Less is OK สัมผัสชีวิต ตัวตน และผลงานศิลปะ ของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญผู้ล่วงลับ ชวลิต เสริมปรุงสุข / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Less is OK

สัมผัสชีวิต ตัวตน และผลงานศิลปะ

ของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญผู้ล่วงลับ

ชวลิต เสริมปรุงสุข

 

ในตอนนี้เราขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะน่าสนใจที่ได้มีโอกาสไปดูมากันอีกครา ในครั้งนี้เป็นคิวของนิทรรศการที่มีชื่อว่า Less is OK ที่เป็นการรวบรวมผลงานของ ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยคนสำคัญผู้ล่วงลับ

ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะนามธรรมและ Non objective art (ศิลปะไร้รูปลักษณ์) ทั้งในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ ในระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากจะเป็นการนำเสนอผลงานศิลปะจากหลายยุคสมัยและแต่ละช่วงอายุของชวลิตแล้ว

นิทรรศการครั้งนี้ยังพาผู้ชมเข้าไปทำความรู้จักกับแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตของศิลปินผู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทำงานศิลปะ พลังสร้างสรรค์อันท่วมท้นล้นเหลือ การเปิดกว้างทางความคิดและโอบรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด อีกทั้งแรงบันดาลใจที่ส่งผ่านให้แก่ศิลปินรุ่นหลังมากมาย

หรือแม้แต่แง่มุมส่วนตัวที่น้อยคนจะได้สัมผัส อย่างเรื่องราวความรัก, ความสัมพันธ์, อารมณ์ขัน, ความทะเล้น, ยียวน, ความตรงไปตรงมา, ไม่เสแสร้ง, ทั้งความคิดและฝีปากที่จัดจ้าน, การแต่งตัวที่เปี่ยมสไตล์เฉพาะตัว

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนและบุคคลิกของชวลิตที่ทุกคนที่ได้สัมผัสใกล้ชิดต่างหลงรัก ถูกนำเสนอให้ผู้ชมได้สัมผัสในนิทรรศการครั้งนี้อย่างเต็มเปี่ยม

 

นิ่ม นิยมศิลป์ ภัณฑารักษ์ เล่าถึงกับความเป็นมาเป็นไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“เริ่มจากชื่อของนิทรรศการนี้ ซึ่งมีที่มาจากจดหมายของ อ.ชวลิตที่เขียนว่างานของเขาไม่ใช่ ‘Less is More’ (น้อยคือมาก) แต่เป็น ‘Less is OK’ (น้อยก็โอเค) เราคิดว่าการที่ศิลปินคนหนึ่งจะทำงานที่เรียบง่าย แล้วรู้สึกว่างานของเขาจบและสมบูรณ์ในตัวเอง เราว่าเขาต้องมีความสุขกับชีวิตประมาณหนึ่ง คือชีวิตเขาต้องเติมเต็มอะไรบางอย่างแล้ว เราก็เลยนำเสนอชีวิตของเขาในอีกแง่มุมเบื้องหลังผลงานของเขา”

“เรารู้สึกว่า ด้วยความที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้หลายคนอาจจะไม่เคยเจอ หรือไม่มีโอกาสได้รู้จักเขามากนัก จึงอาจจะไม่ทราบว่านอกจากการทำงานศิลปะแล้ว ยังมีแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจ เราเลยต้องการเล่าเรื่องชีวิตไปพร้อมๆ กับการจัดแสดงผลงานของเขา”

“ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินสมัยเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย, ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป และมาเข้าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี รุ่นสุดท้าย เขายังเป็นหนึ่งในนักศึกษาไม่กี่คนในยุคนั้นที่มีกล้องถ่ายรูป เราก็เลยเอาสำเนาจากรูปที่เขาถ่ายมาจัดแสดง ส่วนใหญ่ก็เป็นภาพถ่ายอาจารย์ศิลป์กับเพื่อนๆ ของเขา”

“ด้วยความที่เขารักอาจารย์ศิลป์มาก และมองอาจารย์ศิลป์เป็นเหมือนพ่อ เมื่ออาจารย์ศิลป์เสียชีวิต เลยทำให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรผูกพันกับประเทศไทย พอได้ทุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เพื่อไปเรียนต่อที่สถาบัน Rijksakademie van Beeldende Kunsten อัมสเตอร์ดัม และได้มีโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นครั้งแรก พบว่าพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นเป็นเหมือนครูคนใหม่ของเขา แต่ท้ายที่สุดก็เรียนไม่จบ เพราะไม่ชอบแนวทางการสอนที่นั่น”

“เขาจึงออกมามุ่งมั่นทำงานเป็นศิลปินอาชีพด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนในที่สุดก็ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในศิลปินในอุปถัมภ์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และได้เงินสนับสนุนทุกเดือน ทำให้ทำงานศิลปะได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องห่วงเรื่องอื่น ก็เลยไม่ได้กลับมาอยู่ที่ประเทศไทยอีก”

 

“ในนิทรรศการยังแสดงผลงานสมัยที่ อ.ชวลิตเรียนจบใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครได้เห็นมาก่อน ซึ่งยืมมาจากคอลเล็กชั่นส่วนตัวหลายแห่ง และมีโปสเตอร์ของนิทรรศการต่างๆ ที่เคยจัดแสดง ทั้งในประเทศไทย และในอัมสเตอร์ดัม เพื่อให้ผู้ชมเห็นว่าเขาเคยแสดงงานที่ไหนมาบ้าง, อย่างในปี 1978 ที่เคยแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ อัมสเตอร์ดัม (Stedelijk Museum)”

“นอกจากนี้ ยังมีข้าวของส่วนตัวที่เขาบริจาคให้ สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย เพราะในช่วงสิบปีหลังของชีวิต รู้สึกไม่อยากเก็บข้าวของเอาไว้ และไม่ค่อยผลิตงานเป็นวัตถุจริงๆ ออกมา จนมาช่วงที่เขาอายุ 80 ถึงมาเริ่มทำงานดิจิตอลแล้วทำเป็นงานภาพพิมพ์อิงก์เจ็ตออกมา เราก็นำผลงานชุดนี้ที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ ’80+ Art Festival Thailand’ นิทรรศการครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2020 มาจัดแสดงด้วย”

“ในนิทรรศการยังมีหนังสือที่ อ.ชวลิตสะสม ซึ่งบริจาคให้ สศร.ทั้งหมด เราก็ไปยืมมาจากห้องสมุดของ สศร. และยังมีการจัดแสดงสำเนาจดหมายที่เขียนถึงเรื่องต่างๆ เอาไว้ ซึ่งสามารถพลิกอ่านได้ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์ ทั้งจดหมายเรื่องการทำงาน”

“อย่างในฉบับหนึ่งเขียนว่า ความสำเร็จในการทำงานศิลปะไม่ใช่การต้องมีคนมาซื้องานหรืออะไร แต่เป็นการที่สามารถทำงานศิลปะได้อย่างมีอิสระตลอดชีวิต”

“หรือจดหมายที่ อ.ชวลิตเขียนถึงอดีตภรรยา (ภาณี มีทองคำ) คือบางคนอาจทราบว่า อ.ชวลิตและคุณภาณี เคยเป็นสามีภรรยากัน แต่ทุกคนอาจไม่รู้ว่าคุณภาณีเองก็เป็นศิลปินเหมือนกัน และเคยแสดงงานด้วยกันด้วย ที่พิเศษก็คือ เรายังได้ผลงานของคุณภาณีมาจัดแสดงร่วมกันในนิทรรศการนี้ และยังได้เสื้อผ้าที่คุณภาณีออกแบบและตัดเย็บให้ อ.ชวลิต และให้ตัวเองใส่ เพราะเธอไปเรียนด้านแฟชั่นที่อัมสเตอร์ดัม มาจัดแสดงอีกด้วย”

“นอกจากนี้ ยังมีส่วนของพื้นที่มัลติมีเดีย อย่างผลงานวีดีโอจัดวาง I was Here The Whole Time (-3,653) (2022) โดยนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา และจักริน เทพวงค์ ที่แสดงให้เห็นช่วงเวลาสิบปีที่ อ.ชวลิตใช้ชีวิตในโซเชียลมีเดีย โดยนำเสนอในรูปแบบของโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของเขาแบบนับถอยหลัง 3,653 วัน ก่อนที่ อ.ชวลิตจะเสียชีวิต เพราะในช่วงนั้นเขาทำงานแบบดิจิตอล”

“อย่างงานชุดหนึ่งที่เขาไปถ่ายรูปผนังพิพิธภัณฑ์ที่อยากแสดงงาน แล้วมาตัดต่อภาพผลงานของตัวเองใส่ลงไปด้วยโปรแกรมโฟโต้ช็อป และโพสต์ลงเฟซบุ๊ก, เรารู้สึกว่าเขาล้ำสมัยมาก เพราะในช่วงนั้นยังไม่มี NFT หรือ Metaverse แต่เขาใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นเหมือนพื้นที่แสดงงาน ซึ่งตอนนั้นเขาก็อายุ 70 แล้วด้วยซ้ำ”

“ในนิทรรศการเราก็จำลองเป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้ผู้ชมเดินเข้าไปในโซเชียลมีเดียของเขา นอกจากนี้ ยังจัดฉายผลงานวิดีโอจัดวาง Though the Mountains Divide, and the Oceans are Wide (2020) และสารคดีสั้น Whether it is Art or Not (2021)”

 

“ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ นอกจากเราจะจำลองส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะจัดวางชุด ‘สุสานเกษตรกร : นาผืนสุดท้ายแห่งราชอาณาจักรสยาม’ ของ อ.ชวลิตมาจัดแสดงแล้ว ยังมีส่วนของผลงาน LESS IS OK WORLD (2022) โดยนวลขนิษฐ์และจักริน ที่ใช้เทคโนโลยี Augmented Reality Filter (เทคโนโลยีที่ผสานภาพเสมือนจริงเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง) ที่นำผลงานของ อ.ชวลิตมาขึ้นรูปใหม่ เพื่อต่อยอดการผสานโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนในจินตนาการของเขาเข้าด้วยกัน โดยผู้เล่นสามารถมีส่วนร่วมในการนำผลงานของชวลิตไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดและโพสต์ทางเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมด้วยแฮชแท็ก #lessisok ที่รวบรวมภาพการเดินทางของผลงานของ อ.ชวลิต เสริมปรุงสุข ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก”

“และท้ายสุดกับผลงาน MESSAGE FROM CHAVALIT (2022) ในรูปของโปสการ์ดพิมพ์จำนวนจำกัดเพื่อเป็นที่ระลึกในนิทรรศการ โดยเป็นสำเนาจากข้อความลายมือของ อ.ชวลิต ที่พูดถึงสิ่งที่เขาให้ความใส่ใจ ทั้งความรัก, ศิลปะ, การทำงานสร้างสรรค์ และสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง โดยเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำงานเพื่อช่วยเหลือสุนัขและแมวเร่ร่อนผ่านมูลนิธิ Thai Love Animal หนึ่งในมูลนิธิที่ชวลิตติดตามอยู่บน Facebook”

“ผู้ชมสามารถบริจาคได้ผ่านกล่องบริจาคที่ติดตั้งอยู่ในนิทรรศการ หรือผ่าน QR code ที่เชื่อมกับบัญชีธนาคารของมูลนิธิโดยตรง”

“ท้ายสุด ยังมีหนังสือ Rest in Progress R.I.P. ที่รวบรวมผลงานศิลปะดิจิตอลและภาพถ่ายของอาจารย์จัดจำหน่ายในงานอีกด้วย”

“นิทรรศการครั้งนี้เราไม่ได้มุ่งเน้นในการนำเสนอเนื้อหาหรือผลงานตามลำดับเวลา แต่เราใช้ผลงานและเนื้อหาเหล่านี้เพื่อขยายให้ผู้ชมเข้าใจถึงชีวิตของ อ.ชวลิต มากกว่า เราอยากให้ผู้ชมได้เห็นชีวิตของศิลปินผู้นี้ผ่านผลงานและข้อมูลหลากหลายรูปแบบในหลากช่วงเวลา เพื่อทำความเข้าใจกับเขาให้ได้มากที่สุด”

นิทรรศการ Less is OK นำเสนอผลงานของชวลิต เสริมปรุงสุข จัดแสดงที่ RCB Galleria 1 ชั้น 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม-27 เมษายน 2565 เปิดให้ชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 11.00-20.00 น. พร้อมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยมีการจำกัดผู้เข้าชมในห้องชมนิทรรศการ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก •