พรรคเดียวเบอร์เดียว ติดขัดอะไร/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

พรรคเดียวเบอร์เดียว ติดขัดอะไร

 

หนึ่งในสองประเด็นที่เป็นความเห็นขัดแย้งในฝ่ายการเมือง คือ การที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จะสามารถลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งสองใบ อันได้แก่ บัตรเลือก ส.ส.เขต และบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศได้หรือไม่

หรือเวลาเลือกตั้ง ต้องจดจำผู้สมัครเขตเป็นหมายเลขหนึ่ง หมายเลขบัญชีรายชื่อของพรรคเป็นอีกหมายเลขหนึ่ง

โจทย์นี้ดูไม่ยากและไม่น่าต้องคิดมาก เพราะโดยสามัญสำนึก ถามใคร ไม่ว่าจะเป็นประชาชน พรรคการเมือง หรือ กกต. คำตอบคงไม่แตกต่างกันว่า เบอร์เดียวเหมือนกันทั้งประเทศนั้นย่อมดีกว่า เพราะประชาชนจดจำง่าย พรรคการเมืองสะดวกและประหยัดในการหาเสียง และ กกต.ก็ไม่ลำบากในการจัดการ

แล้วมีปัญหาอุปสรรคใดที่ทำให้ต้องมาคิดออกแบบเป็นพรรคเดียวกันแต่ผู้สมัคร ส.ส.เขต ได้คนละเบอร์แตกต่างกันไปให้วุ่นวายด้วย

 

ข้อจำกัดทางกฎหมาย

ผลจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แก้ไขระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ แต่ไม่แก้ไขให้ครบทุกมาตราที่เกี่ยวข้อง ทำให้มาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังคงข้อความในวรรคหนึ่งที่ว่า “พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้”

การเขียนหลักการดังกล่าว เป็นการออกแบบรองรับระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งเขตใบเดียว และนำคะแนนรวมของพรรคไปคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี ก่อนจะคิดทอนเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับระบบบัตรเลือกตั้งสองใบเช่นที่เคยใช้มาในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และ 2550 ที่การสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจะถูกกำหนดให้เกิดขึ้นก่อนในสัปดาห์แรกเพื่อให้ได้หมายเลขของพรรค หลังจากนั้นค่อยไปสมัคร ส.ส.เขตในสัปดาห์ถัดไปโดยใช้หมายเลขของพรรคที่ได้ก่อนหน้า

ภาพจำของเรา จึงเป็นภาพจำของการสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ที่จะต้องไปถึงที่รับสมัครก่อนเวลาราชการของการรับสมัครวันแรก เพื่อแย่งชิงหมายเลขตัวเดียวที่จดจำง่าย เห็นภาพการจับสลากหมายเลขพรรค เห็นภาพกองเชียร์ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่โห่ร้องแสดงความยินดีต่อหมายเลขนำชัยที่พรรคตนได้รับ

แต่เมื่อมาตรา 90 ไม่มีการแก้ไข กระบวนการจึงกลับกัน พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครเขตก่อนจึงจะส่งบัญชีรายชื่อได้ จึงเป็นคำถามว่า จะสามารถให้เป็นพรรคเดียวเบอร์เดียวทั้งประเทศ เหมือนกับการเลือกตั้งในอดีตนั้นไม่ง่ายนัก

 

ต่างเขต ต่างเบอร์ เป็นปัญหาอย่างไร

หากยึดตามมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ การสมัคร ส.ส.เขตต้องเริ่มก่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในเขตเลือกตั้งต่างกัน ก็จะได้เหมายเลขแตกต่างกันไปตามผลก่อนหลังการสมัคร หรือจากการจับสลากหากผู้สมัครจากพรรคต่างๆ มาสมัครพร้อมกัน

จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งมาก เช่น กรุงเทพมหานคร ที่อาจมีเขตเลือกตั้งถึง 34 เขต ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกันในกรุงเทพมหานครจึงอาจมีหลายสิบหมายเลขที่แตกต่างกัน ข้ามเขต ข้ามพื้นที่ หมายเลขก็เป็นคนละหมายเลขไป และเกือบทั้งหมดเป็นคนละเบอร์กับหมายเลขพรรค โดยอาจมีบางคนที่โชคดี จับสลากได้หมายเลขที่ตรงกับหมายเลขพรรคโดยบังเอิญ

ยิ่งการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่เพียงข้ามถนน ข้ามคลอง ก็กลายเป็นคนละเขต บางครั้งก็เว้าแหว่งเข้าไปในพื้นที่เขตอื่น ความสับสนในการจดจำหมายเลขของผู้สมัครย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายยิ่ง

ในด้านพรรคการเมืองก็เกิดความยากลำบากในการหาเสียง ยากที่จะสื่อสารกับประชาชนถึงหมายเลขที่ต้องการให้ประชาชนสนับสนุน เนื่องจากแต่ละเขตมีหมายเลขที่แตกต่างกัน และยังไม่ตรงกับหมายเลขพรรคในระบบบัญชีรายชื่อ

การจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ การสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ก็ยากลำบากและสิ้นเปลืองกว่าการเป็นหมายเลขเดียวทั้งประเทศ โอกาสที่พรรคจะสูญเสียคะแนนจากความเข้าใจผิด กาผิดของประชาชน จะมีมากขึ้น

 

กกต.มีความยากลำบากมากขึ้นหรือไม่

การใช้บัตรเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียวทั้งประเทศ จะสร้างความสะดวกแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดพิมพ์บัตร การจัดส่ง การนับคะแนน และการตรวจสอบความถูกต้องในกรณีที่เกิดปัญหา

แต่หากใช้รูปแบบหมายเลขต่างกันในแต่ละเขต กกต.ต้องจัดพิมพ์บัตร ส.ส.เขต ถึง 400 แบบ และบัตรบัญชีรายชื่ออีกหนึ่งแบบ รวมเป็น 401 แบบ

ในการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักร กกต.ต้องจัดส่งบัตรเลือกตั้งทั้ง 401 แบบไปยังทุกจังหวัด และทุกประเทศที่มีการจัดการเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักร จึงเป็นปัญหาอุปสรรคมากในการจัดส่ง การจัดการลงคะแนน และการควบคุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ดังนั้น หากถาม กกต. คำตอบที่ได้แบบไม่เอาใจใคร คือ พรรคเดียว เบอร์เดียวทั้งประเทศ ย่อมสะดวกต่อการจัดการมากกว่าอย่างแน่นอน

 

ทางออกเบอร์เดียวที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมือง 2 พรรคเสนอ คือ ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เป็นสองร่างที่เสนอให้มีรูปแบบการรับสมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อทับซ้อนช่วงเวลา โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 5 วัน

วันที่หนึ่ง เป็นการรับสมัคร ส.ส.เขต (ตามเงื่อนไข มาตรา 90 ที่ต้องเปิดรับสมัคร ส.ส.เขตก่อน) แต่ยังไม่ให้หมายเลขใดๆ แก่ผู้สมัครในวันที่หนึ่ง

วันที่สองถึงสี่ เป็นช่วงที่เปิดให้พรรคส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยให้วันที่สองเป็นวันเริ่มต้น เพื่อให้ได้หมายเลขพรรคการเมืองที่ส่งบัญชีรายชื่อ และนำหมายเลขดังกล่าวใช้กับผู้สมัคร ส.ส.เขตทั้งหมด

การสมัคร ส.ส.เขต ยังเปิดต่อเนื่องในวันที่สองถึงห้า (เพื่อให้การรับสมัครบัญชีรายชื่อสิ้นสุดก่อนการปิดรับสมัคร ส.ส.เขต) โดยผู้สมัครจากพรรคที่ไม่ส่งบัญชีรายชื่อ จะได้หมายเลขในลำดับหลังจากหมายเลขบัญชีรายชื่อของพรรคที่ส่งบัญชีรายชื่อ

กระบวนการดูสลับซับซ้อนและแตกต่างจากวิธีปฏิบัติที่เคยกระทำมาในอดีตแต่เพื่อการพลิกเพลงให้สามารถได้หมายเลขของผู้สมัครเขตและบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ

ส่วนจะมีผู้โต้แย้งว่า เป็นการออกแบบที่ขัดกับมาตรา 90 เนื่องจากการรับสมัครเขต ควรกระทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นกระบวนความ คือ ต้องได้หมายเลขผู้สมัครทันที จะรอไว้ก่อนจนกว่าจะได้หมายเลขบัญชีรายชื่อและจึงกลับนำมาให้ผู้สมัครเขตนั้นกระทำไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปถกเถียงกันในมุมของกฎหมายว่าทำได้ หรือทำไม่ได้ ขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีนี้ยังมีผู้ที่เห็นทั้งสองแบบทั้งทำได้และทำไม่ได้

 

พรรคเดียวเบอร์เดียวติดขัดอะไร

การติดขัดด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายก็เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ลึกๆ ลงในทางทางการเมืองมีผู้วิเคราะห์ว่า หากเป็นพรรคเดียว เบอร์เดียวทั้งประเทศ พรรคที่จะได้เปรียบจากการเลือกตั้งคือ พรรคการเมืองที่เป็นซีกตรงข้ามรัฐบาลชุดปัจจุบัน ดังนั้น การจะให้เป็นเบอร์เดียวหรือไม่ใช่เบอร์เดียว จึงกลายเป็นเรื่องการคิดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง มากกว่าการคิดถึงประโยชน์ของประชาชน หรือการคิดว่าจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งที่ง่ายและตรงกับเจตนาของการใช้สิทธิ

พรรคเดียว เบอร์เดียวติดขัดอะไร อย่าให้คำตอบกลายเป็นว่า ขัดใจผู้ปกครองที่มีอำนาจในบ้านเมือง ขัดใจว่าแบบนี้จะแพ้การเลือกตั้งแน่