จรัญ พงษ์จีน : “พิศิษฐ์” กับโอกาสต่อเวลานั่ง ‘ผู้ว่าฯสตง.’

จรัญ พงษ์จีน

หลายฝ่ายเฝ้าจับตาคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะต่ออายุ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอีกครั้งหรือไม่

“พิศิษฐ์” มีอายุครบ 65 ปี วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ถ้ายึดตามตัวบทกฎหมาย “พิศิษฐ์” ต้องลุกพ้นเก้าอี้ผู้ว่าการแล้ว แต่บังเอิญว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่ง คสช. ที่ 23/2560 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ “พิศิษฐ์” นั่งในตำแหน่งต่ออีก 6 เดือน

นับตามปฏิทิน “พิศิษฐ์” จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 26 กันยายนนี้

เป็นที่รู้กันว่า “พิศิษฐ์” ไต่เต้าจากข้าราชการระดับเล็กๆ จนคว้าตำแหน่งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและรักษาการผู้ว่าการ สตง. เพราะได้แรงผลักดันของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการ สตง. มาตลอด

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 คุณหญิงเป็ด อายุครบ 65 ปี ตามกฎหมาย สตง. ต้องเกษียณ แต่ปรากฏว่าคุณหญิงเป็ดเกิดอาการฮึดฮัดไม่ยอมทิ้งเก้าอี้ผู้ว่าการ สตง. ที่นั่งมานานถึง 8 ปี

“พิศิษฐ์” และ “คุณหญิงเป็ด” เปิดศึกชิงเก้าอี้ มีทั้งเกมล็อกห้อง ยึดไมค์ ส่งจดหมายเวียนชักชวนให้เจ้าหน้าที่ สตง. มาอยู่ฝ่ายเดียวกัน จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น

ในที่สุดผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องต่อศาลปกครองพิพากษาให้ปลดคุณหญิงเป็ดพ้นจากตำแหน่งโดยมี “พิศิษฐ์” ร้องสอด

ปี 2557 “พิศิษฐ์” ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ สตง. เต็มตัว ก็ได้โชว์บทบาทตรวจสอบการใช้เงินหลวงในหน่วยงานต่างๆ อย่างขึงขัง

 

กลางปี 2559 “พิศิษฐ์” เปิดแถลงข่าวกล่าวหาว่าโครงการไฟประดับ 39 ล้านบาทของกรุงเทพมหานครมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ฮั้วราคา ใช้เงินผิดประเภท

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น ยื่นฟ้อง “พิศิษฐ์” ฐานหมิ่นประมาท

ในคำฟ้องชี้ว่าจำเลยไม่มีอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบทุจริต หน้าที่นี้เป็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถือว่าทำให้โจทก์เสื่อมเสีย

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ศาลอาญาเพิ่งนัดไกล่เกลี่ยคดีสำเร็จ คุณชายหมูไม่ติดใจเอาความ ขณะที่ “พิศิษฐ์” แถลงข่าวพร้อมยกมือไหว้ขอโทษ อ้างว่าเหตุกล่าวหาใส่ร้ายเพราะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและคลาดเคลื่อน

“พิศิษฐ์” เปิดเกมไล่ล่าตรวจสอบภาษีนักการเมืองยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์” และ “ยิ่งลักษณ์” พร้อมประกาศว่าจากการตรวจสอบ 113 รายชื่อ ในทางลึกพบนักการเมืองเหล่านี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5 ล้านบาท ประมาณ 60 รายชื่อ และ สตง. ได้แจ้งไปยังกรมสรรพากรตั้งแต่ปี 2558

ข่าวนี้กลายเป็นกระแสฮือฮาอยู่พักหนึ่งแล้วก็หายแว่บไปในสายลม

ระหว่าง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รมช.เกษตรฯ ก่อกระแสเรียกร้องให้ “สตง.” สอบสวนว่า โครงการระบายข้าวของรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นกระบวนการนำข้าวค้างสต๊อกไปเปิดประมูลขายในราคาอาหารสัตว์ 2.14 ล้านตันที่โปร่งใสหรือไม่

สื่อหยิบประเด็นนี้ไปถาม “พิศิษฐ์” ได้คำตอบแบบเนียนๆ ว่า “จากการไปร่วมสังเกตการณ์ก็เห็นว่ากระบวนการระบายข้าวของรัฐบาลมีความสมเหตุสมผล ไม่พบอะไรที่บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากล”

 

“พิศิษฐ์” ยังเปิดเกมรุกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม เป็นประธาน

ที่มาของเรื่อง “พิศิษฐ์” ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ให้ตั้งคณะกรรมการสรรหา เนื่องจาก คตง. ชุดดังกล่าวต้องพ้นตำแหน่งในวันที่ 26 กันยายน

“คตง.” ออกโรงค้านทันควัน ยืนยันว่า ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่

เกมนี้ “พิศิษฐ์” คว้าชัย เพราะ คสช. ออกคำสั่งให้สรรหา คตง. ชุดใหม่แทนชุดนายชัยสิทธิ์

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาเปิดชื่อว่าที่ “คตง.” ทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน 2.นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ 3.นางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ด้านกฎหมาย 4.น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ ด้านบัญชี 5.พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ด้านการตรวจสอบภายใน. 6.นายวีระยุทธ ปั้นน่วม ด้านการเงินการคลัง และ 7.นายสรรเสริญ พลเจียก ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน

ล่าสุดมีการเลือกว่าที่ประธาน คตง. เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างส่งชื่อคณะกรรมการทั้งหมดไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำขึ้นทูลเกล้าฯ

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ 164 ต่อ 1 คะแนนรับหลักการในวาระที่ 1 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ระหว่างนี้ตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 30 คน พิจารณาประเด็นต่างๆ ให้เสร็จภายใน 50 วันก่อนส่งมาให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาลงมติอีกครั้ง

กฎหมายลูกฉบับนี้ มีบทเฉพาะกาลมาตรา 107 ระบุไว้ว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน ยังคงทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่

 

หาก “คสช.” ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ต่ออายุให้อีกครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่า “พิศิษฐ์” ทำงานเข้าตากรรมการ

ถ้า คสช. ไม่ออกคำสั่งต่ออายุให้ “พิศิษฐ์” เป็นผู้ว่าการ สตง. ระลอก 2 แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว ต้องงัดมาตรา 108 ของกฎหมายฉบับนี้มาใช้ ซึ่งกำหนดให้ คตง. สรรหาและเสนอชื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ภายใน 60 วัน

หากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในระหว่างการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามที่เห็นสมควรเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ตามข้อมูลในเว็บของ สตง. มีรองผู้ว่าการทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายมณเฑียร เจริญผล นางสิรินทร์ พันธ์เกษม นายพรชัย จำรูญพานิชย์กุล นางสาวพวงชมนาถ จริยะจินดา และ นายประจักษ์ บุญยัง

คำถามสุดท้ายมีอยู่ว่า ถ้าผู้ว่าการ สตง. ไม่ใช่ชื่อ “พิศิษฐ์” แล้วรองผู้ว่าการคนไหนจะได้สิทธิ์ขึ้นมาเป็นใหญ่คุม “สตง.” หน่วยงานตรวจสอบการใช้เงินหลวงที่มีฤทธิ์เดชสุดของประเทศ?