คำสัมภาษณ์แรกๆ ของ “เป็นเอก” เกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่ “อวสานซาวด์แมน” อีกหนึ่งผลงานคนไทยที่เวนิส

คนมองหนัง

 

เปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับหนังไทยเรื่อง “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ของ “เป็นเอก รัตนเรือง” ซึ่งลงโรงฉายสองรอบแรกในเซ็กชั่น “เวนิส เดย์ส” กิจกรรมคู่ขนานอิสระของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสประจำปีนี้

นอกจากหนังจะได้ออกฉายที่เวนิสไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม และ 1 กันยายนที่ผ่านมา ผู้กำกับฯ “ไทยนิวเวฟ” รุ่นเก๋าอย่างเป็นเอก ก็ได้เริ่มประเดิมพูดคุยกับสื่อต่างชาติถึงผลงานเรื่องใหม่ของตนเอง

หนึ่งในสื่อต่างประเทศที่ได้พูดคุยกับคนทำหนังชาวไทยรายนี้ คือเว็บไซต์ “cineuropa” ซึ่งเพิ่งเผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกทัศนะมุมมองของเป็นเอกต่อสภาพสังคมรอบตัว โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ผู้หญิง” และ “ศาสนา” (สองประเด็นที่เป็นแก่นแกนหลักของ “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ”)

อันมีเนื้อหาน่าสนใจบางส่วน ดังต่อไปนี้

ว่าด้วยสถานะของผู้หญิงในประเทศไทย

เป็นเอก : “…ผู้หญิงไทยโดยทั่วไป พวกเธอก็เหมือนนักแสดงนั่นแหละ เพราะว่าสังคมได้กำหนด “บทบาท” มากมาย ให้พวกเธอต้องแสดง

“เช่น ถ้าคุณเป็นลูกจ้างบริษัท คุณก็จะต้องเชื่อฟังเจ้านาย คุณต้องไม่พูดจาหยาบคายกับเขา เมื่อคุณอยู่ที่บ้านกับสามี คุณก็จะต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ทำนู่นนี่ให้แก่เขา กับพ่อแม่ คุณก็ต้องเชื่อฟังพวกท่านโดยปราศจากข้อโต้แย้ง คุณต้องทำตามที่พวกท่านสั่ง และระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง พวกเธอก็จะมานั่งกอสซิปกันถึงเรื่องชั่วร้ายต่างๆ ของสามี

“ดังนั้น ผู้หญิงไทยจึงต้องเล่นหลายบทบาทมากๆ…”

ว่าด้วยความศรัทธาต่อพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่

เป็นเอก : “…ระหว่างการเขียนบทหนังเรื่องนี้ได้เกิดกรณีอื้อฉาวมากๆ เกี่ยวกับลัทธิพิธีบางอย่าง และการคอร์รัปชั่นภายในวัด คุณต้องตระหนักว่าในประเทศไทย ศาสนาพุทธได้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นเรื่องธุรกิจ เพราะวัดบางแห่งในประเทศนี้นั้นมีรายได้พอๆ กับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ แต่กลับไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะเงินที่วัดได้รับเป็นเงินบริจาค

“นอกจากนี้ พระหลายรูปก็มีสถานะเป็นดังร็อกสตาร์ คุณรู้ใช่ไหมว่าการจัดองค์กรทางพุทธศาสนาแบบนี้ มักเล่นกับความรู้สึกไม่มั่นคงของผู้คน เพราะว่าชีวิตของคุณนั้นมีแต่ความไม่แน่นอน คุณไม่รู้ว่าเมื่อไหร่คุณจะถูกไล่ออกจากงาน คุณไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า พระสงฆ์และวัดเลยเข้ามาทำหน้าที่บรรเทาความทุกข์ในใจให้ผู้คน

“เช่น คุณต้องแต่งกายสีนี้ เพราะมันจะทำให้คุณประสบโชคดีในวันนี้ หรือถ้าคุณต้องการซื้อรถใหม่ เพื่อนของผมหลายคน เวลาพวกเขาจะซื้อรถยนต์คันใหม่ พวกเขาจะไปหาพระสงฆ์ก่อน เพื่อปรึกษากับพระว่าควรซื้อรถสีไหนดี?

“พระก็จะตรวจสอบวันเดือนปีเกิด ดวงชะตาของคุณ แล้วบอกว่าโยมต้องซื้อรถสีเขียว ถึงคุณจะตอบกลับไปว่าผมไม่อยากได้รถสีเขียว ผมอยากได้รถสีขาว พระก็จะบอกว่า ไม่ได้ ถ้าโยมอยากโชคดี อยากร่ำรวย โยมต้องซื้อรถสีเขียว

“คุณต้องไม่เชื่อแน่ๆ ว่า ต่อให้มีคนไทยบางคนตัดสินใจซื้อรถสีขาว แต่ถ้าพระสงฆ์บอกว่าเขาต้องซื้อรถสีแดงเพื่อความโชคดี ที่ประเทศนี้จะมีคนผลิตสติ๊กเกอร์ที่คุณสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งถูกตัดแต่งเป็นข้อความระบุว่า “รถคันนี้สีแดง” เพื่อให้คุณนำสติ๊กเกอร์แผ่นนั้นไปแปะลงบนรถยนต์สีขาวของคุณ

“เพียงแค่นั้น รถของคุณก็จะกลายเป็นสีแดง และคุณก็จะโชคดีในที่สุด…”

หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่เวนิส “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” จะบินข้ามทวีปไปยังประเทศแคนาดา เพื่อร่วมฉายในสาย “Contemporary World Cinema” (ภาพยนตร์โลกร่วมสมัย) ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-17 กันยายน

อย่างไรก็ดี ผลงานเรื่องล่าสุดของเป็นเอกมิได้เป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของวงการหนังไทยในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสปีนี้

เพราะยังมีหนังสั้นไทยชื่อ “อวสานซาวด์แมน” โดย “สรยศ ประภาพันธ์” ถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดภาพยนตร์สั้นของเซ็กชั่น “Orizzonti” ซึ่งพยายามนำเสนอผลงานอันเป็นตัวแทนของสุนทรียะรูปแบบใหม่ๆ และกระแสร่วมสมัยของโลกภาพยนตร์

สรยศเคยมีผลงานหนังสั้นเด่นๆ ที่ได้รับรางวัลและได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศมาแล้วหลายเรื่อง อาทิ “บุญเริ่ม”, “ดาวอินดี้” และ “รักษาดินแดน”

นอกจากนี้ เขายังทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกเสียง (ซาวด์แมน) ประจำกองถ่ายหนังอินดี้ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัยจำนวนมาก

เว็บไซต์ทางการของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสระบุถึงเรื่องย่อของหนังสั้นไทยความยาว 16 นาทีเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“เสียงของผู้คนมักเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกละเลยเพิกเฉยอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเสียงประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งมักไม่ค่อยถูกสนใจไยดีโดยบรรดาผู้ชม ในหนังเรื่องนี้ ตัวละครที่เป็นนักบันทึกเสียงสองคนกำลังทำงานมิกซ์เสียงในขั้นตอนท้ายสุดให้แก่หนังสั้นเรื่องหนึ่ง น่าตั้งคำถามว่าจะมีใครบ้างไหมที่ได้ยินสรรพเสียงเหล่านั้น?”

ขณะเดียวกัน สรยศก็ได้เปิดเผยแนวคิดเบื้องหลังในการทำหนังสั้นเรื่องนี้ว่า

“เสียงคือส่วนประกอบสำคัญในภาพยนตร์ ซึ่งช่วยแต่งแต้มเรื่องราวลงบนชีวิต แต่ผมมักพบว่าคนดูหนังชอบส่งเสียงดังสอดแทรกขึ้นมาในโรงภาพยนตร์ จนดูเหมือนว่ามีคนไม่มากนักที่จะสนใจฟังสุ้มเสียงซึ่งผมบันทึกเอาไว้ ยิ่งกว่านั้น ผมยังอาศัยอยู่ในสถานที่ที่เสียงของตัวผมเองไม่ได้ถูกรับฟังแต่อย่างใด

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทำหนังเรื่องนี้ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อส่วนตัวว่าเสียงในภาพยนตร์นั้นมีสถานะสำคัญ ไม่ต่างกันกับเสียงของประชาชน”