ข้าวเย็นทั้งสอง / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

ข้าวเย็นทั้งสอง

 

อากาศร้อนมาก ไม่รู้จะช่วยคลายร้อนได้หรือไม่ ด้วยการชวนมาเรียนรู้กับสมุนไพรชื่อว่า “ข้าวเย็น” คำว่า ข้าวเย็นทั้งสอง หมายถึงสมุนไพรที่เรียกถึง ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้

ในตำรับยาไทยที่มีการกล่าวถึงสมุนไพรนี้โดยส่วนใหญ่เราจะพบว่ามีการใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองร่วมกันเสมอ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมต้องใช้ร่วมกัน

เมื่อทำการศึกษาเอกสารต่างๆ ก็พบความรู้เพิ่มเติมว่า ข้าวเย็นเหนือ มาจากสมุนไพร 2 ชนิด คือ Smilax corbularia Kunth และ Smilax china L. ทั้ง 2 ชนิดมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ส่วนข้าวเย็นใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Smilax glabra Roxb. ซึ่งมีข้อแตกต่างกันที่เห็นอย่างชัดเจน

ทำเป็นตารางให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ (ดูตาราง)

ในตำรายาจีนส่วนใหญ่มีการใช้หัวข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra Roxb.) เป็นยามากกว่าหัวข้าวเย็นชนิดอื่นๆ โดยใช้เป็นยารักษาบิดมีตัว ลดอาการปวดข้อและรักษาไข้หวัด โดยทั่วไปภูมิปัญญาเดิมของคนจีนนำหัวยาข้าวเย็นใต้ที่ทำให้แห้งแล้วมาต้มน้ำดื่ม จะทำให้เกิดสมดุลในร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อภาวะของหยินในร่างกายไม่ปกติ ขจัดภาวะหดหู่และสารพิษออกจากร่างกาย ในตำรับยาพื้นบ้านของไทยไม่มีการใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว แต่จะใช้เข้าตำรับรักษามะเร็ง นิ่ว ปวดเมื่อย ไข้ต่างๆ

จากการติดตามเอกสารหลายชิ้นมีข้อที่น่าสังเกตว่า การแพทย์ดั้งเดิมใช้หัวยาข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra Roxb.) มากกว่าหัวยาข้าวเย็นเหนือทั้ง 2 ชนิด (Smilax corbularia Kunth และ Smilax china L.)

จากฐานข้อมูลของ https://www.disthai.com/ กล่าวว่า ข้าวเย็นเหนือ (Smilax corbularia Kunth) มีเนื้อสีแดงเข้ม ละเอียด มีรสมัน ส่วนข้าวเย็นใต้มีเนื้อสีขาว (Smilax glabra Roxb.) รสมันกร่อย ออกหวานเล็กน้อย เป็นเครื่องยาที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ไม่มีในประเทศไทย

ซึ่งขัดแย้งกับฐานข้อมูลจากสวนคิว หรือสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) ประเทศอังกฤษ ที่กล่าวว่าข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra Roxb.) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยด้วย

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยในอดีต ใช้หัวยาข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra Roxb.) เป็นสมุนไพรหลักเหมือนตำรับยาจีน แต่เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่หาได้ยากมากในประเทศไทย จึงต้องมีการนำเข้ามาจากประเทศจีน

ดังนั้น ตำรับยาที่มีการใช้หัวยาข้าวเย็นจึงมีการใช้หัวยาข้าวเย็นทั้งใต้และเหนือร่วมกัน เนื่องจากในประเทศไทยสามารถหาหัวยาข้าวเย็นเหนือ (Smilax corbularia Kunth) ได้ง่ายกว่า และจากการศึกษาเชิงลึกพบว่าสาร สำคัญในสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด มีความคล้ายคลึงกันมาก

จึงเป็นไปได้ที่อาจมีการใช้แทนกันไปมาได้

 

ในภาคอีสานกลับพบว่าหมอพื้นบ้านเรียก หัวยาข้าวเย็นใต้ แต่ไม่ได้เป็นสมุนไพรที่อยู่ในสกุล Smilax ที่มีลักษณะเป็นเถา แต่เป็นสมุนไพรที่มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna herbacea Roxb. ภาคกลางเรียกสมุนไพรนี้ว่า “หัวฆ้อนกระแต” มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หัวข้าวเย็นใต้ ยาข้าวเย็น (อุบลราชธานี) ยาหัวข้อ (มหาสารคาม) ละครโคก (ภาคตะวันออก)

การนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็คล้ายกับการใช้หัวยาข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ หมอยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้รากต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ หรือเข้ายาแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต

หมอยาพื้นบ้านอีสานทั่วไป ใช้รากผสมหัวข้าวเย็นเหนือ ลำต้นส้มกุ้ง เปลือกต้นสะเดาช้าง และลำต้นขมิ้นเครือ ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง หรืออีกตำรับหนึ่งนำไปผสมลำต้นขี้เหล็กและลำต้นหนามหัน ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง รักษากามโรค ราก ผสมรากทองพันชั่ง และรากเล็บเหยี่ยว ต้มน้ำดื่ม รักษาแผลเรื้อรัง ในตำรับยาพื้นบ้านภาคกลาง ใช้รากผสมลำต้นและใบทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ ลำต้นหรือรากเถาวัลย์ยั้ง ลำต้นข่อยน้ำ และลำต้นหรือรากขันทองพยาบาท ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง เป็นต้น

ข้อมูลที่มีอยู่กล่าวได้ว่าสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดนี้ข้างต้นนั้น มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้หรืออาจมีสรรพคุณที่ลึกลงไปกว่านั้น เช่น การเสริมฤทธิ์กันหรือช่วยในการกำจัดพิษของกันและกัน

แต่ที่น่าท้าทายในวงการสมุนไพรมากคือ การศึกษาเพิ่มเติมในข้าวเย็นทั้งสองเพราะเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพต่อการดูแลสุขภาพและในด้านเศรษฐกิจด้วย •