ไม่ใช่เรื่องของ ‘ผู้นำ’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ไม่ใช่เรื่องของ ‘ผู้นำ’

 

ในการบริหารจัดการประเทศ ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ยิ่งประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤต ศรัทธาต่อผู้นำยิ่งจำเป็นต้องมี เนื่องจากความเป็นหนึ่งเดียวอันเกิดจากความเชื่อมั่นที่จะก้าวไปในทางเดียวกันเป็นองค์ประกอบสำคัญ และผู้นำที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาคือหัวใจที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวนั้นให้เกิดขึ้นได้

โลกเราทุกวันนี้มีเรื่องราวซ้ำเติมให้ชีวิตมนุษย์ยากลำบากในการดำรงอยู่ร่วมกันมากขึ้น

โรคร้ายโควิดยังไม่ทุเลาเบาบาง แต่ทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงที่จะใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของโลก ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเปิดการไปมาหาสู่ และการสัมผัสสัมพันธ์ระหว่างกันซึ่งเป็นสาเหตุการระบาดของโรคอย่างไม่มีทางเลือก

ไม่เพียงเท่านั้น การเมืองระหว่างประเทศได้นำโลกเข้าภาวะเสี่ยงสงคราม ที่แค่เริ่มต้นก็ส่งผลกระทบต่อกลไกเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เป็นสินค้าสำคัญต่อความเป็นอยู่ของผู้คน

หลายสิ่งหลายอย่างที่รุมเร้าเข้ามาให้ต้องเผชิญเช่นนี้ ขวัญและกำลังของประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝากไว้กับความเชื่อมมั่นในตัวผู้นำ

หลายประเทศอาจจะมี แต่ประเทศไทยเราดูเหมือนว่า “ศรัทธาต่อผู้นำ” ดูจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ “กรุงเทพโพลล์” ทำสำรวจเรื่อง “น้ำมันแพงกับผลกระทบที่ประชาชนได้รับ” คำตอบร้อยละ 84.1 บอกได้รับผลกระทบ มีร้อยละ 15.9 ไม่ได้รับผลกระทบ

ในคำถามว่ามีวิธีปรับตัว หรือรับมืออย่างไร คำตอบส่วนใหญ่คือการหาทางพึ่งพาตัวเอง เช่น ร้อยละ 57.1 งดเดินทาง งดเที่ยวช่วงวันหยุด, ร้อยละ 44.9 วางแผนก่อนเดินทางเพื่อเลี่ยงรถติด, ร้อยละ 40.4 ประหยัดค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อเก็บเงินไว้จ่ายค่าน้ำมัน ฯลฯ

ไม่มีคำตอบไปในทางคิดพึ่งพาอาศัยการแก้ปัญหาของผู้บริหารประเทศ

เมื่อถูกถามถึงความกังวล ร้อยละ 76.7 ห่วงว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดจะแพงขึ้น, ร้อยละ 11.1 เป็นห่วงว่าต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่รายได้เท่าเดิม

ประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อถามว่า “ท่านเชื่อมั่นเพียงใดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหาน้ำมันได้” คำตอบมากถึงร้อยละ 85.7 บอกไม่ค่อยเชื่อมั่น ถึงไม่เชื่อมั่นเลย มีแค่ร้อยละ 14.3 เท่านั้นที่ตอบในทางค่อนข้างเชื่อมั่น ถึงเชื่อมั่นมาก

และเมื่อแยกย่อยออกไป ไม่เชื่อมั่นเลยมีมากที่สุดคือร้อยละ 48.5 รองลงมาเป็น ไม่ค่อยเชื่อมั่นร้อยละ 37.2 ที่ค่อนข้างเชื่อมั่นร้อยละ 13.3

ขณะที่เชื่อมั่นมากมีแค่ร้อยละ 1.0 เท่านั้น

 

ท่ามกลางสารพัดทุกข์ ประชาชนเลือกที่จะพึ่งพาตัวเอง ด้วยไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล

นี่เป็นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่สะท้อนผ่านโพล

จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดยิ่งที่รัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำประเทศ พยายามสื่อสารสั่นสอนให้ประชาชนแก้ปัญหาของตัวเอง อย่างเช่น ให้ใช้รถสาธารณะ ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ หรืออะไรต่างๆ ที่เรียกร้องให้ประชาชนจัดการตัวเอง

ทั้งที่วิธีแก้ปัญหาที่น่าจะดีกว่าคือการจัดการในภาพรวม ประชาชนควรจะต้องเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำว่าจะสร้างพลังร่วมกันเพื่อฟันฝ่าปัญหาไปได้

แต่ที่สุดแล้วกลับกลายเป็น ต่างคนต่างต้องไปคนละทิศละทาง

โดยที่ผู้นำอยู่ในฐานะเหนือกว่าที่จะมาเดือดร้อนอะไรด้วย