กำเนิดศิลปะสุโขทัย ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (5)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดศิลปะสุโขทัย

ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (5)

 

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพูดถึงการก่อตัวขึ้นของความหมายใหม่ที่มอบให้แก่ “ศิลปะสุโขทัย” ในยุคต้นกรุงเทพฯ ที่ทำหน้าที่เป็นดั่งการปูรากความคิดให้แก่นักคิดชาตินิยมในเวลาต่อมา แต่การยกย่องศิลปะสุโขทัยอย่างมาก จนยกย่องให้เป็นดั่งยุคทองทางศิลปะของชาติไทยนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงแค่ปัจจัยดังกล่าว

ปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ คุณสมบัติพื้นฐานในตัวชิ้นงานศิลปะเองที่ต้องมีความสอดคล้องกับการเป็นเรื่องเล่าชาตินิยมอย่างเหมาะเจาะพอดิบพอดี

ซึ่งจากการศึกษาของผม ศิลปะสุโขทัยมีคุณสมบัติข้อนี้ชัดเจนกว่ารูปแบบศิลปะยุคสมัยอื่น หรือพูดให้ชัดก็คือมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ง่ายต่อการสร้างเรื่องเล่าชาตินิยมมากที่สุด

เอกลักษณ์เฉพาะทางศิลปะ คือสิ่งมีค่าในโลกยุครัฐชาติสมัยใหม่ที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะชอบค้นหาและอธิบายมากที่สุด

แต่ในสังคมยุคจารีต เอกลักษณ์มิใช่สิ่งสำคัญอะไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สิ่งที่เรียกกันว่า “ศิลปะ” ที่ต้องสำแดงแนวคิดและตัวตนอันโดดเด่นไม่เหมือนใครนั้น เป็นความหมายที่ไม่เคยมีอยู่แต่อย่างใดในบริบทสังคมแบบจารีต

 

งานศิลปะในอดีตถูกสร้างขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะ “จำลอง” โลกและจักรวาลตามอุดมคติทางศาสนาแบบ “ฮินดู-พุทธ” ให้ปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์และโลกศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการสร้างความกลมกลืนระหว่างโครงสร้างรัฐกับโครงสร้างจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนา ด้วยความเชื่อที่ว่าการสร้างรูปกายภาพ (ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป เทวรูป เจดีย์ โบสถ์ วิหาร พระราชวัง ตลอดจนแผนผังของเมือง) ที่สะท้อนคติจักรวาลอย่างถูกต้องสมบูรณ์จะนำมาซึ่งความปกติสุขของรัฐ

ภายใต้กฎของการจำลองนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยอ้างอิงเนื้อหาคัมภีร์ทางศาสนาที่เชื่อว่าเป็นตัวบทที่อธิบายถึงโลกอุดมคติดังกล่าวไว้แล้วอย่างสมบูรณ์ หรือไม่ก็จำลองจากชิ้นวัตถุทางศาสนาที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์และเป็นต้นแบบ

ด้วยเหตุนี้ การสร้างพระพุทธรูปหรือการออกแบบศาสนาสถานตามคติโบราณจึงมุ่งหมายที่จะจำลองให้เหมือนต้นแบบที่สุด

มากกว่าต้องการจะออกแบบให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร (ดูเพิ่มประเด็นนี้ได้ในหนังสือ “ลักษณะไทย : พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย” ของพิริยะ ไกรฤกษ์)

 

แต่ภายใต้ข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ การจำลองโดยสมบูรณ์ย่อมไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้จริง แม้แต่การจำลองและคัดลอกคัมภีร์ทางศาสนาที่เชื่อว่ามาจากพระเจ้าหรือศาสดาโดยตรงก็ไม่มีวันที่จะเหมือนต้นแบบ ไม่นับรวมการตีความทางศาสนาที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไปที่ยิ่งทำให้ความคลาดเคลื่อนออกจากต้นแบบเกิดขึ้นได้เสมอ ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว สิ่งที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงทางรูปแบบศิลปะจึงเกิดขึ้น

ในขณะที่คำอธิบายความแตกต่างทางรูปแบบศิลปะบนฐานคิดแบบอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งนั้น กลับเป็นไปในอีกชุดความคิดหนึ่ง โดยมักอธิบายความแตกต่างทางรูปแบบศิลปะเชื่อมโยงเข้ากับความแตกต่างใน “เชื้อชาติ” (race) ของผู้สร้างโดยมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า “เชื้อชาติ” เป็นเสมือนหางเสือที่คอยกำหนดทิศทางในการสร้างรูปแบบศิลปะของแต่ละชาติให้มีความแตกต่างกัน

หรือหากมองในแบบนักชาตินิยมที่ไม่สุดโต่งมากนักก็จะอธิบายว่าเป็น รูปแบบทางศิลปะที่ต่างกันเป็นผลมาจากวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาติที่ต่างกัน

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายแบบใด ฐานคิดที่สำคัญในการให้เหตุผลในความแตกต่างของรูปแบบศิลปะก็คือ “ชาติ” ที่เป็นหน่วยทางสังคมและการเมืองที่เพิ่งสถาปนาขึ้นเมื่อราวร้อยปีที่ผ่านมาเท่านั้น

พูดให้ชัดก็คือ เป็นการนำโลกทัศน์แบบรัฐชาติสมัยใหม่ย้อนกลับไปอธิบายเหตุผลเบื้องหลังความแตกต่างของรูปแบบศิลปะในอดีตนั่นเอง

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างยิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวกลับมีพลังในการอธิบายและสร้างจิตสำนึกชาตินิยมเป็นอย่างสูง และด้วยทัศนะเช่นนี้ “ความแตกต่าง” ทางรูปแบบศิลปะจึงกลายเป็นสมบัติมีค่าของรัฐชาติสมัยใหม่ เพราะความแตกต่างคือสัญลักษณ์ที่สามารถสะท้อนความมี “เอกลักษณ์ของชาติ” ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมจับต้องได้

กล่าวในอีกแง่หนึ่งตามคำของ Elie Kedourie ที่อธิบายว่า เอกลักษณ์ของชาตินั้นย่อมไม่อาจสร้างขึ้นโดยแยกขาดออกจากการสร้าง “ความเป็นอื่น” ให้เกิดขึ้น (ดูใน Elie Kedourie. Nationalism. Oxford : Blackwell, 1993)

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งมีความแปลกแยกแตกต่างทางรูปแบบจากรูปแบบมาตรฐานอื่นๆ มากเท่าไร ตัวมันยิ่งมีคุณค่ามากต่อการนำมาตีความให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ

ซึ่งในกรณีสังคมไทย “ศิลปะสุโขทัย” คือรูปแบบที่มีคุณสมบัติดังกล่าว

 

สิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะสุโขทัย” หากพิจารณาโดยตัดความคิดชาตินิยมออกไปเราย่อมไม่อาจที่จะปฏิเสธได้เลยว่า เป็นรูปแบบที่มิได้เป็นที่นิยมสร้างแพร่หลายกว้างขวางอะไรเลยในบริบทแบบจารีต

ศิลปะสุโขทัยถูกสร้างขึ้นภายในอาณาบริเวณที่เป็นเครือข่ายรัฐในพื้นที่ภาคกลางตอนบนของประเทศไทยปัจจุบันเพียงเท่านั้น

ข้อเท็จจริงนี้แม้แต่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็มองเห็นและกล่าวสรุปเอาไว้ในหนังสือ “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” อย่างชัดเจนว่า

“…พุทธเจดีย์สมัยสุโขทัย ถ้าว่าโดยภูมิมณฑลที่สร้างดูเหมือนจะเปนวงแคบกว่าพุทธเจดีย์สมัยอื่นๆ คือที่เกิดอยู่แต่มณฑลพิษณุโลกกับมณฑลนครสวรรค์เท่านั้น…”

เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอให้พิจารณารูปแบบศิลปะ 2 แบบ (ที่ในเวลาต่อมาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นงานศิลปะที่แสดงเอกลักษณ์ขั้นสูงของศิลปะสุโขทัย) คือ “เจดีย์ทรงดอกบัวตูม” และ “พระพุทธรูปปางลีลา”

เราก็จะเข้าใจประเด็นที่ผมกำลังเสนออยู่นี้

 

ขอให้ลองเปรียบเทียบความแพร่หลายของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม เทียบกับเจดีย์ทรงระฆังกลม หรือพระปรางค์ในสังคมจารีตดูนะครับ

ซึ่งเราก็จะพบว่า สองรูปแบบหลัง เป็นที่นิยมสร้างอย่างแพร่หลายกว้างไกลไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาที่มากกว่าพันปีล่วงมาแล้ว โดยหากเรามองเปรียบเทียบกับเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ก็จะยิ่งเห็นถึงความแตกต่างของระดับความนิยมในการสร้างที่เทียบกันไม่ได้เลย

เจดีย์ทรงดอกบัวตูมนั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณดีมีอายุสมัยของความนิยมเพียงไม่กี่สิบปีและในพื้นที่ที่จำกัดมาก โดยหลังจากนั้นเพียงไม่นานก็ไม่ได้รับความนิยมในการสร้างและถูกลืมจนไม่มีใครรู้จัก

การเดินทางสำรวจพระพุทธรูปที่เมืองเก่าสุโขทัยในยุคต้นรัตนโกสินทร์เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ แน่นอนนะครับว่า คณะสำรวจย่อมต้องพบเห็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมตามวัดต่างๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครสนใจในรูปทรงเจดีย์แบบนี้ ไร้ซึ่งเรื่องเล่า ตำนาน หรือการจำลองกลับไปสร้างที่กรุงเทพฯ

 

พระพุทธรูปปางลีลาแบบสุโขทัยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานขั้นสูงสุดของศิลปะไทยก็มีชะตากรรมที่ไม่ต่างกันคือ ไม่เป็นที่แพร่หลาย มีอาณาบริเวณและช่วงเวลาที่สร้างจำกัด โดยหากนำมาเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางสมาธิ ก็จะเข้าใจดี

ลองมองดูสิครับ แทบไม่มีพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใดที่ปรากฏตำนานศักดิ์สิทธิ์หรือเรื่องเล่าที่ถูกส่งผ่านมาให้แก่ยุคต้นรัตนโกสินทร์เลย ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เราเห็นได้เป็นอย่างดี ถึงความไม่สนใจในพระพุทธรูปปางลีลาของผู้คนในอดีตก่อนที่จะมีความคิดเรื่องชาติและชาตินิยม

อย่างไรก็ตาม ความไม่เป็นที่นิยมที่ควรจะแสดงให้เห็นถึงข้อด้อยของเจดีย์ทรงดอกบัวตูมและพระพุทธรูปปางลีลาในการทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการจำลองโลกและจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโบราณกลับกลายมาเป็นสิ่งพิเศษมีค่าในโลกสมัยใหม่ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยม

ในขณะที่เจดีย์ทรงระฆังกลมและพระปรางค์ซึ่งเป็นรูปแบบที่แพร่หลายมากกว่าในสังคมจารีต แต่ด้วยความนิยมที่แพร่หลายดังกล่าวนั่นเอง ที่ทำให้ตัวมันไม่สามารถสร้าง “ความแตกต่าง” หรือ “ความเป็นอื่น” ให้เกิดขึ้นได้ชัดเจนมากพอซึ่งทำให้การสร้าง “ความเป็นเรา” หรือ “เอกลักษณ์แห่งชาติ” ไม่ชัดเจนตามไปด้วย

เราไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถพบพระปรางค์หรือปราสาทหินที่หน้าตารูปแบบคล้ายกันมากทั้งในไทยและกัมพูชา

เราสามารถพบเจดีย์ทรงระฆังกลมที่คล้ายกันมากระหว่างไทย ลาว และกัมพูชา

เราสามารถพบพระพุทธรูปแบบที่เรียกว่าศิลปะลพบุรีที่แยกไม่ออกจากพระพุทธรูปศิลปะเขมร

เราสามารถพบเจดีย์ล้านนาที่แยกไม่ออกจากเจดีย์ในพม่าและตอนใต้ของจีน เป็นต้น

แต่เราจะไม่มีทางพบเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่ใดเลยนอกจากประเทศไทย คุณสมบัติแบบนี้แหละครับ คือสิ่งที่อุดมการณ์ชาตินิยมต้องการ