มุกดา สุวรรณชาติ : ยิ่งลักษณ์สู้ในคอก หรือ นอกกรอบ เพื่อไทย ค้าน..หรือร่วมรัฐบาลแห่งชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

การเมืองในช่วงสัปดาห์ของปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มี 2 เรื่องใหญ่คือการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่มารับฟังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เรื่องที่ 2 คือการฟ้องนายกฯ อภิสิทธิ์และรองนายกฯ สุเทพคดีสลายเสื้อแดง 99 ศพ ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับสำนวนคดีไว้พิจารณาตามที่ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ระบุไม่ใช่การกระทำความผิดทางอาญาโดยส่วนตัว หากเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ชี้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ที่ต้องชี้มูลแล้วยื่นฟ้องในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

สรุปสถานการณ์กรณีนายกฯ ยิ่งลักษณ์

ผ่านมา 1 สัปดาห์ไม่มีข่าวสารข้อมูลชัดเจน แต่คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เธอจะอยู่ที่ไหน ข่าวสารยังไม่แจ่มชัด มีหลายคนพยายามหาเส้นทางว่านายกฯ หญิงคนนี้หลบออกไปได้อย่างไร

การเดินทางออกนอกประเทศของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นการถอยเพื่อย้ายเวทีสู้ หรือหลบหนีหายไปเลย

ความเห็นจากนักการเมืองซึ่งเคยผ่านยุคเผด็จการมาหลายสมัยแสดงทรรศนะดังนี้

ถ้ามองจากฟอร์มเก่าของนายกฯ ทักษิณ ทำให้คาดเดาว่าสิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ทำคือการถอยออกไปสู้ในพื้นที่ที่กว้างกว่า ปลอดภัยกว่า แต่เรื่องนี้จะพิสูจน์ได้คงต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน

คาดว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์จะเก็บตัวเงียบอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะได้ลี้ภัยการเมืองได้โดยการรับรองของประเทศเสรีประชาธิปไตย แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะมีขอบเขตจำกัด แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการ

พาสปอร์ตของนายกฯ ยิ่งลักษณ์คงจะถูกยกเลิก แต่คาดว่าน่าจะอีกหลายวัน การยกเลิกพาสปอร์ตเมื่อใด การได้พาสปอร์ตใหม่ของประเทศใด เมื่อไร? เหมือนเป็นการกำหนดฐานะทางการเมืองใหม่ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์

การเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ ได้มากน้อยกี่แห่ง เป็นที่ต้อนรับหรือไม่ จะแสดงฐานะทางการเมืองในระดับสากลของอดีตนายกฯ หญิงคนนี้

 

ผลกระทบต่อความปรองดอง

เรามีกรรมการปรองดองกี่ชุดจำไม่ได้แล้ว แต่ชุดนี้ใหญ่สุด เพราะอยู่ใน ป.ย.ป.

“คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)”

ในคณะกรรมการ ป.ย.ป. จะประกอบด้วยคณะกรรมการอีก 4 ชุด คือ

1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่ให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้ทันที

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล

3. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล

และ 4. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำกับดูแล

เดือนกุมภาพันธ์ 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เสนอรายชื่อและโครงสร้างคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จำนวน 19 คน อาทิ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธาน ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย มี ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. รองปลัดกระทรวงกลาโหม และมี 4 คณะอนุกรรมการ

กรรมการปรองดองทำงานไปแล้ว ดูเหมือนจะมีข้อสรุป แต่คดีจำนำข้าว และสลายการชุมนุม 99 ศพ มีผลชี้วัดว่า…คงยากจะปรองดอง

การเดินทางออกจากประเทศไทย หลังจากที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ไปฟังการตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วิเคราะห์ว่าการต่อรองพอฟังได้ แต่ไม่ใช่การปรองดอง

เหตุผลก็คือลักษณะของการดำเนินคดีและผลทางคดีที่ออกในช่วงหลัง ฝ่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์และคนเสื้อแดง โดนกระหน่ำติดต่อกันเป็นชุด

แม้คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีผู้เสียชีวิต 2 คนจะได้รับการยกฟ้อง มีการอุทธรณ์หัวหน้าตำรวจฝ่ายปฏิบัติการเพียงคนเดียว แต่ไม่อาจเทียบได้กับการไม่รับฟ้องคดีอาญาสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บ 2,000 พิการ 40 กว่าคน

คดีนี้ยังไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด ตอนนี้ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่ ป.ป.ช. คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่าจะเป็นอย่างไร

การพิจารณาคดีนี้เหมือนกับรับระเบิดที่จุดชนวนแล้วมาถือไว้ในมือ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองมีพลังกดดันไปทั่วทั้งสังคม กระจายไปสู่ทุกองค์กร

การไม่ยอมรับระบบยุติธรรม ของทั้งผู้นำและมวลชน ที่มองว่าการตัดสินยังไม่ยุติธรรมพอ หรือกระบวนการยุติธรรมไม่ดำเนินไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม จะมีผลต่อการปรองดอง คดีสลายการชุมนุมคน ขนาดคดีสลายม็อบพันธมิตรเสื้อเหลือง มีผู้เสียชีวิต 2 คนยังไม่พอใจคำตัดสิน

แล้วคดีเสื้อแดง 99 ศพ ใครจะยอม

ยิ่งโยงย้อนไปเทียบกับคดีอื่นๆ ยิ่งจะกลายเป็นรอยร้าวที่ไม่มีวันปรองดองกันได้

เพราะฝ่ายหนึ่งจะกล่าวว่าพวกเขาแม้ตายก็ยังผิด บุกโรงแรมครึ่งวันติดคุก 4 ปี แต่ยึดทำเนียบ 100 วันติดคุกแค่ 8 เดือน

น่าจะเป็นจุดชี้ว่ากรรมการปรองดองที่ตั้งขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน ทำงานได้ยากแล้ว

 

ผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

สําหรับฝ่ายยิ่งลักษณ์ ทักษิณและเพื่อไทย ถ้ามีการเลือกตั้งก็ยังคงจะเข้าร่วมเหมือนเดิม

การจากไปของยิ่งลักษณ์จะมีผลทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งอยู่บ้าง มีบางคนมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเพราะนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะไม่มีโอกาสย้อนกลับมาเดินช่วยหาเสียงในเขตเลือกตั้ง และตามกฎของการเลือกตั้งแบบใหม่ ผู้สมัคร ส.ส. จะไม่สามารถใช้รูปของนายกฯ ทักษิณและนายกฯ ยิ่งลักษณ์มาประกบคู่เป็นการโฆษณาจูงใจประชาชน เพราะทั้งสองคนมิได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับพรรคที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง

แต่ก็มีคนคิดว่าการถูกบีบคั้นของอดีต 2 นายกฯ ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ จะเพิ่มความเห็นอกเห็นใจและปลุกความต้องการต่อสู้ของประชาชนขึ้นมา ส่วนการโฆษณารูปแบบใหม่ที่เป็นป้ายอาจไม่มีความจำเป็นเท่าใดนักเพราะปัจจุบันรูปและเสียงของบุคคลทั้งหลายไม่ว่าฝ่ายใดสามารถไปปรากฏในโทรศัพท์มือถือของประชาชนซึ่งมีทั้ง 90 ล้านเครื่อง

แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ทั้งยิ่งลักษณ์-ทักษิณ จะถอยมาเพียง 1 ก้าว มาอยู่ข้างสนาม นั่งอยู่กับสต๊าฟโค้ช

 

ผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย
เป็นฝ่ายค้านหรือร่วมรัฐบาลแห่งชาติ

1.นักวิเคราะห์ทั่วไปก็คาดว่าจะเกิดช่องว่างทางการนำ ถ้าชินวัตรต้องถอยออกไปหนึ่งก้าว การมองหาคนที่มีความสามารถและบารมีถึงแบบโดดเด่น ไม่ง่าย เพราะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งตอนนี้ไม่มี

ในกระแสความปั่นป่วนเช่นนี้ แกนนำที่คาดว่าจะเข้ามาคั่วตำแหน่งปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 (ซึ่งอาจไม่ใช่หัวหน้าพรรค) ก็พยายามขอร้องมวลสมาชิกและผู้ที่จะลง ส.ส. ว่าให้ใจเย็นๆ ยังไงก็ต้องพยายามให้มีเลือกตั้ง และมีอดีต ส.ส. บางส่วนก็ยังคิดว่ากระแสความเห็นใจจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. จำนวนมาก ซึ่งอาจจะถึงครึ่งหรือเกินครึ่งสภา มีคนคิดไปถึงเรื่องตั้งรัฐบาลแบบการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

2. การเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติ

ในพรรคเพื่อไทยเองก็มีคนประเมินว่า แม้ลงเลือกตั้ง ก็น่าจะได้ ส.ส. น้อยลงและจะถูกกันให้เป็นฝ่ายค้าน ถ้าเป็นแบบนี้พวกเขาก็รับได้

แต่สิ่งที่พวกเขากลัวก็คือ ไม่ว่าจะได้เสียงเท่าไรก็ตาม อาจมีอำนาจนอกระบบ บีบบังคับให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และต้องมีการส่งตัวแทนเข้าไปร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ คนนอกซึ่งไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเหมือนสมัยพลเอกเปรม สามารถตั้งรัฐบาลผสม มีการแบ่งอำนาจบริหาร ระบบโควต้าในการตั้งรัฐมนตรี ส่วนอำนาจในทางสภาก็อาศัยเสียง ส.ส. ของแต่ละพรรคมาร่วมกันเพื่อที่จะผลักดันกฎหมาย ผลักดันนโยบาย หรือปกป้องรัฐบาลผสมในกรณีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แม้มีการนำเอาคนนอกซึ่งไม่ผ่านการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี แกนนำของพรรคต่างๆ ก็ยินยอมเพื่อแบ่งอำนาจกันเพราะผู้สูญเสียโอกาสคือหัวหน้าพรรคที่ได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 ที่ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่กลับไม่ได้เป็น เช่นกรณี คุณพิชัย รัตตกุล เมื่อครั้งปี 2529

แต่ถ้ามองไปที่แกนนำหรือลูกพรรคจะพบว่าทุกคนต่างได้ประโยชน์ เพราะแกนนำคนอื่นก็ยังได้เป็นรัฐมนตรีเหมือนเดิม ดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน

ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงสมยอมเพื่อให้ตัวเองได้อำนาจและได้เป็นรัฐมนตรี

การเข้าร่วมรัฐบาลในความเห็นของ ส.ส.เพื่อไทย กลุ่มที่คัดค้านบอกว่าจะเป็นหายนะทางอุดมการณ์เพราะพรรคเพื่อไทยคัดค้านการรัฐประหาร คัดค้านระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าไปร่วมก็เท่ากับกลืนน้ำลายตัวเองที่พ่นออกไปแล้วหลายครั้งเป็นเวลาหลายปี จะไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายประชาธิปไตย

หมายถึงว่าศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย พลังประชาชนหรือไทยรักไทยก็จะเสื่อม จะกลายเป็นพรรคอะไรก็ได้ ที่ทำอะไรก็ได้ ขอให้ได้เป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล

การถอยของยิ่งลักษณ์เกิดจากแรงบีบคั้นที่หวังผลทางการเมือง ดังนั้น จึงเป็นการถอยเพื่อที่จะสู้ในจุดที่สู้ได้ แม้ดูเหมือนว่าถอยออกไปสู้นอกกรอบ แต่ความเป็นจริงก็ยังต้องส่งเสียงเชียร์คนที่ต่อสู้อยู่ในกรอบอยู่ดี

สถานการณ์การเมืองที่รวมศูนย์อำนาจสูง มีปัจจัยพิเศษมาก ไม่อาจหวังผลได้ว่าการต่อสู้ที่อยู่ในกรอบจะทำให้บรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยได้ ฝ่ายตรงข้ามกระจายกำลังออกไปครบแล้วทั้งส่วนที่เป็นกำลัง ส่วนที่เป็นกฎหมาย ส่วนที่ควบคุมการสื่อสาร ต่อไปก็จะยิ่งมีเงินมากขึ้น การสนับสนุนของมวลชนก็มีพอสมควร สิ่งที่เขาขาดแคลนคือความจริงใจที่มีต่อประชาชนและฝีมือการบริหารบ้านเมือง

ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้ากลุ่มยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ยังคิดต่อสู้ด้วยการที่ใช้การเลือกตั้งเป็นหลักอย่างเดียว จะไม่มีทางเปลี่ยนสถานะทางยุทธศาสตร์ ยังคงจะต้องตั้งรับต่อไปเรื่อยๆ