กำเนิดศิลปะสุโขทัย ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (4)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดศิลปะสุโขทัย

ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (4)

 

งานเขียนเกี่ยวกับสุโขทัยหลังการอัญเชิญพระพุทธรูปครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2337 อีกเล่มที่น่าสนใจคือ “ร่ายสุภาษิตพระร่วง” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งแต่งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3

เนื้อหาเป็นการรวบรวมสุภาษิตโบราณของไทยที่มองผิวเผินอาจไม่ต่างอะไรกับ “โคลงประดิษฐ์พระร่วง” สมัยอยุธยาที่กล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน

แต่ความน่าสนใจคือการเริ่มต้นเรื่อง ด้วยการอ้างถึง “พระร่วง” โดยตรงว่า “ป่างสมเด็จพระร่วงเจ้า เผ้าแผ่นภพสุโขทัย” รวมถึงเนื้อหาข้างในอีกหลายแห่ง ในขณะที่ “โคลงประดิษฐ์พระร่วง” (งานเขียนสมัยอยุธยา) จะไม่พบเนื้อหาการเน้นในลักษณะนี้

ยิ่งไปกว่านั้น “ร่ายสุภาษิตพระร่วง” ยังถูกนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะด้วยการนำไปจารึกบนแผ่นหินและติดตั้งภายในวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งคงจะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องเล่าว่าด้วยพระร่วงในวงกว้างมากขึ้น

ต้องไม่ลืมนะครับว่า สังคมสยามสมัยรัชกาลที่ 3 เริ่มมีคนอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในหมู่กระฎุมพี และวัดจำนวนมากก็ได้กลายเป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทยและสอนการคิดเลขโดยมีไพร่จำนวนมากไปเรียน พระสงฆ์ก็อ่านออกเขียนได้และเอาไปสอนชาวบ้าน

สิ่งนี้ทำให้จารึกความรู้และเรื่องเล่าทั้งหลายตามวัดเริ่มถูกอ่านและรับรู้มากขึ้นในสถานะของการเป็นตำรามากกว่าที่ทำหน้าที่เป็นจารึกศักดิ์สิทธิ์ตามขนบจารีตดั้งเดิม

ซึ่ง “ร่ายสุภาษิตพระร่วง” ก็คงจะอยู่ในข่ายนี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม งานเขียนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนยุคต้นรัตนโกสินทร์มองเห็นว่าสุโขทัยได้กลายมามีสถานะพิเศษก็คือเรื่อง “นางนพมาศ” ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงระหว่าง พ.ศ.2360-2378

เนื้อหาเล่าถึงตัวละครเอกผู้หญิงชื่อนางนพมาศ บิดาเป็นพรามณ์ระดับสูงในราชสำนักกรุงสุโขทัย ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งพระสนมเอกของพระร่วง

โดยต้นเรื่องเริ่มด้วยการกล่าวถึงคนชาติภาษาต่างๆ บนโลก บ้านเมืองในชมพูทวีป ข้อความเฉลิมพระเกียรติพระร่วง การบรรยายบ้านเมืองสุโขทัยว่ามีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาผ่านวัดวาอาราม พระพุทธรูป เทวรูป

ตลอดจนพรรณนาสถานที่ต่างๆ ของสุโขทัยอย่างละเอียด จากนั้นจะเริ่มเล่าถึงประวัติตนเอง การเข้าถวายตัว รับราชการ เป็นสนม ตลอดจนพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ในเมืองสุโขทัย

หนังสือเล่มนี้เป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการมายาวนาน ซึ่งจะไม่ขออภิปรายในรายละเอียด

โดยบทความนี้ต้องการเพียงชี้ประเด็นว่า การดำเนินเรื่องของงานเขียนชิ้นนี้โดยใช้เมืองสุโขทัยและพระราชวังของพระร่วงเป็นฉากหลัง คือสิ่งแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 3 มองสุโขทัยเป็นบ้านเมืองอุดมคติทั้งทางโลกและทางธรรมที่คนยุคต้นกรุงเทพฯ ใช้อ้างอิงหลักการทางศีลธรรมบางอย่าง

อย่างน้อยที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ก็คือพระราชพิธีและธรรมเนียมปฏิบัติของฝ่ายใน

ประเด็นมิใช่ว่าธรรมเนียมเหล่านี้มีจริงหรือไม่ในสุโขทัย ซึ่งชนชั้นนำสยามในยุคต้นกรุงเทพฯ ก็คงไม่สามารถทราบได้และก็คงไม่ใส่ใจอะไรมากนักด้วย

แต่ประเด็นสำคัญคือธรรมเนียมหรือหลักการเหล่านี้ที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่กลับให้เกียรติยกย่องย้อนกลับไปให้เป็นของราชสำนักพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย มิใช่ราชสำนักอยุธยาที่เคยเป็นต้นแบบที่คนกรุงเทพฯ อยากเป็นหลังจากเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผมมิได้กำลังเสนอนะครับว่า อยุธยาสูญสิ้นความเป็นต้นแบบทางอุดมคติในสายตาคนรุ่นรัชกาลที่ 3 แล้ว แต่ต้องการเสนอว่าสุโขทัยได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญอย่างน้อยก็ในด้านพุทธศาสนาที่เราเห็นได้จากการพรรณนาในหนังสือนางนพมาศ

 

งานศึกษาหลายชิ้นในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าการสถาปนากรุงเทพฯ นั้นแม้ต้องการจำลองหรือลอกเลียนอยุธยาในหลายด้าน แต่ด้านอุดมการณ์และอุดมคติทางศาสนามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

บ้านเมืองสมัยอยุธยาตอนปลายโดยเฉพาะภายใต้กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มิใช่อุดมคติที่กรุงเทพฯ ต้องการรื้อฟื้นอีกแล้วและถูกโจมตีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของศีลธรรมทางศาสนาที่เสื่อมลง

การปราศจากคุณสมบัติในการเป็นแหล่งอ้างอิงทางศีลธรรมให้แก่ต้นกรุงเทพฯ นี้เองที่เปิดทางให้แก่สุโขทัยและพระร่วงได้เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน

ใครก็ตามที่อ่านการบรรยายบ้านเมืองสุโขทัยในหนังสือนางนพมาศย่อมต้องรู้ทันทีว่านั่นคือกรุงเทพฯ มิใช่สุโขทัย

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองมันในแง่ความบกพร่องในเชิงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แบบปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ บทบาทหน้าที่ของเนื้อหาในส่วนนี้คือความพยายามที่จะอธิบายกรุงเทพฯ ว่าได้รับการสร้างขึ้นอย่างสอดคล้องต้องตามบ้านเมืองในอุดมคติทางพุทธศาสนา

นั่นก็คือสุโขทัย

 

สุโขทัยจริงๆ หน้าตาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือการสร้างภาพเทียบเคียงกรุงเทพฯ ว่าเป็นเช่นเดียวกับสุโขทัยในสมัยพระร่วงต่างหาก เช่น เมื่อพูดถึงความรุ่งเรืองทางศาสนาของสุโขทัยผ่านวัตถุในพุทธศาสนา นางนพมาศได้บรรยายไว้ว่า

“…มีวัดหน้าพระธาตุราชบุรณะเป็นต้น…เป็นรูปเทพอินทร์พรหม อสุรครุฑนาค…เชิงอัฒจันทร์บันไดนั้น ก็กระทำด้วยศิลาลาย…สิงห์อสุรเสี้ยวกาง…บ้างก็ทำศิลาวางไว้เป็นคู่ๆ ทุกทวารเข้าออก…ควรจะอัศจรรย์ด้วยพระพุทธปฏิมากร ซึ่งประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แลพระวิหารใหญ่น้อย อันเป็นที่สักการบูชาทั่วไปทุกพระอาราม ย่อมหล่อด้วยดามพะโลหะ พระพุทธรูปเป็นประธานนั้น หน้าสมาธิกว้างยี่สิบศอกก็มี สิบหกศอกก็มี สิบสองศอกก็มี ยิ่งหย่อนอยู่ในระวางก็มี และพระพุทธสถารศสูงสี่สิบแปดศอกก็มี หย่อนลงมาในระหว่างจนสิบสองศอกก็มี อันพระพุทธปฏิมากรใหญ่ๆ ดั่งกล่าวนี้มีเป็นหลายพระองค์แลพระพุทธรูปน้อยๆ กับพระอรหันต์รูปนั้นย่อมมีเป็นอันมากกว่ามากเหลือที่จะนับประมาณ…”

รายละเอียดดังกล่าว คือลักษณะกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้แต่การบรรยายอย่างละเอียดถึงพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากก็ดูจะสะท้อนความทรงจำว่าด้วยการอัญเชิญพระพุทธรูปจากเมืองเหนือในสมัยรัชกาลที่ 1

ทั้งหมดชี้ชวนให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพเมืองสุโขทัยในอุดมคติที่ซ้อนทับลงบนบ้านเมืองยุคต้นกรุงเทพฯ

 

สถานะดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นจากการสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีเรื่องเล่าสืบมาว่าบางวัดได้ต้นแบบมาจากสุโขทัย เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า รัชกาลที่ 4 (ครั้งยังผนวชเป็นพระภิกษุในสมัยรัชกาลที่ 3) ได้นำแบบพระเจดีย์บนยอดเข้าสุวรรณคีรีเมืองศรีสัชนาลัยมาเป็นต้นแบบในการสร้างพระเจดีย์ประธานที่วัดบวรนิเวศฯ และรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชนิพนธ์ว่า พระปรางค์ประธานวัดพิชัยญาติมีต้นแบบมาจากพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุเมืองสวรรคโลก เป็นต้น

แน่นอน เรื่องเล่าประเภทนี้ ประเด็นไม่ใช่ว่าได้ต้นแบบมาจริงหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ การเกิดขึ้นของเรื่องเล่าที่สะท้อนว่าสุโขทัยคือต้นแบบที่ควรลอกเลียนนำมาสร้างวัด

ความเป็นอุดมคตินี้จะเพิ่มสูงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาเมื่อพระองค์สร้างวัดหลายแห่งโดยใช้แผนผังจากวัดในสุโขทัย

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเสด็จไปสุโขทัยของพระองค์ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระภิกษุและได้ “ค้นพบ/ประดิษฐ์” จารึกหลักที่ 1 และพระแท่นมนังคศิลาบาตร ซึ่งทั้งหมดยิ่งทำให้สถานะของสุโขทัยพิเศษมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ดังนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า สถานะและความหมายที่พิเศษของเมืองสุโขทัยได้ก่อตัวขึ้นสัมพันธ์โดยตรงกับกระบวนการอัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัยเป็นจำนวนมากหลายระลอกในยุคต้นรัตนโกสินทร์ และผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพระพุทธรูปที่ยาวนานหลายสิบปี จนนำมาสู่การเขียนวรรณกรรมหลากหลายชนิดที่มีเนื้อหาเน้นเรื่องสุโขทัยและพระร่วงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้ถูกอ่านและรับรู้กว้างขวางโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ

ทั้งพระพุทธรูปในชีวิตประจำวันและวรรณกรรมที่เขียนขึ้นใหม่ได้สร้างให้เกิดการรับรู้อย่างใหม่ต่อสิ่งที่เรียกว่า “เมืองสุโขทัย” จากที่เคยมีสถานะเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือหนึ่งที่มิได้มีความพิเศษนักในสมัยอยุธยาตอนปลายมาสู่สถานะเมืองศูนย์กลางพุทธศาสนาที่มีความรุ่งโรจน์ในอดีต

พระพุทธรูปสุโขทัยเริ่มมีสถานะพิเศษเหนือกว่าเมืองอื่นและพระร่วงคือกษัตริย์ในอุดมคติ การรับรู้นี้จะค่อยๆ ถูกพัฒนาจนศิลปะสุโขทัยกลายมาเป็นยุคทองความเป็นไทยในที่สุด