รัฐกัดฟันอุ้มค่าครองชีพคนไทย เว้นภาษีดีเซลพยุงค่าไฟ สู้ไหวแค่สิ้นเดือนมีนาคม!!/บทความพิเศษ ศัลยาประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยาประชาชาติ

 

รัฐกัดฟันอุ้มค่าครองชีพคนไทย

เว้นภาษีดีเซลพยุงค่าไฟ

สู้ไหวแค่สิ้นเดือนมีนาคม!!

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกส่อเค้าพุ่งทะยานมาตั้งแต่ต้นปี และยิ่งมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่บานปลาย กระทั่งมีการคว่ำบาตรรัสเซีย นั่นยิ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก โดยราคาน้ำมันดิบทะยานสูงสุดในรอบ 14 ปีเลยทีเดียว

เมื่อราคาน้ำมัน ราคาพลังงานแพงขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในหลายประเทศ รวมถึงประชาชนคนไทย

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับประเด็นความสอดคล้องกันระหว่างรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน พบว่า มีครัวเรือนจำนวน 33.8% ที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายรายเดือน และในสัดส่วนนี้ครัวเรือนส่วนมาก หรือราว 35.2% ต้องการรายได้เพิ่มอีกประมาณ 10-20% เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย (ยังไม่เหลือเก็บออม)

โดยผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนความเปราะบางของครัวเรือนกว่า 70% ของการสำรวจว่าไม่มีเงินเก็บออม (ครัวเรือนที่สำรวจมีรายได้ต่อเดือนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ไม่เกิน 30,000 บาท)

ขณะที่ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “เศรษฐกิจไทยเปราะบางแค่ไหนเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น” โดยชี้ว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูงไม่ต่างจากในอดีต

ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ทำให้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ไทยจำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนมากขึ้น เพื่อนำเข้าน้ำมันและส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มเติมได้มาก

“ทุกๆ 10% ของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลเพิ่มเติมประมาณ 0.3-0.5% ของ GDP หรือเทียบเท่ากับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนถึง 1-1.6 ล้านคน”

 

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันเป็นเพียงผลกระทบในขั้นแรก แต่ยังมีโอกาสที่ราคาสินค้าอื่นๆ จะสูงขึ้นตามมาได้อีก ซึ่งเกิดจาก 2 ประเด็น คือ ราคาน้ำมันทำให้ภาระทางการคลังสูงขึ้น โดยในกรณีฐานที่ราคาน้ำมันโลกอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภาครัฐอาจต้องใช้เงินสูงถึงเดือนละกว่า 2 หมื่นล้านบาท (หรือกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 1.8% ของ GDP) และทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันขาดดุลมากขึ้น

นอกจากนี้ ราคาค่าไฟฟ้าและราคาสินค้าอื่นๆ ที่เป็นสินค้าควบคุม อาจมีโอกาสปรับสูงขึ้นตามต้นทุน แม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมราคาบางส่วน ราคาอาหารจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

KKP Research ระบุว่า ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานกำลังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีความจำเป็นที่รัฐบาลอาจเข้าดูแลและบริหารจัดการ

แต่ด้วยต้นทุนการคลังของการอุดหนุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังกลายเป็นความท้าทายต่อฐานะทางการคลังมากขึ้น

และอาจจำเป็นต้องกลับมาทบทวนการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนใหม่อีกครั้ง ควรเน้นมาตรการที่ไม่เป็นการบิดเบือนตลาด ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนสินค้า และการกักตุนสินค้า

ล่าสุด สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 13 มีนาคม 2565 ติดลบรวม 29,336 ล้านบาท โดยบัญชีน้ำมันเกิดภาวะเงินไหลออกเป็นครั้งแรก ติดลบ 1,243 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 28,093 ล้านบาท

ซึ่งใกล้เต็มกรอบวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) อนุมัติให้ใช้ชดเชย LPG ได้สูงสุดแค่ 29,000 ล้านบาทแล้ว

 

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งจะอนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล บี 0 และน้ำมันเตา ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหลือเป็นศูนย์ โดยให้มีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าลงราว 1-1.50 บาทต่อหน่วย

นอกจากการพยายามลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า เพื่อกดให้ค่าไฟไม่แพงขึ้นแล้ว ที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และอื่นๆ เร่งหาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่าย ดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ระบุว่า รัฐพยายามช่วยเหลือค่าครองชีพด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้นทุกชนิด ราคาขายปลีกในประเทศไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอย่างเบนซินและดีเซล ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งรัฐก็ยังคงตรึงราคาดีเซลต่อไป

โดยประเมินไว้ว่า หากสถานการณ์น้ำมัน 115 เหรียญ/บาร์เรล จะพยุงไปได้ถึงเดือนพฤษภาคมนี้ แต่หากราคาน้ำมันสูงขึ้นมากกว่านี้ จะมาพิจารณามาตรการดูแลเพิ่มเติมอีกที

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวด้วยว่า ก๊าซ LPG เตรียมปรับราคาขึ้นอีก 15 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) จากราคา 318 บาท เป็น 333 บาทต่อถัง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดในงวดเดือนพฤษภาคม 2565 แต่จะไม่ให้เกินกรอบ 16 สตางค์ สำหรับผู้ที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย หรือ 1,200 บาท จะยังคงใช้อัตราค่าไฟเดิม ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 21 ล้านคัน และกลุ่มผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 13.5 ล้านคน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการช่วยเหลือก๊าซหุงต้มที่ปัจจุบันได้รับเงินอุดหนุนค่าซื้อก๊าซ 45 บาทต่อครัวเรือนต่อ 3 เดือน จะพิจารณาเพิ่มเป็น 100 บาทต่อครัวเรือนต่อ 3 เดือน

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้อยู่

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือปัญหาราคาพลังงาน และการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอีกครั้ง โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานหาช่องทางและรูปแบบในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของภาคแรงงาน ลูกจ้าง และการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้หาแนวทางช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด ด้วยรูปแบบ และวิธีการที่เหมาะสม จากงบประมาณที่มีจำกัด โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นช่วยเหลือทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และระยะยาวช่วยเหลือให้การเติบโตอย่างยั่งยืน

“มาตรการช่วยเหลือจะประกาศอย่างเป็นทางการอย่างเร่งด่วนตามการสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารืออย่างรอบคอบรัดกุม” นายธนกรกล่าว

ต้องติดตามว่า รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนอย่างไร ในภาวะที่ฐานะการคลังยังมีข้อจำกัด แต่ปัญหาราคาพลังงานยังคงยืดเยื้อเช่นนี้