บทเรียนจาก Thirteen Days : ‘อย่าต้อนศัตรูให้จนมุม…’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

บทเรียนจาก Thirteen Days

: ‘อย่าต้อนศัตรูให้จนมุม…’

 

ผมเพิ่งไปค้นเจอหนังสือเก่าเล่มนี้หลังจากเกิด “สงครามยูเครน” ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หนังสือ Thirteen Days เขียนโดย Robert Kennedy น้องชายของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy เป็นบันทึกส่วนตัวว่าด้วยนาทีวิกฤตเมื่อเดือนตุลาคม 1962 (ย้อนหลังจากวันนี้ 60 ปีพอดิบพอดี)

ซึ่งวันนี้กลายเป็นตำนานแห่งประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศไปแล้ว

มันคือช่วงจังหวะที่ “อันตรายที่สุด” ช่วงหนึ่งของมนุษยชาติ

หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือสหภาพโซเวียตขณะนั้นประเมินสถานการณ์ผิด สงครามโลกครั้งที่สามที่ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าประหัตประหารกันก็จะระเบิดขึ้น

และโลกอาจจะพินาศเป็นจุณไปตั้งแต่บัดนั้น…อาจจะไม่มีโลกที่เราอยู่อย่างในปัจจุบันก็ได้

รายละเอียดของการต่อรองและเล่นเกมน่าหวาดเสียวระหว่างประธานาธิบดี JFK ของสหรัฐและนายกรัฐมนตรี Nikita Khrushchev ของสหภาพโซเวียตในวิกฤตระหว่างนั้นผมได้เล่าไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนล้ว

ที่ผมสนใจเวลานี้เพื่อนำมาเป็น “บทเรียน” สำหรับวิกฤตของสงครามยูเครนคราวนี้คือการทำความเข้าใจกับกระบวนการตัดสินใจของมหาอำนาจที่จะรู้จักประเมินสถานการณ์อย่างถูกต้อง

เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่สงครามที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุมได้

พอฝ่ายใดกดปุ่มนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก่อน อีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่มีทางเลือก ต้องกดปุ่มมหาประลัยเพื่อตอบโต้

โดยที่ไม่มีใครบอกได้ว่าความเสียหายต่อมวลมนุษย์จะเป็นเช่นไร

บทวิเคราะห์ “บทเรียน” นี้อยู่ในบทนำของหนังสือเล่มนี้โดยนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอเมริกาคือ Arthur Schlesinger, Jr

แกเริ่มต้นด้วยการเตือนก่อนว่ากระบวนการตัดสินใจเพื่อจะทำสงครามนั้น “ไม่จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลเสมอไป”

ตรงนี้แหละที่น่ากลัว

เพราะหากนำมาใช้กับสถานการณ์วันนี้ การตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียกับโจ ไบเดน ของสหรัฐในการจะเดินหน้าเข้าสู่การเผชิญหน้าทางการสู้รบนั้นอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่าง “มีเหตุมีผล” ที่พิจารณาผลประโยชน์ของโลกใบนี้ก็ได้

อาจจะเป็นเพียงการประเมินจากผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันทางการเมืองหรือการประเมินผลประโยชน์ของประเทศของตนในระเบียบโลกวันนี้ก็ได้

นั่นแปลว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอาจจะไม่ได้อยู่ใน “สมการ” แห่งการประเมินก่อนการตัดสินใจที่จะเข้าสู่ “โหมดสงคราม”

ตรงนี้น่าหวาดเสียว

ข้อเท็จจริงหลายประเด็นเพิ่งมาปรากฏหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วหลายปี

 

Schlesinger, Jr เขียนบันทึกเอาไว้ว่าเขาได้เข้าร่วมสัมมนาหัวข้อนี้ที่ฮาวานา (คิวบา) ในปี 1992 หรือหลังเหตุการณ์ผ่านไป 30 ปี

เพิ่งได้ข้อมูลใหม่ที่ทำให้น่าตกใจ

แกบอกว่านายพล Anatoly Gribkov ของรัสเซียซึ่งอยู่ที่ฮาวานาระหว่าง “วิกฤต 13 วัน” เปิดเผยว่า ณ วันนั้นมีทหารรัสเซียประจำการอยู่บนเกาะคิวบา 43,000 คน

ขณะที่ CIA ของอเมริกาประเมินในช่วงนั้นว่าจำนวนทหารรัสเซียบนเกาะคิวบามีเพียง 10,000 คน

ข้อมูลใหม่คือกองกำลังรัสเซียวันนั้นมีอาวุธ “หัวรบนิวเคลียร์” อยู่แล้ว…ทั้งชนิดพิสัยใกล้และพิสัยไกล

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หน่วยข่าวกรองของสหรัฐแจ้งว่าไม่อาจจะประเมินว่าหัวรบนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตถูกส่งไปถึงคิวบาแล้วหรือยัง

ข้อมูลที่มารู้ 30 ปีให้หลังที่น่าหวาดหวั่นกว่าเดิมก็คือหากระบบการสื่อสารระหว่างคิวบากับมอสโกถูกตัดขาดลงด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้บัญชาการภาคสนามของโซเวียตบนเกาะคิวบามีอำนาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ หากสหรัฐตัดสินใจบุกเกาะคิวบา!

อาจารย์ Schlesinger, Jr บอกว่าเหล่าบรรดากูรูอเมริกันที่เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกับฝ่ายโซเวียตวันนั้นเมื่อได้ยินข้อมูลใหม่จากฝั่งมอสโกแล้ว “ตกใจ…ช็อกไปตามๆ กัน”

หนึ่งในผู้เข้าร่วมการสัมมนาวันนั้นคือ Robert McNamara ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างวิกฤตช่วงนั้น

…แกได้รับทราบข้อมูลชุดใหม่นี้วันนั้น “เกือบตกเก้าอี้ด้วยความตกใจเลยทีเดียว”

เพราะเป็นที่รู้กันว่าเหล่าบรรดานายทหารที่เข้าร่วมประชุมในวอร์รูมกับประธานาธิบดี JFK ในช่วงนั้นส่วนใหญ่เสนอให้กองกำลังสหรัฐบุกเกาะคิวบาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้สหภาพโซเวียตติดตั้งขีปนาวุธได้ครบเสียก่อน

ยกเว้น McNamara ที่ไม่เห็นด้วยกับการบุกยึดเกาะคิวบา

อดีตรัฐมนตรีกลาโหมคนนี้บอกว่าสงครามนิวเคลียร์อาจระเบิดขึ้นโดยเริ่มที่ชายฝั่งเกาะคิวบา…และอาจจะจบลงด้วยกลายเป็นหายนะของโลกทั้งใบก็เป็นได้

 

บทเรียนสำคัญที่สุดจาก “วิกฤตคิวบา” คือผู้นำฝ่ายการเมืองแม้จะฟังความเห็นของฝ่ายทหารและความมั่นคงก็ต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลทุกๆ ด้าน

JFK เน้นการใช้ “การทูต” เพื่อกดดันให้ฝ่ายโซเวียตถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา

เริ่มด้วยการใช้วิธีการระงับเรือต่างๆ ที่เข้าข่ายต้องสงสัยไม่ให้ขึ้นเกาะ

ศัพท์ทางทหารเรียก Blockade แต่ JFK ใช้คำว่า Quarantine ให้ฟังดูเบาลง

ทุกวันนี้ Quarantine ถูกใช้เรียกการ “กักตัว” สำหรับผู้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงติดโควิด-19

แม้ว่าความเห็นส่วนใหญ่ในวอร์รูมช่วงนั้นจะโน้มเอียงไปทางส่งกองกำลังอเมริกันขึ้นเกาะคิวบาเพราะหากขืนช้าไปกว่านั้นระบบขีปนาวุธโซเวียตจะพร้อมโจมตีสหรัฐได้

ยิ่งถ้าหากข้อมูลที่ทราบภายหลังได้รับการป้อนเข้าไปสู่ที่ประชุมวอร์รูมในช่วงวิกฤต (ว่ามอสโกได้ส่งอาวุธร้ายแรงติดหัวรบนิวเคลียร์ขึ้นเกาะคิวบาแล้วทั้งพิสัยใกล้และพิสัยกลางที่ยิงใส่สหรัฐได้สบายๆ…และมีทหารรัสเซียบนเกาะถึง 43,000 คน ไม่ใช่แค่ 10,000 คนอย่างที่ CIA รายงาน) ก็ยิ่งจะทำให้ฝ่ายทหารกดดันให้ JFK ต้องตัดสินใจ “ลุย” ทางทหารแน่นอน

แต่วิกฤตครั้งนั้นไม่กลายเป็นสงครามระดับโลกก็เพราะ JFK ยืนยันว่าจะต้องใช้วิถีทางการทูตไปจนถึงวินาทีสุดท้าย

ว่ากันว่า JFK อาจจะได้แรงบันดาลใจจากแนวทางการต่อรองการทำสงครามจากนักวิเคราะห์ทางทหารชาวอังกฤษที่ชื่อ Basil Liddell Hart

ผู้เขียนตำราการเจรจาหลีกเลี่ยงวิกฤตชื่อ Deterrent or Defence ที่ JFK เองเขียนเขียนวิเคราะห์เอาไว้เมื่อปี 1960

แนวทางการเจรจาต่อรองกับคู่ต่อสู้ในวิกฤตใดๆ นั้นให้ถือหลัก

“Keep strong, if possible. In any case, keep cool. Have unlimited patience. Never corner an opponent and always assist him to save his face. Put yourself in his shoes – so as to see things through his eyes. Avoid self-righteousness like the devil – nothing is so self-blinding…”

เป็นคำแนะนำที่ JFK นำมาปฏิบัติตลอดช่วง 13 วันแห่งความตึงเครียดสูงที่สุดในชีวิตการเมือง

แน่นอนว่าจะต้องแสดงความเข้มแข็งเอาไว้

แต่ในทุกกรณี ต้องใจเย็น ใจนิ่ง ใจร่มๆ

ต้องให้มีความอดทนอย่างไร้ขีดจำกัด

ที่สำคัญคืออย่าต้อนฝ่ายตรงกันข้ามเข้ามุม

จงช่วยศัตรูรักษาหน้าของเขา

ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นประโยคที่ว่า “จงใช้จินตนาการว่าเขาคิดอะไรอยู่…”

นั่นคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

มองเหตุการณ์นี้ด้วยสายตาของฝ่ายตรงกันข้าม

อย่าได้ปิดบังสายตาด้วยเองด้วยการติดยึดว่า “ฉันคือผู้ที่ถูกต้องชอบธรรมที่สุด”

ตลอดช่วงเวลาแห่งการระดมสมองของวอร์รูมฝั่งสหรัฐ หรือที่ JFK เรียกว่า Ex-Com นั้นเขาย้ำเตือนตลอดว่า

“เราต้องถามตัวเองว่าทำไมฝ่ายโซเวียตจึงคิดและทำอย่างที่เขาทำอยู่…เขาต้องมีเหตุผลของเขา…”

JFK เน้นว่าแม้จะเชื่อว่าอย่างไรเสียสหภาพโซเวียตก็ไม่กล้ากดปุ่มนิวเคลียร์เพราะรู้ว่าตนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในเกมนี้

แต่ JFK พยายามทำทุกอย่างที่จะช่วย Krushchev ที่จะถอยได้โดยไม่ต้องเสียหน้า

ผมกำลังติดตาม “สงครามยูเครน” ด้วยคำถามเดียวกันนี้คือ

ปูตินกับไบเดนจะช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่ง “ถอยโดยไม่เสียหน้า” ได้อย่างไร?