บันทึกลับโฮจิมินห์เทร็ล (จบ)-ภารกิจอันสิ้นสุด/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

บันทึกลับโฮจิมินห์เทร็ล (จบ)-ภารกิจอันสิ้นสุด

 

ปฏิบัติการใหม่ที่พิกัด “XC775330” ที่ต้องใช้เวลาถึง 30 วัน! ในการลาดตระเวนเส้นทางมรณะเป็นระยะ 18 กิโลเมตร และอาวุธหนักที่ติดตัวไปด้วยทำให้รู้ว่าชะตาชีวิตของทีมจะเผชิญกับอะไร? อีกข่าวที่บางหน่วยถูกข้าศึกปิดล้อมและหายไป นั่นยิ่งทำให้หน่วยสมาชิกบางคนในหน่วยแบมบูคิดจะถอนตัว

แต่สิ่งที่พวกเขาถูกกดดันคือคำสั่งของหน่วยเหนือที่กำชับว่า “ก่อนที่พวกเราจะตัดสินใจอะไร อย่าวู่วาม ทำไปมีแต่ผลเสียต่ออนาคต อาจถูกปลดจากราชการ-ขึ้นศาล (?) โทษหนักมาก ที่เตือนมาเพราะความหวังดีต่อพวกเราทุกคน!”

ไม่มีอะไรแน่นอนสำหรับทหารอาชีพและนักรบรับจ้าง ในภารกิจที่ 3 ของการ “เฝ้าปลิดชีพ-ซุ่มโจมตีฝ่ายข้าศึก” ในพื้นที่ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยป่าทึบที่มองไม่เห็นแม้แต่ท้องฟ้าในฤดูฝน สัตว์ป่า ทากดูดเลือด และยุงป่าที่ชุกชุม การเดินขึ้นลงภูเขาสูงเพื่อซ่อนตัวจากข้าศึก แม้ว่าในที่สุดแล้ว พวกเขาจะสามารถตัดใบหูพวกเวียดมินห์มาได้ถึง 5 นายในการปะทะที่เหน็ดเหนื่อยโรยราจากร่างกายที่บาดเจ็บและล้มป่วย

โดยเฉพาะแบมบู 2 ที่ร่างกายซีดเขียวไม่ได้สติจากอาการไข้ป่ามาลาเรีย จนรอ ฮ.มารับไม่ไหว ต้องส่งร่างลงเรือไปส่งฐานที่ปากเซ

ระหว่างนอนป่วยให้น้ำเกลืออยู่ที่ฐาน บก.T เขาก็ได้ยินวิทยุด่วนจาก บก.333 ถึง บก.ทิม “สรุปให้ยุบ 5 ทีมเส้นทางโฮจิมินห์เทร็ล และส่งตัวกลับ บก.” ส่วนหน่วยที่ 4 นั้นซึ่งยังตกอยู่ในวงล้อมข้าศึก ยังไม่มีข่าวคืบหน้า (21 กันยายน)

นี่คือสัญญาณพ่ายแพ้ของฝ่ายจีไอในเส้นทางโฮจิมินห์เทร็ลที่ไปต่อไม่สำเร็จ? หรือเป็นการเปลี่ยนแผนใหม่?

แต่สิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้น คือนอกเหนือจากพื้นที่ของโฮจิมินห์เทร็ลแล้ว รอบๆ ลาวใต้ทั้งหมดก็ถูก “ลาวแดง” หรือกองทัพปฏิวัติประชาชนที่ร่วมมือกับเวียดกงในการทำจรยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง”

ที่ทำให้ฝ่ายขวาทำงานยากลำบากมากไปอีก!

เป็นโชคดีหรือไม่ที่เขาป่วยเป็นไข้ป่า? แบมบู 2 ไม่มีเวลาจะครุ่นคิด เพราะทันทีที่ลุกจากเตียงได้ เขาก็ถูกส่งไปทำภารกิจใหม่ที่ชื่อว่า “T6” คราวนี้ต้องปลอมตัวเป็นร้อยโทในสังกัดกองทัพภาค 4 พล.ต.ผาสุก สำลี ในฐานะครูฝึกหน่วย GM27 ของกองทัพลาว ซึ่งมีที่ตั้งบริเวณปราสาทวัดภู

30 ตุลาคม, คำสั่ง บก.ผสม/333 ถึง บก.ทิม (บก.ที) T6 ออกปฏิบัติการร่วมกับ GM27 ในภารกิจ 40 วัน เพื่อกวาดล้างฆ่าศึกตามแนวชายแดนลาว-เขมรที่ประชิดพรมแดนไทย

แต่เป็นการเผชิญกับข้าศึกแบบไหน? ต่างจากปฏิบัติการโฮจิมินห์เทร็ลอย่างไร? สิ่งที่เฉลยให้เรารู้ว่า ทำไมอเมริกันจึงพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม นั่นก็คือ ข้าศึกกลุ่มนี้ในลาวทั้งหมดคือกองกำลังผสมระหว่างทหารเวียดกง/เวียดมินห์ กับกองกำลังลาวปฏิวัติ/ลาวแดง ซึ่งเป็นหน่วยอิสระและเคลื่อนไหวปะปนอยู่นอกพิกัด

ซ้ำบางกลุ่มยังสมทบกับทหารเวียดนามเหนือ แลกเปลี่ยนการฝึกจรยุทธ์และฝึกพูดภาษาลาว-เวียดนามจนยากที่จะแยกชาติพันธุ์ ดังนั้น การสกัดกั้นเส้นทางข้าศึกที่มีฐานปฏิบัติการชายแดนเขมรบริเวณเรียกว่า “ดงคันทุง” ซึ่งมีแต่ชนกลุ่มน้อย “เขมรป่าดง” จึงเต็มไปด้วยความซับซ้อน สำหรับเป้าหมายเบื้องต้น คือบีบบังคับให้ข้าศึก “ถอยร่น” ห่างจากชายแดนไทย!

ทำให้ประจักษ์ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์ลาว” ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสนับสนุนขณะนั้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม” ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์เคี่ยวกรำกับข้าศึก ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวก็ประสบความสำเร็จในการกินพื้นที่จิตวิทยามวลชน

การแทรกซึมสองฝ่าย จึงยากที่จะรับมือทั้งหน่วยนักรบรับจ้างไทยลาวและชาวม้งซึ่งปฏิบัติการในเขตลาวสูง และเป็นการรบแบบสอดแนมนอกพื้นที่

ปฏิบัติการใน 3 สัปดาห์แรก หน่วยได้รับการบำรุงขวัญและรับฟังสถานการณ์จากเชื้อพระวงศ์ของลาวตอนใต้ คือ เจ้าบุญอุ้ม ผู้มีตำหนักอันสวยงามที่เมืองปากเซ แต่หลังจากเผชิญหน้ากับภารกิจที่ไม่อาจรู้ว่าใครคือศัตรู แบมบู 2 ก็บันทึกว่า

“เราเกือบตาย เพราะนั่งทับ ‘งูสามเหลี่ยม’ ใต้กองวัชพืช” (?)

เพราะแม้แต่การงานศพนายทหารชั้นนายพันลาวพร้อมภรรยา-ลูก และทหารติดตามที่ถูกจับตัวและยิงทิ้งทั้งสิ้น 7 ชีวิตยังถูกข้าศึกที่สอดแนมในงานศพขว้างระเบิดตายทันทีอีก 4 ศพ!

สร้างความตึงเครียดเสียขวัญต่อทีม “T6” จนได้รับคำสั่งให้กลับบ้านเพื่อพักผ่อน 2 สัปดาห์

เมื่อกลับมาอีกครั้ง ได้เกิดการปะทะครั้งใหญ่ ที่ห่างจากปากเซไปราว 25 กิโลเมตร การปะทะครั้งนี้มีทั้งฝ่ายไทย-ลาวและเวียดมินห์อย่างมากมาย โดยเฉพาะฝ่ายข้าศึกสูญเสียกำลังไปราว 100 นาย

ในท่ามกลางศพข้าศึก มีทหารไทยนายหนึ่งซึ่งแกล้งตายในกองสมรภูมิ กว่าทีมจะเข้าไปเจอ ก็ผ่านไปกว่า 24 ชั่วโมงแห่งความอัศจรรย์ที่เขารอดชีวิตมาได้!

สถานการณ์ในลาวเวลานั้น คือทวีความรุนแรง ทั้งตอนเหนือและล่าง เมื่อทหารเวียดกงกับลาวแดงเร่งการบดขยี้

เพื่อความปลอดภัย บก.ทิมจึงสั่งให้ถอนทีมจากเขตวัดภู/จำปาสัก กลับฐานที่ปากเซ (27 ธันวาคม)

กระนั้น ความสูญเสียครั้งใหญ่ในเดือนมกราคม คือการสูญเสียทหารท้องถิ่นในปฏิบัติฝ่ายอเมริกันร่วม 100 นายจากการถูกโจมตี ในที่นี้ รวมทั้งที่ปรึกษาอเมริกัน 6 นายและไทย 4 นาย ข้าศึกยังประกาศกร้าวข่มขวัญว่า

“จะตามล่าสังหารคนไทยและอเมริกันที่มาปฏิบัติการรบในลาวทุกคน”

แต่ภารกิจของ T6 ก็ยังคงไม่สิ้นสุด จากกุมภาพันธ์ จนมิถุนายน 2511 ข่าวกองทหารและเวียดมินห์ 2 กองร้อยเคลื่อนกำลังมาที่ภูกระเดียด ห่างจากฐาน บก.ใหญ่เพียง 5 กิโลเมตร

ดูเหมือนข้าศึกจะประชิดปากเซเข้ามาทุกที

พลัน 16 มิถุนายน ข่าวร้ายแรกก็มาถึง หน่วยทหารไทยในปฏิบัติการเวียดนามใต้ ประสบอุบัติเหตุจากเครื่องบินตกตายหมู่ 19 นาย ในจำนวนนี้มีร้อยโทหนุ่มที่เพิ่งจบจากนายร้อยเวสปอยต์และ Airborne Ranger ของสหรัฐ

อีกบางนายเคยร่วมทีมกับแบมบูในภารกิจโฮจิมินห์เทร็ล

แต่แล้ว 5 กรกฎาคมปีเดียวกัน ขณะที่นายพลผาสุกแห่งกองทัพภาคสี่ของลาวกำลังกล่าวโอวาทสดุดีในพิธีปิดกองฝึกยุทธศึกษาหน่วย T6 พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณ “ใบยั่งยืน” เป็นที่ระลึกและขอบคุณภารกิจสุดท้ายต่อหน้า บก.ทิมและหน่วยเหนือของไทยก็มาร่วมงานเลี้ยงที่กำลังดำเนินไป

พลัน สี่ทุ่มตรง เสียงจรวด 2 ลูกดังสนั่นของฝ่ายข้าศึกก็ยิงเข้ามาในปากเซ

9 กรกฎาคม เครื่องบินแอร์อเมริกาก็ทะยานจากสนามบินสุวรรณเขตสู่เมืองอุดรธานี

ลาก่อนภารกิจลับ “โฮจิมินห์เทร็ล” และสงครามเวียดนามที่คร่าชีวิตนักรบรับจ้างไทย (ที่อยู่ในสารบบ)ไปราว 2,800 นาย, หายสาบสูญไปกว่า 400 นาย, บาดเจ็บทุพพลภาพกว่า 700 นาย และที่เหลืออีก 214 นายคือตกเป็นเชลยศึก!

ราวจะอุทิศให้แก่ “นักรบนิรนาม” แห่งสงครามเวียดนามที่ไม่เคยถูกกล่าวถึง และด้วยความรันทดใจที่ “น้อยคนนักจะทราบเรื่องนี้ อีกทั้งรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ให้ความสำคัญ”

โดยปราศจาก ดูเหมือนความทรงจำในความพ่ายแพ้ของสมรภูมิที่นั่นจะทำให้เขาไม่อยากจะบันทึกความทรงจำได้อีกต่อไป สำหรับชัยชนะอันขมขื่นของ “นักรบนิรนาม” ในสงครามเวียดนามที่อยู่ในความทรงจำ จนวาระสุดท้ายที่เขาจากไปอย่างสงบในวัย 85 ปี และทิ้งบันทึกฉบับนี้เป็นอนุสรณ์

ต่างจาก “โฮจิมินห์เทร็ล” ภารกิจลับที่เขาทำไว้กับ “ซีไอเอ”

แต่ดูเหมือนหลังจากนั้นมาอีก 20 ปี (2531) เขาก็ถูกส่งตัวไป “ยุทธภูมิภูมิร่มเกล้า” ภารกิจครั้งสุดท้ายกับทหารลาว ที่พาเขากลับบ้านพร้อมกับความ “พ่ายแพ้”

และนับแต่นั้นมา แบมบู 2 ก็กลายเป็นทหารที่ไร้สังกัด

แห่งความทรงจำ!