สงครามยูเครน ผลสะทือนในเอเชียตะวันออก | โลกทรรศน์ : อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…ญี่ปุ่นอายัดทรัพย์สินของผู้ทรงอิทธิพลชาวรัสเซีย 17 ราย…”

ข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นอายัดทรัพย์ของผู้ทรงอิทธิพลชาวรัสเซีย 17 รายเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมานี้ แล้วตอนนี้ได้อายัดทรัพย์เพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ตอกย้ำความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวทีโลกของญี่ปุ่นครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้เพราะว่าสงครามยูเครนก่อผลอย่างสำคัญต่อญี่ปุ่นซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ

แต่เป็นประเด็นใจกลาง นโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ก่อนจะถึงประเด็นใจกลาง นโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่น ควรรู้ก่อนว่า ญี่ปุ่นมีปฏิกิริยาอะไรบ้างต่อสงครามยูเครน

 

มากกว่ามนุษยธรรมและเศรษฐกิจ

การที่รัฐบาลญี่ปุ่นอายัดทรัพย์สินผู้ทรงอิทธิพลชาวรัสเซีย 17 ราย เป็นรูปธรรมของท่าทีญี่ปุนต่อสงครามยูเครนดั่งที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกใช้ การคว่ำบาตร ทางเศรษฐกิจรัสเซีย แล้วภาคเอกชนญี่ปุ่นก็จริงจังกับการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย

อุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทรถยนต์นิสสันระงับการส่งออกไปรัสเซีย ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติเริ่มมีผลให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนอย่างหนัก บริษัทโตโยต้าต้องหยุดการประกอบรถยนต์ในรัสเซีย ส่วนบริษัทฮอนด้า มาสด้า ซูบารุ ต้องหยุดการส่งออกรถยนต์ไปยังรัสเซียเนื่องจากปัญหาชิ้นส่วนอุปกรณ์ขาดแคลน

ความช่วยเหลือ1 บริษัทดองกี้ ประกาศให้ความช่วยเหลือผู้อพยพภัยสงครามที่มาญี่ปุ่น พร้อมสนับสนุนที่พัก อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่คือ NTT, Soft Bank, KDDI ประกาศไม่คิดค่าบริการจากญี่ปุ่นไปยูเครน เพื่อให้โทรศัพท์ติดต่อกับญาติ สอบถามความปลอดภัยให้ตลอดเดือนมีนาคม

บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ อาปามังกรุ๊ป ประกาศจะให้การสนับสนุนด้านที่พักแก่ผู้อพยพสงครามชาวยูเครน โดยจะนำห้องเช่าในอพาร์ตเมนต์ที่ว่างอยู่ ให้เข้าพักในระยะสั้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

บริษัทยูนิโคล่ บริจาคเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐและมอบเสื้อกันหนาวฮีตเทค ผ้าห่ม เป็นต้น ผ่านทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาติ

ค่ำวันที่ 4 มีนาคม นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายเชเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน ประณามการบุกโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทางตอนใต้ของยูเครน รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศพร้อมรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนสู่ประเทศที่ 32

รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือ 100 ล้านเหรียญสหรัฐแก่ยูเครน มีทั้งเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค อาหาร ผ้าห่ม เพื่อชาวยูเครนในประเทศและผู้ลี้ภัยชาวยูเครนในประเทศใกล้เคียง

ไม่ใช่แค่ความช่วยเหลือทางด้านเงิน เวชภัณฑ์ เสื้อผ้า ผ้าห่มของรัฐบาลญี่ปุ่น ความกระตือรือร้นของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นทั้งบริษัทโทรคมนาคม บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เสนอที่พักอาศัยให้กับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน นี่ไม่ได้เป็นแบบแผนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นความตื่นตัวของญี่ปุ่นต่อวิกฤตการณ์ในยูเครนเลยทีเดียว ญี่ปุ่นยังดำเนินการตามชาติตะวันตก รวมทั้งการอายัดทรัพย์ผู้มีอิทธิพลชาวรัสเซียอีกด้วย

ที่สำคัญ การกระทำทั้งหมดแสดงนัยยะแห่งความหวั่นเกรงวิกฤตการณ์ยูเครนของญี่ปุ่น เนื่องจากวิกฤตการณ์นี้กระทบโดยตรงต่อระบบคิดแห่งนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

 

วิกฤตการณ์ยูเครนกับการสั่นคลอนระบบพันธมิตร

วิกฤตการณ์ยูเครนไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ในแง่เกิดขึ้นในจุดอ่อนแอของรัสเซียในยุโรป ไม่ใช่แค่ราคาน้ำมันและพลังงาน รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร แต่สั่นคลอนระบบพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

งานศึกษาที่ดีมากของอาจารย์ธีรินทร์ สุพุทธิกุล3 ชี้ว่า วิกฤตการณ์ยูเครนมีนัยยะโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่น มีผลทั้งตรรกะและจิตวิทยา ทำให้ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทบทวนแนวทางการป้องกันประเทศ รวมถึงหลักการไม่เอาอาวุธนิวเคลียร ด้วยเพราะนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นคือ ยุทธศาสตร์ป้องปราม ทั้งเพื่อความปลอดภัยของชาติและธำรงเสถียรภาพของระเบียบเอเชีย ยุทธศาสตร์นี้ยังเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของระบบพันธมิตร ไม่ว่าแบบทวิภาคี แบบพหุภาคี และระบบความมั่นคงร่วมกัน ในกรอบองค์การสหประชาชาติ

ควรเข้าใจว่า ความมั่นคงญี่ปุ่นตั้งอยู่บนกลไกป้องปราม ระบบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามเย็น ญี่ปุ่นสามารถยึดมั่นในหลักการ ไม่มี ไม่สร้าง ไม่ให้นำเข้าอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งหลักการสันตินิยม (pacifism) ที่ยอมให้คงไว้แค่กำลังเชิงรับ (Defensive force)

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ยูเครนสั่นสะเทือนระบบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา อันตั้งอยู่บนกลไกป้องปรามโดยตรง เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ

ประการที่ 1 สหรัฐอเมริกาวางตัวบนยุทธศาสตร์คลุมเครือ อ้างปกป้องยูเครนแต่ทำเพียงผลักดันให้ชาติตะวันตกช่วยเหลือทางทหาร ช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ยูเครน แต่สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือทางทหารน้อยที่สุด สหรัฐอเมริกาได้แต่ข่มขู่ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อายัดทรัพย์สินผู้ทรงอิทธิพลชาวรัสเซียที่สัมพันธ์กับประธานาธิบดีปูติน ในกรณีนี้ สหราชอาณาจักรเคลื่อนไหวอายัดทรัพย์สินชาวรัสเซียอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังคงคลุมเครือว่าจะมาช่วยเหลือพันธมิตรในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและไต้หวัน เมื่อถูกโจมตีหรือไม่

ประการที่ 2 จะเห็นได้ว่า นับวันสิ่งที่เรามองเห็นในวิกฤตการณ์ยูเครนคือ สัญญาณที่สั่นคลอนและกัดกร่อนความเชื่อถือของคนญี่ปุ่นต่อกลไกป้องปราม (deterrent) ซึ่งอิงกับพละกำลังทางทหารและคำมั่นสัญญา อันตั้งอยู่บนฐานพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา

อาจารย์ธีรินทร์ สุพุทธิกุล4 ตั้งข้อสงเกตพร้อมอ้างรูปธรรมที่น่าสนใจมากว่า ที่ผ่านมา ท่าทีของสหรัฐอเมริกากลับสั่นคลอนกลไกป้องปรามของญี่ปุ่น แม้ว่าระบบพันธมิตรจะดูเหนียวแน่น อีกทั้งรัฐบาลอาเบะของญี่ปุ่นก็หันมาใช้นโยบายเชิงรุก เพิ่มบทบาทความมั่นคงร่วมกับสหรัฐอเมริกา เพื่อถ่วงดุลและป้องปรามภัยจีนและเกาหลีเหนือ

แต่สหรัฐอเมริกากลับมีท่าทีลังเลใจในการใช้กำลังจัดการวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในซีเรีย (2013) ไครเมีย (2014)

 

ระเบียบใหม่?

เป็นความจริงที่ประธานาธิบดีปูตินได้นำยุโรปกลับสู่ยุคหลังม่านเหล็ก อย่างน้อยประธานาธิบดีปูตินได้จัดวางระเบียบใหม่อันหนึ่งคือ ภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีไครเมียและมีรัฐอิสระที่นิยมรัสเซียเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับรัสเซียมากกว่าเดิม

บางคนบอกว่า นี่คือการกลับสู่ยุคสงครามเย็น แต่ผมว่า มันซับซ้อนกว่าสงครามเย็นที่มีเพียงแค่ 2 ขั้วอภิมหาอำนาจ ในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองก็ไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และเสรีประชาธิปไตย เพราะรัสเซียก็ไม่ใช่รัฐคอมมิวนิสต์แล้ว รัสเซียเป็นทุนนิยมอันวางอยู่บนรากฐานอันแข็งแกร่งของคณาธิปไตย (Oligarchy) ในขณะที่เสรีประชาธิปไตย ก็มีระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) ของนักเลือกตั้ง ที่บั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งทุจริตคอร์รัปชั่นเข้มข้น

ที่น่าสนใจ เราอาจเห็นระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกที่เริ่มเปลี่ยนไปจากญี่ปุ่น ด้วยวิกฤตการณ์ยูเครนได้ทำลายระบบพันธมิตร ทำลายกลไกการป้องปราม ที่ญี่ปุ่นผูกไว้หรืออาจถูกบังคับด้วยรัฐธรรมนูญและข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา วิกฤตการณ์ยูเครนทำให้ญี่ปุ่นขวัญเสีย ด้วยเพราะว่าญี่ปุ่นยังมีปัญหาข้อพิพาทบริเวณเหนือเกาะฮอกไกโด ซึ่งรัสเซียเรียกว่าหมู่เกาะคูริน แต่ญี่ปุ่นเรียกว่า อาณาเขตทางเหนือ ที่รัสเซียยึดไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1945 ไม่เพียงแค่ปัญหาดินแดนกับรัสเซีย กรณีไต้หวันและเกาหลีเหนือยังเป็นตัวแปรต่อระบบคิดด้านความมั่นคงและการต่างประเทศใหม่ของญี่ปุ่นอีกด้วย

ระเบียบใหม่ในยุโรปเป็นอย่างไรไม่รู้ ระเบียบใหม่ในเอเชียก็น่าตื่นตา

 

¹สุภา ปัทมานันท์ “ญี่ปุ่นกับสงครามยูเครน” มติชนสุดสัปดาห์ 11-17 มีนาคม 2565 : 37

²เพิ่งอ้าง

³ธีรินทร์ สุพุทธิกุล “โตเกียวเสียขวัญ เมื่อเสียงปืนสนั่นฟ้ายูเครน” 101 15 มีนาคม 2022

4เพิ่งอ้าง