ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | นงนุช สิงหเดชะ |
เผยแพร่ |
การถือโอกาสช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ 43 องค์กรน่าจะเป็นการหวังผลตีเหล็กร้อนๆ เพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าด้วยเวลาเท่านี้ฝ่าย คสช. และผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่มีโอกาสชี้แจงข้อกล่าวหาด้านลบที่คนกลุ่มนี้หยิบยกขึ้นมาได้ทันและครบถ้วน
อีกทั้งอาจหวังผลว่าประชาชนที่ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ (เชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครได้อ่านละเอียดหรือแม้กระทั่งสาระสำคัญ) และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ อาจจะคล้อยตามประเด็นลบที่กลุ่มนี้หยิบขึ้นมานำเสนอ
โดยเฉพาะการหยิบยกความน่ากลัวเรื่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่อ้างว่าลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และลดการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนเพราะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนจนยากไร้จึงจะใช้สิทธิได้
อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันลงมติว่าประชาชนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยังต้องลุ้นกันตัวโก่งว่าจะไปในทิศทางไหน
เนื่องจากโพลที่ออกมา เช่น โพลนิด้า พบว่าประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 65 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ
ขณะที่หากดูเฉพาะกลุ่มที่ตัดสินใจแล้วนั้น พบว่าร้อยละ 26.33 ตัดสินใจรับ ร้อยละ 6.20 ไม่รับ
ดังนั้น คงต้องรอคะแนนของกลุ่มที่ไม่ตัดสินใจเกือบร้อยละ 65 ว่าจะมาเทให้กับฝั่งรับหรือไม่รับมากกว่ากัน
แม้จะมีบางคนประเมินว่าการออกมาของ 43 องค์กร จะมีน้ำหนักมากในการคว่ำรัฐธรรมนูญ เพราะดูอลังการ อ้างว่าประกอบด้วยคนทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน
แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าจะมีพลังมากจริงหรือไม่
ในสภาวะที่คนเบื่อหน่ายการเมืองมากเช่นนี้ เบื่อหน่ายมากในระดับที่ประชาชนทั่วไปไม่อยากเชื่อน้ำมนต์ใครอีกแล้ว แม้กลุ่มเหล่านั้นจะเป็นนักวิชาการ เอ็นจีโอ หรืออะไรก็ตามเถอะ เพราะล้วนแล้วแต่เป็นหน้าเก่าๆ เดิมๆ แม้จะมีหลายองค์กรจนฟังดูขลังก็เถอะ เพราะหลายคนก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดีว่าเป็น “ขาประจำ”
เพราะในส่วนผสมของความอลังการดูยิ่งใหญ่ เสมือนว่ามีความเป็นกลาง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หน้าที่แหลมออกมาโดดเด่นในขบวนการนี้ก็คือ “หน้าแดง” ที่มีการส่งตัวแทนออกมาเปิดหัวปิดท้ายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นลำดับขั้นตอนรับลูกกันอยู่ 2-3 วันต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน แม้จะมีคนจากพรรคประชาธิปัตย์บางกลุ่มออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าจะสามารถโน้มน้าวแฟนคลับประชาธิปัตย์ (ที่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเหลืออยู่กี่มากน้อย เพราะจำนวนไม่น้อยไปอยู่กับซีก กปปส. ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ได้หรือไม่
เผลอๆ การโน้มน้าวของพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจกลายเป็นบูมเมอแรง เกิดกระแสตีกลับก็เป็นได้ ในยามที่ประชาชนเบื่อหน่ายนักการเมืองมาก และมองว่าพรรคการเมืองไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาเดือดร้อนดิ้นรนกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และที่ผ่านมาก็มีแต่นักการเมืองทั้งนั้นสร้างปัญหาให้บ้านเมือง และตอนมีอำนาจปกครองก็ไม่เห็นทำอะไรให้ดีขึ้น
นักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่กล้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่กล้าเก็บภาษีมรดกเพราะเกรงจะกระทบพวกเดียวกันเอง แม้แต่พรรคที่อ้างว่ารักคนจนมาก อยู่ฝ่ายเดียวกับคนจนเป็นพิเศษก็ไม่เห็นกล้าหาญทำสิ่งนี้ ทั้งที่นี่คือมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคมที่ต้องอาศัยความกล้าหาญและเจตจำนงอันจริงใจของนักการเมืองอย่างมาก
นักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่กล้าจัดระเบียบสังคม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่ว่ายุคของใคร
แต่ คสช. ทำสิ่งที่นักการเมืองไม่เคยทำ หรือไม่กล้าทำ
นักการเมืองจากการเลือกตั้งปล่อยให้นายทุนรุกป่าจนเกือบเกลี้ยงประเทศ แต่ยุค คสช. ยึดคืนมาได้นับแสนไร่ แม้จะมีเสียงค่อนขอดจากฝ่ายตรงข้ามว่าเน้นยึดเฉพาะที่ดินทำกินของชาวบ้าน คนจน ไม่ยึดของนายทุน แต่หากดูจากข้อเท็จจริง ทุกคนย่อมรู้ว่ามีจำนวนมากที่ยึดคืนจากนายทุน
บางคนหวังผลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำให้ คสช. ถูกกดดันจนอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะถือว่าขาดความชอบธรรมแล้ว
แต่อย่าลืมว่า คสช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีความชอบธรรมอะไรต้องเสีย อีกอย่าง คสช. ไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองโดยตรง ดังนั้น ประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่านย่อมไม่มีผล เพราะหัวหน้า คสช. พูดไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องเลือกตั้งปี 2560 เหมือนเดิม
ดังนั้น ใครจะอ้างเหตุผลอะไรมากดดันให้ออกก่อนปี 2560 จึงอาจจะยากสักหน่อย
หากวันที่ 7 สิงหาคม ประชามติไม่ผ่าน แล้วมีกลุ่มคนหน้าเดิมๆ โดยเฉพาะนักการเมืองออกมาฉวยโอกาสสร้างความปั่นป่วนเพื่อกดดันให้ คสช. ลาออกหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพวกนักการเมืองที่เสียประโยชน์ สังคมและประชาชนจะเห็นว่าพวกนี้ก็แค่กระหายจะเลือกตั้ง เพื่อนำประเทศไปสู่วังวนเดิมๆ
สิ่งที่สังคมและองค์กรต่างๆ ควรรณรงค์อย่างแข็งขันไม่แพ้กันในขณะนี้คือการรณรงค์ให้นักการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองให้ได้ก่อน ให้สัญญาว่าหลังมีการเลือกตั้ง นักการเมืองพวกนี้ต้องทำตัวดีกว่าเดิม เปลี่ยนนิสัยใหม่ ไม่สร้างความแตกแยก
ไม่ปกครองประชาชนโดยเน้นความแตกแยก จับประชาชนสองฝ่ายมาสู้กัน แยกอีสาน-เหนือออกจากภาคอื่นๆ ปลุกเร้าให้มวลชนของตัวเองเกลียดภาคอื่น เกลียดคนชั้นกลาง ชั้นสูง คิดว่าเมื่อเป็นเสียงข้างมากแล้วตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ แล้วทำอะไรกับคนอื่นที่ไม่ใช่ฐานเสียงของตัวเองก็ได้
นักการเมืองที่ปกครองด้วยการแบ่งแยก นักการเมืองที่ชอบพูดว่า จังหวัดไหนไม่เลือกพรรคของข้า ก็ไม่ต้องได้รับงบประมาณ หมดไปจากการเมืองของไทยหรือยัง ถ้ายังก็ต้องหันไปทบทวนความน่าละอายของตัวเอง และเรียกร้องตัวเองให้มีมาตรฐานสูงขึ้น
นาทีนี้ รณรงค์ให้นักการเมืองแก้ไขตัวเอง ปฏิรูปตัวเอง จำเป็นกว่ารณรงค์ให้คว่ำรัฐธรรมนูญหรือแก้รัฐธรรมนูญใหม่เสียอีก