สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เพราะครูเติมความรักให้ (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เรื่องเล่าสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของครูและนักเรียน ในเวทีประชุมวิชาการระดับประเทศโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาปีที่ 3 ช่วงครึ่งวันเช้า ยังดำเนินต่อไปด้วยความคึกคัก เข้มข้น

หลังจากละครเวทีเรื่อง ปริศนา ศึกษาไทย ใครลวง ใครหลอก ใครบอกจริง องก์ที่ 1 แสดงโดยอาจารย์จากศูนย์พี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยมหิดลและศิลปากร จบลง

ผู้เข้าร่วมประชุมเต็มห้องแกรนด์ ไดมอน บอลรูม อิมแพค เมืองทอง รอดูว่าครูและนักเรียนจากโรงเรียนภาคอีสานและภาคใต้ จะนำเสนอประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ด้วยรูปแบบอะไร

ผู้ชมประทับใจ น้ำตาซึมได้แค่ไหน

 

นําโดยกลุ่มโรงเรียนภาคอีสาน และศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำลองบรรยากาศการทำโครงงาน หัวข้อ ผ้ามัดหมี่ย้อมครามเขมราฐ ทำไปๆ นักเรียนเริ่มมีปัญหา งานเยอะ เรียนวิชาปกติ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯ แล้ว ต้องแบ่งเวลามาทำโครงงานอีก เหนื่อย ท้อ และทำท่าจะทะเลาะกัน บางส่วนอยากหยุด ขณะที่ครูก็มีงานล้นมือ

ครูหาทางแก้ด้วยการจัดกิจกรรมจิตตปัญญาศึกษา เอานักเรียนรุ่นก่อนมาถ่ายทอดประสบการณ์ ทำให้มีสติ มีสมาธิ ปัญหาจึงค่อยๆ คลี่คลายลง

การแสดงชุดต่อมาเป็นฟ้อนรำ ประกอบเพลง เอ้งามผ้าครามเมืองเขม อีสานบ้านเฮา โดยนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

“ครูพัฒนาขึ้นตามลำดับ ใช้ความสุข สนุกสนานควบคู่ไปกับการเรียน กระบวนการจิตตปัญญา พาเด็กไปศึกษาทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน หาประเด็นที่สนใจ โดยครูคอยเป็นที่ปรึกษาให้กำลังใจ” ครูแกนนำสะท้อน

ทำให้เด็กเกิดกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบใหม่ๆ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีความมั่นใจ ทำงานมีระบบขั้นตอน มีเหตุผลยอมรับคนอื่น เข้าใจกัน มีความเป็นผู้นำมากขึ้น


ลําดับต่อไปเป็นคิวของภาคใต้ ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รูปแบบเดี่ยวไมโครโฟน โดยครูคณิตศาสตร์ แรกพยายามหลีกหนีไม่อยากทำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา แต่ในที่สุดก็กลายเป็นครูแกนนำคนสำคัญ

ครูเกรียงศักดิ์ ทองนพคุณ หรือ ครูโจ้ แห่งโรงเรียนกาญจนาภิเษก สุราษฎร์ธานี

“จุดเปลี่ยนแปลงของคนเรามักจะเริ่มต้นด้วยคำว่าพบ แต่สำหรับผมเริ่มต้นจากคำว่า จาก ครับ” ครูโจ้ เริ่มบทสนทนา เล่าประสบการณ์เมื่อปีก่อน

จากแรกคิดว่าการทำโครงงานฐานวิจัยต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง คิดว่าผมไม่น่าสอนนักเรียนของผมได้ จึงปฏิเสธทุกหนทาง สุดท้ายผมหนีมันไม่พ้น

จากที่สอง จากครูผู้สอนสู่ครูผู้เรียนรู้ เราต้องมีความรู้มากกว่าผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนศรัทธาในตัวเรา พบนักเรียนที่ชอบค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ผมไม่เคยรู้ว่าเขาเดินนำหน้าผมไปแล้วกี่ก้าว

เด็กมาถามผม “ครูครับ เครื่องรีเฟล็กโทรมิเตอร์ ใช้วัดค่าสารอาหารได้มั้ยครับ ถูกเด็กถาม ผมไม่มีความรู้ ไปไม่ถูกเลย”

ความคิดเปลี่ยนเลยครับ หากเรามีทัศนคติว่า เราต้องเก่งกว่า บางเรื่องเราไม่รู้เท่าเขา เราไม่สามารถรู้ทุกเรื่องได้ ผมปรับความคิด ทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เรียนรู้ไปกับนักเรียน

จากที่สาม จากเพื่อนร่วมงานกลายเป็นเสมือนคนในครอบครัว ครูภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ครูคณิตศาสตร์ เป็นเสมือนคนในครอบครัว แม้ไม่มีครูวิทยาศาสตร์ จัดทีมรับงานโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาของโรงเรียน แรกๆ มึนมาก แต่ทำให้เราเดินมาด้วยกันจนถึงวันนี้

เพาะพันธุ์ปัญญาคือการที่เราได้จับมือทำงานร่วมกัน ครูต่างกลุ่มสาระเดินด้วยกัน หลายครั้งรู้สึกท้อแท้ อยากร้องไห้ ไม่เอาแล้ว ไม่ทำต่อแล้ว

แต่ในเวลาที่เราอ่อนล้า จะมีมือหนึ่งมาตบไหล่ให้กำลังใจ เดี๋ยวๆ พี่ช่วย ให้ทำต่อเสมอ สอนให้ผมเติบโตขึ้น มองโลกในมุมที่ไม่เหมิอนเดิม มีอะไรน่าสนใจ ความท้าทายรอยู่ให้เข้าไปค้นหาเรียนรู้ตลอดเวลา

“รองติ๋มครับ ผมโจ้ขอบคุณมากครับ”

“อาจารย์รัญจวนศรี ขุนไขยรักษ์ รอง ผอ.โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี ที่สั่งให้ผมเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ เพิ่มภาระให้ แต่ผมกลับมองว่า มันเป็นโอกาสครับ”

ครูโจ้ ลดไมโครโฟนลง น้อมหัวยกมือไหว้ผู้ฟัง เสียงปรบมือดังก้องทั้งห้อง

รายการต่อไป ครูโรงเรียนธรรมโฆษิต จ.สงขลา ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำลองห้องเรียนนอกสถานที่ “นักเรียนทำความเคารพ”

ครูกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ทำโครงการ 3 ปี เริ่มเล่าถ่ายทอดประสบการณ์กระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา เริ่มจากฝึกสติ สมาธิ การเปลี่ยนแปลงจากภายใน ครูต้องเปลี่ยนแปลงก่อน

ปีแรกมีปัญหามาก ปีที่สองเลยขอหยุด แต่ ผอ.เขตมาบอกว่าทำดีแล้ว ให้ขยายไปอีก 3 ห้อง เด็กมากไม่ได้ฝึกสติ ผลออกมาเด็กไม่เปลี่ยน เจอปัญหา เจอใครก็ร้องไห้ ไม่กล้าแสดงออก ครูต้องเข้าไปกอดให้กำลังใจ

ปีที่สามมาคิดว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดใช้กระบวนการค่าย อยู่วัดสองคืน มีพระอาจารย์มาช่วยสอน เน้นฝึกสติ เริ่มจากค่ายแรกค่ายสร้างโจทย์ ค่ายสองฝึกกระบวนการคิด ปรับทัศนคติ เน้นให้เป็นคนดีก่อน อุปสรรคต่างๆ ก้าวข้ามไปได้ พบว่าเด็กกล้าพูด ครูเปลี่ยนวิธีคิด สอนโดยการปฏิบัติ ให้ทำซ้ำๆ ยืนไหว้ให้สวย

ค่ายสาม ค่ายนำเสนอถอดบทเรียนสะท้อนคิด นักเรียนคิดเอง นำเสนอเอง มีปัญหานักเรียนแก้ด้วยตัวเอง

เด็กคนหนึ่งแรกๆ ขาดความรับผิดชอบ “ถ้าเพื่อนไม่ทำหนูก็ไม่ทำ” ครูเล่า

ครูหาทางแก้โดยใช้กระบวนการสะท้อนคิด ค่อยๆ ถามเด็กว่า “หนูคิดอะไร เล่าให้ครูฟังซิ จนเขายอมเล่าปัญหาและความคิดของเขาออกมา ในที่สุดจากเด็กที่ไม่รับผิดชอบเปลี่ยนเป็นเด็กที่ทุ่มเท”

อีกคนหนึ่ง เด็กไม่มีพ่อแม่ เด็กหลังห้องไม่มีเพื่อนเลย ครูใช้กระบวนการเพาะพันธุ์ “หนูเขียนไม่ได้ไม่เป็นไร หนูวาดรูปให้ครูดูก็ได้ ครูรับฟัง ในที่สุดเด็กเปลี่ยน เพื่อนในห้องบอกให้ย้ายมาอยู่กับพวกผมได้เลย จากหลังห้องมาหน้าห้อง”

“ครูเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้เด็กใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข อย่างเด็กสองคนนี้เปลี่ยนเพราะครูเปลี่ยนที่จะรับฟังเขา เข้าใจเขามากขึ้น เด็กเปลี่ยนเพราะครูเติมความรักให้”

“นักเรียนกราบ” การแสดงจำลองบรรยากาศจริงจากโรงเรียนจบลง ผู้ฟังหลายคนน้ำตาซึม