เกาะติดขอบสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

เกาะติดขอบสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ

 

“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” ประกาศวันเปิดรับสมัครเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร-สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” กับ “นายกมืองพัทยา-สมาชิกสภาเมืองพัทยา” ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-4 เมษายน ซึ่งเหลือเวลาอยู่แค่วันสองวันแล้ว

โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตรงกับวันครบรอบ 8 ปีแห่งการทำรัฐประหารของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.”

อ้างว่าสถานการณ์มันจำเป็น ขนรถถัง กระบอกปืนมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง และคณะ พร้อมกับฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ยึดประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนพลเมืองเข้าช่องฟรีซ แช่เย็นมาเป็นเวลานาน ตอนนี้แสงเทียนถึงเวลาส่องสว่าง ก้าวข้ามค่ำคืนอันมืดมิดพ้นซะที

ก่อนหน้านี้ “คณะรัฐมนตรี” รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ห้องเครื่องแช่แข็ง ตาสว่าง มีมติเคาะเห็นชอบให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-สมาชิกสภา กทม.-นายกเมืองพัทยา-สมาชิกเมืองพัทยา ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

แล้วส่งเรื่องให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ประกาศวันเลือกตั้ง-จัดการเลือกตั้ง ภายในเวลาไม่เกิน 60 วัน ตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ

สำหรับศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. เขตละ 1 คน จากทั้งหมด 50 เขต จำนวน 50 คน ตอนนี้ถือว่าหมูกำลังจะขึ้นหาบเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีตัวแทนพรรคและบุคคลทยอยเปิดตัวลงชิงชัยกันคึกคัก สนามแตก

เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้ในเบื้องต้น มีผู้ประกาศตัวลงชน ประกอบด้วย 1. “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ลงสมัครอิสระ 2. “นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” พรรคประชาธิปัตย์ 3. “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” พรรคก้าวไกล 4. “นางรสนา โตสิตระกูล” อิสระ 5. “นายสกลธี ภัททิยกุล” อิสระ 6. “นายประยูร ครองยศ” พรรคไทยศรีวิไลย์ 7. “น.ต.ศิธา ทิวารี” พรรคไทยสร้างไทย 8. “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ที่ประกาศจะยื่นไขก๊อกจากผู้ว่าฯ กทม.รักษาการ ลงชิงชัยอีกราย

ผู้สมัครชิงเก้าอี้หมายเลข 1 เสาชิงช้า รูปร่างหน้าตาโดยรวมน่าจะประมาณนี้ คงไม่มี “บิ๊กเนม” อื่นๆ สร้างเซอร์ไพรส์ ลงชนในช่วงโค้งสุดท้ายอีกแล้ว

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2518 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 9 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อปี 2518 “นายธรรมนูญ เทียนเงิน” จากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรก

แต่รับตำแหน่งเพียง 2 ปีกว่า ถูกปลดฟ้าผ่าออกจากตำแหน่ง และกลับไปใช้รูปแบบเดิมมาจากการแต่งตั้ง กระทั่งปี 2528 สภาผู้แทนราษฎรมีพระราชบัญญัติกำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.มาจากการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ 2 ในปี 2528 จึงเกิดขี้นในบัดดล โดย “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” จากกลุ่มรวมพลัง สินค้าแบกะดิน พลิกล็อกวินาศสันตะโรชนะ “นายชนะ รุ่งแสง” สินค้าห้าง จากพรรคประชาธิปัตย์

ครั้งที่ 3 พ.ศ.2535 “ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา” ที่ได้แรงหนุนจาก “มหาจำลอง” ชนะ “นายพิจิตต รัตตกุล” จากพรรคประชาธิปัตย์

ครั้งที่ 4 พ.ศ.2539 “นายพิจิตต รัตตกุล” ที่ฉีกตัวมาลงในนามอิสระ ใช้ชื่อกลุ่มมดงาน ชนะ “ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา” และ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” ที่เบนเข็มมาลงสมัครอีกคำรบ

ครั้งที่ 5 พ.ศ.2543 “นายสมัคร สุนทรเวช” จากประชากรไทย ชนะ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” จากไทยรักไทย

ครั้งที่ 6 พ.ศ.2547 “นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประชาธิปัตย์ ชนะ “นางปวีณา หงสกุล”

ครั้งที่ 7 พ.ศ.2551 “นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเป็นคำรบที่ 2

ครั้งที่ 8 พ.ศ.2552 “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ประชาธิปัตย์ ชนะ “นายยุรนันท์ ภมรมนตรี” จากเพื่อไทย

ครั้งที่ 9 พ.ศ.2556 “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ประชาธิปัตย์ ป้องกันแชมป์ไว้ได้ ชนะ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” จากเพื่อไทยด้วยคะแนน 1,256,349 คะแนน กับ 1,077,899 คะแนน

ครั้งที่ 9 ถือว่าคนกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผู้สมัครได้เสียงทะลุหลักล้านถึง 2 ราย

 

สําหรับ “ครั้งที่ 10” ที่ กกต.กำหนดวันทำศึกแล้วเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 รายชื่อผู้สมัครลงชิงดำผู้ว่าฯ กทม. ที่แจ้งความจำนงแน่นอนแล้วมี 8 คน ดังชื่อข้างต้น ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่ว่างเว้น เพราะถูก “คสช.” ยึดอำนาจ นับจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ซึ่ง “คุณชายหมู-ม.ร.ว.สุขุมพันธ์” ชนะเป็นคำรบที่ 2 แต่ทำหน้าที่ “พ่อเมือง กทม.” ได้ไม่ครบเทอม ถูก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช.ใช้ดาบอาญาสิทธิ์ มาตรา 44 ฟันฉับเหมือนฟันหยวกกล้วย อาศัยคำสั่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เด้งออกจากตำแหน่ง

แล้วแต่งตั้งให้ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” รองผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นลิฟต์เป็นผู้ว่าฯ กทม. ตีนบวมมาแล้ว 5 ปีกว่า มากกว่าสมัยของผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

การเมืองเปรียบเหมือนเหล้า ดื่มแล้วทำให้หลงเมามาย สร่างเมาแล้วก๊งใหม่ ล่าสุดตามคาด “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง ประกาศจะไขก๊อกออกจากตำแหน่ง ยื่นใบลาออกต่อ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 24 มีนาคม เพื่อลงสมัครชิงชัยผู้ว่าฯ กทม. ส่งผลให้ทีมงาน สตาฟฟ์ฝ่ายการเมืองทั้งหมด สิ้นสภาพตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ

เมื่อสำรวจตรวจแถวผู้สมัครทั้งหมด ยกยอดจาก “สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” หรือ “นิด้าโพล” ที่ทำการสำรวจมาทั้งหมดจำนวน 10 ครั้ง ปรากฏว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ยึดหัวหาดเข้าป้าย “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.” มาตลอด

มีที่ 2-3-4-5 ช่วงชิง-เบียดแทรกกลับไปกลับมากันอยู่บ้าง ขณะที่แชมป์แน่นิ่ง หนักแน่นดุจตู้นิรภัย เจาะไม่เข้า

แต่เชื่อว่า หลังสิ้นเสียงระฆังในวันที่ 4 เมษายนนี้แล้ว เหล่านักแข่งจะก้าวออกจากจุดสตาร์ตกันด้วยความพร้อมเพรียงเสมอภาค

แต่ละคน แต่ละสังกัด พร้อมจะดับเครื่องชน มีเท่าไหร่ใส่หมด กดเต็มถัง เต็มกะละมัง การเมืองมันลูกกลมๆ ไม่มีใครบอกอะไรใครได้

ใครจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เกาะติดขอบสนามตามไปดูกันเรื่อยๆ