สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูพันธุ์ไหน นักเรียนพรรค์นั้น (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายการภาคบ่ายเวทีประชุมวิชาการเพาะพันธุ์ปัญญา ประจำปีที่ 3 เป็นการเสวนาหัวข้อ ครูพันธุ์ไหน นักเรียนพรรค์นั้น ร่วมสะท้อนความคิดโดย ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางสาวเพ็ญประภา ศรีสุวรรณ ผอ.โรงเรียนบ้านแพ้ววิทยา (ตี่ตง) นางสาวไสว อุ่นแก้ว ครูแกนนำเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด

เนื้อหาสาระประเด็นสอดรับกับคำปรารภของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้จัดถ่ายทำเป็นวิดีทัศน์มาฉายในที่ประชุมช่วงเช้า ทำอย่างไรให้แนวทางปฏิรูปการศึกษาแบบโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะได้รับการต่อยอด

“คำว่านักเรียนพรรค์นั้น คงต้องการให้คิด ให้ตระหนักว่าผลิตครูพันธุ์ไหนก็ได้นักเรียนพรรค์นั้น ทำโครงการมา 3 ปี ทำอย่างไรจะให้เลื่อนไหลไปทั่วประเทศ ดร.บรรเจอดพร พูดถึงมาตรา 44 ช่วยได้แค่ไหนไม่ทราบ ส่วนตัวอยากให้โครงการนี้เข้าไปในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ และบรรจุการเรียนการสอนแบบครูเพาะพันธุ์ปัญญาเข้าไปสถาบันราชภัฏซึ่งเป็นแหล่งผลิตครู” ผอ.บ้านแพ้ววิทยา เสนอความคิดชัดเจน

“ผลิตครูเก่งความรู้ เก่งเทคโนโลยี แต่ไม่เก่งการสร้างสัมพันธ์กับเด็ก หรือเข้าไปทำความเข้าใจกับเด็ก ทั้งที่วัยใกล้กัน สนใจเทคโนโลยีเหมือนกัน เป็นครูต้องสร้างแรงบันดาจใจให้เด็ก ที่อดีตรัฐมนตรีพูด โรงเรียนที่เหลือ ไม่ได้ทำโครงการแบบเพาะพันธุ์ปัญญาล่ะจะทำอย่างไร ต้องขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ อีกมาก ที่ทั้งครู นักเรียนต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะครู สถาบันผลิตครู”

ครูไสว เสริมว่า “ครูกี่เปอร์เซ็นต์ ได้รับการสนับสนุนให้ทำโครงการ เขามีจิตวิญญาณสูงมาก ครูอื่นๆ อีกที่น่าจะทำได้ แต่เขาขับเคลื่อนเองไม่ได้ เพราะติดอยู่ที่ตัวอำนาจ ผู้อำนวยการจึงมีผลต่อครูทุกกลุ่มสาระ หากเป็นนโยบายก็จะได้รับความร่วมมือระหว่างครูกลุ่มสาระต่างๆ มากขึ้น เป้าหมายเพื่อให้เด็กคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เราต้องลงไปช่วยครูเหล่านี้ ก่อนที่พลังของเขาจะฝ่อไป จะได้ไม่เหี่ยว ไม่ออกจากวงการครูไปอย่างน่าเสียดาย”

ขณะที่ สุทธิพงษ์ นักคิด สื่อสารมวลชนคนทำรายการ “กบนอกกะลา” สะท้อนว่า “ครูไม่สามารถเลือกเด็กนักเรียนตามที่ครูปรารถนาได้ นักเรียนก็ไม่สามารถเลือกครูได้ นี่คือความเป็นจริง เป็นข้อจำกัด เป็นต้นทุนชีวิตทุกคน ฉะนั้น การที่จะหวังว่าครูจะเลือกเด็กให้ถูกใจ เด็กเลือกครูที่ถูกใจนั้นเป็นการเริ่มต้นความคิดที่ไม่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ข้อดี ข้อผิดพลาด ความสำเร็จ ความล้มเหลว มีการศึกษาเกิดขึ้น ได้ครูเก่ง ครูดีก็ได้ ไม่เก่งก็ได้ แต่เราต้องจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ให้เป็นปัญหา เพราะเราเลือกไม่ได้”

เขายกตัวอย่างบทเรียนที่ใกล้ชิดตัวเองมากที่สุด น่าจะเป็นแบบอย่างของการเป็นครูที่ดี คือแม่

“แม่ไม่จบ ป.4 แต่เลี้ยงลูกได้ดี ให้ประสบความสำเร็จได้”

 

ช่วงท้ายการอภิปราย พิธีกรนำผลสำรวจความคิดเห็น ที่ผู้เข้าร่วมเวทีร่วมกันโหวตในแต่ละประเด็นมาให้วิทยากรสะท้อนความเห็น จากโจทย์ที่ว่า ท่านคิดว่าการจัดการเรียนรู้รูปแบบใดทำให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด

1. ลงมือทำเลยไม่ต้องสอนมาก

2. แค่มีคนสอน คนบอก คนแนะนำก็พอแล้ว

3. คุยกันเยอะๆ ดีกว่า

4. บันทึกความรู้สึกตัวเองบ่อยๆ

จำนวนผู้ตอบคำถามแต่ละข้อคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน่าสนใจทีเดียว ว่าคนส่วนใหญ่ในห้องประชุมนับพันคนคิดอย่างไร

ผอ.ตี่ตง ให้ความเห็น “การเขียนบันทึกสะท้อนคิด รีเฟลกชั่น บันทึกความรู้สึก ระบายสิ่งที่เราคิด เป็นเครื่องมือช่วยได้ กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่างที่ดูวีดิทัศน์ ครูตรีนุช โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ลำปาง เขียนจดหมายถึงนักเรียน เรียงร้อยอักษรไปกระทบใจเขา การสื่อสารช่วยทำให้รู้เด็กเขาคิดอย่างไร เขียนออกมา ทำให้การขับเคลื่อนงานเดินไปสู่เป้าหมายได้”

ส่วนครูไสว ว่า “4 ข้อคำตอบสำคัญหมด การเขียนทำให้เห็นตัวเอง ช่วงที่เราปรี๊ด มีนางปีศาจร้ายอยู่ในตัวเราเองนะ ต้องเตือนตัวเอง เราก็จะเห็นคนอื่นด้วย ต้องขับเคลื่อนจากด้านในจิตใจของเรา”

 

ก่อนหน้านี้มีคำถามอีก 4 ข้อใหญ่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมโหวต คือ

1. คิดว่าอะไรจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่เปลี่ยนแปลงท่านเป็นครูพันธุ์ใหม่มากที่สุด

2. หากต้องการนำกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาไปใช้ในโรงเรียน คิดว่าจะต้องปรับสิ่งใดมากที่สุด

3. นักเรียนต้องการครูแบบไหนมากที่สุด

4. การเปลี่ยนแปลงใดที่เห็นชัดที่สุดในตัวเราหลังจากผ่านโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา กับการเล่นเกมความคิดเหตุ ผลเชื่อมโยง ให้เขียนส่งเพื่อชิงรางวัล

เป็นการออกแบบการประชุมวิชาการที่น่าเรียนรู้ ใช้รูปแบบการแสดงละครเป็นสื่อนำเสนอสาระกระบวนการดำเนินงานของโครงการ ปัญหา อุปสรรคและความสำเร็จ มีการสำรวจความเห็นเพื่อนำไปวิเคราะห์วิจัยปรับปรุง มีกิจกรรมทางความคิดหลากหลายให้ทำ บรรยากาศ สีสันของงานมีชีวิตชีวา ไม่ใช่ให้มาฟังฝ่ายเดียว

รายการสุดท้าย การประกาศผลงานให้กับครู นักเรียนและโรงเรียน ไม่มีรางวัลครูเพาะพันธุ์ปัญญาแห่งปีที่ 3 ปรับเปลี่ยนเป็นรางวัลบันทึกความคิดดีเด่นให้กับครูแกนนำ ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ สิ่งที่ครูทำ ครูพบ ครูรู้สึกออกมาได้ประทับใจที่สุด อ่านแล้วได้ทั้งรอยยิ้มและน้ำตา

รางวัลบันทึกเรื่องเล่าจากครูพันธุ์แท้ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของการเขียนบันทึกกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นไปอย่างที่ ฟรานซิส เบคอน นักเขียนเคยกล่าวไว้ “การอ่านทำให้คนเป็นคนอย่างสมบูรณ์ การประชุมทำให้คนเตรียมพร้อม การเขียนทำให้คนแม่นยำ”

ครูคนไหน โรงเรียนอะไร หนังสือชื่ออะไร เนื้อหาสร้างความสะเทือนใจอย่างไร ค่อยว่ากัน