กรณี ‘แตงโม’ โด่งดังใน ‘มาเลเซีย-อินโดฯ’ ‘ความยุติธรรม’ คือภาษาสากล/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

กรณี ‘แตงโม’

โด่งดังใน ‘มาเลเซีย-อินโดฯ’

‘ความยุติธรรม’ คือภาษาสากล

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

เรื่องแตงโมไม่ได้ดังเฉพาะเมืองไทย แต่ดังถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย บางคนถึงขนาดเอาไปตั้งชื่อลูก

สาวมาเลย์ที่ร้องเพลงขอรักคืนกลับมา ผ่านสื่อโซเชียล เผยอยากให้แตงโมได้รับความยุติธรรม

หลายคนได้นำเรื่องราวของแตงโมโพสต์ลงติ๊กต็อก พร้อมกับใช้เพลง “ขอรักคืนกลับมา” ที่ขับร้องโดย “เบลล่า ไรวินทร์” มาประกอบ ด้วยเนื้อหาของเพลงที่เศร้าเข้ากับเรื่องราวของแตงโม จนทำให้เพลงกลายเป็นที่นิยมบนติ๊กต็อก ถึงขั้นแฟนๆ มาเลเซีย-อินโดนีเซียพากันเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงแตงโม” เลยทีเดียว

หนึ่งในนั้นคือ “Atika Azera” สาววัย 25 ปี จากมาเลเซีย เธอได้อัพโหลดวิดีโอคัฟเวอร์เพลงขอรักคืนกลับมาเป็นภาษาไทย ที่ร้องได้ไพเราะกินใจ จนมียอดผู้ชมแตะหลักล้านได้ในเวลาไม่กี่วัน

เธอกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันร้องเพลงไทย ฉันไม่ค่อยเก่งภาษาไทยเท่าไหร่เพราะฉันไม่มีเชื้อสายไทย ปกติฉันจะร้องคัฟเวอร์เพลงเกาหลีลงติ๊กต็อก มีผู้ติดตามขอให้ฉันร้องเพลงนี้ ฉันจึงเริ่มค้นหาเนื้อเพลง เรียนรู้การออกเสียง ฉันไม่ได้คาดหวังว่าวิดีโอจะเป็นไวรัลและมีชาวไทยสนใจมากขนาดนี้”

นอกจากนี้ เธอยังให้เหตุผลการคัฟเวอร์เพลงแตงโมอีกหนึ่งอย่างว่า ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่คอยสังเกตให้ความสนใจกับการจากไปของแตงโม เธอหวังว่าแตงโมจะได้รับความยุติธรรม

“ฉันเลือกเพลงนี้เพราะเนื้อเพลง หลังจากอ่านคำแปลแล้ว ฉันรู้สึกว่าเพลงนี้เข้ากับกรณีของแตงโม หลังจากรู้เรื่องแตงโมฉันก็ติดตามข่าวทุกวัน เข้าติ๊กต็อกอัพเดตข้อมูล ถึงแม้แตงโมจะไม่ใช่คนในครอบครัว แต่ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน คงจะเป็นการโกหกหากบอกว่าไม่ได้รู้สึกอะไรหลังอ่านข่าว ฉันก็เป็นเหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องการความยุติธรรมให้กับแตงโม”

 

ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด ให้ทัศนะว่า “เรื่องการที่สังคมให้ความสนใจเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ โดยพื้นฐานแล้ว หัวใจรักความยุติธรรมนั้นเป็นภาษาสากล สังคมมาเลเซียเกาะติดคดีแตงโมชนิดช็อตต่อช็อตเหมือนบ้านเรา ไลฟ์รายงานสดหลายๆ คลิป มียอดวิวเรือนแสน บางคนถึงขั้นนำไปตั้งชื่อลูก ตามที่สังคมออนไลน์แชร์ภาพ เอกสารสูติบัตร ระบุเด็กหญิงชาวมาเลเซียคนหนึ่งชื่อว่า ‘Tangmo NIDA binti Abdullah’ แตงโม นิดา บินติอับดุลเลาะห์… เกิดเมื่อ 9 มีนาคม 2022”

นอกจากความเป็นธรรมที่ภาคประชาชนไม่ว่าที่ไหนกำลังค้นหาคำตอบ มันสะท้อนจากความไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคดีแตงโมสะท้อนกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิรูปตามที่ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “คดีแตงโมนิดา หวั่นกระทบความศรัทธาต่อองค์กร ส่งสัญญาณชัดต้องปฏิรูปวงการสีกากี…”

หากพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 (2) ให้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบ และถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งการสรุปสำนวนผลการชันสูตรพลิกศพจากการตายเพื่อทราบถึงสาเหตุการตาย จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จำต้องสร้างความเชื่อมั่น และเป็นธรรมอย่างเพียงพอให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นของความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความโปร่งใสของพนักงานสอบสวนในการค้นหาความจริง รวมถึงการชันสูตรพลิกศพ ต้องตระหนักว่าการชันสูตรพลิกศพเป็นกระบวนการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการตาย และเป็นการใช้อำนาจรัฐรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลต่อความเป็นธรรม

ในประเทศไทยนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจเต็มฝ่ายเดียวในการชันสูตรพลิกศพ ปราศจากการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก

เช่นนี้ทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ย่อมส่งผลให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมในการค้นหาความจริง

ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องกระทำการชันสูตรพลิกศพอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เสียหาย ญาติของผู้ตาย และประชาชน

 

นอกจากความเป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมแล้ว กรณี “แตงโม” ยังช่วยให้คนมาเลเซีย นักศึกษามาเลเซียสนใจภาษาไทยมากขึ้น เพราะจะได้อ่านข่าว ติดตามข่าวได้ลึกจากสื่อไทยโดยตรง

อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ จากมหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย กล่าวว่า “เรื่องแตงโมเป็นที่สนใจมากออกสื่อหลัก สื่อโซเชียลทุกวันเลย เขาเห็นว่าแตงโมควรได้รับความเป็นธรรม ในขณะเดียวกันนักศึกษามาเลเซียหลายคนได้ลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยมาลายาที่ได้เปิดสอนด้วย” แต่ก็เยอะเหมือนกันที่คิดว่าน่ากลัวนะเมืองไทย ขนาดคนดังอย่างแตงโมก็ยังเกิดเรื่องแบบนี้และยังไม่เคลียร์ ถ้าคนทั่วๆไปจะขนาดไหน เขาก็คิดแบบชาวเน็ตบ้านเราค่ะ”

อย่างไรก็แล้วแต่ การติดตามข่าวนี้ต้องไม่มากเกินไป จึงไม่แปลกที่จากเรื่องดังกล่าว ทำให้นักการศาสนามาเลเซียออกมาเตือนชาวมุสลิมในประเทศว่า “มีข่าวอีกมากมายที่เราควรมีพื้นที่ให้ มีเวลาให้ และควรได้รับความสนใจในช่วงนี้ ทั้งข่าวสงคราม ความเดือดร้อนของชาวบ้าน การเชิญชวนปฏิบัติศาสนกิจ และอื่นๆ ในหลักการอิสลามต้องมีความพอดี ไม่มากจนเกินไป

(อ้างอิงจาก https://www.borakviral.life/2022/03/sampai-mimpi-dan-samakan-diri-dengan.html?m=1)