สงครามรัสเซีย-ยูเครน! วิกฤตโลกครั้งใหญ่หวนคืน/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน!

วิกฤตโลกครั้งใหญ่หวนคืน

 

“ภูมิศาสตร์การเมืองยังคงเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญในกิจการระหว่างประเทศ… ประวัติศาสตร์ของกิจการระหว่างประเทศส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าการควบคุมดินแดนคือ ศูนย์กลางของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง”

Zbigniew Brzezinski (1997)

 

หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นในปี 1990/91แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดในการเมืองโลกคือ การล่มสลายของระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ซึ่งก็คือการสิ้นสุดของพลังอำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ อันมีนัยถึงการสิ้นสุดของความเป็น “ขั้วอำนาจ” ของสหภาพโซเวียตในเวทีการเมืองโลกด้วย

เงื่อนไขเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาดำรงระเบียบระหว่างประเทศที่เป็น “โลกแบบขั้วเดียว” (unipolar)

และตามมาด้วยการแตกสลายของ “รัฐโซเวียต” ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต แยกตัวออกเป็น “รัฐเอกราชใหม่” ในช่วงปลายปี 1991 พร้อมกับนำไปสู่การกำเนิดของ “รัฐรัสเซีย” เข้าแทนที่รัฐเดิมที่ล่มสลายไป

สภาวะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า “ระเบียบโลกในยุคหลังสงครามเย็น” เป็นระเบียบที่รัสเซียดำรงอยู่ในระบบระหว่างประเทศด้วยความอ่อนแอ และส่งผลให้การจัด “ระเบียบของยุโรปในยุคหลังสงครามเย็น” เป็นสิ่งที่เสมือนกับรัสเซียไม่มีบทบาทในการกำหนดอนาคตได้มาก (เช่นที่สหภาพโซเวียตเคยมีในยุคสงครามเย็น)

หรืออีกนัยหนึ่งอาจถูกตีความได้ว่า รัสเซียมีความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการยอมรับในความเป็นรัฐมหาอำนาจเท่าที่ควร

ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากยุคสงครามเย็นอย่างมากที่การกำหนดระเบียบของยุโรปไม่อาจจะละเลยต่อบทบาทของโซเวียตได้เลย

โดยเฉพาะในยุคดังกล่าว ระเบียบโลกเป็นแบบ “สองขั้ว” (bipolar) ที่โซเวียตเป็นอีกขั้วหนึ่งที่สำคัญ

 

วิกฤตการณ์ 2014

หากพิจารณาย้อนกลับไปถึงช่วงของการสิ้นสุดของสงครามเย็น และนำมาซึ่งการก่อตั้งให้ยูเครนเป็นรัฐเอกราชใหม่ อันเป็นผลจากการประกาศสถานะใหม่ของสหภาพโซเวียตเป็น “เครือจักรภพแห่งรัฐเอกราช” (Commonwealth of Independent States: CIS) ในปลายเดือนธันวาคม 1991 ซึ่งในการกำเนิดของรัฐรัสเซียเช่นนี้ ยูเครนไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือจักรภพแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในของยูเครนหลังเป็นเอกราชประสบปัญหาอย่างมาก จนนำไปสู่การลุกขึ้นของประชาชน หรือที่เรียกว่า “การปฏิวัติสีส้ม” (The Orange Revolution)

แต่ก็เกิดปัญหาทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อผู้นำรัฐบาลยูเครนในปี 2013 ต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย ในขณะที่คนในสังคมต้องการให้ยูเครนเข้าไปหายุโรปมากกว่า จนกลายเป็นการประท้วงของประชาชนใหญ่อีกครั้งในต้นปี 2014 และทำให้ผู้นำสายนิยมรัสเซียต้องออกจากยูเครน

ซึ่งในมุมมองของรัสเซียแล้ว การขับผู้นำสายรัสเซียครั้งนี้เป็นดัง “การรัฐประหาร” และรัสเซียตอบโต้ด้วยการผนวกไครเมีย จนเกิดเป็น “วิกฤตการณ์ไครเมีย 2014”

ในช่วงเวลาเดียวกัน รัสเซียสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในลูฮานสค์ (Luhansk) และโดเนตสค์ (Donetsk) เพื่อให้เกิดการแยกตัวออกเป็นรัฐเอกราช อันนำไปสู่การรบอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ดังกล่าว

การรบที่เกิดขึ้นจบลงความตกลงที่เจนีวาในกลางปี 2014 (The 2014 Geneva Pact) และตามมาด้วยข้อตกลงหยุดยิงที่มินสก์ในต้นปี 2015 (The Minsk Protocol)

ซึ่งผลที่ตามมาในทางการเมืองคือ ยูเครนมีความใกล้ชิดกับทางสหภาพยุโรปมากขึ้น อีกทั้งผู้นำยูเครนเตรียมที่จะพาประเทศเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

คงต้องยอมรับว่าการหันทิศทางของประเทศเข้าไปใกล้ชิดกับทางตะวันตกนั้น เป็นสิ่งที่สอดรับกับความรู้สึกของชาวยูเครนส่วนใหญ่ในยุคหลังได้รับเอกราช

คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะกลับไปทางตะวันออกด้วยการอยู่กับรัสเซียแบบเดิม โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว พวกเขาเชื่อว่าอนาคตของการพัฒนาประเทศอยู่กับยุโรปตะวันตกมากกว่ารัสเซีย

แต่การไปใกล้ชิดกับตะวันตก ย่อมเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนกับปัญหาความมั่นคงของรัสเซียในยุคหลังสงครามเย็นโดยตรง

อันนำไปสู่วาทกรรมสำคัญว่ารัสเซียจะดำรงอยู่ไม่ได้อย่างปลอดภัยโดยปราศจากยูเครน

หรืออาจกล่าวได้ว่าความมั่นคงของรัสเซียจะมีความเปราะบางอย่างมาก ถ้ายูเครนแยกตัวออกเป็นอิสระจากการควบคุมของรัสเซีย เพราะจะเป็นยูเครนที่อยู่กับตะวันตก ในขณะที่รัสเซียมองว่าพื้นที่นี้เป็นของตน

การสร้างวาทกรรมเช่นนี้ดูจะรองรับทัศนะแบบ “จักรวรรดินิยม” ที่ความมั่นคงของจักรวรรดิเกิดจากการขยายดินแดน

แต่การกระทำดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่รัฐควรจะยอมรับต่อความเป็นเอกราชของรัฐอื่น และไม่ละเมิดหลักของกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการใช้กำลังรุกราน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเส้นพรมแดนของรัฐที่อ่อนแอกว่า

ซึ่งการใช้อำนาจทางทหารของรัสเซียในการบุกยูเครนครั้งนี้ จึงเป็นเสมือน “สงครามของจักรวรรดิ” ที่รัฐมหาอำนาจใหญ่ต้องขยายพื้นที่ในการควบคุม ด้วยการสร้าง “รัฐในอารักขา”

 

สงคราม 2022

หลังจากวิกฤตไครเมีย 2014 แล้ว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งคือการสู้ที่ติดพันจาก “สงครามแบ่งแยกดินแดน” ที่ทางดอนบาส และอีกส่วนหนึ่งคือ การทำ “สงครามไซเบอร์” ที่แฮ็กเกอร์รัสเซียโจมตียูเครนอย่างต่อเนื่อง

อาการค้างคาของความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วรัสเซียจะตัดสินใจใช้กำลังจัดการกับปัญหายูเครนเมื่อใด

ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า การตัดสินใจทำสงครามของรัสเซียเป็นเพียงการรอ “เวลาที่เหมาะสม” เท่านั้น

ในที่สุดรัสเซียเริ่มเตรียมกำลังรบตามแนวชายแดนของยูเครนตั้งแต่ปี 2021 และในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 ประธานาธิบดีปูตินได้ตัดสินใจส่งกำลังรบเข้าสู่ภาคตะวันออกของยูเครนคือ ลูฮานสค์และโดเนตสค์ และประกาศยอมรับความเป็นเอกราชของรัฐทั้งสอง

โดยผู้นำรัสเซียประกาศว่ากำลังรบดังกล่าวเข้าไปเพื่อทำภารกิจ “รักษาสันติภาพ” ในพื้นที่นี้ และหลายฝ่ายเริ่มประเมินว่า รัสเซียกำลังเตรียมบุกยูเครน!

ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัสเซียได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการเปิดการรุกทางทหารเข้าสู่ดินแดนของยูเครน

ประธานาธิบดีปูตินเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (special military operation) และอธิบายว่าเพื่อปลดปล่อยยูเครนออกจาก “การสร้างรัฐนาซี” (Nazification) และเพื่อทำลาย “กระบวนการสร้างรัฐทหาร” (Demilitarization) แต่ดูจะเป็นคำอธิบายที่ไม่ได้รับการยอมรับ และหลายฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า สงครามของรัสเซียครั้งนี้คือ การรุกรานรัฐเอกราชเพื่อนบ้านที่เล็กกว่า

สงครามยูเครนครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย… เมื่อประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจเคลื่อนกำลังรบขนาดใหญ่ของรัสเซีย ที่มีตัวเลขประมาณการในเบื้องต้นราว 1 แสน 5 หมื่นนายของกำลังทางบกเข้าประชิดแนวชายแดนของยูเครน ตลอดรวมถึงสัญญาณจากการซ้อมรบใหญ่ในเบลารุส พร้อมทั้งการตระเตรียมกำลังของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสแล้ว

ข้อประเมินของรัฐบาลวอชิงตันคือ รัสเซียเตรียมเปิดการรุกทางทหารเข้าตียูเครนอย่างแน่นอน แม้ในระยะแรกอาจมีรัฐบาลบางประเทศประเมินว่าการเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียเป็น “การขู่” มากกว่าจะเป็น “สงคราม” จริง

และทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า สงครามยูเครนจะเป็นสงครามใหญ่ที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

 

หลักการปูติน

ในด้านหนึ่งสงครามอาจใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกอย่างต่อเนื่องในการเมืองรัสเซีย

อีกทั้งเราอาจจะต้องยอมรับว่าประธานาธิบดีปูตินเองก็เป็นตัวแทนของกระแสชาตินิยมรัสเซียที่เป็น “ประชานิยมปีกขวา” (right-wing populism)

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำรัสเซียพยายามสร้างวาทกรรมว่าตัวเขามี “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ในการฟื้นสถานะของรัสเซีย ที่ตกต่ำลงอย่างมากในยุคหลังสงครามเย็น

ด้วยบุคลิกแบบปูติน เขามุ่งมั่นในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ และสงครามคือเครื่องมือในการ “กอบกู้” สถานะในการเมืองโลก จนสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนถูกเรียกว่าเป็น “สงครามของปูติน”

เราอาจเรียกชุดวิธีคิดเช่นนี้ว่า “หลักการปูติน” (Putin Doctrine) ที่ประธานาธิบดีปูตินเชื่อในที่สุดแล้ว รัสเซียอาจต้องขยายดินแดนและอิทธิพลกลับเข้าสู่พื้นที่เดิมที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต พร้อมกับการฟื้นฟูสถานะของรัสเซียให้กลับสู่การเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ที่ต้องได้รับการยอมรับจากเวทีโลก และตะวันตกจะต้องไม่ละเลยต่อความเห็นของรัสเซียอีกด้วย โดยเฉพาะความกังวลด้านความมั่นคงที่เกิดจากการขยายอิทธิพลของฝ่ายตะวันตกในพื้นที่เก่าของรัสเซีย

ซึ่งประธานาธิบดีปูตินมองในมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ว่า พื้นที่ของรัฐเหล่านี้เป็น “เขตอิทธิพล” ของรัสเซีย และฝ่ายตะวันตกจะต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว

 

วิกฤตโลก!

เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว โลกตะวันตกออกมาตรการ “แซงก์ชั่น” เพื่อกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยประธานาธิบดีไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารในการห้ามทำการค้าและการลงทุนในรัสเซียและในดินแดนที่ถูกผนวก และมาตรการที่สำคัญที่สุดคือ การตัดเศรษฐกิจรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก คือการทำธุรกรรมผ่านระบบ “สวิฟต์” (SWIFT) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในด้านกลับคือ อาจทำให้รัสเซียต้องหันไปกระชับมิตรภาพและความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น และจีนจะกลายเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่สำคัญของรัสเซีย เพื่อแก้ปัญหาการถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลก

การแซงก์ชั่นเช่นนี้ต่างจากเมื่อครั้งเกิดวิกฤตจอร์เจียในปี 2008 และวิกฤตไครเมียในปี 2014 อย่างมาก เพราะเป็นมาตรการที่รุนแรงกว่า

แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่า การแซงก์ชั่นจะยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกดดันรัสเซียได้จริงเพียงใด

เพราะรัสเซียเองเคยถูกกดดันทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตกมาแล้ว และไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับรัสเซีย

แต่การแซงก์ชั่นนี้ส่วนหนึ่งติดขัดอยู่กับการที่ยุโรปยังคงต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศชะลอการก่อสร้างโครงการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (โครงการนอร์ดสตรีม 2)

ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปยังคงเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต และจะส่งผลโดยตรงต่อปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานของโลกด้วย

สุดท้ายนี้ เราคงพอคาดได้ว่าผลของสงครามที่เกิดขึ้นจะตามมาด้วยความผันผวนของเวทีโลก โลกจากนี้ไปอาจต้องเผชิญกับทั้งวิกฤตสงครามยูเครน วิกฤตโควิด และวิกฤตเศรษฐกิจคู่ขนานกันไป พร้อมวิกฤตพลังงานที่เกิดตามมา และยังผนวกเข้ากับวิกฤตของผู้อพยพครั้งใหญ่ของยุโรปอีกด้วย…

โลกหลัง 24 กุมภาพันธ์ ได้ก้าวสู่ “วิกฤตใหญ่” อีกครั้งนั่นเอง!