ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (92) ปรากฏการณ์เกาะร้อน

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม

รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (เอดีบี) เรื่องความเสี่ยงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ศึกษาอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและเหตุการณ์น้ำท่วมพบว่ามีผลต่อชุมชนเมืองเป็นอย่างมาก

เอดีบีชี้ว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ตามสถิติเมื่อปี 2493 มีสัดส่วนเพิ่มเพียง 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่มาในปี 2557 สัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 48%

ปี 2557 เมืองระดับเมกา (Mega city) ที่มีจำนวนประชากรเกิน 10 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มี 16 เมืองจาก 28 เมืองเมกาทั่วโลก

เมืองที่มีประชากรระหว่าง 5 ล้านคน -10 ล้านคน มี 28 เมืองจาก 44 เมืองทั่วโลก

อีก 13 ปีข้างหน้า คาดว่าในภูมิภาคนี้จะมีเมืองระดับเมกาเพิ่มอีก 8 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในอินเดีย 4 แห่ง ได้แก่ เมืองเชนไน บังกาลอร์ ไฮเดอราบัด อาห์เมดาบัด

แต่ด้วยโครงสร้างและที่ตั้งของเมืองต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่อยู่ริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล ไม่ได้วางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบแบบแผน เมื่อคนแห่ไปอยู่กันอย่างแออัดทำให้เกิดปัญหาตามมากมาย

เอดีบีเน้นใน 2 ประเด็นปัญหา

 

ประเด็นแรก ความร้อนที่แผ่ซ่านในเมือง

ประเด็นที่สอง ระดับน้ำทะเลและคลื่นซัดกระหน่ำรุนแรงขึ้น

ในประเด็นแรกนั้น เอดีบีอธิบายว่า การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้เมืองถูกครอบด้วยพื้นผิวเทียม เช่นผิวซีเมนต์ ยางมะตอย ตึกอาคาร ผู้คนซื้อรถยนต์ส่วนตัว ติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องพักอาศัย เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในพื้นที่

ควันรถยนต์ เครื่องปรับอากาศปล่อยไอร้อน โรงงานพ่นก๊าซพิษและตึกอาคารที่สร้างขึ้นเป็นบล็อกๆ ติดๆ กัน ขวางการหมุนเวียนของกระแสลม นำไปสู่ปรากฏการณ์ “เกาะร้อน” (The urban heat island-UHI) ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น หรือมีฝนตกหนักมากกว่าพื้นที่ใกล้เคียง

ปรากฏการณ์เกาะร้อน เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ มาหลายปีแล้ว ทั้งกรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ของจีน กรุงโตเกียว นครโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กรุงโซล เมืองปูซาน อินซอล ประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานคร

กรมอุตุนิยมวิทยาเคยบันทึกสถิติปรากฏการณ์เกาะร้อนในกรุงเทพมหานคร พบว่าปี 2555 กทม. มีอากาศร้อนที่สุด วัดอุณหภูมิได้ 40 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดรายวัน สูงเฉลี่ย 37-40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 10 วัน นับเป็นสถิติที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง

ถัดมาในปี 2556 อากาศร้อนใน กทม. ทำสถิติใหม่ เป็นอุณหภูมิสูงที่สุดของเดือนมีนาคม วัดได้ 40.1 องศาเซลเซียส

ทั้งยังพบว่าสภาพอากาศของ กทม. ในเดือนพฤษภาคม ช่วงระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2556 มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดอย่างต่อเนื่อง

กรมอุตุฯ ตรวจวัดอุณหภูมิในตู้สกรีนสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส และเกิดพายุฟ้าคะนองที่รุนแรง และความรุนแรงของฝนมากขึ้น

ปรากฏการณ์ “เกาะร้อน” พิสูจน์ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกในทางร้าย

 

ในประเด็นที่ 2 เอดีบีชี้ว่าช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2-3 มิลลิเมตร หลายจุด ส่วนในทะเลอันดามันและช่องแคบโมลุกกะ ระดับน้ำทะเลเพิ่ม 9-10 ม.ม.

ผลจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงทำให้พื้นที่ชายฝั่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม

เอดีบีศึกษาเมืองใหญ่ชายฝั่งที่เกิดน้ำท่วม 136 แห่ง เมื่อปี 2548 ค่าเฉลี่ยการสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2593 ค่าความเสียหายจะเพิ่มเป็นปีละ 52,000 ล้านเหรียญ

13 เมืองจาก 20 เมืองทั่วโลกที่เผชิญกับภาวะน้ำท่วมหนักอยู่ในทวีปเอเชีย ได้แก่เมืองกวางโจว เสินเจิ้น เทียนจิน เซียะเหมิน ของจีน เมืองมุมไบ และโกลกาตา ประเทศอินเดีย นครโฮจิมินห์เวียดนาม กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น และกรุงเทพมหานคร

เอดีบี สรุปในตอนท้ายของบทนี้ว่า ปรากฏการณ์เกาะร้อนและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นแรงกดดันให้กับสังคมนั้นๆ เกิดความไม่มีเสถียรภาพทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

 

ปิดท้ายวันนี้ขอพูดถึงข่าวพายุเฮอริเคน “ฮาร์วีย์” ถล่มสหรัฐ อีกสักครั้ง เนื่องจากเกิดผลสะเทือนในหลายมิติ

มิติทางเศรษฐกิจ ประเมินความเสียหายเบื้องต้นอยู่ระหว่าง 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐถึง 190,000 ล้านเหรียญ

ปริมาณฝนที่ตกเพราะพายุฮาร์วีย์กระหน่ำใส่เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส 20 ล้านล้านแกลลอน เทียบได้กับสระน้ำโอลิมปิก 26 ล้านสระรวมกัน ถือเป็นสถิติใหม่ล่าสุด

เมืองฮุสตันซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐเท็กซัส มีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่นถึง 2.3 ล้านคนภายในพื้นที่ 1,730 ตารางกิโลเมตร ทั้งเมืองจมอยู่ใต้น้ำ บ้านเรือนเกือบ 4 หมื่นหลังเสียหายยับเยิน รถยนต์ราวๆ 5 แสนคันเจอน้ำล้อมจอดนิ่งสนิท เจ้าหน้าที่ระดมกำลังอพยพประชาชนหลายพันคนออกจากเขตประสบภัยอย่างอลหม่าน

ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสบอกว่า น้ำท่วมครั้งนี้เสียหายมาก ต้องการเงินมาฟื้นฟูรวมแล้ว 125,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยสูงถึง 4 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณของไทยเกือบเท่าตัว

พิษของ “ฮาร์วีย์” ยังทำให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ต้องควักเงินตัวเองช่วยเหลือเหยื่อและยื่นเรื่องขอเงินจากรัฐสภาสหรัฐ ช่วยฉุกเฉินเบื้องต้น 7,800 ล้านเหรียญหรือเกือบ 260,000 ล้านบาท

 

นายทรัมป์เป็นผู้นำอเมริกันที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน เป็นคนกล่าวหาจีนกุข่าวเพื่อลวงโลก

เมื่อไม่นานมานี้ นายทรัมป์บังคับให้รัฐบาลสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงสู้โลกร้อนที่ทุกประเทศร่วมกันเซ็นกันที่กรุงปารีส และตัดงบฯ การศึกษาวิจัยโลกร้อน

แต่เหตุการณ์ “ฮาร์วีย์” กลับกลายเป็นแรงกดดันนายทรัมป์นั่งไม่ติดเก้าอี้ ต้องบินไปให้กำลังใจผู้ประสบภัยในรัฐเท็กซัสถึง 2 รอบ

ด้านนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หายนภัยที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ไม่ใช่เป็นครั้งสุดท้าย หากจะเกิดขึ้นต่อไปและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

หายนภัยอย่างนี้เป็นเหมือนๆ กับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าอินเดีย บังกลาเทศ จีน ไทย โคลอมเบีย หรือเซียราลีโอน ในทวีปแอฟริกา

และตอกย้ำว่า นี่เป็นเพราะชาวโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างเข้มข้น ส่งผลให้อุณหภูมิโลกพุ่ง อากาศร้อนจัด น้ำทะเลระเหยเร็วขึ้น เป็นตัวเร่งพายุเพิ่มความรุนแรง ทำให้ฝนตกหนักและคลื่นทะเลสูง