BRIC ‘ภูมิรัฐศาสตร์+ระเบียบโลกใหม่’ หลังสถานการณ์ Russia-Ukraine/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

BRIC ‘ภูมิรัฐศาสตร์+ระเบียบโลกใหม่’

หลังสถานการณ์ Russia-Ukraine

 

ความเดิมตอนที่แล้ว ผมทิ้งท้ายไว้ที่ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อันซับซ้อนในกรณีของ “รัสเซีย” “อินเดีย” และ “สหรัฐอเมริกา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภูมิรัฐศาสตร์-ระเบียบโลกใหม่” ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้า หลังสถานการณ์ “รัสเซีย” บุก “ยูเครน” จบลง

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า “อินเดีย” เป็นชาติพันธมิตรของ “สหรัฐอเมริกา” มาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน “รัสเซีย” ก็มีร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ “อินเดีย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการเกิดขึ้นของกลุ่ม BRIC

BRIC เป็นตัวย่อชื่อของ 4 ประเทศ ประกอบด้วย Brazil (B) Russia (R) India (I) และ China (C)

ก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ.2009 เรียกตัวเองว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด (Emerging Market) เป็นกลุ่มชาติที่มีกำลังซื้อสูงมาก

เนื่องจากจํานวนประชากร BRIC รวมกันแล้ว มีมากกว่าร้อยละ 43 ของประชากรโลก

ชื่อกลุ่ม BRIC นั้น ตั้งโดย Jim O’Neil หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจโลกจาก Goldman Sachs

โดย Jim O’Neil ระบุว่า ทันทีที่กลุ่ม BRIC ได้ก่อตัว ก็เสมือนสัญญาณการเกิดขึ้นของมหาอํานาจทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ แทนที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเดิมคือ G 7

ในเชิงกายภาพ Brazil+Russia+India+China มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก และมีสัดส่วน GDP ประมาณ 1 ใน 4 ของโลกเช่นกัน (ประมาณ 13.7 แสนล้านดอลลาร์อเมริกัน)

มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันถึง 4.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัดส่วนในการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) มากถึงร้อยละ 11 และมีสัดส่วนในการค้าโลก 17%

ในทางกายภาพแล้ว แน่นอนว่า BRIC ต่างจากสหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) ที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการโดยพื้นที่

เพราะการรวมตัวของ BRIC มีลักษณะของการเป็น “พันธมิตรต่างทวีป” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยน “อํานาจทางเศรษฐกิจ” ที่กําลังเติบโตให้เป็น “อํานาจทางการเมือง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร และพลังงานของโลก

 

เนื่องจากสมาชิก BRIC เป็นกลุ่มประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด และก็เป็นชาติที่บริโภคผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุดอีกด้วย

ดังนั้น ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารก็คือ การเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตการเกษตร เช่น ส่งเสริมการทำสวนครัว หรือ Family Farming ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น

ดังนั้น ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารก็คือ การเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตการเกษตรโดยเริ่มจากเกษตรสวนครัวนั่นเอง

นอกจากนี้ BRIC ยังเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตพลังงานมากที่สุด และเป็นชาติใช้พลังงานมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้น ความร่วมด้านพลังงานก็คือ การพัฒนาการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดนั่นเอง

นอกจากเรื่องเกษตรและพลังงานแล้ว BRIC ยังมีแผนการขยายความร่วมมือด้านการลงทุน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เวชภัณฑ์ และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับ South Africa หรือ “แอฟริกาใต้” เข้าเป็นสมาชิก BRIC ซึ่งเป็นการเติมตัว S (South Africa) ต่อท้าย เป็น BRICS

โดย “แอฟริกาใต้” มีบทบาทเป็น “ตัวเชื่อม” ที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง BRICS กับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าทวีปแอฟริกาถือเป็นตลาดโตเร็วที่สุดตลาดแห่งหนึ่งของโลกนั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ที่ BRICS มี SMEs เป็นจำนวนมาก ร่วมด้วยการจัดตั้ง “สภาธุรกิจ” หรือ BRICS Business Council เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจในกลุ่มความร่วมมือ กับกลุ่มมันสมอง หรือ BRICS Think Tank

นำไปสู่การก่อตั้งเวทีเจรจาธุรกิจ หรือ BRIC Business Forum เป้าหมายหลักคือ “เศรษฐกิจ BRIC ต้องเป็นหนึ่งเดียว” รวมถึงการจัดตั้ง Joint Economic Study เพื่อรวบรวม และสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจโลก

 

ในด้านการเงิน มีการสร้างความร่วมมือระหว่างธนาคารของประเทศสมาชิก ได้แก่ O Banco Nacional de Desenvolvimento Econ?mico e Social (BNDES) ของ “บราซิล” The State Corporation Bank for Development and Foreign Economic Affairs (Vnesheconombank) ของ “รัสเซีย” Export-Import Bank of India (Exim Bank) และ The China Development Bank (CDB) ของ “จีน”

จัดทำระบบ Cross Border Transactions เพื่ออำนวยความสะดวก และสนับสนุนการดำเนินการด้านการเงินในโครงการที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน อันนำไปสู่ “ธนาคารเพื่อการพัฒนา BRICS” หรือ BRICS Development Bank ในลักษณะเดียวกับ World Bank หรือ “ธนาคารโลก” และ “ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย” หรือ ADB (Asian Development Bank)

เพื่อสร้าง “ทางเลือก” ในระบบเศรษฐกิจโลก และการเงินโลก ลดการพึ่งพา “ธนาคารโลก” และ IMF ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “ชาติตะวันตก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สมาชิก BRICS ได้ลงนามข้อตกลงที่อนุญาตให้สถาบันการเงินในประเทศสมาชิกสามารถให้บริการสินเชื่อเป็นสกุลเงินของตนได้

ผ่านข้อตกลงพหุภาคี ว่าด้วย Agreement on Letter of Credit Confirmation Facility ซึ่งจะช่วยให้สมาชิก BRICS “ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์”

อันนำไปสู่การลดต้นทุนการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลก

ด้วยการจัดตั้งกองทุนเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ Contingency Reserve Arrangement (CRA) มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

พร้อมกับออกตราสารอนุพันธุ์ BRICS Benchmark Equity Index เปิดให้นักลงทุนจากประเทศสมาชิกหนึ่ง สามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอีกประเทศสมาชิกหนึ่งได้ โดยปราศจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

รวมถึงความพยายามในการเปลี่ยน “สกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ” ให้เป็น “เงินสกุล BRICS” แทน “สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ”

เป็นสกุลเงินเพิ่มเติมในตะกร้าเงินเพื่อการคำนวณสกุลเงิน SDR (Special Drawing Right) หรือสกุลเงินทางบัญชีของ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ IMF

ซึ่งในขณะนี้ “ตะกร้าเงิน SDR” ประกอบด้วย เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน

 

จะเห็นได้ว่า ประเด็นหลักของ BRICS ก็คือ ลดการพึ่งพา “สกุลเงินดอลลาร์” ลดการพึ่งพา “ธนาคารโลก” และ IMF ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “ชาติตะวันตก”

และแม้จะยังไม่มีการประกาศ “สกุลเงิน BRICS” อย่างเป็นทางการ แต่เชื่อกันว่า “รัสเซีย” ในฐานะพี่ใหญ่ BRICS ได้เล็ง “สกุลเงินหยวน” ของ “จีน” ในการคานอำนาจ “สกุลเงินดอลลาร์” ของ BRICS

ภายใต้ “ภูมิรัฐศาสตร์-ระเบียบโลกใหม่” หลังสถานการณ์ Russia-Ukraine

เกี่ยวกับ “ระเบียบโลกใหม่” นอกจากจะลดการพึ่งพา “สกุลเงินดอลลาร์” ลดการพึ่งพา “ธนาคารโลก” และ IMF การมีพันธมิตรแบบ “ศัตรูร่วม” ก็กำลังได้รับการจับตามอง

ดังจะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ BRICS เคยแสดงจุดยืนบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในประเด็นความตึงเครียดระหว่าง “อิหร่าน” กับ “ชาติตะวันตก”

ซึ่ง BRICS ให้การยอมรับสิทธิของ “อิหร่าน” ในการดำเนินโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ และส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการเจรจาทางการทูต เพื่อยุติความขัดแย้งไม่ให้ลุกลาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองใน “ซีเรีย” ที่ BRICS สนับสนุนการสร้างสันติภาพใน “ซีเรีย” ผ่านการเจรจาแบบสันติวิธี โดยให้ “ซีเรีย” เป็นแกนนำในกระบวนการดังกล่าว

 

ในส่วนของ “ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่” ก็มีความสำคัญไม่แพ้ “ระเบียบโลกใหม่”

เพราะการเกิดขึ้นของ BRICS ตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 ที่มีความเคลื่อนไหว และพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น

เสมือนการปูทางไปสู่กำเนิดใหม่ของ “ภูมิรัฐศาสตร์โลก” ที่ไม่ใช่การกำหนด “กลุ่มประเทศ” โดยใช้พื้นที่ทางกายภาพ หรือเส้นพรมแดนแบบเดิม เช่น EU หรือ ASEAN

แต่เป็น “ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่” ที่ประเทศซึ่งอยู่ต่างทวีปกัน หรืออยู่ไกลกันมาก แต่สามารถจับมือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เข้มแข็งได้

จึงน่าจับตามอง BRIC หลังสถานการณ์ Russia-Ukraine