บวชพราหมณ์? / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

บวชพราหมณ์?

 

ช่วงนี้มีผู้ถามผมบ่อยครั้งว่า การบวชพราหมณ์คืออะไรกันแน่ เนื่องมาจากข่าวซึ่งกำลังเป็นที่สนใจ คือกรณีการเสียชีวิตของคุณแตงโมนิดา

มีผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ประสงค์จะบวชพระเพื่ออุทิศกุศลแด่ผู้เสียชีวิต แต่ด้วยติดขัดบางอย่าง จึงไป “บวชพราหมณ์” มีการปลงผม นุ่งขาว พิธีกรรมทั้งหมดจัดแจงโดยพระภิกษุวัดดังแห่งหนึ่ง

อันที่จริงก่อนหน้านี้มีคนถามผมว่า ในกรณีทั่วๆ ไป หากผู้ตายเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัด การทำบุญจากพุทธศาสนา แล้วบุญจะส่งถึงเขาไหม

ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาหากเราปรารถนาดีกับใคร เราก็มักกระทำกุศลและพิธีกรรมไปตามวิถีความเชื่อของเรา เท่าที่เราทำเป็น

ก็เราทำเป็นแค่นั้นนี่ครับ จะไปทำในแบบศาสนาเขาเองก็ยากหรือขัดข้องเพราะเชื่อต่างกัน ส่วนสิ่งที่เราเรียกว่าบุญจะถึงไม่ถึงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สมมุติหากผมตายลง แล้วมีเพื่อนต่างศาสนิกทำกุศลตามวิถีของเขาอุทิศให้ผมโดยความจริงใจ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ดีงามมาก ถ้าผมรับรู้ได้คงอนุโมทนามากๆ

ทั้งนี้ ส่วนตัวผมคิดว่าพลังของเจตจำนงที่ดีงามเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งที่เรียกว่าพลังบุญหรืออะไรที่เป็นคำอธิบายตายตัวตามความเชื่อศาสนา

 

ทว่าในกรณีเฉพาะ คือเรื่องคุณแตงโม ดูเหมือนจะมีความซับซ้อนมากเข้าไปอีก เพราะมีผู้ให้ข้อมูลว่า ผู้ไปบวชพราหมณ์อุทิศให้คุณแตงโมนั้นนับถือศาสนาคริสต์ อันนี้คงเป็นเรื่องถกเถียงกันต่อไปว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร ละเมิดความเชื่อเดิมของตนหรือไม่

ผมเคยเขียนเรื่อง “บวชผี บวชพุทธ บวชพราหมณ์” ไว้ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อนานมาแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญคือต้องการแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะบวชแบบไหนในบ้านเรา ที่จริงมันเป็นเรื่อง “การทำให้ศักดิ์สิทธิ์” มากกว่าเป็นการบวชตามความหมายเดิมของพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งคือการสละโลก

ดังนั้น ความสับสนที่พ่วงคำถามข้างต้นที่ว่า บวชพราหมณ์คืออะไร มาจากการใช้ทั้งคำว่า “บวช” และ “พราหมณ์” ในบริบทและความหมายเฉพาะของสังคมไทยเอง

ซึ่งผมจะลองทบทวนและอธิบายดูครับ

 

คําว่า “พราหมณ์” ในบ้านเรา ในอดีตไม่ได้หมายถึงชื่อของศาสนาพราหมณ์ (Brahmanism) หรือศาสนาฮินดู (Hindu) ตามความเข้าใจในปัจจุบัน เพราะเราเรียกศาสนาพราหมณ์-ฮินดูว่า “ไสยศาสน์” หรือที่เขียนกันว่า ไสยศาสตร์ มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย ดังมีคำนี้ปรากฏในฐานเทวรูปพระอีศวรที่กำแพงเพชร สมัยอยุธยา

การเรียกศาสนาพราหมณ์ว่าไสยศาสตร์ยังคงสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของรัชกาลที่หนึ่งมีว่า “อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย”

ในตำราไหว้ครูโขนละครสมัยรัชกาลที่สี่ ก็ยังทรงเรียกเทวรูปพราหมณ์ที่ใช้ในพิธีไหว้ครูว่า “เทวรูปพระไสยศาสตร์”

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ห้า ผมพบว่าทรงใช้ทั้งคำว่า “ไสยศาสตร์” ซึ่งหมายถึงศาสนาพราหมณ์ “แต่ส่วนพระราชพิธีซึ่งคละปะปนกันทั้งพุทธศาสน์และไสยศาสตร์นั้น” (เข้าใจว่าเป็นฉบับปรับปรุง ผมจึงไม่แน่ใจว่าจะทรงใช้คำว่า ไสยศาสน์หรือไม่) และยังทรงใช้คำว่า “ศาสนาพราหมณ์” หรือคำว่า “พวกพราหมณ์ฮินดู” ปนๆ กันไปในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนแล้ว

ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่า คำว่าพราหมณ์ซึ่งหมายถึง “ศาสนา” นั้น เพิ่งเริ่มต้นใช้ในสมัยรัชกาลที่ห้าเท่านั้นเอง (อาจมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ แต่ผมยังไม่พบหลักฐาน) และคงเป็นการใช้ผ่านการเกิดขึ้นขององค์ความรู้ที่เรียกว่า “ภารตวิทยา” (Indology) อันเป็นความรู้ว่าด้วยอินเดียซึ่งกำลังแบ่งบานนโลกตะวันตก

เราต้องไม่ลืมว่ารัชกาลที่ห้าทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษดี อีกทั้งทรงเคยเสด็จประพาสไปทั้งอินเดียและยุโรป คำว่าพราหมณ์ในความหมายถึงศาสนาไม่ใช่สิ่งที่ทั้งคนอินเดียและคนไทยใช้มาก่อน แต่ฝรั่งยุคนั้นแบ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นยุคๆ และมียุคที่เป็นศาสนาพราหมณ์ “Brahmanism” ก่อนที่จะเป็นศาสนาฮินดู

ส่วนคำว่า ไสยศาสตร์ เปลี่ยนความหมายมาจากศาสนาพราหมณ์ กลายมาเป็นอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบันเมื่อใดนั้น คงต้องขอเวลาค้นคว้าอีกสักหน่อย

 

ดังนั้น เมื่อมีผู้ไปถือศีลแปด นุ่งขาวห่มขาว ซึ่งเราเรียกกันว่า “บวชพราหมณ์” หรือ “ชีพราหมณ์” แต่เราจำนวนไม่น้อยก็รู้แล้วว่าพราหมณ์เป็นคำที่หมายถึงศาสนาอื่น (อันเป็นความหมายตั้งแต่รัชกาลที่ห้าลงมา) เราจึงสับสนกับพราหมณ์ในความหมายเก่าของเราเอง เพราะความหมายที่ซ้อนกันอยู่ในคำว่าพราหมณ์

พราหมณ์ในความเข้าใจเก่าของเรา ผมคิดว่ามีสองความหมาย อย่างแรกเป็นสำนวนที่ใช้เรียกนักบวชรวมๆ กันไป อย่างที่สองหมายถึง แขกอินเดียกลุ่มต่างๆ

เรามักพบคำว่า “สมณพราหมณ์” ซึ่งใช้ในวรรณกรรมพุทธศาสนา เช่น ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา เพราะพุทธศาสนาพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า สถานะ “สมณะ” ซึ่งหมายถึงนักบวชประเภทสละโลกคือพระ มิได้แตกต่างหรือต่ำต้อยกว่ากลุ่มคนวรรณะสูงคือวรรณะพราหมณ์ จึงใช้เรียกรวมๆ กันไปเลย

คำนี้ปรากฏในวรรณกรรมเก่าๆ เยอะครับ เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา หรือชาดก และยังใช้ในทางพิธีกรรมต่างๆ เมื่อกษัตริย์จะทรงบรมราชาภิเษกก็ทรงรับว่าจะปกป้องดูแลสมณพราหมณ์เป็นต้น ผมจึงคิดว่าคนพุทธบ้านเราจึงคุ้นเคยความหมายของคำว่าพราหมณ์ในลักษณะนี้ ว่าเป็นนักบวชอย่างหนึ่ง มากกว่าจะเข้าใจว่าเป็นศาสนาอื่น

ผนวกกับแต่เดิมเรามีประเพณีบวช “ชี” หรือ “ชีปะขาว” และ “ฤษี” ซึ่งเป็นธรรมเนียมพื้นเมือง (เช่น ฤษีของเผ่าต่างๆ) แล้วรับเอาคติพุทธศาสนาไปผสานภายหลัง บวกกับความคุ้นเคยของคำว่า พราหมณ์ (ซึ่งหมายถึงคนนุ่งขาวไว้ผมยาว) อันตรงกับลักษณะของนักบวชเหล่านี้พอดี

เราจึงมีการ “บวช” “ชีพราหมณ์” ซึ่งไม่มีในอินเดียขึ้นมา

 

หากพิจารณาโดยหลักพุทธศาสนาเอง ชีพราหมณ์หรือชีปะขาว ไม่ใช่ “นักบวช” ที่หมายถึงสมณะผู้สละเรือน แต่เป็นเพียงคฤหัสถ์ที่สมาทานศีลอุโบสถเท่านั้น เป็นอุบาสกอุบาสิกาซึ่งไม่ได้มีสถานภาพเป็นนักบวชอีกประเภทหนึ่งแต่อย่างใด

อีกทั้งในคำสอนพุทธศาสนา ก็มิได้กำหนดให้ผู้สมาทานอุโบสถศีลต้องนุ่งขาวหรือไว้ยาวหรือจะต้องตัดต้องโกนผม เพียงแค่สมาทานศีลก็เป็นอันว่าถืออุโบสถแล้ว

อาจมีผู้แย้งว่า แม้แต่ในอดีตการสมาทานศีลอุโบสถก็มักมีเครื่องแต่งกายพิเศษเพื่อให้ทราบ เช่น ผ้าคล้องไหล่ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธรรมเนียมที่ไม่ได้มีบทบัญญัติตายตัว

เราใช้คำว่า “บวช” ในความหมายถึงการทำให้ศักดิ์สิทธิ์หรือทำให้แปลกไปจากปกติ เช่น ในศาสนาอิสลามเมืองไทยก็ยังเรียกการถือศีลอดว่าบวช รวมทั้งการถือว่าคนเหล่านี้เป็นนักบวช เช่น แม่ชี ชีพราหมณ์ หรือ ตาปะขาว เป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองครับ (ซึ่งไม่ได้มีแค่ในไทย)

 

ส่วนอีกมุมหนึ่ง คำว่าพราหมณ์มีความหมายถึง “แขก” จากอินเดียกลุ่มต่างๆ เช่น พวกรามเหศร์ ฮินดู บังคลี ฯลฯ ซึ่งมิได้เจาะจงว่าต้องเป็นคนในวรรณะพราหมณ์หรือผู้ประกอบพิธีเท่านั้น เช่นเดียวกับในเมียนมา ซึ่งอาจารย์สิทธิพร เนตรนิยม ผู้เชี่ยวชาญพม่าศึกษาเล่าว่า แต่โบราณมาพม่าก็เรียกคนจากอินเดียทั้งสี่วรรณะว่าพราหมณ์ทั้งหมด

ดังนั้น การใช้คำว่า “บวชพราหมณ์” ในความเข้าใจเดิมของเรา จึงไม่ได้หมายถึงการไปบวชเป็นพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่หมายถึงการไปบวชนุ่งขาวห่มขาวมีสถานภาพพิเศษตามคติพื้นเมือง ซึ่งผสานกับพุทธศาสนาแล้ว

ส่วนใครจะบวชเพื่ออะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ซึ่งต้องคุยกันอีกยาวๆ •