ทุจริตสอบ ‘ทีแคส’ บทเรียนซ้ำซาก ‘ทปอ.’ / การศึกษา

กลายเป็นบทเรียนซ้ำซากอีกครั้ง สำหรับกรณีการสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย โดยล่าสุดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พบการทุจริตการจัดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และวิชาความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT เพื่อนำคะแนนไปใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2565 ในวิชา PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ สอบวันที่ 12 มีนาคม เวลา 13.00-16.00 น. และการสอบวิชา PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ สอบวันที่ 13 มีนาคม เวลา 08.30-11.30 น.

โดยพบว่าข้อสอบทั้ง 2 วิชาถูกถ่ายภาพไปเผยแพร่ในแอพพลิเคชั่น “สแนปอาส์ค” ซึ่งเป็นแอพพ์สำหรับเฉลยข้อสอบในช่วงวันเวลาเดียวกับการสอบ!!

กรณีใช้เทคโนโลยีไฮเทคโกงสอบ ถือว่าซ้ำรอยเดิม หลายปีก่อนมีขบวนการโกงข้อสอบแพทย์มหาวิทยาลัยดัง โดยใช้แว่นตาถ่ายข้อสอบ ส่งไปให้ติวเตอร์เฉลย ก่อนส่งคำตอบเข้ามาในนาฬิกาสมาร์ตวอตช์ จนเป็นข่าวครึกโครม

ที่ถูกจับได้เพราะกรรมการคุมสอบช่างสังเกต แต่ขณะเดียวกันก็หละหลวมปล่อยให้อุปกรณ์เหล่านั้นเล็ดลอดเข้าห้องสอบไปได้

“รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้จัดการระบบทีแคส ระบุว่า ทันทีที่ทราบเรื่องได้เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.วิรวัฒน์ นิยมทรัพย์ สารวัตร (สอบสวน) สภ.คลองหลวง จ.ปุทมธานี เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว ขณะเดียวกัน ทปอ.เร่งดำเนินการสอบสวน โดยได้ประสานขอข้อมูลไปยังผู้ดำเนินการแอพพลิเคชั่น ที่มีการเผยแพร่ภาพข้อสอบทั้ง 2 รายวิชา เพื่อขอข้อมูลการทุจริตแล้ว

จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่ามีผู้ร่วมขบวนการทุจริต 2 ราย คือนักเรียนที่อยู่ในห้องสอบ และอีก 1 คนคือผู้ที่อยู่ข้างนอกที่คอยรับภาพและส่งต่อไปที่แอพพลิเคชั่นดังกล่าวเพื่อขอคำตอบแล้วส่ง โดยบุคคลนี้อาจเป็นนักเรียน หรืออาจจะเป็นผู้ปกครองก็ได้ และคาดว่าอุปกรณ์ไฮเทคที่ใช้ในการทุจริต เป็นแว่นตาที่ซ่อนกล้องไว้ โดยทำการบันทึกภาพแล้วส่งต่อไปให้คนข้างนอก

“เท่าที่ดูการทุจริตครั้งนี้ ทำเป็นขบวนการโดยใช้อุปกรณ์ไฮเทค แต่เชื่อว่าไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ เพราะทดลองถ่ายจากมุมข้อสอบแล้ว น่าจะใช้อุปกรณ์อื่น เช่น แว่นตา ปากกา หรือนาฬิกาที่ถ่ายรูปได้ แล้วส่งต่อให้ผู้ที่อยู่ด้านนอก เพื่อส่งให้แอพพ์ดังกล่าว เมื่อได้คำตอบก็ส่งกลับมาให้ผู้สอบ ดังนั้น จึงเชื่อว่าไม่ได้ทำคนเดียวแน่นอน” รศ.ดร.ชาลีมั่นใจการตรวจสอบเบื้องต้น

ส่วนจะต้องยกเลิกการสอบในวิชาที่มีการทุจริตหรือไม่นั้น ทางผู้จัดการระบบทีแคสชี้แจงว่า โดยปกติแล้วหากมีการทุจริตเกิดขึ้นในวงกว้าง เช่น ส่งผลให้คนกลุ่มใหญ่หรือนักเรียนจากโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งได้ประโยชน์ ก็จะต้องยกเลิกการจัดสอบทันที แต่เนื่องจากการจัดสอบใหม่ ส่งผลกระทบค่อนข้างสูง รวมถึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ หากไม่ใช่การทุจริตที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ก็จะไม่มีการยกเลิกการสอบ แต่จะเป็นการลงโทษเฉพาะตัวผู้ที่ทำการทุจริตเท่านั้น

ซึ่งเท่าที่ดูกรณีนี้ยังไม่มีผลกระทบในวงกว้าง เป็นการทุจริตเฉพาะตัว มีการเลือกข้อสอบเพียงบางข้อเพื่อส่งภาพเผยแพร่ในแอพพ์ดังกล่าว และรอผู้มาเฉลยคำตอบให้ แบ่งเป็น PAT1 จำนวน 4 ข้อ PAT2 จำนวน 3 ข้อ

“ทั้งนี้ นักเรียนที่ทำการทุจริตครั้งนี้ จะถูกตัดสิทธิการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นเวลา 5 ปี ส่วนผู้ร่วมขบวนการถูกแจ้งความดำเนินคดี ขณะเดียวกัน ทปอ.เตรียมฟ้องแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย เนื่องจากข้อสอบ GAT/PAT เป็นลิขสิทธิ์ของ ทปอ. การนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์” รศ.ดร.ชาลีแจ้งถึงการลงโทษผู้ที่ทุจริตการสอบ

เรียกว่า เสียอนาคตทั้งคู่ ดูแล้วได้ไม่คุ้มเสีย!!

กรณีนี้ “สมพงษ์ จิตระดับ” นักวิชาการด้านการศึกษา มองถึงการแก้ปัญหาของ ทปอ.ว่า ยังมีตำหนิ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดสอบ ซึ่ง ทปอ.ด่วนสรุปเร็วเกินไป จากประสบการณ์ เมื่อตรวจพบการทุจริต ส่วนใหญ่จะทำเป็นขบวนการ การทุจริตปัจจุบันจะใช้เครื่องมือไฮเทค และจุดที่เกิดจะเป็นชานเมือง เช่น ปทุมธานี นนทบุรี จะไม่ทำในพื้นที่ใจกลางเมืองอย่างกรุงเทพฯ และบางแห่งจะพบว่าสามารถติดต่อผู้คุมสอบได้

สำหรับการสอบทีแคสนั้น เดิมจัดสอบและออกข้อสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) แต่ขณะนี้ ทปอ.ได้ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้ออกข้อสอบแนววิเคราะห์ สังเคราะห์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวข้อสอบอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น สถาบันกวดวิชาต่างๆ ก็ต้องการแนวข้อสอบ เพื่อมาติวให้ผู้เรียน ถือเป็นตลาดธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจทำให้เกิดความพยายามนำข้อสอบออกมาเพื่อเฉลยให้กับเครือข่าย ดังนั้น การทุจริตที่เกิดขึ้นน่าจะมีมากกว่า 2 คน

“ส่วนตัวเชื่อว่าการที่ ทปอ.จำกัดวงให้แคบ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจัดสอบใหม่ การปิดจบเรื่องเร็วอาจเกิดความไม่ยุติธรรมก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทางออกของเรื่องนี้ ผมเสนอว่า ทปอ.หาวิธีการป้องกันอุปกรณ์ไฮเทคโดยประสานผู้เชี่ยวชาญมาช่วย ปรับวิธีการคัดเลือกและปรับรูปแบบการอบรมผู้คุมสอบ การใช้การประชุมชี้แจงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ควรแนะนำวิธีสังเกต แนะนำอุปกรณ์ไฮเทคใหม่ๆ ให้ทราบด้วย” อาจารย์สมพงษ์แนะนำ

แน่นอนว่า กรณีการทุจริตการสอบคนทำผิดเต็มประตู แต่อีกส่วนหนึ่งคือระบบ ที่คงต้องมาทบทวน ว่ารัดกุมเพียงพอหรือไม่

เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือนักเรียนที่อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม!! •