เที่ยวงานรัฐธรรมนูญ 2482 กับพลนิกรกิมหงวน : ภาคกลางวัน/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

เที่ยวงานรัฐธรรมนูญ 2482 กับพลนิกรกิมหงวน

: ภาคกลางวัน

“กลางถนนหน้าพระลานพระบรมรูปทรงม้า แลเห็นประตูชัยทางเข้าออก ก่อเป็นรูปกรวยแบบมีศิลปะ มองดูสูงตระหง่าน แสงไฟส่องสว่างราวกับกลางวัน มีอักษรขนาดเขื่อปรากฏข้อความว่า รัฐธรรมนูญจงถาวร ธงไตรรงค์ขนาดใหญ่หลายธงปลิวสะบัดเหนือซุ้มประตูนี้ โน่นสวนอัมพรทางซ้ายมือ ตามกำแพงประดับประดาด้วยโคมไฟสีส้มงามตา มีธงไตรรงค์ปักเป็นระยะ…”

(ป.อินทรปาลิต, 2482)

ซุ้มประตูทางเข้างานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 ที่สวนอัมพร

งานฉลองรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีแรกของการปฏิวัติ 2475 ถือเป็นงานรื่นเริงของพลเมืองในระดับชาติ งานดังกล่าวเปิดพื้นที่สาธารณะ (public sphere) สัญลักษณ์ทางการเมืองใหม่ มีกิจกรรมใหม่ที่มีส่วนก่อให้เกิดวัฒนธรรมของพลเมืองใหม่ในสมัยประชาธิปไตย

ภายในงานมีกิจกรรมมากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเผยแพร่ข้อมูลตามนโยบายของรัฐ การประกวด แข่งขัน การค้าขาย สินค้าแปลกใหม่ สินค้าไทยทำ หรือแม้แต่ธุรกิจต่อเนื่องที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ธุรกิจสตาร์ตอัพ

งานรื่นเริงนี้สร้างคุณค่าใหม่ๆ ขึ้น รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้กับชีวิตสาธารณะของคนหนุ่มสาวในสมัยนั้นให้ได้รู้จักมักคุ้นกัน มีกิจกรรมทันสมัยอันก่อให้เกิดตัวตนแบบใหม่ที่มีความสุข ความรื่นเริง แห่งยุคสมัยที่คนทุกคนมีเสรีภาพและเท่าเทียมกัน

แม้นงานฉลองรัฐธรรมนูญจะถูกจัดขึ้นต่อเนื่องหลายปี และมีเอกสารภาพถ่ายที่หลงเหลืออยู่มากพอสมควร

แต่งานหัสนิยายสั้น เรื่องพลนิกรกิมหงวน หรือสามเกลอของ ป.อินทรปาลิต สามารถบันทึกถึงบรรยากาศและความสนุกสนานของงานสำคัญที่สุดงานในครั้งนั้นเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม

เขาบันทึกบรรยากาศในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2482 ที่จัดครั้งแรกที่สวนอัมพรเอาไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเที่ยวรัฐธรรมนูญ ปี 2482 นั้น เขาเขียนบรรยากาศของงานและผู้คนต่างๆ ที่มาเที่ยวงานได้ราวกับภาพถ่าย รวมทั้งเล่าถึงกิจกรรม การตกแต่งร้านค้า การละเล่นต่างๆ ได้อย่างที่ไม่มีนักเขียนใดทำมาก่อน

สามเกลอของเขาทำให้เราได้ยินเสียงดนตรีแจ๊ซที่สร้างความครึกครื้น ความกระปรี้กระเปร่า ความเป็นหนุ่มสาวให้กับเรา จนเราแทบที่จะได้เสียงหัวร่อต่อกระซิกของหนุ่มสาว ดุจราวกับเราได้เดินเที่ยวไปในงานฉลองครั้งนั้นด้วยตนเอง

งานเขียนของเขาทำให้เราเข้าใจความสุข ชีวิตทางสังคม และรสนิยมของหนุ่มสาวสมัยต้นประชาธิปไตยของไทยได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น หัสนิยายสั้นร่วมสมัยนี้จึงเป็นสิ่งชูรสและเติมเต็มกลิ่นเสียงให้กับเอกสารและรูปถ่ายงานฉลองที่เหลือรอดมาถึงปัจจุบันให้มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง

งานรื่นเริงของหนุ่มสาวสมัยประชาธิปไตย

ประชาชนเดินเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญบริเวณร้านกองโฆษณาการอย่างคึกคัก

เมื่อกว่า 80 ปีก่อน ไม่มีงานรื่นเริงระดับชาติใดที่คนหนุ่มสาว ผู้เป็นคนรุ่นใหม่สมัยประชาธิปไตยต่างเฝ้ารอการมาถึงของงานฉลองรัฐธรรมนูญในเดือนธันวาคมของทุกปี

เมื่อใกล้งานฉลองเข้ามา ร้านขายผ้าแถบพาหุรัดมีความคึกคัก หญิงสาวตั้งแต่ย่างวัยสาวจนถึงรุ่นกระดังงาลนไฟต่างจับจ่ายใช้สอยเงินซื้อผ้ากันอย่างเต็มที่

ดังที่ ป.อินทรปาลิตบันทึกไว้ว่า “ผ้าแพรตัดเสื้อกระโปรงขายราวกับเทน้ำ คุณผัว คุณพี่ คุณพ่อ หน้าดำคร่ำเครียดไปตามกัน”

ร้านขายผ้าแถวพาหุรัดขายดีเสียจนแขกขายผ้ายุ่งเสียจน “หาเวลากินโรตีไม่ได้” แขกขายผ้าอยากให้มีงานฉลองทุกวัน

ไม่แต่เพียงร้านขายผ้าตัดเสื้อเท่านั้นที่ขายดิบขายดี แต่ร้านตัดเสื้อสาละวนออกแบบและตัดตามสั่งให้กับลูกค้ากันแทบไม่ทันเช่นกัน

ร่องรอยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าช่วงเวลานั้นเกิดค่านิยมใหม่ของคนกลุ่มใหม่ในสังคมไทยที่ต้องการร่วมงานที่เป็นพื้นที่ใหม่ที่คนเท่าเทียมกัน

อีกทั้งงานนี้มีส่วนในการกระตุ้นการค้าขายและงานบริการอีกหลายชนิดด้วย เช่น เครื่องสำอางและร้านทำผมที่คนไทยตั้งขึ้น

ร้านของนายบรรจบ ชุวานนท์ นักหนังสือพิมพ์ และชุดสูทสากลแบบปาล์มบีชที่นิยมครั้งนั้น

เขาเขียนถึงความตื่นเต้นดีใจถึงงานรื่นเริงนี้ว่า

“คุณผู้หญิงวางแผนการเตรียมเที่ยวไว้อย่างเรียบร้อย วันที่ 6 ไปดัดผมที่จุไรรัตน์ วันที่ 7 ไปลองเสื้อกระโปรง วันที่ 8 ลงมือเที่ยว วันที่ 9 เที่ยวอีก วันที่ 10 ก็เที่ยว ที่ 11 ที่ 12 ก็เที่ยว ที่ 13 ที่ 14 ก็เที่ยวอีก วันที่ 15 ล่ะ เที่ยวอีกน่า ดูเขาเก็บร้านก็ยังดี…”

ไม่แต่เพียงสตรีเท่านั้น แต่คนหนุ่มก็เตรียมการด้วยเช่นกัน มีการตัดชุดราตรี ชุดสากลแบบปาล์มบีช เป็นสูทผ้าบางสีเบจสำหรับเมืองร้อน

แม้นการเข้าร่วมงานจะมีค่าใช้จ่ายในการแต่งตัวสูงก็ตาม แต่ดูเหมือนคนหนุ่มสาวชาวเมืองครั้งนั้นต่างมุ่งมั่นเข้าร่วมงานที่สะท้อนถึงถึงการเติบโตของค่านิยมของคนชั้นกลางในสังคมไทยภายหลังการปฏิวัติที่ต้องการพื้นที่สาธารณะเพื่อการแสดงตัวตน การประกวดประขันการแต่งกาย การมีกิจกรรมของหนุ่มสาวที่เดินเที่ยวในงานและการเต้นรำบนเวทีลีลาศอย่างมีอิสระเสรีที่สะท้อนถึงการหลุดพ้นจากความเคร่งครัดของประเพณีที่แตกต่างไปจากการรับเสด็จเจ้านาย หรือการร่วมพระราชพิธีในระบอบเดิมที่เป็นพื้นที่สำหรับชนชั้นสูง

การแต่งกายของสตรีสมัยประชาธิปไตยก่อนรัฐนิยม เครดิตภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

ด้วยงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐบาลขณะนั้นเห็นว่า พื้นที่สวนสราญรมย์ไม่เพียงพอต่อการจัดงานสำคัญะดับชาตินี้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรับปรุงสวนอัมพรเพื่อเป็นที่จัดงานในปี 2482 พร้อมสร้างอาคารลีลาศเพื่อรองรับความนิยมของหนุ่มสาวในครั้งนั้นด้วย

ดังนั้น การขยับขยายพื้นที่การจัดงานมายังสวนอัมพร ลานพระบรมรูปทรงม้า เขาดินวนา ทำให้ร้านค้า การจัดกิจกรรมและพื้นที่เดินเที่ยวชมมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้งานมีความยิ่งใหญ่ สนุกสนานยิ่งขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการแข่งขันกีฬาทางบกทางน้ำตามที่เคยจัดมาในช่วงแรกๆ ต้องถูกงดไปเนื่องจากพื้นที่ไม่อำนวย

งานที่สวนอัมพรยังคงมีกิจกรรมทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน ในภาคกลางวันนั้น ตั้งแต่เช้าตรู่มีตลาดนัดขายของสำหรับผู้เยี่ยมชมงานที่เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน มีการประกวดสินค้าและการจัดร้านขายของดังปรากฏมีเหรียญรางวัลหลงเหลือเป็นหลักฐาน

ท่านสามารถเดินชมและจับจ่ายใช้สอยตามร้านเอกชนและราชการที่มาออกร้านขายสินค้าต่างๆ ซึ่งผลิตโดยคนไทย เช่น ของเล่น ของใช้ เสื้อผ้า เครื่องเรือน ของใช้เบ็ดเตล็ด ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการใช้ไทยทำไทยใช้ไทยเจริญ หรือเดินชมตลาดนัดพืชผัก ผลไม้

จุดเด่นของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในปี 2482 คือ ขบวนรถไฟเล็กนำผู้ร่วมชมงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2481 วิ่งบนรางแล่นไปเลียบไปตามถนนผ่านจุดสำคัญๆต่างๆ ของงานโดยมีสถานีสำหรับผู้โดยสารขึ้นลง ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่กรมรถไฟจัดขึ้นมาเพื่อบริการผู้มาเที่ยวงานและแก้ปัญหาขนาดพื้นที่จัดงานที่กว้างใหญ่ขึ้น พร้อมเป็นการแสดงความก้าวหน้าให้กับประชาชนที่มาเที่ยวงานด้วย

หากท่านเหนื่อยล้าจากการเดินชมงานที่จัดได้ใหญ่โตกว่าเดิมแล้ว ท่านสามารถแวะหาเครื่องดื่มเย็นๆ ดื่มเติมความสดชื่นให้มีกำลังก่อนเดินเที่ยวงานต่อได้ที่บาร์ใกล้สระน้ำสวนอัมพร ก่อนไปเดินชมร้านของหน่วยราชการและเอกชนต่อให้ทั่ว

และรอเยี่ยมชมงานในภาคกลางคืนซึ่งมีความสวยงาม ตื่นตาตื่นใจ มีสีสันครึกครื้นสำหรับหนุ่มสาวที่แตกต่างไปจากงานในภาคกลางวัน

เหรียญรางวัลตลาดนัด งานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2482
รถไฟเล็กวิ่งรอบงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2482 ในยามกลางวัน เครดิตภาพ : ชาตรี ประกิตนนทการ