รู้จัก “สุรักษ์ สุขเสวี” คนดนตรียุค 90 ผู้แต่งเพลง “เกิดมาเป็นนักสู้” ให้ “ทักษิณ” | คนมองหนัง

คนมองหนัง

ในรายการ Care Talk ตอนล่าสุด “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ “โทนี่ วู้ดซัม” เพิ่งเปิดตัวซิงเกิลใหม่ล่าสุดของตนเอง ซึ่งมีชื่อเพลงว่า “เกิดมาเป็นนักสู้”

แรกสุด ทักษิณเอ่ยชื่อคนแต่งเพลงนี้ผิดเป็น “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ปัญญาชนอาวุโส จนเรียกเสียงอึ้ง-เสียงฮาจากผู้ฟังไปแว้บนึง ก่อนจะมีการแก้ไขข้อมูลรายชื่อคนแต่งเพลงใหม่เป็น “สุรักษ์ สุขเสวี” ซึ่งมีดีกรีเป็นนักแต่งคำร้องมือทองคนหนึ่งของค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ในยุคอุตสาหกรรมดนตรีรุ่งเรืองเฟื่องฟูสมัยทศวรรษ 1990

สุรักษ์เปิดเผยในเพจเฟซบุ๊กของตนเอง (https://www.facebook.com/photo?fbid=10161640589008012&set=a.10151852380553012) ว่า เขานิยมยกย่องอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มาตั้งแต่วันที่ฝ่ายหลังเริ่มทำงานการเมือง

และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สุรักษ์ก็ได้เดินทางไปดูไบ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการบันทึกเสียงร้องในเพลง “เกิดมาเป็นนักสู้” ที่เขาเป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง ด้วยตัวเอง

“ผมมีโอกาสได้เดินทางไปดูท่านทักษิณร้องเพลงนี้ด้วยตัวเองที่ดูไบ อยากจะบอกว่าทุกถ้อยคำในเพลงนี้ ตั้งแต่ประโยคแรก จนถึงประโยคสุดท้ายของเพลง ผมกลั่นกรอง (Refined) ออกมาจากชีวิตทางการเมืองของท่านทุกหยาดหยด ท่านทักษิณอาจไม่ได้ร้องเพลงเก่งแบบนักร้องอาชีพ แต่เพลงนี้ถือว่าเป็นเพลง Function เพื่อการใช้งาน เพราะท่านอยากจะสื่อสารเรื่องราวในใจของท่านผ่านบทเพลง เพื่อเข้าถึงจิตใจคนที่นิยมชมชอบท่าน การได้สัมผัสตัวตนและตัวจริงของท่านในการร่วมทำงานเพลงนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผมครั้งหนึ่งในชีวิต และผมภูมิใจ ผมบอกท่านเองว่าผมจะไม่ปิดบังว่าเป็นคนแต่งเพลงนี้ให้ท่าน เพราะผมชื่นชมท่าน”

ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน สุรักษ์ได้ออกมาเปิดตัวแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊กเป็นหนแรกสุด (https://www.facebook.com/photo/?fbid=10161082434783012&set=a.10151852380553012)

โดยเขาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบอำนาจปัจจุบัน ซึ่งมีที่มาจากการทำรัฐประหาร และมีพฤติกรรมที่น่าถูกตั้งคำถามทางจริยธรรมหลายข้อ รวมทั้งยังย้อนไปตั้งคำถามกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553

สุรักษ์ระบุว่าตนเองเป็น “ควายแดง” มาตั้งแต่ปี 2549 ทั้งเขายังสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เช่น ทนายอานนท์ เพนกวิน รุ้ง และมายด์ ภัสราวลี เป็นต้น

แม้จะไม่ใช่นักแต่งเพลงคนแรกที่ออกมาแสดงบทบาททางการเมือง แต่เหมือน “สุรักษ์” จะเป็นนักแต่งเพลงคนเดียว ที่กล้าเปิดเผยชัดๆ ต่อสาธารณะว่าเขาเลือกยืนอยู่ข้างพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ผลงานเพลง “เกิดมาเป็นนักสู้” ก็กลายเป็น “ด้านกลับ” ของเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ซึ่ง “อัญชะลี ไพรีรัก” เคยเขียนเล่าเป็นนัยเมื่อหลายปีก่อนว่า ผู้แต่งเพลงนี้คือคนดนตรีฝีมือดีภายใต้นามแฝง “ลูกชายกัปตันเอมส์” https://www.matichonweekly.com/column/article_334715

ในการนี้ Matichon Weekly ขออนุญาตพาผู้อ่านย้อนไปอ่านบทความสองชิ้น ที่จะทำให้คุณรู้จักตัวตนของนักแต่งเพลงชื่อ “สุรักษ์ สุขเสวี” มากขึ้น

“ชีวิตลิขิตเพลง” ของ “สุรักษ์ สุขเสวี”

(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2561 – 3 มกราคม 2562)

“สุรักษ์ สุขเสวี” (อดีต) นักแต่งเนื้อร้องฝีมือดีคนหนึ่งในยุคอุตสาหกรรมเทป-ซีดีรุ่งเรือง แห่งค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพิ่งจัดมินิคอนเสิร์ต “นาวาพณิชย์ ชีวิตลิขิตเพลง” เมื่อต้นเดือนธันวาคม

โดยการนำบทเพลงบางส่วนที่เขาแต่งขึ้น มาแสดงสดหน้าเรือนหมอพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (พณิชยการพระนคร) สถานศึกษาเก่าของสุรักษ์

ผู้ที่ซื้อบัตรเข้าชมมินิคอนเสิร์ตจะได้รับหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” ที่สุรักษ์เขียนถึงเพลงดังและเพลงเด่นจำนวน 60 เพลงของตัวเอง พร้อมแถมซีดีเอ็มพีสามซึ่งบรรจุเพลงทั้งหมดเอาไว้ให้คนอ่านเปิดฟัง

แม้งานผลิตของหนังสือเล่มนี้จะมี “จุดบกพร่อง” พอสมควร เช่น การจัดเรียงหน้าผิดพลาด และการมีคำ-ข้อมูลผิดปรากฏอยู่ ส่วนซีดีที่แถมเมื่อคราวงานมินิคอนเสิร์ตก็มีปัญหาเรื่องเสียง (ผู้ที่สั่งซื้อหนังสือภายหลังจะไม่พบปัญหานี้ ส่วนผู้ที่รับหนังสือ-ซีดีจากงานมินิคอนเสิร์ต สามารถติดต่อขอรับซีดีเวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่ได้)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากล่าวถึงมากกว่าคือ เนื้อหาที่สนุกสนานและเพลิดเพลินในงานเขียนของสุรักษ์

บทแรกของหนังสือเปิดฉากขึ้นด้วยเรื่องราวแนวโรแมนติก เมื่อสุรักษ์เขียนถึงเพลง “หัวใจขอมา” ของ “คริสติน่า อากีล่าร์” ที่เขาแต่งคำร้องจากทำนองของ “โสฬส ปุณกะบุตร”

สุรักษ์เล่าว่า ในปีเดียวกับที่อัลบั้มชุด “นินจา” ของ “ติ๊นา” ออกวางจำหน่าย (พ.ศ.2533) เขาได้เดินทางไปพักผ่อนที่หาดแสงเทียน เกาะเสม็ด

ที่นั่น เขาเจอผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งกำลังเรียนจิตรกรรม อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

สุรักษ์แนะนำตัวว่าเขาเป็น “นักแต่งเพลง” หนึ่งในเพลงของเขาที่เธอรู้จัก ก็คือ “หัวใจขอมา” และที่สำคัญ ครึ่งแรกของคำร้องเพลงนี้ก็ถูกเขียนขึ้นบนหาดแสงเทียน

แล้วทั้งคู่ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีแฟนอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ตัดสินใจเข้าพักค้างคืนที่กระท่อมหลังเดียวกัน

แม้เรื่องราวหลังจากนั้นจะคลี่คลายลงอย่าง “หล่อ” และ “เลี่ยน” ไปนิด

แต่ประเด็นที่ซ่อนไว้ในเรื่องเล่าของสุรักษ์ ก็ได้แก่ กาลครั้งหนึ่ง สถานภาพ “นักแต่งเพลง” นั้นเคยเท่ ดึงดูดใจ และใช้จีบสาวได้

เราคงไม่อาจพบเจอเรื่องเล่าทำนองนี้จากปากคำข้อเขียนของวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ยุคที่ “นักแต่งเพลง” ไม่ถือเป็นงานคูลๆ อีกต่อไป (และยึดถือเป็น “อาชีพ” ไม่ได้ด้วยซ้ำ)

แม้สุรักษ์จะภาคภูมิใจกับความเป็น “นักแต่งเพลง” ของตนเองเหลือเกิน ทว่าเขาก็มีท่าทียอมรับและจดจำคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใหญ่

สำหรับคนส่วนมาก “วิมานดิน” เพลงที่ขับร้องโดย “นันทิดา แก้วบัวสาย” (จากทำนองของ “อภิไชย เย็นพูนสุข”) ถือเป็นผลงานการเขียนคำร้องระดับ “ขึ้นหิ้ง” ของสุรักษ์ (นอกจากจะเป็นเพลงยอดนิยมของบรรดาครูภาษาไทย และอาจจัดเป็น “เพลงลูกกรุง” ลำดับท้ายๆ)

แต่ในบทที่เขียนถึงเพลงนี้ สุรักษ์กลับบันทึกข้อวิจารณ์อันมีต่อ “วิมานดิน” เอาไว้ด้วย

เขาเล่าว่า ตอน “เรวัต พุทธินันทน์” ได้อ่านเนื้อร้องของเพลง “วิมานดิน” เป็นครั้งแรก “เต๋อ” คอมเมนต์ว่า “มันสวยไปรึเปล่าวะ?” อย่างไรก็ดี สุดท้ายเรวัตยังยอมกดไฟเขียวให้กระบวนการผลิตเดินหน้าต่อ

กระทั่งเพลงดังกล่าวกลายเป็น “เพลงเอก” ของทั้งนันทิดาและสุรักษ์

ในบทเดียวกัน สุรักษ์บรรยายว่าเขาเคยมีโอกาสได้เจอ “พยงค์ มุกดา” ครูเพลงอาวุโสที่ตึกแกรมมี่

สุรักษ์ยกมือไหว้และรีบแนะนำตัวทันทีว่าเขาเป็น “นักแต่งเพลง”

พอครูพยงค์เอ่ยถามว่าแต่งเพลงอะไรมาบ้าง? สุรักษ์ก็ตอบกลับอย่างมั่นใจ (และน่าจะภูมิใจสุดๆ) ว่า “วิมานดิน”

ครูเพลงอาวุโสพยักหน้าว่ารู้จัก และกล่าวแสดงความคิดเห็นเบาๆ ว่า “แต่ครูว่ามันหัวมังกุท้ายมังกรไปหน่อยนะ”

บทที่ยาวและดีที่สุดบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ บทที่กล่าวถึงเพลง “นักเดินทาง” โดยศิลปินซูเปอร์กรุ๊ป “กัมปะนี” ซึ่งสุรักษ์แต่งคำร้องจากทำนองของ “สมชัย ขำเลิศกุล” (ฉ่าย กัมปะนี)

สุรักษ์เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงต้นตระกูลของตนเอง ซึ่งเป็นชาวจีนอพยพมาทำสวนผลไม้ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ก่อนที่เขาจะย้ายตามพ่อแม่มาปักหลักขายผลไม้อยู่ที่ตลาดจันทร์ประวิตร ข้างคลองผดุงกรุงเกษม

กระทั่งถึงวัย 20 ต้นๆ สุรักษ์พยายามเดินหน้าติดต่อเต๋อ เรวัต, “ชาตรี คงสุวรรณ” และ “นิติพงษ์ ห่อนาค” เพื่อหวังจะสานฝันในการมีอาชีพเป็น “นักแต่งเพลง”

ช่วงท้ายของบท “นักเดินทาง” สุรักษ์บรรยายถึงทีมนักแต่งเพลงใน “ยุคทอง” ของแกรมมี่เอาไว้อย่างละเอียดลออ

จากปากคำของสุรักษ์ ทีมแต่งเพลงยุคแรกของแกรมมี่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเต๋อ เรวัต โดยตรง (อาจเรียกได้ว่า “ทีมเต๋อ”) จะประกอบด้วย

ทีมแต่งคำร้อง คือ นิติพงษ์ ห่อนาค, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, ประชา พงษ์สุพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, สีฟ้า (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์), นวฉัตร (สมควร มีศิลปสุข), วรัชยา พรหมสถิต, วีระเกียรติ รุจิรกุล, จักราวุธ แสวงผล และตัวสุรักษ์เอง

ทีมแต่งทำนอง คือ วิชัย อึ้งอัมพร, ไพฑูรย์ วาทยกร, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, สมชาย กฤษณะเศรณี, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, อนุวัฒน์ (ธนวัฒน์) สืบสุวรรณ, โสฬส ปุณกะบุตร, ชาตรี คงสุวรรณ, อภิไชย เย็นพูนสุข, ชุมพล สุปัญโญ, พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และธนา ลวสุต

สุรักษ์ระบุต่อว่า นอกจากทีมแต่งเพลง (“ทีมเต๋อ”) ข้างต้น แกรมมี่ยังมีนักแต่งเพลง “ทีมอื่นๆ” อีก ซึ่งสร้างผลงานฮิตมากมาย บางคนเป็นที่เคารพนับถือของเขา ส่วนบางคนก็เป็นเพื่อนเป็นน้องรัก

อาทิ กริช ทอมมัส, พนเทพ สุวรรณะบุณย์, ธนา ชัยวรภัทร์, ปิติ ลิ้มเจริญ, กมลศักดิ์ สุนทานนท์, อาทิตย์ สาระจูฑะ, กุลวัฒน์ พรหมสถิต, บรูโน บรูญาโน, ชนชิต จรรย์สืบศรี

ชนะ เสวิกุล, กฤชยศ เลิศประไพ, มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร, มณฑวรรณ ศรีวิเชียร, สารภี ศิริสัมพันธ์, ปธัย วิจิตรเวชการ, โกมล บุญเพียรผล, ณรงค์วิทย์ เตชะธนวัฒน์, อพิสิษฎ์ ณ ตะกั่วทุ่ง, เรืองกิจ ยงปิยะกุล, วิวัฒน์ ฉัตรธีรภาพ และผาเรือง ยั่งยืน

พออ่านเนื้อหาช่วงนี้ ผมพลันรู้สึก “เอะใจ” ว่าอะไรคือจุดแบ่งแยกระหว่าง “ทีมแต่งเพลงภายใต้การดูแลของพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ยุคแรก” กับ “ทีมอื่น”?

หนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” อาจไม่ได้ให้คำตอบต่อคำถามนี้ แต่ผู้ที่ช่วยไขปริศนาได้อย่างกระจ่างแจ้งกลับกลายเป็น “โสฬส ปุณกะบุตร” นักแต่งทำนอง/เรียบเรียงเพลง โปรดิวเซอร์ และซาวด์เอนจิเนียร์ระดับตำนานคนหนึ่งของแกรมมี่

เพลงเด่นที่โสฬสแต่งร่วมกับสุรักษ์ ก็ได้แก่ “หัวใจขอมา” อีกทั้งในมินิคอนเสิร์ต “นาวาพณิชย์ฯ” เขายังมาช่วยนั่งคอนโทรลระบบเสียงให้น้องรัก

เมื่อปี 2559 โสฬสเคยให้สัมภาษณ์กับ Flashmagazine Tv (https://www.youtube.com/watch?v=ybnvIPzGelg) โดยอ้างอิงถึงรายชื่อนักแต่งเพลงคล้ายๆ กับที่ปรากฏในงานเขียนของสุรักษ์ หากแต่ว่ามีรายละเอียด และการจัดแบ่งกลุ่มคนตลอดจนการกำหนดยุคสมัย ที่ผิดแผกออกไปเล็กน้อย

ตามประสบการณ์ของโสฬส ทีมนักแต่งเพลง “ยุคแรกสุด” ของแกรมมี่ นั้นประกอบไปด้วย เต๋อ เรวัต ผู้เป็นหัวหน้าทีม

ส่วนฝ่ายโปรดิวเซอร์-แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี จะได้แก่นักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกับเต๋อ คือ จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ไพฑูรย์ วาทยกร, สมชาย กฤษณะเศรณี, วิชัย อึ้งอัมพร และอัสนี โชติกุล

ขณะที่การเขียนเนื้อร้อง จะเป็นภาระของเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, นิติพงษ์ ห่อนาค, สีฟ้า และประชา พงษ์สุพัฒน์

“ทีมผลิตยุคแรก” จึงมีแค่ประมาณสิบชีวิต

เวลาผ่านไปไม่นาน บริษัทตัดสินใจเปิดรับคนหน้าใหม่เข้ามาเสริมใน “ทีมผลิตชุดเดิม” ซึ่งโสฬสนิยามให้เป็น “ทีมผลิตรุ่นสอง” ได้แก่ กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ, สมชัย ขำเลิศกุล, ชาตรี คงสุวรรณ, อภิไชย เย็นพูนสุข, ชุมพล สุปัญโญ, ธนา ลวสุต และตัวโสฬสเอง ในฝ่ายแต่งทำนอง-โปรดิวเซอร์

โดยมีจักราวุธ แสวงผล, แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, วรัชยา พรหมสถิต และสุรักษ์ เป็นต้น เข้ามาช่วยเขียนเนื้อร้อง

ทีมงานเบื้องหลังราวๆ 20 คน สามารถผลิตผลงานเพลงได้ประมาณ 100 เพลง หรือ 10 อัลบั้มต่อปี ซึ่งในมุมมองของโสฬสและผู้บริหารบริษัท ถือว่า “น้อยมาก”

นำไปสู่การมีนโยบายเพิ่มทีมผลิต “ชุดอื่นๆ” ในลักษณะทีมเอ ทีมบี ทีมซี ฯลฯ หรือทีมหนึ่ง ทีมสอง ทีมสาม ฯลฯ ขึ้นมา สอดคล้องกับการบันทึกของสุรักษ์

ขอปิดท้ายด้วยเรื่องราวชวนฉงนกึ่งตลกร้าย ในบทที่สุรักษ์เล่าถึงที่มาของเพลง “ลาก่อน” ซึ่งเขาทำงานร่วมกับ “อัสนี โชติกุล” และ “อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ”

ก่อนจะออกอัลบั้ม “รุ้งกินน้ำ” ของ “อัสนี-วสันต์” ในเดือนเมษายน 2536 อัสนีได้โทรศัพท์ไปสอบถามดี้ นิติพงษ์ ว่า “สุรักษ์ สุขเสวี” คือใคร?

ดูเหมือนศิลปินผู้พี่แห่งคู่ดูโอป๊อปร็อกชื่อดังจากเมืองเลย จะชื่นชอบคำร้องของเพลง “นักเดินทาง” และ “แผลในใจ” (ของ “อำพล ลำพูน”) ที่สุรักษ์มีรายชื่อเป็นผู้เขียนเนื้อร้อง

(อย่างไรก็ดี สุรักษ์ออกตัวว่า ในกรณีของเพลง “แผลในใจ” ซึ่งเขามีเครดิตร่วมแต่งคำร้องกับนิติพงษ์นั้น ตัวเขาเองมีส่วนในการเขียนเนื้อแค่สองประโยค คือ การแก้ “นี่หรือคือความผูกพัน” ของดี้เป็น “นี่หรือคือการตอบแทน” และเนื้อปิดท้ายที่ร้องว่า “หรือว่าเป็นวิธีที่เธอคุ้นเคย”)

สุดท้าย อัสนีก็ตามตัวสุรักษ์ไปเขียนคำร้องเพลง “ลาก่อน” ได้สำเร็จ

ผมอ่านเนื้อหาของบทนี้ด้วยความรู้สึกตลกร้าย เมื่อพบว่าอัสนีต้องถามถึงและตามตัวสุรักษ์ผ่านดี้ นิติพงษ์

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นในปี 2535 สุรักษ์ก็เพิ่งจะเขียนเนื้อร้องให้แก่ผลงานเดี่ยวชุด “ขึ้นโต๊ะ” ของ “วสันต์ โชติกุล” น้องชายแท้ๆ และศิลปินคู่ของอัสนี

แถมเพลงที่สุรักษ์เขียนคำร้องให้วสันต์ยังกลายเป็นเพลงโด่งดังข้ามกาลเวลาเสียด้วย คือ “แทนคำนั้น” (ทำนอง/เรียบเรียงโดย “ชาตรี คงสุวรรณ”) และ “ฉันเองก็เสียใจ” (ทำนอง/เรียบเรียงโดย “วสันต์ โชติกุล”)

ประวัติศาสตร์ของเพลง “ประวัติศาสตร์”

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2563

“ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน ประวัติศาสตร์ในวันนี้ จะแตกต่างจากวันนั้น รักของเราจะทันสมัย”

“ประวัติศาสตร์” เพลงจังหวะสนุกๆ ชวนลุกขึ้นมาเต้น แถมยังมีเนื้อหาชวนฉุกคิด จากอัลบั้มชุด “นินจา” อันเป็นผลงานเดี่ยวชุดแรกของ “คริสติน่า อากีล่าร์” เมื่อปี 2533 คือเพลงที่ถูกนำมาใช้อยู่หลายครั้งหลายหนในการชุมนุมของม็อบราษฎร-เยาวชนปลดแอก และเครือข่าย

ล่าสุด เพลงเพลงนี้ก็เพิ่งถูกเปิดขึ้น เพื่อปิดท้ายการชุมนุมอันคึกคักเปี่ยมพลังโดยกลุ่ม “นักเรียนเลว” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน

เพลง “ประวัติศาสตร์” จึงกลายสภาพเป็น “เพลงการเมือง” ของสังคมไทยร่วมสมัยไปโดยปริยาย

นอกจากจะเป็นเพลงป๊อปวัยรุ่นที่ฮิตมากๆ สำหรับคนฟังเพลงไทยในยุคทศวรรษ 2530 แล้ว

เพลง “ประวัติศาสตร์” ของ “คริสติน่า” ยังถูกรับฟังหรือถูกตีความในความหมายอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะเนื้อหาซึ่งโยงใยไปถึงสัจธรรมของ “ประวัติศาสตร์” ที่ว่าความเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์

รวมทั้งการเน้นย้ำประเด็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต้องเท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง

เคยได้ยินมาว่าอาจารย์สอนประวัติศาสตร์บางท่านนั้นชื่นชอบเนื้อหาของเพลงป๊อปเพลงนี้เอามากๆ

ยิ่งเมื่อประเทศไทยหันเหหวนคืนสู่วังวนรัฐประหารและการพยายามยื้อยุดต้านทานความเปลี่ยนแปลงของฝ่ายอนุรักษนิยม นับจากปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

เพลง “ประวัติศาสตร์” ก็ยิ่งมีสถานะเป็นเครื่องมือทางการเมืองวัฒนธรรมอีกชิ้นหนึ่ง ที่ “ฝ่ายก้าวหน้า” บางคน-บางกลุ่ม หยิบขึ้นมาใช้ ทั้งเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการ และเพื่อเยียวยาปลอบใจตนเอง

การนำเพลง “ประวัติศาสตร์” มาวิพากษ์คณะรัฐประหารและระบอบเผด็จการนั้น สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ในยุค “เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน”

ปริศนาอีกข้อหนึ่งที่หลายคนสงสัยใคร่รู้ และยังไม่มีใครมาเฉลยให้เกิดความกระจ่างชัดในระดับสาธารณะ ก็คือ ตัวตนจริงๆ ของ “คนเขียนเนื้อร้อง” เพลง “ประวัติศาสตร์”

ระบบการทำงานและเผยแพร่ผลงานของแกรมมี่ที่ค่อนข้างให้เกียรติ-ให้ความสำคัญกับคนเบื้องหลัง ทำให้เรารับทราบอย่างเด่นชัดว่าผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรีเพลง “ประวัติศาสตร์” คือ “โอม-ชาตรี คงสุวรรณ” อดีตสมาชิกวง “ดิ อินโนเซนต์” ซึ่งมีสถานะเป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม “นินจา” ด้วย

แต่ข้อมูลที่คลุมเครืออย่างยิ่งกลับเป็นตัวตนของผู้เขียนเนื้อร้อง ซึ่งใช้นามปากกาว่า “มวล พร้อมพงศ์”

ตลอดช่วงทศวรรษ 2530-2540 แกรมมี่นั้นมีกระบวนการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์และชื่อเสียงของคนเบื้องหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี “คนเขียนคำร้อง” ที่เข้มข้นจริงจังไม่น้อย

หรือในอีกด้านหนึ่ง นี่อาจเป็นผลลัพธ์โดยบังเอิญของกระบวนการจัดจำหน่ายเทปคาสเส็ตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยชื่อเสียงเรียงนามของ “คนแต่งเพลง” สามารถแพร่กระจายออกสู่สาธารณชน ไปพร้อมๆ กับเครดิตที่ปรากฏในปกเทป ซึ่งอาจมียอดจำหน่ายถึงหลักล้านตลับ

สถานภาพ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ผู้ประสบความสำเร็จของ “ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” คือดอกผลหนึ่งจากกระบวนการและความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว

แม้จะไม่โด่งดังเทียบเท่าศิลปิน แต่ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ฝีมือโดดเด่นหลายรายก็มักถูกติดต่อขอสัมภาษณ์จากสื่อนิตยสารจำนวนมากมายในยุคนั้น ขณะที่อาชีพ “คนแต่งเนื้อร้อง” ก็กลายเป็นงานในฝันของคนหนุ่ม-สาวยุค 2530-2540 จำนวนไม่น้อย

ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น จึงไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นหากแฟนเพลงจะต้องการค้นหาคำตอบว่า “นักแต่งเพลง” คนนี้ เขียน “เนื้อร้อง” ของเพลงฮิตเพลงไหนบ้าง หรือ “นามปากกา” นี้ เป็นนามแฝงของ “นักแต่งเพลง” คนใด

แต่ปริศนาน่าสนใจ ก็คือ แทบไม่มี “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” คนไหน ที่ออกมากล่าวอ้างผ่านลายลักษณ์อักษรหรือถ้อยคำสัมภาษณ์ใดๆ ว่าตนเองเป็นเจ้าของนามปากกา “มวล พร้อมพงศ์” ผู้เขียนคำร้องเพลง “ประวัติศาสตร์”

กระทั่งในยุคเฮือกสุดท้ายของอุตสาหกรรมซีดี (หลังจากเทปคาสเส็ตตกยุคมาพักใหญ่) ซึ่งทางแกรมมี่ได้เคยผลิตอัลบั้มรวมฮิตให้แก่บรรดา “นักแต่งคำร้องมือเอก” ของบริษัทแยกเป็นรายบุคคล ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ไม่มีเพลง “ประวัติศาสตร์” ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มรวมฮิตกลุ่มนั้น

หมายความว่า “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ดังๆ ผู้มีลายเซ็นเป็นของตนเอง ต่างมิได้เป็นเจ้าของนามปากกา “มวล พร้อมพงศ์”

ท่ามกลางความไม่ชัดเจน นักฟังหลายรายอาจมี “ทฤษฎี” ที่ผิดแผกกันไป ในการคาดเดาว่าใครคือ “มวล พร้อมพงศ์”

บางคนอาจเชื่อว่านี่คือนามปากกาหนึ่งของ “นิติพงษ์ ห่อนาค” เพราะถึงแม้ “ดี้ นิติพงษ์” จะไม่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าพ่อเพลงเร็ว” แห่งค่ายแกรมมี่ แต่อย่างน้อยที่สุด เมื่อปี 2532 เขาก็เคยเขียนเนื้อร้องเพลง “เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม” ของ “บิลลี่ โอแกน” โดยมี “ชาตรี คงสุวรรณ” เป็นผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี (เช่นเดียวกับเพลง “ประวัติศาสตร์”)

ถ้ามองว่าคนเขียนเนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์” ควรเป็นยอดฝีมือระดับ “เจ้าพ่อเพลงเร็ว” นี่ก็อาจเป็นผลงานของ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” ผู้แต่งคำร้องเพลงเร็วที่ได้รับความนิยมหลายต่อหลายเพลงของศิลปินแกรมมี่ในช่วงทศวรรษนั้น

ถ้ามองว่าเนื้อหาอันคมคายเกินเพลงรักที่ปรากฏในเพลง “ประวัติศาสตร์” ควรเกิดขึ้นจากมันสมองของ “นักแต่งคำร้อง” ผู้ชอบร้อยเรียงถ้อยคำสละสลวยเข้ากับความคิดที่ลึกซึ้ง นี่ก็อาจเป็นผลงานของ “เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์” คนดนตรีอาวุโสผู้ล่วงลับ

ถ้ามองว่าเพลงของศิลปินหญิงที่พูดถึงการเมืองเรื่องเพศสภาพอย่างมาก่อนกาลเพลงนี้ น่าจะเป็นฝีมือของ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลงผู้หญิง” ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ค่ายแกรมมี่ก็มี “คนเขียนคำร้องสตรี” อยู่สองราย ได้แก่ “สีฟ้า” (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์) และ “วรัชยา พรหมสถิต”

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ “มวล พร้อมพงศ์” จะเป็นนามปากการ่วมของ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” หลายๆ คน ด้วยวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมอันเข้มแข็งในบริษัทแกรมมี่ยุคตั้งไข่

แต่ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ชัดเจนอยู่ดีว่า มี “นักแต่งคำร้อง” คนใดบ้างที่ประกอบร่างกันขึ้นเป็น “มวล พร้อมพงศ์”? และพวกเขา/เธอมีด้วยกันทั้งหมดกี่คน?

โดยส่วนตัว ในฐานะ “คนฟังเพลงที่สงสัยใคร่รู้” คนหนึ่ง หลังจากสืบสวนสอบสวนและครุ่นคิดจินตนาการเกี่ยวกับ “มวล พร้อมพงศ์” โดยไม่พบเบาะแสเพิ่มเติมมานานหลายปี ผมก็พบเจอ “ทางลัด” เข้าจนได้เมื่อปลายปี 2561

เวลานั้น ผมได้อ่านหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” ของ “สุรักษ์ สุขเสวี” หนึ่งใน “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ของแกรมมี่ยุครุ่งเรือง

จากเนื้อหาภายในหนังสือเล่มดังกล่าว ผมพอจะจับได้ “สุรักษ์” ดูมีความสุขมากๆ เวลาเขียนถึงสภาพการทำงานที่แกรมมี่ในทศวรรษ 2530

ดูคล้ายความทรงจำของเขาจะพรั่งพรูเป็นพิเศษเวลาเขียนถึงเพื่อนๆ พี่ๆ ทีม “นักแต่งเพลง” ยุคแรกของแกรมมี่

ที่สำคัญ ดูเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจกับการได้เขียนเนื้อร้องให้เพลงดังๆ เช่น “หัวใจขอมา” และ “นาทีที่ยิ่งใหญ่” ของ “คริสติน่า อากีล่าร์”

บางที “สุรักษ์ สุขเสวี” อาจเป็นผู้หนึ่งที่พอจะให้คำตอบได้ว่าใครคือ “มวล พร้อมพงศ์”

ผมไม่รอช้ารีบลงมือเขียนข้อความกึ่งจดหมายไปหา “สุรักษ์” ผ่านทางโซเชียลมีเดียประเภทหนึ่ง

ในข้อความที่ส่งไป ผมระบุว่าเพิ่งได้อ่านหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” ของเขา และคิดว่าเขาน่าจะเป็นผู้ตอบคำถามได้ว่าใครคือ “มวล พร้อมพงศ์” ผู้แต่งเพลง “ประวัติศาสตร์”

ผ่านไปหนึ่งคืน “สุรักษ์” ก็ส่งคำตอบกลับมาด้วยดีและฉันมิตร

“นักแต่งเพลง” ผู้นี้ เริ่มต้นด้วยการแจ้งให้ผมทราบว่า “มวล พร้อมพงศ์” คือนามปากการ่วม

โดยนามสกุล “พร้อมพงศ์” ก็มาจาก “ซอยพร้อมพงศ์ 39” ซึ่งที่เป็นที่ตั้งของออฟฟิศบริษัทแกรมมี่ยุคนั้น

ส่วนใครคือ “มวล พร้อมพงศ์” บ้าง สุรักษ์บอกใบ้ให้ผมกลับไปอ่านรายชื่อทีม “นักแต่งคำร้อง” สิบคนแรกของค่ายแกรมมี่ ซึ่งเขาไล่เรียงเอาไว้ในบทที่เขียนถึงเพลง “นักเดินทาง” จากหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง”

คนเหล่านั้นทั้งหมดนั่นแหละ คือ “มวล พร้อมพงศ์”

เมื่อไปนั่งทำการบ้านตามคำชี้แนะของ “สุรักษ์” ผมจึงพบว่า “มวล พร้อมพงศ์” เป็นนามแฝงของ “ทีมเขียนเนื้อ” จำนวนสิบชีวิต อันประกอบด้วย นิติพงษ์ ห่อนาค, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, ประชา พงศ์สุพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, สีฟ้า (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์), นวฉัตร (สมควร มีศิลปสุข), วรัชยา พรหมสถิต, วีระเกียรติ รุจิรกุล, จักราวุธ แสวงผล และสุรักษ์ สุขเสวี

หลังทราบคำตอบใหม่ๆ ผมรู้สึกว่าภารกิจในการตามหา “มวล พร้อมพงศ์” ของตนเองยังไม่สำเร็จสมบูรณ์เสียทีเดียว

เพราะต่อให้ “นักแต่งคำร้อง” ทั้งสิบรายจะได้ร่วมกันเขียนเนื้อร้องเพลง “ประวัติศาสตร์” ขึ้นมาจริงๆ ผ่านวิธีระดมไอเดียในห้องประชุม แต่ ณ จุดเริ่มต้นแรกสุด ก็คงต้องมีใครคนหนึ่งจุดประกายขึ้นมาว่าเพลงเพลงนี้ควรพูดถึงแนวคิดเรื่อง “ประวัติศาสตร์” เพลงเพลงนี้ควรพูดถึงการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย

ปัญหาคือผู้จุดประกายดังกล่าวเป็นใคร?

ผมเคยคิดจะส่งคำถามข้อใหม่นี้ไปถึง “สุรักษ์” แต่ก็กังวลว่าอาจเป็นการรบกวนเขาเกินเหตุ พร้อมๆ กับที่มีความรู้สึกว่าตัวเองมิได้ต้องการรับทราบคำตอบเพิ่มเติมดังกล่าวอย่างเร่งด่วนขนาดนั้น

สองปีผ่านไป ผมจึงยังไม่รู้ชัดเสียทีว่า “นักแต่งคำร้อง” คนไหน? คือผู้มีส่วนสำคัญในการวางโครงร่างให้แก่เนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์”

อย่างไรก็ดี เมื่อมานึกทบทวนในอีกแง่มุมหนึ่ง การปล่อยให้คำเฉลยยุติอยู่ตรงที่ว่า “มวล พร้อมพงศ์” คือ “คนเขียนเพลง” จำนวนสิบชีวิต นั้นกลับเชื่อมโยงถึงข้อเท็จจริง-แง่คิดที่น่าสนใจ 2-3 ประการ

ประการแรก การอธิบายว่า “มวล พร้อมพงศ์” คือ ทีม “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” กลุ่มหนึ่ง ก็เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่าในอุตสาหกรรมเพลงไทยนับจากทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ค่ายเพลงมีแนวโน้มจะเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ของผลงานเพลงต่างๆ มากกว่าตัวผู้แต่งเพลง

การที่เพลง “ประวัติศาสตร์” ถูกแต่งเนื้อโดย “มวล พร้อมพงศ์” จึงเป็นการแสดงตัวอย่างให้เราเห็นชัดเจนว่าบทเพลงเพลงหนึ่งนั้นถูกร่วมสร้างสรรค์ขึ้นโดยทีมงานทีมหนึ่งของค่ายเพลงค่ายหนึ่ง มิได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยบุคคลคนหนึ่ง

ผลต่อเนื่องก็คือ เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นนักแต่งเพลงคนไหนมาอ้างสิทธิ์ว่าเขาคือเจ้าของเพลง “ประวัติศาสตร์” และใช้สิทธิ์ไม่อนุญาตให้มีการนำเพลงของตนมาขับร้อง-บรรเลงเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองบางชุด (ดังที่นักแต่งเพลงบางรายกระทำต่อ “สุกัญญา มิเกล”)

ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของ “มวล พร้อมพงศ์” ยังช่วยเน้นย้ำถึงแนวคิดที่ว่า “ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่สมบัติหรือกรรมสิทธิ์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ “ประวัติศาสตร์” คือกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมาก

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว “ประวัติศาสตร์ที่แล้วมา (จึง) จะถูกจดบันทึกใหม่” อยู่ร่ำไป