2 ค่ายรถยักษ์จีน ชิงสตาร์ต…ปักธงในไทย จรดปากกาสรรพสามิตร่วมโครงการยานยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์โชว์ปีนี้ชี้วัดตลาดอีวี…หมู่หรือจ่า/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

2 ค่ายรถยักษ์จีน

ชิงสตาร์ต…ปักธงในไทย

จรดปากกาสรรพสามิตร่วมโครงการยานยนต์ไฟฟ้า

มอเตอร์โชว์ปีนี้ชี้วัดตลาดอีวี…หมู่หรือจ่า

 

ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลได้เริ่มต้น “มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า” อย่างเป็นรูปธรรม

โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 กรมสรรพามิตได้ร่วมลงนามข้อตกลงการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า กับ 2 ค่ายรถชื่อดังจากประเทศจีน คือ เอ็มจี และเกรท วอลล์ มอเตอร์ ทำให้ได้เห็นรถไฟฟ้า ที่ถือเป็นการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล็อตแรกที่ได้รับส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายนนี้ โดยจัดแสดงและพร้อมจำหน่าย รวม 2 พันคัน

แบ่งเป็นเกรท วอลล์ มอเตอร์ หรือที่รู้จักกันในยี่ห้อ โอร่า กู๊ดเคท (Ore Good Cat) จำนวน 1,500 คัน

และจากเอ็มจี จำนวน 500 คัน

 

“ลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มั่นใจว่าเงื่อนไขของมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเป็นที่พอใจของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ล่าสุด เนต้า จากประเทศจีน ได้ยื่นขอเข้าร่วมมาตรการมาแล้ว คาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงในเร็วๆ นี้

และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีค่ายรถ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เข้าร่วมมาตรการอย่างต่อเนื่อง โดยการจำหน่ายรถยนต์ ราคาจะถูกลง จากที่ได้รับส่วนลด เริ่มต้นตั้งแต่ 150,000-200,000 บาทต่อคัน

ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ระบุอีกว่า นอกจากที่กล่าวมา ยังมีค่ายรถอื่นๆ แสดงความสนใจเข้าร่วมมาตรการอีก 8-9 ค่าย เช่น เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู โตโยต้า ฮอนด้า มิซูบิชิ นิสสัน

รัฐบาลตั้งงบประมาณในปีแรกของมาตรการส่งเสริมอีวี ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท แต่หากเม็ดเงินไม่เพียงพอ เชื่อว่ารัฐบาลพร้อมจะเพิ่มวงเงินให้ และในปีถัดไปจะมีงบสนับสนุนต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยปีที่ 3 ผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5

หากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จะมีบทลงโทษ ตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาผูกมัดไว้ เช่น เบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีอากรนำเข้า และภาษีสรรพสามิต เป็นต้น เพื่อให้เกิดเป็นฮับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เป้าหมายของรัฐบาล

สิทธิประโยชน์ส่วนลดของรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ที่ดึงดูดค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ทำให้การทำตลาดเพื่อขายง่ายขึ้น ประกอบด้วย 3 ต่อ ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี จาก 8% ลดเหลือ 2% เงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามขนาดแบตเตอรี่ของรถยนต์ ตั้งแต่ 70,000-150,000 บาทต่อคัน

ส่วนรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน

และสุดท้าย การลดอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หากราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินคันละ 2 ล้านบาท ได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ส่วนรถยนต์ที่มีราคาแนะนำ 2-7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดสูงสุด 20% โดยรวมทุกส่วนลดแล้ว คาดว่าไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อคัน

 

“สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า กระแสตอบรับของรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง มีหลายคนอยากจะไปดูตัวรถจริงๆ โดยในงานมอเตอร์โชว์ 2022 นี้ คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 100% และกลุ่มไฮบริด จากหลายยี่ห้อ อาทิ เอ็มจี, เกรท วอลล์, บีเอ็มดับเบิลยู และเบนซ์ ถือว่ามากกว่าทุกครั้งที่ได้จัดงานมา

สำหรับมาตรการส่วนลดทางภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลนั้น หากราคารถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 1 ล้านต้นๆ แล้วได้ส่วนลดโดยรวมประมาณ 1.5 แสนบาท อาจทำให้ราคาเหลืออยู่ราว 8 แสนบาทต่อคัน ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้คนสนใจซื้อได้มากขึ้น ทั้งนี้ ยังคงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น ในเรื่องของสถานีชาร์จไฟ ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ก็จะยิ่งช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้อีก

“มาตรการภาษีและเงินอุดหนุนนั้นเป็นสิ่งดี ถ้าค่ายรถเข้าร่วมมากขึ้น เชื่อว่าในงานมอเตอร์โชว์ 2022 นี้ จะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และเป็นการวัดว่าความต้องการซื้อของประชาชนจะสูงแค่ไหน และมาตรการก็เป็นตัวเร่งสำคัญให้ผู้ประกอบการรถยนต์ที่ลังเลอยู่ ได้ตัดสินใจที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้าไทยมามากขึ้น และนำไปสู่การสร้างฐาน ลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามเงื่อนไขในปี 2567-2569 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย” สุรพงษ์กล่าว

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี รถยนต์สันดาปภายใน หรือรถใช้น้ำมัน ก็ยังคงจำหน่ายได้ดี มีคนสนใจซื้อต่อเนื่อง เนื่องจากราคารถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังถือว่ามีราคาสูง รวมถึงประชาชนยังให้ความสนใจรถอีโค่อยู่ ส่วนประเภทรถที่เป็นที่นิยมมาตลอดทุกปี คือ รถกระบะ เพราะเป็นเครื่องมือทำมาหากินสำคัญ

ด้านภาพรวมของตลาดรถยนต์ในไทยนั้น ปี 2565 คาดว่าจะจำหน่ายได้ 8 แสนคันต่อปี ซึ่งมียอดขายที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่จำหน่ายได้ 7.5 คันต่อปี

แต่ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความรุนแรง ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ว่าจะบานปลายหรือไม่ และหากยืดเยื้อก็ทำให้การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์มีปัญหา และเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูง อาทิ น้ำมัน ก็ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นตาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการผลิต และกำลังซื้อของประชาชน

 

นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการยานยนต์ไฟฟ้า คือในปี 2567 จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อัตราส่วน 1 ต่อ 1 คัน จากที่จำหน่ายไปในปี 2565-2566 และในปี 2568 ผลิตคืนในอัตรา 1 ต่อ 1.5 คัน ส่วนจะผลิตเท่าไรก็ต้องดูยอดขายและรุ่นรถที่จำหน่ายได้

ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการเปิดตัวมาตรการยานยนต์ไฟฟ้าได้ตามแผน สามารถดึงสองค่ายรถยักษ์ใหญ่จากจีนมาได้ และอนาคตค่ายรถอื่นๆ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป จะสนใจเข้าร่วม และจะก้าวไปสู่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่

คงต้องลุ้นกัน