‘2518’ – สมมุติฐานซีรีส์ไทย กับโจทย์ใหม่ประวัติศาสตร์/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘2518’ – สมมุติฐานซีรีส์ไทย

กับโจทย์ใหม่ประวัติศาสตร์

 

เรื่องมีอยู่ว่า พลันโลกเล็กๆ ใบเดิมของฉันก็กลับมา

มันทำให้ฉันนึกถึง คุณครูสมัยเรียนชั้นประถม คุณครูภุชงค์ ครูทิวา ครูอาภรณ์ และครูใหญ่-ประสิทธิ์ผู้เข้าใจ

เกิดจากตอนฉันดู “ครูมะ ห้อง ป.3 ก.” ละครไทยพีบีเอสที่พาไปสู่ปมเหตุ ณ โรงเรียนสิริอรัญวิทยาในปี 2518 แต่ด้วยโครงสร้างแบบครูประชาบาลสมัยนั้น ทำให้ฉันพบความร่วมสมัยในซีรีส์ไทยเรื่องนี้ โดยเฉพาะเนื้อหาว่าด้วย แง่ปมประวัติศาสตร์อันยังไม่อาจสะสางได้

แต่ผู้ผลิตและกำกับฯ “ครูมะ ห้อง ป.3 ก.” กล้าแตะและพูดถึงประวัติศาสตร์ภาคส่วนนี้

และที่มากกว่านั้น คือมันทำให้เกิดความ “คลี่คลาย” ไม่ว่าจะในเชิงปัจเจก (ตัวเอง) หรือเชิงโครงสร้าง ที่อย่างน้อยนักผลิตภาพยนตร์ก็สามารถพัฒนาบทละครแนวนี้ได้

โดยไม่ต้องสร้างพล็อตให้ตัวละครพระนางย้อนยุคไปสู่ “ภพอดีต” ที่กลายเป็นพิมพ์นิยมและ “ผลิตซ้ำ” อยู่ในวงการละครไทย

แต่ “ครูมะ ห้อง ป.3 ก.” สามารถจำลองให้โรงเรียนแห่งหนึ่ง มีตัวละครที่เป็นเหมือนแบบจำลองชุมชนไทยในปี พ.ศ.2518 และตัวละครนั้นๆ ก็เป็นทุกอย่างที่เราจะพบพานในสังคมไทย

เช่น ครูสุมาลีตัวแทนฝ่ายจารีตนิยม ครูใหญ่ตัวแทนฝ่ายประนีประนอม และครูมะ (วิชัย วงศ์สำอางค์) ผู้นิยมปรัชญาการศึกษาสมัยใหม่ที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางทั้งเสรีภาพการเรียนรู้และความคิด

เกริ่นมาซะขนาดนี้ ขอบอกว่า นี่ไม่ใช่ละครแนวสัจนิยมดรามาติก แต่เป็นแนว “ฟิลกู้ดคอมเมดี้” ที่โทนเสียงอารมณ์ขัน เป็นตัวนำทาง

แต่การที่เอาปี “2518” มาเป็น “สารตั้งต้น” ของเรื่องราวเหตุการณ์หลังเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2516 ที่มีครูมะ เป็น “จิ๊กซอว์” นั้น นับว่านี่คือ ความกล้าของการ “ทำบทซีรีส์” แนวใหม่ และที่ยากไปกว่านั้น คือการเอาเด็กๆ จำนวนมากมารับบทนำของเรื่องซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก!

แต่มันคุ้มค่าที่สักครั้งหนึ่งของชีวิตถ้าเราได้ดูละครเรื่องนี้

เชื่อเถอะว่า นี่คือมิติใหม่ของการทำซีรีส์ที่กล้าหยิบเอา “ระบบการศึกษาไทย” อันซับซ้อนมาวิพากษ์อย่างแยบยลและยังเพิ่มชั้น/เลเยอร์ด้วยปมสังคมยุคหนึ่งที่อ่อนไหวและเปราะบางนั่นคือ 14 ตุลาฯ 2516

ไม่แปลกหรอก ที่ทีมงานซีรีส์จะออกตัวว่า “สถานที่ บุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นเพียงเรื่องราวที่สมมุติขึ้น”

ลำพังทำหัวข้อ “การศึกษา” บ้านเราก็ว่ายากแล้ว แต่การที่เอาธีมเรื่องไปผูกไว้ตัวละครเด็กที่เป็นเหมือนตัวแทนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในส่วนของ “คีย์เวิร์ด” และ “ไดอะล็อก” หรือบทพูดของตัวละคร ซึ่งเมื่อโยงไปหลายเหตุการณ์แล้ว พบว่า น่าจะ “คลาดเคลื่อน” ในข้อเท็จจริงในแบบที่เรียกว่าไม่อาจข้ามชอร์ต “สปอยล์” ได้

ที่สำคัญในโลกดิจิตอล ที่ “นวัตกรรมการศึกษา” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบ ใครจะรู้ว่าละครเรื่องนี้อาจยกระดับมาตรฐานของวงการซีรีส์ไทยในแง่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกตำราที่ยังไม่ถูกพูดถึง

ซึ่งสิ่งที่ท้าทายกว่านั้น คือขั้นตอนของการทำ “ซับพล็อต” ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่บนฐานของความจริง

ความ “คลาดเคลื่อน” ของ layer/ชั้นวางหรือ “ซับพล็อต” ต่างๆ คืออะไร?

1. ในปี 2518 ที่ทีมงานครูมะฯ หยิบเอามาเป็นธีมของซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ผู้คนใช้กัน ซึ่งรวมทั้งคำว่า “มะ” ที่มาจากคำ “มะกัน” (อเมริกัน) ศัพท์แสงยุค ’70 หมายถึงดูดี, ทันสมัย. เท่มาก เช่น แต่งตัวโครตมะ หรือแต่งตัวเท่มากนั้น

ในไทยเอง คำว่า “มะหรือโครตมะ” ไม่เคยใช้ในปี 2518 หรือยุค ’70 หรอกนะ เพราะในปี 2516 หรือ 2 ปีก่อนนั้น นิสิตนักศึกษาของเรายังต่อต้านอเมริกัน และจนถึงปี 2519 ที่นิสิตถูกล้อมปราบ

คำว่า “มะหรือโครตมะ” เกิดขึ้นไล่ๆ กับยุค 66/2523 ของเปรม ติณสูลานนท์ เอานิสิตออกมาจากป่า และบ้านเมืองฟื้นคืนระบบทุนนิยมสมัยใหม่และสินค้าอเมริกัน-จีไอกลายเป็นอิทธิพลของวัยรุ่นไทย

2. ในปี 2518/1970 คือปีที่ กองทัพประชาชนโค่นลอนนอล แล้วสถาปนาตัวเองว่า “คณะกัมพูชาประชาธิปไตย” แม้แต่นักประวัติศาสตร์ตะวันตกก็ใช้แต่คำว่า “พล พต” คำว่า “เขมรแดง” จึงไม่เคยถูกบันทึกในสารบบของกัมพูชาในปี 2518

ดังนั้น ที่เด็กๆ และชาวอรัญพากันใช้ “คีย์เวิร์ด” คำนี้ รวมทั้งทางการไทยในวิทยุกระจายเสียงตอนหนึ่ง “ประกาศทหารเขมรแดงจะโจมตีทหารกู้ชาติ” จึง “คลาดเคลื่อน” จากข้อมูลดังกล่าวว่า ไม่มีอยู่จริง เพราะปี 2518 คณะพล พตเพิ่งจะได้ปกครองตนเองในกรุงพนมเปญ!

ส่วนคำว่า “ทหารกู้ชาติ” ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเขมรแดงนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นคำของทางการไทย อย่าลืมว่า ตั้งแต่ปี 2518 ถึง 2522 รัฐไทยให้การสนับสนุน “คณะกัมพูชาประชาธิปไตย” การใช้คำว่า “เขมรแดง” และเรียกอีกฝ่ายว่า “ทหารกู้ชาติ” นั้น จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยว่า “ระบอบพนมเปญ/เฮงสัมริน” เป็นหุ่นเชิดให้รัฐบาลเวียดนามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐไทย

การระดมยิงปืนใหญ่ตามแนวชายแดนอรัญฯ จึงเป็นการรบระหว่าง “ทหารกู้ชาติ” ของเขมรกลุ่มต่างๆ เพื่อต่อสู้กับฝ่ายเวียดนามหรือที่ไทยเรียกว่าเวียดกงต่างหาก (ซึ่งเกิดขึ้นหลังปี 2522)

ฉะนั้น คำว่า “เขมรแดงโจมตีทหารกู้ชาติ” จึงเป็นไดอะล็อกที่ชวนให้สับสนของคนทำสคริปต์ซีรีส์เรื่องนี้ ที่นอกจากจะ “คลาดเคลื่อน” ในไทม์ไลน์ของเวลาแล้ว

ยังคลาดเคลื่อนว่าข้อเท็จจริงของตัวตนทางการเมืองอันมีอยู่ในกลุ่มชนเพื่อนบ้านนั้นอีกด้วย

อ่า แล้วเช่นนั้น คำว่า “เขมรแดง” เริ่มใช้กันจริงจังเมื่อใด?

 

พบว่า แม้แต่ในปี ค.ศ.1979/2522 นั่นเองคณะ “กัมพูชาประชาธิปไตย” ยังนั่งอยู่ในองค์การสหประชาชาติ แต่หลังจากต่อสู้รบกับระบอบพนมเปญหลายปีและถูกเปิดโปงการกระทำอันยากจะยอมรับ อีกชาวเขมรนับล้านที่ทะลักเข้ามาตามแนวชายแดนไทย จนเกิดค่ายผู้ลี้ภัย

แต่ตอนนั้น เขมรยังเรียกขานกองทัพกู้ชาติของตนที่แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ กลุ่มของเจ้าสีหนุ “แขมร์เขียว/เขมรน้ำเงิน”, กลุ่มของนายซอนน์ ซานน์เรียกว่า “แขมร์ซอ/เขมรขาว” และกลุ่มพล พตถูกเรียกว่า “แขมร์กรอฮอม/ เขมรแดง”

แล้วที่ชิงชังต่อคณะกัมพูชาประชาธิปไตยพากันเรียกระบอบนี้ว่าอะไร?

พวกเขาเรียกกันว่าไอ้พล พต หรือ “อาปอต” ส่วนคำว่า khmer rouge/เขมรแดง ก็มาจากกองกำลังกู้ชาติตามชมรมแนวชายแดนที่เรียกกันจนติดปากกันมานั่นเอง

แต่ยังไม่จบ เมื่อไดอะล็อกของมันได้กลาย “วาทกรรม” อีกครั้ง ในคดีของผู้นำที่ถูกกล่าวหาว่า “ก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อมนุษยชาติ” คำว่า เขมรแดงจึงถูกใช้เรื่อยมาหลังปี ค.ศ.1993

น่าเสียดายหากซีรีส์เรื่องนี้ จะใส่พล็อตให้ตรงกับเนื้อหาหรือขยับเวลาของปี 2518 ออกไปให้ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองอรัญฯ ในปีนั้น ก็คงจะไม่เสียหาย

รวมทั้งกล้าที่จะทำให้ตัวละครเด็กเขมรอย่างพิชิตและพ่อมีความสอดคล้องเรื่องราวตามเนื้อหา ทั้งภาษาพูดตัวละครที่เป็นจริงมากกว่าจะทำให้ดูเป็นภาษาขอมที่ลึกลับและฟังไม่สรรพนั่น หรือแม้แต่กระทั่งคีย์เวิร์ดที่สมเหตุผลไม่แต่เฉพาะคำว่า “เขมรแดง”

แต่เข้าใจว่า นี่คือเรื่องสมมุติ

 

เพื่อนชาวนิยมซีรีส์ของฉัน อย่างไม่มีเจตนาจะคุกคาม ในแง่งามของละครเรื่องนี้ที่ช่างมีมากมาย เมื่อเทียบกับละครทั่วไป

โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ “รวมมิตร” คีย์เวิร์ดทางสังคมตั้งยุคหลังปี 2516 ไปจนถึงสารตั้งต้นของคีย์เวิร์ดอื่นๆ ที่ตามมา

อย่างที่บอก ตอนเรียนประถม ฉันก็มี “นายจันทร์ พิลาศกลางโพยม” เป็นครูมะของตัวเอง แล้วก็มีครูคนอื่น บางคนก็แต่งตั้งให้ฉันเป็น “สายลับ” คอยตรวจสอบว่านักเรียนคนไหนพูดคำหยาบแล้วรายงานให้ครูทราบ ก่อนครูจะเรียกเพื่อนของฉันไปปรับทัศนคติและริบเงินด้วยคนละบาท

ฮา ฮา คิดดูเถอะว่าฉันจะถูกเพื่อนๆ เหม็นขี้หน้าขนาดไหน!

ดังนั้น การได้เสพซีรีส์ครูมะ ห้อง ป.3 ก. จึงทำให้รู้สึกหลงรักคุณครูในวัยประถมของตน ตั้งแต่คนที่เหมือนกับครูมะ, ครูสุมาลี หรือครูกัลยาที่ชอบฟาดเราด้วยไม้เรียวขวับๆ

แต่ถ้าโชคดีกว่านั้น อย่างน้อยเราก็ได้พบกับนายจันทร์ พิลาศกลางโพยม ผู้บากบั่นและพากเพียรให้เราได้รู้จักกับคำว่า “ซัมเมอร์ฮิล” (Summer Hill) ระบบการศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง

พลัน ตอนนั้นเองฉันก็พบว่า คีย์เวิร์ดที่ซุกอยู่ในละครเรื่องนี้ คือการนำเราไปสู่การ “ชำระสะสาง” สภาวะวัยเยาว์ที่เราเกือบลืมไปแล้ว

ขอบคุณนะไทยพีบีเอส ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษาสมัยใหม่ในรูปแบบของซีรีส์ที่ช่างดีต่อใจและเป็นเหมือน ‘Summer Hill’

เนินเขาอันอบอุ่นและฤดูร้อนอันสวยงาม