ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ไทยมองไทย |
เผยแพร่ |
หลังชมวีดิทัศน์สะท้อนความคิด ความยากลำบาก ความท้อแท้หดหู่และกลับมาฮึดสู้อีกครั้ง ความสำเร็จกลายเป็นความประทับใจกับความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและครูจบลง การประชุมวิชาการประจำปีที่ 3 โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ รศ.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ประสานงานหน่วยจัดการกลางสรุปภาพรวมความเป็นไปในรอบปี 2558
“ระยะเวลา 5 ปี เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียนโดยการทำโครงงานฐานวิจัยที่ใช้หลักเรียนรู้จากปฏิบัติ บูรณาการสาระวิชามาอธิบายผลการปฏิบัติด้วยหลักของความเป็นเหตุเป็นผลและสรุปด้วยตรรกะเข้าสู่ความรู้ เป็นการศึกษาที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้เอง”
ในปีที่ 3 นี้ โครงการได้พัฒนานักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายจำนวน 3,846 คน โดยมีครูเข้าร่วม 818 คน มีโรงเรียนเข้าร่วม 85 โรงเรียน ทำโครงงานทั้งสิ้น 845 โครงงาน แต่ละโรงเรียนได้รับการสนับสนุนทุนให้ทำทั้งห้องจำนวน 1 ห้อง แต่มีโรงเรียนเพิ่มห้องเรียนเองจึงขยายจาก 85 ห้องเป็น 145 ห้องเรียน โดยใช้ประเด็นหลักเดียวกัน แต่มี 10 โครงงานย่อยในสาระวิชา 3 กลุ่ม คือ วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ และมนุษยศาสตร์-ประวัติศาสตร์
การจัดการโครงการทำผ่านศูนย์พี่เลี้ยง 8 มหาวิทยาลัย เมื่อสิ้นสุดโครงการตามศูนย์พี่เลี้ยงต่างๆ แล้วได้จัดประชุมใหญ่เพื่อให้ตัวแทนครูและนักเรียนทั่วประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน และการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา 2 ปีพบว่านอกจากนักเรียนค้นพบวิธีการเรียนรู้แล้ว ยังพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 แก่นักเรียนอย่างมากด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าบางแห่งเกิด transformative learning คือการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงตนเองของนักเรียน อันเกิดจากการปฏิบัติ และนำผลการปฏิบัติมาคิดใคร่ครวญ
สําหรับคุณครูที่ทำหน้าที่ coach นักเรียนมาระยะหนึ่งนั้นพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาได้สร้างกระบวนทัศน์เติบโต (growth mindset) แก่ผู้เกี่ยวข้อง
นาวาอากาศตรีหญิง แพทย์หญิงนลินี ไพบูลย์ กรรมการกำกับดูแลกิจการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย พันธมิตรหลักของโครงการก้าวขึ้นเวทีกล่าวเปิดงาน “โครงการเพาะพันธ์ปัญญาได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ทั้งแง่การเรียนรู้ของนักเรียน การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน ทักษะการสื่อสารและทักษะการวิจัย ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครูจากผู้ให้ความรู้มาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนซึ่งจะเป็นผู้สร้างและค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง
“โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก การเรียนการสอนไปในทางให้เด็กได้ศึกษาเอง บูรณาการความคิดที่แตกต่าง ทำให้เขาสามารถแก้ปัญหาเองได้ เมื่อความคิดเปลี่ยน ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน ผู้ปกครองเปลี่ยน ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างยั่งยืน การศึกษาไทยในภาพรวมจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ธนาคารยินดีอย่างยิ่งเพื่อต่อยอดและช่วยกันขยายผล กระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น”
ติดตามด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย “ขอบคุณครูเพาะพันธุ์ปัญญาและทีมศูนย์พี่เลี้ยงทุกคนที่ใช้ความพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า วิจัยคือเครื่องมือทางการศึกษา”
“สิ่งที่น่ายินดีที่สุดคือการเป็นนักวิจัยของนักเรียนมัธยมและคุณครู โครงงานฐานวิจัยได้พลิกให้คุณครูเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ของนักเรียนและนักเรียนเปลี่ยนมาเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง การเปลี่ยนแปลงของนักเรียนกลับเสริมพลังและจิตวิญญาณการเป็นครูที่เห็นศิษย์มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด
ความสำเร็จนี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาต้องการความร่วมมือของหลายฝ่าย มหาวิทยาลัยทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้คุณครูนำพานักเรียนทำโครงงานฐานวิจัย ผู้อำนวยการโรงเรียนให้การสนับสนุนอย่างดีเกี่ยวกับการจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ คุณครูออกแบบกระบวนการทำโครงงานให้เป็นการเรียนรู้ที่งอกงามของนักเรียน รวมทั้งชุมชนคนในพื้นที่ให้ความเอื้อเฟื้อให้โครงงานมีความสมจริงกับชีวิต”
หลังสองประธานกล่าวจบ พิธีกรนำกระบวยรดน้ำต้นไม้มายื่นให้ยืนคนละฝั่งทำท่ารดน้ำทั้งๆ ที่ไม่มีน้ำแม้หยดเดียว แต่ภาพบนจอค่อยๆ ปรากฏน้ำไหลพุ่งออกจากปลายกระบวยราดลงบนต้นไม้ที่ค่อยๆ โตขึ้นๆ จนเต็มต้น เทคโนโลยีการจัดการระบบคอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยให้ภาพออกมาสมจริง สวยงามประทับใจ ก่อนเสียงปรบมือดังทั่วห้อง
ก่อนรายการปาฐกถานำเรื่อง “การพัฒนาครูเพื่อการศึกษาในสมัยปัจจุบัน” จะเริ่มเป็นรายการต่อไป โดยองค์ปาฐกผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษาไม่ได้มาปรากฏตัวในเวที ใช้การสื่อสารสมัยใหม่เป็นตัวช่วยอีกเช่นกัน
วิทยากรท่านนี้เป็นใคร และสะท้อนแง่คิดทางการศึกษา สั้นกระชับ เข้าประเด็น อย่างไร ภายในเวลา 15 นาที เทคโนโลยีทำให้ได้งานสองงานในเวลาเดียวกัน ค่อยว่ากัน
ครับ ปิดท้ายสัปดาห์นี้ ผมเก็บรายละเอียดจากบันทึกการเดินทางของชาวเพาะพันธุ์ปัญญา (จังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม) เอกสารเผยแพร่ผลงานของศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ โดย ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม และครูแกนนำเพาะพันธุ์ปัญญามาให้อ่านเป็นตัวอย่าง เพื่อช่วยตอบคำถามความสงสัยของสื่อและใครต่อใครที่ยังมองภาพโครงการไม่ชัด ซึ่งยังมีของศูนย์พี่เลี้ยงอื่นๆ อีกหลายแห่ง
ล้วนน่าสนใจและน่าทึ่งทั้งสิ้น
เพาะพันธุ์ปัญญา คือโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย
กระบวนการที่ใช้ เป็นโครงการที่ตั้งใจให้ครูเปลี่ยนการสอนวิชาโครงงานโดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อให้นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้เอง จากที่ผ่านมาครูสอนโครงงานแบบทำชิ้นงาน เป็นงานฝีมือหรือสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งไม่ได้บูรณาการสาระวิชาเข้าร่วมอธิบายสิ่งที่ทำเท่าที่ควร โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจึงต้องการปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดทักษะคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การทำโครงงานจึงต้องเป็นโครงงานฐานวิจัย
พัฒนาการทำโครงงาน (Project Based Learning PBL) วัดความสำเร็จจากผลงานหรือชิ้นงาน มาสู่โครงงานฐานวิจัย (Research Based Learning) ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลงาน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาครู ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษา กระตุ้นให้คิดเป็นหลัก
กลไกการทำงานใช้อาจารย์มหาวิทยาลัยประมาณ 30 คนจาก 8 มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงให้ครูแกนนำในโรงเรียนประมาณ 300 คนต่อปี เพื่อช่วยครูให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัยให้นักเรียนประมาณ 3,000 คนต่อปีใน 80 โรงเรียน ของ 18 จังหวัด
โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุน ทุน RBL โรงเรียนละ 10 ทุน เป็นเงิน 80,000 บาท สำหรับใช้ในการทำโครงงานของนักเรียนแต่ละปี 10 กลุ่ม 1 หัวข้อวิจัยใหญ่ 10 หัวข้อวิจัยย่อย ระยะเวลา 1 ปีการศึกษา
การพัฒนาครูเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ โดยมีกิจกรรมพัฒนาครูต่อเนื่องตลอดทั้งปีตามลำดับ เริ่มจากการปรับสภาพจิตใจครูให้พร้อมที่จะรับและเรียนรู้ใหม่ โดยกิจกรรมจิตปัญญาศึกษาให้ครู 2-3 วัน พัฒนาส่วนลึกในจิตใจเพื่อปลุกวิญญาณความเป็นครู จากนั้นจัดกิจกรรมให้ครูปฏิบัติจนรู้ด้วยตนเองของความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นเวลา 2 วัน
ต่อด้วยการพัฒนากระบวนการคิดเชิงระบบ ใช้เวลา 1 วันฝึกให้ครูเข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งด้วยความคิดเชิงระบบ ทำให้ครูมีมุมมองที่กว้างขึ้น ทำให้ครูฝึกให้นักเรียนพัฒนาโครงงาน, ฐานวิจัยที่สมจริงกับบริบทได้
การพัฒนาความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้ครูสามารถฝึกนักเรียนวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากการทำโครงงานให้เป็นความรู้ได้ ฝึกครู 2 วันให้สามารถเข้าใจข้อมูลและสังเคราะห์ความหมายใหม่จากข้อมูล ครูสะท้อนคิดจากกิจกรรมนี้ว่าเข้าใจการคิดและขั้นตอนการคิดละเอียดขึ้นจนจับกระบวนการคิดของตนได้ระดับหนึ่ง
จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนในการทำโครงงานฐานวิจัย โรงเรียนจัดเด็กระดับมัธยมจำนวน 1 ห้องเรียน โดยมีครูแกนนำของโรงเรียนซึ่งมาจากหลายกลุ่มสาระในแต่ละรุ่นเป็นที่ปรึกษาตลอดปีที่ทำโครงงาน อาจารย์จากศูนย์พี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ ทำงานร่วมกับครูแกนนำ
จนเสร็จสิ้นออกมาเป็นรายงานพร้อมบันทึกความคิด ปัญหา อุปสรรค ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คนรอบข้าง ทั้งนักเรียน ครูแกนนำ โดยศูนย์พี่เลี้ยงจะสรุปผลพัฒนาการที่เกิดขึ้นในปีนั้นๆ