หนุ่มสาว (13) : บนเขตคามนักล่าและโชคชะตา-บันดาล

การเดินทางที่พบพานความประหลาดครั้งนั้น ทำให้ฉันรำลึกถึงพื้นที่อันน่าจดจำ เช่นอำเภอถาลาบริวัตซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเคยเป็นอดีตอาณาจักรเก่าแก่ ทั้งการชมปราสาทที่ปรักหักพังและจารึกศิลาที่ถูกทิ้งร้างไว้เช่นเมืองเก่าที่ถูกหลงลืมแห่งนี้

ข้ามมาฝั่งขวาของแม่กง/โขงที่อำเภอสมโบร์ บริเวณที่มีแอ่งวังใต้น้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม-ปลาข่าหัวบาก การได้ซุ่มดูสัตว์ใหญ่ชนิดนี้โผล่ขึ้นมาหายใจกลางแม่โขงคราวหนึ่งช่างเป็นเรื่องที่ปลาบปลื้มใจ

ทั้ง 2 แห่งเขตกระแจะนี้ ทำให้ฉันเห็นตัวเองมีผิวแก้มที่สุกปลั่งจากเปลวแดดฤดูร้อน ที่ทำให้ค้นพบถึงความสุขจากการผจญภัย

ไม่แปลกใจว่า ทำไมกระแจะจึงเป็นเมืองในดวงใจ กล่าวตามตรง พวกบารังมักมีนิสัยหลงรักเขตคามซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง ใกล้แม่น้ำ ทะเล ที่เหมาะต่ออุปนิสัยรักการผจญภัย ซึ่งเมื่อไล่เรื่อยลงมาตามรอยตะเข็บแม่โขงนั้น ความสำเร็จในหน้าที่ของมิชชันนารียุคบุกเบิกอาณานิคมยิ่งเด่นชัดเช่นกำปงจามที่เต็มไปด้วยเรื่องราว

จึงไม่แปลกตรงที่เมืองอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญอย่างพระตะบองที่เขมรถือเป็นเมืองใหญ่อันดับสองยุคนั้นต่างหาก ที่บารังไม่สู้จะสนใจแถมยังระแวง จัดเป็นแค่เมืองหน้าด่าน เขตอันตรายที่กบฏชนมักหลบไปซ่องสุม ต่างจากกระแจะ กำปงจาม และกำโปดที่ได้รับการโปรโมตอย่างต่อเนื่อง

แต่เมืองที่ฉันมักหลงลืมว่ามีดีอีกแห่งคือกำปงจาม ซึ่งนอกจากโบราณสถานแล้ว ยังเป็นเขตเกษตรกรรมสำคัญ โดยเฉพาะที่เกาะทรายขาว เกาะสุติน บริเวณที่ฉันคิดว่าตัวเองเคยไปที่นั่น แต่ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่ามีเกร็ดบางอย่างทางประวัติศาสตร์

ฉันชอบบรรยากาศที่เกาะแห่งนี้มาก แต่เหตุที่ไปในตอนฤดูแล้ง จึงจินตนาการไม่ออกถึงตอนฤดูน้ำหลากจึงมีลักษณะที่ถูกตัดขาดจากอีกเขตหนึ่ง แต่ก็เป็นพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำจนต้องก่อสร้างสะพานไม้ไผ่เหยียดยาวสำหรับให้ชาวบ้านด้วยการเดินเท้าและจักรยานยนต์เพื่อข้ามไปยังฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งชุมชนและเขตเพาะปลูกยาสูบจำนวนมาก

และนั่นเองที่ทำให้ฉันประมวลบางฉากตอนของงานเล่ม : Colonial Cambodia”s “Bad Frenchmen” the rise of French rule and the life of Thomas Caraman, 1840-87 ของ Gregor Muller ซึ่งกล่าวถึงเกาะหนึ่งใน 2 แห่งของกำปงจาม

และหนึ่งในนั้นคือเกาะสุตินหรือเกาะออกญาไตยในสมัยพระบาทนโรดม

 

ลําพังเห็นยาสูบนับพันนับหมื่นต้นไกลลิบสุดลูกหูลูกตา อย่างน่าตื่นตาตื่นใจที่กำปงจามครานั้น

พลัน การรำลึกถึงชีวิตเยาว์วัยสมัยที่เพิ่งรู้จักต้นกล้าอ่อนๆ เช่นต้นข้าวไร่ ตอนที่เราเพิ่งลงมือปลูกใหม่ๆ เม็ดพันธุ์ข้าวคลุก DDT ดีดใส่ในดินที่ถูกไม้สัก/ตำเป็นหลุมเล็กๆ คราวละ 4-10 เม็ด แล้วใช้กระบอกไม้อีกข้างทิ่มลงเพื่อกลบดินป้องกันสัตว์นกหรือแมลงลงมากิน

แต่ยาสูบนั้น เป็นพืชดินทรายที่มักปลูกกันริมเนินแม่น้ำหลังฤดูน้ำหลาก และทิ้งคราบดินทรายที่มีความสมบูรณ์ การเรียนรู้เหล่านี้เกิดขึ้นตอนที่ยังเป็นด็ก นับเป็นความทรงจำที่แนบแน่น ราวกับว่า พืชพันธุ์เหล่านั้นรวมทั้งกัญชา ต้นกระท่อม กล้วยป่า สวนยางพาราและอื่นๆ คือสหายรักแห่งฤดูกาลของฉัน ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชสวน ไม้ ป่าที่น่าจดจำ

และฉันมักใช้เวลาส่วนใหญ่ในกัมพูชา ช่วงหลายปีที่ผ่านมาไปกับการทัศนาสิ่งเหล่านี้

แต่นั่นคือปี 2540 ที่กัมพูชานอกจากข้าวและยางพาราแล้ว พืชเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวอื่นๆ ยังประปรายเช่นปาล์มน้ำมัน แต่ยาสูบในเขตที่ราบขนาดใหญ่กำปงจามนั้น ช่างแปลกตาและน่ารื่นรมย์นัก

ดังนี้ ฉันจึงพอจะประมวลว่าทำไมตัวละครอย่าง เฟเดอริก โธมัส การามัน ในงานของ Gregor Muller จึงตกหลุมรักเกาะออกญาไตยอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และ พลัน โธมัส การามัน จึงกลายเป็นสิ่งที่โลดแล่นอยู่ในจิตใจของฉันถึงความพยายามที่จะบุกเบิกเกาะออกญาไตย ให้เป็นกิจการไร่ฝ้ายพืชเชิงเดี่ยวแห่งยุคอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่สร้างรายได้มหาศาล และสำหรับนักบุกเบิกที่ครอบครองกิจการนี้ในยุคแรก และสำหรับโธมัส การามัน ชายผู้มีความฝันที่ยิ่งใหญ่ กว่าคำใดทั้งหมด

โดยครั้งหนึ่ง ตอนที่ยังหนุ่มและอยู่ในฝรั่งเศส โธมัส การามันเคยขอทุนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อการสำรวจทิเบต พม่าและสยาม แต่ช่างบังเอิญที่เขาตัดสินใจไปกัมพูชา และขายฝันความคิดที่พิสดารต่อฝ่ายทางการอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะ ความต้องการสัมปทานเกาะออกญาไตยมาเป็นของตนอย่างเอกเทศ แต่มันไม่ง่ายเลยสำหรับกัมพูชาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ยังเดินมาไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม การามันดูจะมีทักษะแห่งการเจรจา จนเขาสามารถโน้มน้าวให้พระบาทนโรดม (2377-2447) พระราชทานที่ดินผืนงาม ซึ่งเดิมคือของออกญาไตยที่ทรงประทานให้ แต่สำหรับโธมัส การามันแล้ว ยังโปรดปรานถึงกับประทานเงินกู้ยืมให้อีกส่วนหนึ่งด้วย

ด้วยเหตุนั้น โธมัส การามันจึงขายฝันอาศัยเหตุนี้ของทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อออกเครดิตเงินกู้อีกเป็นจำนวน 6,000 เปียซ์ สำหรับลงทุนปลูกฝ้ายที่ยิ่งใหญ่ของตน

 

เมื่อทบทวนย้อนคิดว่า เหตุใดกษัตริย์เขมรซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์และยังไม่รู้จักยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนเกิดความหลงใหล ในโปรเจ็กต์ไร่ฝ้ายของการามัน และทรงร่วมทุนด้วยเล่า?

ลำพังรายได้ที่มาจากสัมปทานค้าฝิ่นของพ่อค้าจีนในพนมเปญ ก็พอจะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่สำนักพระราชวัง

แต่ทรงกลับวางพระทัยต่อชายหนุ่มชาวบารังผู้นั้น จนถึงกับต่อมาได้ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองร่วมกัน นอกเหนือจากความสัมพันธ์ช่วงต้น ที่การามันอ้างว่า เคยก่อตั้งโรงเรียนสอนหนังสือเชื้อพระวงศ์และลูกหลานข้าราชบริพารมาระยะหนึ่ง

นั่นก็พอจะทำให้เชื่อว่า ทำไมการามันจึงได้รับการไว้วางใจ แม้ว่าพระบาทนโรดมจะไม่ทรงเข้าใจการผลิตฝ้ายเพื่อส่งป้อนโรงงานในฮ่องกงหรือสหรัฐอเมริกา (แต่ก็นับว่าประหลาด ที่กัมพูชาปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าของอเมริกาไป)

ทำให้ฉันอดขบคิดต่อไปไม่ได้ นั่นคือการที่ทรงตระหนักแก่พระทัยดีว่า บริเวณกำปงจามที่ทรงประทานนั่นหนา ยังเป็นเขตซ่องสุมกลุ่มกบฏขององค์สีวัตถา พระอนุชาต่างมารดาที่หวังจะชิงราชบัลลังก์และกลายเป็นกบฏหลวง

พระบาทนโรดม คงไม่ได้ตกหลุมรักการามันในความบ้าบิ่นแปลกๆ เหมือนฉัน แต่ก็ทรงจะทราบดีหรอกว่า การประทานที่ดินบริเวณนั้นเพื่อต้านอิทธิพลองค์สีวัตถา ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อพระองค์มากกว่า เรื่องการการค้าฝ้ายอะไรนั่น

หากแต่เฟเดอริก โธมัส การามันต่างหาก ที่เป็นแค่หมากขุนตัวหนึ่ง

และตรงกันข้าม นอกจากการามันจะไม่ได้ใช้คืนสักหนึ่งเรียล หนึ่งฟรังก์หรือหนึ่ง เปียซ์แล้ว

เขายังกลายเป็นแกะดำในฐานะ “คนเลว” ที่ติด “แบล็กลิสต์” ของทางการมากกว่าหนึ่งศตวรรษ

 

โธมัส การามัน ก็เสียชีวิตจากอาการกึ่งตรอมใจด้วยวัยเพียง 47 ปี ในปี พ.ศ.2430 ในฐานะบุคคลล้มละลาย ล้มเหลวและโดดเดี่ยว ที่อาจสันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุสำคัญ

แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม ผ่านไปราวหนึ่งร้อยสามสิบปีเศษ นับตั้งแต่ วันแรกที่การามันนำเข้าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายจากอียิปต์เพื่อนำไปเพาะปลูกที่เกาะออกญาไตยถิ่นฐานเก่าแก่ ระบอบกษัตริย์เขมรเคยปกครองและตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ในต่างยุคกาละสมัย แทบไม่น่าเชื่อว่า วิสัยทัศน์ดังกล่าว ยังเป็นมรดกทางการเมืองที่สมเด็จฮุน เซนนำมาเป็นกุศโลบายโดยเฉพาะตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในฐานะบุรุษผู้ได้ชื่อว่า สะสม “ออกญา” ในฐานะนอมินี “ตัวแทนถือครอง” อำนาจของตนอย่างสมด้วยบารมี ซึ่งออกญาเหล่านี้ บ้างก็เคยทำความดีความชอบ

สมัยที่ยังลำบาก ต้องกำราบปราบปรามฝ่ายอริการเมืองอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการตอบแทนความชอบ ออกญาคนหนึ่งจึงได้คุมกิจการน้ำมัน: แห่งโซกิเม็ก

ส่วนอีกคนหนึ่งซึ่งเคยอาศัยธุรกิจกัญชา และหมุนเงินสีเทา เพื่อสนับสนุนการทำรัฐประหาร ต่อมาเขาได้รับการปูมบำเหน็จเป็นออกญา ผู้สนใจกิจการเกษตรกรรมปาล์มน้ำมัน ยางพารา และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การร่วมทุนต่างชาติ จนสามารถเกิดอัตราการว่าจ้างแรงงานกว่าหมื่นตำแหน่ง : แห่งมง ฤทธี

แต่ทว่า เมื่อเกษตรกรรมสมัยใหม่ได้เปลี่ยนโฉมหน้า กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติ การลงทุนกึ่งมหภาคแบบนั้น ออกญา-นอมินีสมเด็จบางคน ผู้ครอบครองสัมปทานนับหลายพันแฮกตาร์ทางตอนล่างจังหวัดพระวิเหียร์ และกลายเป็นแหล่งผลิตพริกไทรวมทั้งพืชไร่เกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ร่วมทุนประเทศจีน

ความก้าวหน้าที่สำเร็จนี้ มีไปอีกขั้นนั่นคือ การสมรสระหว่างออกญาเขมรกับมหาเศรษฐีจีน รวมทั้งรุ่นลูกหลานของเครือญาติในตระกูลสมเด็จ ที่ทำให้เครือข่ายความสัมพันธ์ของพวกเขากลายเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจ

ทำให้ฉันนึกถึงตระกูลการามัน-สัญลักษณ์ของความเป็นตะวันตก- “ตัวแทนแห่งความฝัน ความอับโชคและความตายที่ทิ้งไว้ ณ ประเทศนี้”