ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
มุกดา สุวรรณชาติ
ศึกชิง ส.ก.ดุเดือดกว่าชิงผู้ว่าฯ กทม.
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ครั้งนี้เลือกพร้อมกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก) 50 เขต เขตละ 1 คน รวม 50 คน
สภากรุงเทพฯ ไม่เหมือนรัฐสภา ดังนั้น ไม่มีวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งเข้ามา ส.ก.จึงเป็นตัวแทนที่จะรับฟังปัญหาของประชาชนตามเขตต่างๆ และ ส.ก..ที่สังกัดพรรคการเมือง ถือเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองในท้องถิ่นหรือเขตอย่างแท้จริง และยังเป็นผู้มีอิทธิพลต่อคะแนนเสียงในเขตต่างๆ ด้วย
ดังนั้น ผู้ลงสมัครในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จึงมี 3 แบบ
1. สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเดียวไม่ส่งสมัคร ส.ก.
2. สมัคร ส.ก.อย่างเดียว
3. สมัครทั้งผู้ว่าฯ และส่งสมัคร ส.ก.ด้วย
การสมัครรับเลือกตั้งอาจจะดูสับสนวุ่นวายเพราะตามหลักการผู้สมัครที่มาถึงก่อนเวลาต้องมาจับฉลากเลือกเบอร์สำหรับผู้ว่าฯ กทม.นั้นคงมีโต๊ะตั้งไว้ 1 โต๊ะก็พอ ให้ ผู้สมัครจับฉลากเลือกเบอร์ใครมาไม่ทันก็มาเอาเบอร์ถัดไปจนหมดเวลารับสมัคร
แต่ผู้สมัคร ส.ก.ซึ่งมีถึง 50 เขตการรับสมัครจะต้องตั้งโต๊ะ 50 ตัว และให้ผู้สมัครที่จะสมัครเป็น ส.ก.ไปสมัครตามโต๊ะประจำเขต การจับฉลากเบอร์ก็เป็นเช่นเดียวกับการจับฉลากผู้ว่าฯ เพียงแต่แต่ละเขตต่างคนต่างจับฉลาก ดังนั้น พรรคเดียวกันอาจจะได้เบอร์ในเขตต่างๆ ไม่เหมือนกัน
ประชาชนที่ลงคะแนนต้องใส่ใจเรื่องเบอร์ และชื่อของผู้สมัคร ส.ก. เพราะเขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ติดต่อกันชนิดแยกไม่ออก เพียงแค่เสาไฟฟ้าคนละต้นก็เป็นคนละเขตแล้ว
จำนวนหน่วยเลือกตั้งคาดว่าน่าจะมีประมาณ 7,000 หน่วย ซึ่งน่าจะพอรับผู้มาลงคะแนนได้เกือบ 5 ล้านคน แบบไม่แออัดจนเกินไปตามสถานการณ์โควิด
สนามแข่งขันในกทมครั้งนี้ แม้เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ก็เป็นท้องถิ่นที่จะส่งผลถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะมีตามมา มีบางเขตที่ประชากรน้อยอาจจะถูกรวมให้เป็นเขตเลือกตั้ง เดียวกัน ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ 50 เขตจะมี ส.ส.ได้ถึง 33 คน
กระแสข่าวการเมืองในกรุงเทพฯ ยังส่งผลสะเทือนโดยอ้อมไปยังเขตปริมณฑล และทั่วประเทศ ดังนั้น ความสำคัญจึงเท่ากับเป็นพื้นที่ระดับภาค หลายพรรคการเมืองจึงแต่งตั้งผู้รับผิดชอบ กทม.เป็นโซน 1 โซน 2 โซน 3 ไม่ยอมให้ทำคนเดียวเพื่อป้องกันปัญหาการผิดพลาดและทำงานได้ไม่ทั่วถึง
ทำไม?…รู้ว่าแพ้แต่ก็ยังส่งสมัครทั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก.
สําหรับพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล และพรรคตั้งใหม่ เช่น พรรคกล้า พรรคไทยสร้างไทย หรือพรรคที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่ม กปปส.มีความจำเป็นจะต้องส่งผู้สมัครลงแข่งขันในครั้งนี้
ที่ทำเป็นอันดับแรก คือส่งสมัคร ส.ก. ซึ่งอาจมีบางพรรคอาจส่งไม่ครบทั้ง 50 เขต
อันดับสอง ถ้าพรรคไหนมีบุคคลที่ดีเด่นพอสู้ได้ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็จะส่งลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วย เพื่อใช้สร้างกระแส และวัดกระแสพรรค บางคนสมัครผู้ว่าฯ แล้วสู้ไประยะหนึ่งก็รู้ว่าแพ้แน่นอน การหาเสียงก็อาจจะไม่เข้มข้นเหมือนตอนแรก แต่สำหรับผู้สมัคร ส.ก.จะสู้จนถึงวันสุดท้าย และจะลุ้นกันไปจนถึงการนับคะแนน
ดังนั้น ต่อให้มีมีผลโพลออกมารู้ว่า ส่งผู้ว่าฯ กทม.แพ้แน่ แต่ก็ยังสมัคร เมื่อมองดูเผินๆ เหมือนกับทุกกลุ่มจะแย่งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่จริงๆ แล้วพรรคส่วนใหญ่มุ่งไปที่ ส.ก. เพราะที่ต้องการคือ การเข้ายึดกุมพื้นที่และหัวคะแนนผ่านผู้สมัคร ส.ก.
นี่เป็นการหวังผลการเมือง 2 ชั้น ถ้าชนะ ส.ก.ในเขตใดก็เท่ากับการปูฐานการเมืองไว้ในเขตนั้น ถึงแม้ไม่ชนะ แต่ถ้าได้คะแนนมาก ก็เป็นการปูพื้นฐานเสียงเพื่อรองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งจะติดตามมาในเร็ววัน
ดัชนีการวัดว่าจะได้ ส.ส.ครั้งหน้า ในกรุงเทพฯ หรือไม่ จำนวนเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับคะแนนการเลือกตั้ง ส.ก.ในครั้งนี้ด้วย แม้ไม่ชนะได้เป็น ส.ก. แต่เขตที่มีคะแนนพอสมควร เหมาะที่จะส่งแข่งขันในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป
โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่มีความจำเป็น ที่ต้องวัดคะแนนนิยมจากการเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งนี้ เช่น พรรคกล้า พรรคไทยสร้างไทย
อันดับสาม การเลือกตั้งครั้งนี้ยังหมายถึงการย้ำความสัมพันธ์กับหัวคะแนนที่เคยมีอยู่ดั้งเดิมให้รู้ว่า วันนี้สถานการณ์การเมืองได้เปลี่ยนใหม่ หลายคนได้ย้ายพรรคไปแล้วหรือตั้งพรรคใหม่แล้ว บางคนก็ต้องการย้ำว่ายังอยู่พรรคเดิมอะไรๆ ที่เคยช่วยกันก็จะยังช่วยอยู่
ในการหาเสียงจริง ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ด้านหลักคงเป็นการหาเสียงแบบกว้างผ่านสื่อต่างๆ ชูนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ และคุณสมบัติความรู้ความสามารถของแต่ละคน
แต่การหาเสียงเพื่อได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ก. จะมุ่งเน้นการเจาะลงพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องผ่านอาสาสมัครและหัวคะแนน ซึ่งอาจจะเป็นสมาชิกพรรค สมาชิกของกลุ่มต่างๆ หรืออาจจะเป็นคนที่อาสาเข้ามาชั่วคราว การคุมเสียงในพื้นที่แบบละเอียดตามตรอกซอกซอย ยังเป็นเรื่องจำเป็น
แทบทุกพรรคจึงมีการเตรียมผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพฯ ลงเดินร่วมกับผู้สมัคร ส.ก. พร้อมแนะนำตัวเองไปด้วย เรียกว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้าไปเลย ดังนั้น ผู้สมัครจะได้เป็นผู้ว่าฯ หรือไม่ พวกเขาก็ทำเสียงในพื้นที่เต็มที่แล้ว ไม่ชนะไม่เป็นไร แต่มีแผนที่ลายแทงของฐานคะแนน ได้หัวคะแนน และได้คะแนนเสียงในแต่ละเขตมากบ้างน้อยบ้าง
แต่ทุกพรรคก็คาดหวังว่า ผลการเลือกตั้ง คงจะได้ ส.ก.จำนวนหนึ่งจาก 50 คน เท่านี้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว
ความคาดหวังของฝ่ายอนุรักษนิยม
สถานการณ์การเมืองวันนี้ประชาชน 1 คนอาจเลือกผู้ว่าฯ กทม.แบบที่ตัวเองต้องการให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. และอาจจะเลือก ส.ก.คนละกลุ่มก็ได้ ตามสภาพแวดล้อมทางการเมือง บางคนก็เลือกเพราะเป็นพรรคพวกกันหวังพึ่งพาอาศัยกัน แม้แต่ในครอบครัวเดียวกันก็ไม่แน่ว่าจะเลือกเหมือนกัน
หลายปีผ่านมา กทม.มาจากการแต่งตั้งและอาจทำงานไม่ได้อย่างที่ประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องการ ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจำนวนมากก็มีความคาดหวังมาเลือกไปแล้วจะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ตรงนี้จึงอาจเป็นข้อเสียเปรียบของฝ่ายอนุรักษนิยม
ฐานเสียงในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ในกระแสที่ยังมีการแบ่งแยกเป็นฝ่ายเป็นข้างแบบนี้ไม่มีใครจะครองพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ดังนั้น การแข่งขันเพื่อช่วงชิงก็มีเป้าหมายในเขตที่ตัวเองมีฐานที่มั่นที่แข็งแกร่ง เช่น
ประชาธิปัตย์…ย่อมหวังเขตกรุงเทพฯ ชั้นในและเข้าใจว่าคนกรุงเทพฯ ที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐเมื่อผิดหวังในตัวนายกฯ และการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ที่นายกฯ แต่งตั้งครั้งนี้น่าจะกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม แต่อย่าลืมว่าสมัยผู้ว่าฯ กทม.ของ ปชป. นานถึง 10 ปี ก็ไม่มีผลงานเด่นเลย
ถ้าหากประชาธิปัตย์ได้ ส.ก.ไม่ถึง 10 เขต จาก 50 เขต โอกาสฟื้นตัวคงยากมาก
และถ้าเขตไหนแพ้พรรคกล้า หมายความว่าพรรคกล้าจะเข้ามาแทนที่ในสายอนุรักษ์
ผู้ว่าฯ กทม.แพ้ได้ แต่ถ้า ส.ก.แพ้ยับ จะมีคนโดดออกจากเรือ ปชป.อีกหลายคน
ส่วนพรรคกล้า…ที่คิดว่าตัวเองสามารถที่จะดึงคะแนนซึ่งเคยเป็นฐานประชาธิปัตย์มาอยู่กับพรรคตนได้บ้าง ถ้าได้คะแนนเสียงพอสมควรในบางเขตในครั้งนี้ ก็ถือเป็นลายแทงในการทุ่มกำลัง ชิงพื้นที่บางเขตในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า แต่ถ้าไม่ได้ ส.ก.เลยแม้แต่คนเดียว การเดินต่อจะยากมาก เพราะคนเข้าร่วมจะน้อย ทุนหนุนก็จะน้อย
พรรคพลังประชารัฐ…ถ้าไม่ส่งผู้ว่าฯ หรือไม่มีใครยอมลงในนามพรรค พอสรุปได้ว่าไม่เป็นที่นิยม แต่ถ้าไม่ส่ง ส.ก.ในนามพรรค ถือว่ายอมแพ้ ถ้าส่งลงแล้วไม่ได้ หรือได้น้อยมาก ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ได้ ส.ส.ในกรุงเทพฯ เลยแม้แต่คนเดียว
ตัวแทนของกลุ่ม กปปส. …ไม่มีอะไรจะเสีย การลงสนามครั้งนี้ถือเป็นการวัดความนิยมอีกรอบ
ความคาดหวังของฝ่ายประชาธิปไตย
ส่วนพรรคก้าวไกล…ที่ได้รับชัยชนะพอสมควรในการเลือกตั้งปี 2562 การเลือกตั้ง ส.ก. นับเป็นก้าวสำคัญถ้าหากว่าชนะเกินกว่า 20 เขต หมายความว่าพวกเขาจะมีสิทธิ์รักษาจำนวน ส.ส.กรุงเทพฯ ได้ไม่น้อยกว่าเดิม
ถ้าผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. การเลือก ส.ส.ครั้งหน้ามีโอกาสจะได้ ส.ส.ในกรุงเทพฯ เกิน 15 คน แต่ถ้าแพ้ก็ไม่เสียหาย เพราะอย่างน้อยก็เป็นการกระชับความเหนียวแน่นของผู้สนับสนุนพรรค แต่ควรจะได้ ส.ก.เกิน 15 คน ถ้าน้อยกว่านี้ถือว่าถอยหลัง
พรรคเพื่อไทย…ก็ต้องหวัง ส.ก.อย่างน้อย 1 ใน 3 ของ 50 คน แต่ปัญหาก็คือคะแนนเสียงของเพื่อไทยและก้าวไกลต้องมาตัดกันในหลายๆ เขตในสนามที่เลี่ยงไม่ได้แบบนี้ แถมยังมีไทยสร้างไทยก็ยังมาตัดคะแนน โอกาสชนะจึงไม่ง่าย
ไทยสร้างไทย…ต้องการเกิดและพิสูจน์ตนเองในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผู้ว่าฯ หรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ต้องชนะได้ ส.ก.จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเขตที่เคยมีหัวคะแนนอยู่ คือเขตกรุงเทพฯ รอบนอกทางเหนือและตะวันออก ถ้าไม่ชนะในเขตนั้น จะก้าวต่อยากยิ่งขึ้น คนที่จะเข้าร่วมก็จะขาดความมั่นใจ
การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นศึกตะลุมบอน
ศึกนี้จึงบอกว่าดุเดือด ชื่อเสียงของพรรคหรือนโยบายไม่พอเพียงสำหรับผู้สมัคร ส.ก. แต่การรู้จักคนในพื้นที่ การมีหัวคะแนน การมีอาสาสมัครช่วยในพื้นที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะคะแนนที่ชนะแพ้ในขตอาจต่างกันเป็นหลักร้อยเท่านั้น
ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คงไม่มีใครซื้อเสียง แต่ศึกชิง ส.ก.บางเขต ต้องจับตาดู ค่าใช้จ่ายจริงในการส่ง ส.ก. 50 คน มากกว่าผู้ว่าฯ กทม.เยอะ
สำหรับประเด็นที่ว่าผู้สมัครอิสระกับผู้สมัครที่มีพรรคส่ง ได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วไม่มี ส.ก.เป็นทีมของตนเอง จะเป็นปัญหาหรือไม่? จะนำเสนอในโอกาสหน้า