ฐากูร บุนปาน : “ผักชีโรยหน้า”กับรัฐ-ราชการไทย

มาถึงวันนี้

ไม่ว่าจะมียิ่งลักษณ์หรือไม่มียิ่งลักษณ์

มีทักษิณหรือไม่มีทักษิณ

ก็ไม่น่าจะส่งผลอะไรกับรัฐบาล คสช. และกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนอีกต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสองพี่น้องตระกูลชินวัตรเลือกที่จะ “สงบกบดาน” มากกว่าออกมาชูธง

ถ้าการเมืองไม่ส่งผล แล้วอะไรถึงจะส่งผล?

ตอบซื่อๆ ง่ายๆ ว่า

ก็งานสิครับ

ตอบน่ะง่าย แต่ทำจริงน่ะยาก

ไม่เชื่อลองดูตัวอย่างจากข่าวเล็กๆ เรื่องหนึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เชื่อว่าท่านใดที่อ่านหรือรับชมข่าวพี่น้องชาวบ้านที่หนองม่วง สระแก้ว

ก็คงมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน

คือทั้งโกรธ ทั้งขำ ทั้งสมเพช

สำหรับท่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ขออนุญาตสรุปความสั้นๆ อีกทีว่า

หมู่บ้านนี้คือพื้นที่ที่นายกรัฐมนตรีลงไปเยี่ยมเยือน เพื่อทำพิธีมอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. ให้

ในวันที่ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง

น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี

แต่เพียงวันเดียวหลังนายกฯ เดินทางกลับ

ไฟฟ้า ประปาก็ถอนการติดตั้งสาธารณูปโภคทั้งสองอย่าง

เหลือไว้แต่ทุ่งนาเปล่าๆ เหมือนเดิม

เจอผักชีโรยเข้าให้เต็มหน้าแบบนี้

ชาวบ้านก็โวยสิครับ

พอชาวบ้านโวยและเป็นข่าวดังขึ้นมา

อำเภอ จังหวัด ไปจนกระทั่งถึงทำเนียบรัฐบาลชี้แจงแบบเดียวกันเป๊ะ

ว่า

เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ร้องเรียน

เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีการขยายเขตไฟฟ้าและประปา

ส่วนกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในวันที่นายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติภารกิจ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอรัญประเทศได้ปักเสา และพาดสายไฟฟ้าชั่วคราว

ขณะที่ระบบน้ำเป็นเพียงการต่อท่อลงในแปลงเกษตร

เมื่อเสร็จภารกิจเจ้าหน้าที่ก็รื้อถอนกลับคืน

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงได้กำชับว่า

ต่อจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่เตรียมการเท่าที่จำเป็นและดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือกระทบความรู้สึกของประชาชน

ก็จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจด้วยความรัดกุม

คําแถลงนี้ฟังแล้วแปลว่าอะไร

1. ผักชีโรยหน้าในระบบราชการเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ใช่หรือไม่

ชาวบ้านไม่มีน้ำไฟใช้-ไม่เป็นไร

แต่วันที่นายกฯ ลงพื้นที่ น้ำไฟต้องมีครบ

หลังจากนั้นแล้ว ช่าง–มัน

นี่นอกจากตบตาชาวบ้าน

ยังตบหน้านายกฯ ฉาดใหญ่ด้วยนะครับ

2. ยิ่งทั้งผู้มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านในพื้นที่ และผู้กำหนดนโยบายสูงขึ้นมา

ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้แปลกประหลาดหรือยอมรับไม่ได้

ระบบผักชีก็คงเจริญงอกงามดีต่อไปในสังคมไทย

ที่ประโคมโหมโฆษณาว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หรือประเทศไทย 4.0 อะไรนั่น

ฝันไปเถอะครับ

3. ถามว่าค่าติดตั้งถอดถอนระบบไฟฟ้า-ประปางวดนี้คิดที่ใครครับ

และค่าติดตั้ง-ถอดถอนนี่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบฯ ติดตั้งถาวร เพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำไฟใช้จริง

ลงทุนขนาดนั้นได้ ทำไมไม่ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปเลย

ตั้งๆ รื้อๆ ถอนๆ นี่ใช้เงินเท่าไหร่ ทำหนเดียวประหยัดกว่าหรือไม่

สอบตกกันหมดนะครับ

ทั้งคนใช้งบฯ คนตรวจสอบ

และคนกำหนดนโยบาย

ทีแบบนี้องค์กรตรวจสอบที่ขยันขันแข็งอย่าง สตง. ป.ป.ช. ไม่เห็นรู้สึกรู้สมอะไร

ด้านชากันไปหมดเชียวหรือ

4. หมู่บ้านเดียวยัง (ห่วย) อย่างนี้

70,000 หมู่บ้านจะขนาดไหน

ระบบเล็กยัง (เละ) ขนาดนี้

ระบบใหญ่กว่าจะขนาดไหน

และระบบแบบนี้ ทัศนคติอย่างนี้

ความเหลวไหลไร้ประสิทธิภาพอย่างนี้

จะมากำหนดมาขีดเส้นให้เราๆ ท่านๆ เดินต่อไปอีก 20 ปี

แค่คิดก็ขนลุกแล้วครับ

ที่ฟุ้งๆ ฝอยๆ เรื่องปฏิรูปนู่นปฏิคลำนี่

เริ่มตรงนี้ก่อนเลยไหมครับ

เริ่มที่ตัวเอง คนรอบตัว และระบบใกล้ตัว

พูดหรือสั่งอะไรให้ชาวบ้านทำในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ทำ

ไม่มีทางสำเร็จหรอกครับ