ประวัติศาสตร์เบื้องหลังสงครามของปูตินในยูเครน : นาโตบูรพาภิวัตน์ (1) การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ประวัติศาสตร์เบื้องหลังสงครามของปูตินในยูเครน

: นาโตบูรพาภิวัตน์ (1)

 

ในหมู่นักวิชาการตะวันตกผู้เชี่ยวชาญเรื่องอดีตสหภาพโซเวียตและรัสเซียปัจจุบัน ขณะพวกเขาเห็นตรงกันโดยทั่วไปว่าประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียตัดสินใจผิดมหันต์ทั้งทางยุทธศาสตร์การเมืองการทหาร กฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรมที่สั่งกองทัพทำสงครามรุกรานยูเครนเมื่อ 24 กุมพันธ์ศกนี้

ทว่า ประเด็นที่ยังเห็นต่างกันคือเหตุปัจจัยที่นำไปสู่สงครามรุกรานยูเครนดังกล่าวเกิดจากอะไร?

ระหว่าง :

1) การขยายตัวขององค์การนาโต (NATO – North Atlantic Treaty Organization) ไปทางตะวันออกของยุโรปหลังสิ้นสุดสงครามเย็นในปี ค.ศ.1991 ซึ่งคุกคามความมั่นคงของรัสเซียและยั่วยุปูตินให้ต้อง ปกป้องเขตอิทธิพลของตน (https://www.bbc.com/thai/international-60137709) หรือ

2) แบบแผนพฤติกรรมในประวัติศาสตร์แบบจักรวรรดินิยมทหารกับเผด็จอำนาจอัตตาธิปไตยที่ระแวงต่างชาติตะวันตกของรัสเซียเอง ซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยปัจจัยแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์กับการเมืองวัฒนธรรม และตกทอดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านยุคสหภาพโซเวียตภายใต้สตาลินในคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงปูตินในปัจจุบัน?

แผนที่แสดงจังหวะการขยายตัวของนาโตไปทางตะวันออก & อนาโตล ลีเวน https://www.dw.com/en/nato-fears-russia-is-seeking-pretext-to-attack-ukraine/a-60811065

ผู้ที่คิดเห็นแบบแรกมีอาทิ อนาโตล ลีเวน (Anatol Lieven) อดีตผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษสังกัด น.ส.พ. Financial Times และ Times ประจำอดีตสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก เอเชียใต้และรัสเซีย เขาทำงานเป็นนักวิจัยและสอนหนังสืออยู่หลายสถาบันในช่วงต่อมา ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เยือนสอนที่ King’s College London และนักวิจัยอาวุโสที่ Quincy Institute for Responsible Statecraft ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยเขาให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไว้กับ Doug Henwood ในรายการวิทยุ Behind the News เมื่อ 3 มีนาคมศกนี้ (https://www.leftbusinessobserver.com/Radio.html#S220303)

ส่วนผู้ที่คิดเห็นแบบหลังซึ่งโทษประวัติศาสตร์เชิงลึกของรัสเซีย แทนที่จะโทษนาโตบูรพาภิวัตน์หรือโลกตะวันตก ได้แก่ สตีเฟน คอตกิน (Stephen Kotkin) ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Princeton และนักวิจัยสังกัดสถาบันฮูเวอร์ สหรัฐอเมริกา ผู้เขียนชีวประวัติฉบับมาตรฐานของสตาลิน (Stalin, Volume I : Paradoxes of Power, 1878-1928, Volume II : Waiting for Hitler, 1929-1941) โดยเขาให้สัมภาษณ์กับ David Remnick ไว้ใน podcast ของนิตยสาร The New Yorker เรื่อง “Stephen Kotkin : Don’t Blame the West for Russia’s Invasion of Ukraine” เมื่อ 14 มีนาคมศกนี้

เพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจสงครามในยูเครนซึ่งสั่นคลอนระเบียบโลกหลังสงครามเย็น (https://www.lemonde.fr/international/article/2022/03/11/ukraine-les-lignes-geopolitiques-que-la-guerre-a-deja-fait-bouger_6117130_3210.html) และกำลังนำไปสู่สงครามเย็นระหว่างโลกตะวันตกกับรัสเซียครั้งใหม่ที่น่าหวั่นวิตกกว่าครั้งก่อน (https://www.nytimes.com/2022/03/01/opinion/russia-ukraine-cold-war.html)

ผมขอนำคำสัมภาษณ์ของอนาโตล ลีเวน มานำเสนอดังนี้ :

 

ดั๊ก เฮนวูด : สงครามรุกรานยูเครนโหดเหี้ยมสยดสยองมาก และทุกคนที่ผมรู้จักล้วนจิตใจย่ำแย่ไปกับมัน แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยนี่ครับ เรื่องที่ จอร์จ เคนนัน (ค.ศ.1904-2005) หนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบนโยบายสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกาเพื่อปิดกั้นสหภาพโซเวียตเคยแสดงความวิตกกังวลไว้ตั้งแต่ 25 ปีก่อนได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว เคนนันเคยเขียนไว้ใน น.ส.พ. New York Times เมื่อกุมภาพันธ์ 1997 ว่า :

การขยายนาโตออกไปจะเป็นความผิดพลาดครั้งมหันต์ของนโยบายอเมริกันตลอดยุคหลังสงครามเย็น คาดหมายได้ว่าการตัดสินใจเช่นนั้นน่าจะไปจุดกระพือแนวโน้มความเห็นแบบชาตินิยม ต่อต้านตะวันตกและทหารนิยมให้ฮือโหมขึ้นในรัสเซีย รื้อฟื้นบรรยากาศสงครามเย็นกลับคืนมาในความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก และขับดันนโยบายต่างประเทศของรัสเซียไปในทิศทางที่เราไม่ชมชอบอย่างแน่แท้… ในท่ามกลางความเป็นไปได้อันเปี่ยมหวังทั้งหลายทั้งปวงซึ่งการสิ้นสุดสงครามเย็นได้ก่อให้เกิดขึ้นนั้น เหตุไฉนความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกจึงควรมารวมศูนย์ที่ปัญหาว่าใครจะเป็นพันธมิตรกับใครและโดยนัยสืบเนื่องคือเพื่อจะไปต่อต้านใครในความขัดแย้งทางทหารในอนาคตซึ่งเพ้อพกกันไปเอง เล็งไม่เห็นโดยสิ้นเชิงและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เป็นที่สุดเล่า?

และเดือนพฤษภาคมปีถัดมา เคนนันก็ให้ความเห็นเรื่องนี้เพิ่มเติมกับโธมัส ฟรีดแมน อีกว่า :

ผมคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่ ผมคิดว่าชาวรัสเซียจะค่อยๆ แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ในทางลบมากทีเดียว… มันเป็นความผิดพลาดระดับโศกนาฏกรรม

อนาโตล ลีเวน : เผงเลยครับ นับแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เมื่อครั้งการขยายองค์การนาโตกลายเป็นประเด็นขึ้นมาครั้งแรก บรรดาเจ้าหน้าที่รัสเซีย ปัญญาชนรัสเซียและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำชาวตะวันตกทั้งหลาย รวมถึงจอร์จ เคนนัน สถาปนิกผู้ออกแบบนโยบายปิดกั้นสหภาพโซเวียต และตัวผมด้วยบ้างเล็กน้อย ก็ได้พากันพูดว่า ถ้าหากสักวันหนึ่งนาโตขยายไปถึงยูเครนและจอร์เจียละก็ อย่างเบาที่สุดมันจะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันอย่างลึกซึ้งและอย่างหนักที่สุด มันจะนำไปสู่สงคราม รัฐบาลประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (ค.ศ.1991-1999) ก็เคยเตือนเรื่องนี้ไว้ ดังนั้น มันก็ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของวลาดิมีร์ ปูติน เท่านั้น และในช่วงเกือบ 3 เดือนก่อนเกิดสงคราม รัฐบาลรัสเซียก็บอกชัดว่ามีภัยสงครามคุกคามอยู่ ถ้าหากฝ่ายตะวันตกไม่ยอมประนีประนอมเรื่องที่รัสเซียถือว่าเป็นผลประโยชน์สำคัญคับขันของตน

รัฐบาลรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมอันร้ายแรงยิ่งภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้วยการรุกรานยูเครน ผมคิดว่ารัฐบาลรัสเซียยังทำพลาดครั้งมหันต์อีกด้วย แต่ก็อย่างที่คุณว่านั่นแหละครับ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น เราต้องตระหนักรับความเป็นจริง และความเป็นจริงก็คือรัสเซียถือว่าการกันยูเครนออกจากพันธมิตรตะวันตกที่เป็นอริกับตนนั้นเป็นเรื่องสำคัญคับขันต่อความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย

ดั๊ก เฮนวูด : เอาเข้าจริงสหรัฐอเมริกากับมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ กระทำผิดด้วยการเข้าไปชักใยฉวยใช้ฉากการเมืองในยูเครนกี่มากน้อยครับ? ที่พวกรัสเซียห่วงกังวลเรื่องนั้นเนี่ย มันถูกต้องแล้วใช่ไหม หรือเป็นแค่เรื่องที่หวาดวิตกเกินเหตุกันไปเอง?

อนาโตล ลีเวน : เห็นได้ชัดจากการให้ทุนอุดหนุนฝ่ายค้านของยูเครนเมื่อปี 2014 รวมทั้งการให้ทุนโดยเหล่าสถาบันที่เรียกกันอย่างค่อนข้างน่าขันในอเมริกาว่าสถาบันเอ็นจีโอแม้ว่าสถาบันเหล่านั้นอย่างกองทุนบริจาคแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy หรือ NED) จะได้รับทุนอุดหนุนจากสภาคองเกรสก็ตามว่า ฝ่ายตะวันตกปรารถนาจะโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งของยูเครนตอนนั้นภายใต้ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช อนึ่ง NED ได้ลบบันทึกการให้เงินทุนอุดหนุนทั้งหลายแก่ยูเครนออกไปจากเว็บไซต์ของตนแล้ว จากเดิมทีที่มันรวมหมายเหตุไว้ที่นั่น

และก็เห็นได้ชัดอีกนั่นแหละครับว่ามันยังมีคำสนทนาทางโทรศัพท์อื้อฉาวที่ถูกดักฟังได้ระหว่างวิกตอเรีย นูแลนด์ เจ้าหน้าที่หัวอนุรักษนิยมใหม่ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา กับเจฟฟรี เพียต เอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำยูเครน ที่วางแผนกำหนดตัวบุคคลในรัฐบาลที่จะเข้ามากุมตำแหน่งแทนรัฐบาลยานูโควิชด้วย ซึ่งแสดงแจ่มแจ้งถึงบทบาทของรัฐบาลโอบามาที่เข้าไปชักใยฉวยใช้การตั้งรัฐบาลยูเครนชุดถัดไป

นับแต่นั้นมา มันก็ไม่เชิงเป็นเรื่องของการลอบชักใยฉวยใช้อย่างปิดลับเสียทีเดียว ฝ่ายตะวันตกได้ช่วยเหลือยูเครนและได้กระตุ้นหนุนเสริมอย่างแรงกล้าให้ยูเครนพยายามเข้าร่วมพันธมิตรตะวันตก ขณะเดียวกับที่เอาเข้าจริงฝ่ายตะวันตกก็มิได้เสนออะไรให้ยูเครนเป็นชิ้นเป็นอันเลยนอกจากความเป็นไปได้อันคลุมเครือที่สุดของสมาชิกภาพในอนาคต ฝ่ายตะวันตกได้ให้ทุนอุดหนุน ให้การศึกษาและสนับสนุนชนชั้นนำยูเครนจำนวนมาก แต่นี่ไม่ใช่ปฏิบัติการลับแต่อย่างใด มันทำกันเปิดเผยเลยล่ะ คุณจะพูดก็ได้ว่ามันเป็นพัฒนาการของยูเครนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตลาดเสรี ซึ่งก็จริงทีเดียว แต่เห็นได้ชัดว่ามันเป็นความพยายามจะเปลี่ยนยูเครนให้กลายเป็นพันธมิตรของตะวันตกด้วย ถ้าหากฝ่ายตะวันตกสนับสนุนประชาธิปไตยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในยูเครนเหมือนที่ได้ทำในที่อื่นๆ บางแห่ง โดยไม่เอ่ยอ้างหยิบยกความเป็นไปได้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกนาโตด้วยต่อกันมาถึง 12 ปีแล้วจนทุกวันนี้ ทั้งที่ฝ่ายตะวันตกไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามนั้นจริงๆ เลย ถ้าหากเรายึดมั่นปฏิบัติอย่างแรกโดยไม่นำเสนออย่างหลังแล้วละก็ บางทีอาจหลีกเลี่ยงความหายนะที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก็เป็นได้

ดั๊ก เฮนวูด : คุณพูดไว้ในคำให้สัมภาษณ์นิตยสาร Prospect (https://prospect.org/world/worse-than-a-crime-its-a-blunder-russia-ukraine-lieven-interview/) ว่าเรา (หมายถึงฝ่ายตะวันตก) ไม่เคยตั้งใจจะปกป้องยูเครนแม้แต่น้อยนิด มันเคยแสดงออกอย่างนั้นจริงๆ หรือครับ? แล้วคนยูเครนเข้าใจมันไหม? พวกเขาไม่ได้ยินมันหรือไงครับ? ไม่มีใครบอกพวกเขาอย่างนั้นหรือ?

อนาโตล ลีเวน : ผมคิดว่าพวกเขาคงต้องเข้าใจมันบ้างล่ะไม่มากก็น้อย หรืออย่างน้อยคนยูเครนที่รอบคอบสติดี ก็คงเข้าใจ เพราะถึงไงเราก็ได้ทำอย่างเดียวกันกับจอร์เจียเมื่อปี ค.ศ.2008 ครั้งที่มีกึ่งคำสัญญาว่าจะให้สมาชิกภาพองค์การนาโต แต่พอมันนำไปสู่สงครามกับรัสเซียเข้าจริงๆ ตอนที่จอร์เจียโจมตีพวกรัสเซียในเซาธ์ ออสเซเตีย (https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย) ปรากฏว่าอเมริกาไม่เคยมาช่วยเหลือจอร์เจียเลย แล้วฝ่ายตะวันตกก็ไม่ได้มาช่วยยูเครนในสงครามดอนบาสปี ค.ศ.2014 ด้วย (https://en.wikipedia.org/wiki/War_in_Donbas)

แต่มันมีปัญหาจริงๆ นะครับ อย่างหนึ่งก็คือนานมาแล้วตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 เราได้ทำให้สมาชิกภาพองค์การนาโตกับสหภาพยุโรปมีความหมายพ้องกับการได้เข้าสังกัดทวีปยุโรป และนั่นน่ะมันก่อปัญหาให้สองประการ กล่าวคือ มันทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่บรรดานักปฏิรูปประชาธิปไตยที่ไหนก็ตามแต่ในยุโรปตะวันออกจะไม่พยายามเข้าร่วมสหภาพยุโรปกับนาโต เพราะโดยพื้นฐานแล้วพวกเขากำลังตีตราตัวเองเป็นชาวยุโรปชั้นสองหรือไม่ใช่ชาวยุโรปด้วยซ้ำไป ดังนั้น ทางเลือกซึ่งในตัวมันเองก็ใช้การได้โดยตลอดที่จะเข้าร่วมกับฟินแลนด์และออสเตรียในฐานะประเทศประชาธิปไตยตลาดเสรี ทว่า ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (คือไม่สังกัดทั้งฝ่ายรัสเซียและฝ่ายนาโตกับสหภาพยุโรป) กลับถูกเราปิดทิ้งเสียในทางศีลธรรมและอารมณ์ความรู้สึกและการเมือง

ทว่าแน่ล่ะ อย่างที่สองก็คือ ด้วยการนิยามยุโรปในทำนองนี้ (กล่าวคือ ต้องเข้าเป็นสมาชิกนาโตกับสหภาพยุโรป) และใช้สำนวนโวหารแบบนาโตว่าด้วยยุโรปเป็นบ้านเกิดเสรีที่ว่านี้ ก็เท่ากับเราบอกชาวรัสเซียอย่างโต้งๆ ว่า “พวกเอ็งไม่ใช่ชาวยุโรปเว้ย ไปให้พ้น พวกเราไม่ถือว่าเอ็งเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป และพวกเราจะไม่หารือกิจการของยุโรปกับเอ็ง” นั่นน่ะมันเป็นการดูหมิ่นถิ่นแคลนรัสเซียอย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่ใครจะนึกฝันไปถึงได้อย่างง่ายๆ เลยนะครับ ไม่ว่ารัฐบาลรัสเซียชุดไหนๆ ก็ฟังมันไม่เข้าหูหรอก อย่าว่าแต่รัฐบาลปูติน

(ต่อสัปดาห์หน้า)