“มงกนปี๋ไหม่แก้ว” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“มงกนปี๋ไหม่แก้ว”

 

อ่านว่า “มงกนปี๋ไหม่แก้ว”

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเวลาจากปีเก่าขึ้นสู่ปีใหม่ของชาวล้านนาแต่โบราณกาล และสิ่งที่ต้องการทั่วไป คือหวังจะให้สิ่งที่เลวร้ายในปีที่ผ่านมาตกไปกับปีเก่า ขณะเดียวกันก็อยากให้สิ่งที่ดีๆ บังเกิดขึ้นในปีใหม่ที่จะมาถึง

กิจกรรมทางความเชื่อจึงถูกคิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว จนกลายเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา

กิจกรรมทางความเชื่อในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บางอย่างรางเลือนไปบ้าง บางอย่างยังดำรงอยู่ และเพื่อเป็นการทบทวนในแง่ของการปฏิบัติ

ในที่นี้ขอเสนอวิธีปฏิบัติโดยจะเลือกเอาเฉพาะที่เป็นที่นิยมโดยองค์รวม ซึ่งจะอาศัยวันในช่วงนี้เสนอแต่ละวันสำคัญอันได้แก่ วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวันและวันปากปีต่อไป

 

วันแรกตรงกับวันมหาสงกรานต์ เรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” ถือเป็นวันสิ้นปี

ควรทำความสะอาดเคหสถาน ที่อยู่อาศัย ที่นอนหมอนมุ้ง พร้อมกระทำพิธีสระเกล้าดำหัวด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ให้สิ่งเก่าๆ หลุดร่วงไปกับปีเก่า

ปลูกพืชไม้เถาประเภท ฟัก แฟง แตงร้าน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองอายุยืนยาว

และสิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งคือ โบราณท่านห้ามเสพเมถุนในวันสังขานต์ล่องโดยเด็ดขาด

หากผ่าฝืนจะมีผลทำให้ชีวิตมีแต่ความมัวหมอง ตกต่ำไปตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

วันต่อมาคือวันเนา ล้านนาว่า “วันเน่า” ถือเป็นวันสุกดิบ สิ่งมงคลที่ควรทำคืองดเว้นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ อาทิ การด่าทอ ทะเลาะวิวาท และควรจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำไปทำบุญที่วัดในวันรุ่งขึ้น

นอกจากนี้ อาจไปขนทรายเข้าวัดเพื่อร่วมกันก่อเจดีย์พร้อมเตรียมตุงสำหรับปักเจดีย์ในวันพญาวันด้วย


วันนี้ก่เป๋นวันดี ปี๋ใหม่แก้วก่มาฮอดมาเถิง
แปลว่า วันนี้เป็นวันดี ถึงวันปีหม่แล้ว

 

ถัดมาเป็นวันเถลิงศก คือ “วันพญาวัน” เป็นวันเถลิงศก

ช่วงเช้าควรเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับบุญกุศลวิญญาณ ความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

กล่าวคือ ไปทำบุญที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ พร้อมอุทิศถึงเทวดา เจ้ากรรมนายเวร แล้วสรงน้ำพระเจดีย์ พระพุทธรูป และปักตุงที่เจดีย์ทราย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะอยู่ที่วัด

ส่วนที่บ้านควรจัดเครื่องสักการบูชาแล้วประกอบพิธีบูชาเพื่อขอขมา และแสดงความเคารพต่อสิ่งที่ตนเคารพ เช่น หอเจ้าที่ หอผีปู่ย่า ศาลอารักษ์ เป็นต้น

หลังจากนั้นในขณะที่บางคนอาจถือโอกาสครอบครูเรียนคุณวิเศษ มนต์คาถา ศิลปวิทยาตลอดจนเข้าพิธีสักเสกเลขยันต์ตามความศรัทธาและความเชื่อถือ

กิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะละเลยมิได้คือ การนำน้ำขมิ้นส้มป่อย ดอกไม้ธูปเทียนพร้อมชุดสิ่งของบริวารอาทิ อาหาร ขนม ผลไม้ ปัจจัยที่ควรบริโภคไปมอบแก่ปูชนียบุคคล ได้แก่ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ ผู้มีอุปการคุณ รวมทั้งพระเถรานุเถระ เพื่อขอขมาและบูชาคุณพร้อมรับพรมงคลปีใหม่ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์

สุดท้ายเป็น “วันปากปี” ถือเป็นวันเริ่มต้นชีวิตที่ดี หลายท้องที่จะประกอบพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน ตกเย็นประกอบอาหารอันมีขนุนเป็นหลักเอาเคล็ดค้ำหนุนชีวิต บ้างก็ทำอาหารประเภทลาบเอาเคล็ดทางโชคลาภเป็นประเดิม

บ้างเสริมบารมีด้วยการจุดเทียนมงคลบูชาพระ ซึ่งมักประกอบด้วยเทียนยันต์สืบชาตา สะเดาะเคราะห์และรับโชค เป็นต้น

 

ดังได้กล่าวมาแต่ต้น กิจกรรมต่างๆ ที่ชาวล้านนายึดถือปฏิบัติ

ไม่ว่าจะเป็นการชำระล้างในวันสังขานต์ล่อง

งดการด่าทอทะเลาะวิวาทในวันเน่า

ทำบุญให้ทาน สรงน้ำพระสระเกล้าดำหัวผู้ใหญ่ในวันพญาวัน

ตลอดจนสืบชาตาหมู่บ้านในวันปากปี

ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีงาม เข้ากับหลักธรรมทุกประการ ทั้งการให้ทานด้วยอามิสทาน อภัยทาน การปฏิบัติธรรม เช่น กตัญญูกตเวทิตาธรรม การเจริญเมตตาธรรม และสามัคคีธรรมร่วมกัน

สิ่งเหล่านี้ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งที่ดีๆ ต้อนรับ “ปีใหม่แก้ว” อันเป็นปีที่ควรเรืองรองโรจน์รุ่งดังรัตนชาติอันเลิศแล้ว

ดลบันดาลผลให้เกิดความเป็นสิริมิ่งมงคลในที่สุด •