ที่นี่มีคนตาย ? 99=2 สมการที่ไขไม่ออก “มองเตสกิเออ” ยังมึน! : ในประเทศ

เกิดเป็นข้อเปรียบเทียบกับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 7 ตุลาคม 2551 อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ยกฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

จากกรณีออกคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

โดยคำพิพากษาสรุปได้ว่า ศาลอาญาไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว ที่อัยการ โจทก์ และญาติผู้เสียหาย โจทก์ร่วม ฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เป็นจำเลยฐานความผิดฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

เนื่องจากระหว่างเกิดเหตุ ทั้ง 2 คนอยู่ในตำแหน่งทางการเมือง คดีดังกล่าวจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ผู้เสียหายต้องยื่นร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน

หาก ป.ป.ช. มีมติว่าเรื่องมีมูล ก็ต้องส่งรายงาน เอกสาร พยานหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจรับพิจารณาพิพากษาคดีอาญา สำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่ง อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้รับพิจารณาพิพากษาข้อความผิดบทอื่น ตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ในข้อหาฐานเป็นผู้ก่อ หรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และ 84 ไว้ด้วย ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 250 (2) และ 275 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ และมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (2), 66 วรรคหนึ่ง, 70 กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1), 10, 11 และ 24 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557

กำหนดให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเห็นตรงกันว่า ถึงจะเป็นการยกฟ้อง แต่ก็ด้วยเหตุผลว่าฟ้องผิดศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาไม่ได้ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พ้นผิด แต่ยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาระหว่างร้องขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาใหม่ เพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ยืนยันถึงการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้สั่งการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จะเป็นเรื่องยากลำบาก กับ 7 ปีที่ผ่านมามีสภาพเหมือนงูกินหาง สุดท้ายต้องกลับมาจุดเริ่มต้นนับหนึ่งที่ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม นปช. ยืนยันจะเดินหน้าถามหาความยุติธรรมให้คนตายต่อไป ไม่ว่าการทวงถามนั้นจะต้องผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยว และใช้เวลาอีกนานขนาดไหนก็ตาม

สำหรับแนวการต่อสู้เพื่อนำคดีขึ้นสู่ชั้นการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเสนอไว้หลายช่องทาง

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความผู้เสียหาย ยืนยันว่า ทีมทนายความพร้อมดำเนินการในทุกช่องทางที่เป็นไปได้

โดยเฉพาะการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างละเอียด ครบถ้วนสมบูรณ์กว่าเดิม เพื่อยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีมติไม่ชี้มูลมาแล้ว

หลักฐานตามที่อ้างถึง และคาดว่าเป็น”ไม้เด็ด” คือผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพสาเหตุการตายเหตุการณ์ปี 2553 ที่ศาลเคยมีคำสั่งชี้ว่า มี 17 ราย เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่

ที่สำคัญ การร้องต่อ ป.ป.ช. ครั้งใหม่นี้ หากยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยศาลฎีกา นอกจากนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต้องถูกไต่สวนในข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 แล้ว

ทีมทนายความยังจะร้องให้ไต่สวนเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

เนื่องจากคำสั่งศาลในคดีไต่สวนสาเหตุการตาย 17 ศพ ระบุว่าเกิดจากถูกกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ.

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีใครบ้าง อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายชื่อ ทั้งจากสำนวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือในสำนวนคดีไต่สวนสาเหตุการตาย ก็มีรายชื่อเจ้าหน้าที่เหล่านี้อยู่

“ตอนมีคำสั่ง ศอฉ. ต้องมีตัวคำสั่งอยู่ว่าใครทำหน้าที่ตรงไหน อย่างไร ผู้นำหน่วยปฏิบัติมีใครบ้าง” นายโชคชัย ระบุ

อีกช่องทางหนึ่งมาจาก นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ป.ป.ช. และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ชี้แนะว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เปิดทางให้ผู้เสียหายสามารถนำเรื่องยื่นร้องต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บังคับใช้ในเวลานั้น

ขั้นตอนคือ เมื่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องมีมูล จะมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระ ที่มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. หรือสั่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนคำร้องนั้น ตามมาตรา 276 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ได้เช่นกัน

หากการไต่สวนพบว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอน ตามที่ศาลฎีกาให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2550

แต่หากพบว่าสอดคล้องในข้อกล่าวหาฆ่าหรือพยายามฆ่าโดยเจตนา ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับแนวทางการยื่นร้องให้ ป.ป.ช. รื้อคดีนั้น นางสมลักษณ์เห็นว่า สามารถทำได้เช่นกัน โดยผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตาย 17 รายอันเป็นข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ จะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากในการยื่นต่อ ป.ป.ช. พิจารณาใหม่

“แต่หากเทียบกันแล้ว ช่องทางเดินหน้าร้องต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา มีน้ำหนักมากกว่า เพราะเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีการับคำร้องแล้ว สามารถสั่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนได้ทันที” นางสมลักษณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ทีมทนายความผู้เสียหายมองว่า แนวทางดังกล่าวอาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกไปแล้ว ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้

อีกทั้ง การขอให้ศาลสั่ง ป.ป.ช. ไต่สวนใหม่ ป.ป.ช. อาจอ้างได้ว่าตามกฎหมาย ป.ป.ช. จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่ หรือต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ อีก

สรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอ หรือความเห็นแย้ง ในช่องทางการร้องต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ต่างก็สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจแนวทางการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.

เป็นความไม่ไว้วางใจมาตั้งแต่เมื่อครั้งมีมติตีตกสำนวนคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ไม่ส่งให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องต่อศาล ทั้งที่เป็นคดีมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ในทางกลับกัน ป.ป.ช. ยังดำเนินการไต่สวนอดีตรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งคณะ ฐานอนุมัติเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมดังกล่าวโดยมิชอบ เตรียมลงมติชี้มูลปลายเดือนกันยายนนี้

“ถ้าเป็นเรื่องจริงก็เท่ากับว่าเหตุการณ์ปี 2553 แกนนำและมวลชนคนเสื้อแดงถูกดำเนินคดีมากมาย รัฐบาลที่ให้เงินเยียวยาก็มีความผิด รอดอยู่พวกเดียวคือที่ฆ่าคนตาย แล้วมนุษย์ที่ไหนจะยอมรับได้” นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าว

เปรียบเทียบกับสำนวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551 มีผู้เสียชีวิต 2 คน

ป.ป.ช. ทำเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง แต่เมื่ออัยการสูงสุดชี้ว่าไม่ควรฟ้อง ป.ป.ช. กลับยื่นฟ้องต่อศาลเอง

จนเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน

ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ด้วยเหตุว่า เป็นการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนกฎหมาย

ปรากฏว่า ล่าสุด ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ ได้มีมติให้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในส่วนของ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือที่มาของ “99=2” สมการที่ไขไม่ออก

ที่แม้แต่ “มองเตสกิเออ” นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส ก็ยังต้องมึน