จากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ถึง 22 พ.ค. 2565 เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สงครามตัวแทน 2 ขั้วยังเข้ม?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

ถึง 22 พ.ค. 2565 เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

สงครามตัวแทน 2 ขั้วยังเข้ม?

 

หลังจากหลายฝ่ายกดดันมานานนับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ได้กำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯ กทม. ให้วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเข้าคูหา ควบการเลือกตั้งตำแหน่งนายกเมืองพัทยาพร้อมไปด้วย

หากนับตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งล่าสุด คนกรุงเทพฯ ไม่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาแล้วเกือบ 10 ปี เพราะต้องย้อนกลับไปต้นเดือนมีนาคม 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ก่อนถูกปลดจากคำสั่งมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาเป็นผู้ว่าฯ ตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน

ต้องไม่ลืมว่าสาเหตุสำคัญของการแช่แข็งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จนทำให้คน กทม.ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเองเกือบ 10 ปี ก็คือการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้โครงสร้างการเมืองไทยไม่เป็นไปตามปกติ ดังนั้นแล้วการเมืองกรุงเทพมหานคร กับการเมืองของประเทศไทยนั้นไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ในการวิเคราะห์

หากดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งก่อน จัดในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ชนะคือผู้สมัครที่มาจากพรรคฝ่ายค้าน ต่อมาไทยถูกคณะรัฐประหารยึดอำนาจมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในทุกระดับ แต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 หากเจาะจงเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร เราจะเห็นว่าเสียงของพรรคฝ่ายค้าน คือพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยรวมกัน สามารถเอาชนะพรรครัฐบาลอย่างถล่มทลาย

จึงน่าจับตาว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ ผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร เนื่องจากผู้นำรัฐบาลปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มก้อนทางอำนาจเดิมซึ่งดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันกับมือ จะถูกท้าทายเหมือนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 หรือไม่

 

วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็น่าสนใจ เพราะถูกกำหนดขึ้นมาในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่โดยปกติแล้ววันนี้ของทุกปีจะเป็นวันรำลึกหรือจัดกิจกรรมทางการเมืองในการต่อต้านการรัฐประหาร มีการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ก่อการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

นัยยะหนึ่งนั้น การจัดการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ วันนี้ ก็เท่ากับเป็นการหยุด หรือลดการเคลื่อนไหวในการต่อต้านรัฐบาล แบบที่คณะราษฎร กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม มักจะจัดชุมนุม ถือเป็นการเปลี่ยนวันลงถนน ให้เป็นวันเข้าคูหาเลือกตั้ง ลดภาพลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลลงได้ 1 วัน

และอีกนัยยะหนึ่ง สำหรับฝ่ายต่อต้านก็มองว่าการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะได้คิดบัญชีทางการเมืองผ่านคูหาเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งซ่อมกรุงเทพมหานครเขตหลักสี่ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำนัยยะทางการเมืองนี้ดี

เจาะไปที่ตัวละครของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ สะท้อนภาพของสงครามตัวแทน 2 ขั้วความคิดที่ต่อสู้กันเหมือนเดิม แต่เฉดสีของแต่ละฝ่ายเปลี่ยนไป หรือแม้ความคิดทางการเมืองหลักๆ จะตรงกัน แต่ก็มีลักษณะของความเข้มข้นและวิธีปฏิบัติทางการเมืองที่ต่างกัน

 

ปัจจุบันเราเห็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ประกาศตัวชัดเจนแล้วหลายคน เริ่มตั้งแต่รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. และเป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ที่เปิดตัวมาในปี 2562 ตามด้วยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาสมัครในนามส่วนตัว แต่เป็นที่รู้กันว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยอย่างไม่เป็นทางการ

ฟากพรรคประชาธิปัตย์ส่งสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดีคนดัง นักพูดปลุกใจ ที่มาพร้อมกับ Mega project มากมาย ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ประกาศส่งวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นักการเมืองฝีปากกล้า หัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคในสภา มาร่วมลงชิงเก้าอี้ ด้วยสโลแกนท้าชนเพื่อคนกรุง

ว่าที่ผู้สมัคร ที่มองกันว่าถูกส่งมาจากฝั่งของรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจปัจจุบันสนับสนุนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง

เริ่มจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่ตั้งหน้าตั้งตาว่าจะลงสมัครจริงจัง ลงพื้นที่ก่อนใคร แต่สุดท้ายกลับถอนตัว ทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามของพรรค ด้วยว่าที่ผู้สมัครที่ใกล้ชิดกับฝั่งรัฐบาล เป็นตัวแทนในการลงสนามชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทมครั้งนี้ มี 2 คนคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ และสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน

ทั้งสองต่างประกาศลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ

 

หากจะจัดประเภทผู้สมัครโดยยึดจากประวัติทางอุดมการณ์ ทิศทางนโยบาย และเส้นทางทางการเมือง เราสามารถแยกได้คร่าวๆ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มขั้วอำนาจเดิม หรือกลุ่มขั้วอำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน

2. กลุ่มขั้วอำนาจฝ่ายค้าน หรือฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน

และ 3. กลุ่มอิสระ ที่ไม่ได้มีเส้นทางทางอำนาจอิงกับพวกการเมืองใดแต่มีเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง

กลุ่มขั้วอำนาจเดิม ก็คือกลุ่มของผู้สมัครซึ่งที่ไม่ได้คัดค้าน แต่มีแนวทาง นโยบายไปในทางสอดคล้องกับรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กลุ่มนี้ประกอบด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายสกลธี ภัททิยกุล และอาจรวมไปถึงสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

โดย พล.ต.อ.อัศวินเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ 3 ป. เคลื่อนไหวผ่านกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ เปิดตัวส่งผู้สมัครชิงสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. มีความได้เปรียบ จุดแข็ง จากการบริหารงาน กทม.มาเป็นเวลายาวนานหลายปี เข้าใจโครงสร้างการบริหาร วางเรื่องของพื้นที่และกำลังคนในเขตต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี มีโอกาสได้ใช้งบประมาณกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน

เช่นเดียวกับสกลธี ภัททิยกุล ก็เคยเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนจะลาออกเพื่อมาลงสมัครชิงผู้ว่าฯ มีจุดแข็งคือรู้งาน ดูโครงสร้างการบริหาร และในช่วงท้ายก็พยายามเร่งสร้างภาพลักษณ์ ผลงาน มีความพยายามสร้างและคิดนโยบายเพื่อตอบสนองต่อคนรุ่นใหม่มากขึ้น ในมิติทางการเมือง ก็เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป.เช่นกัน

แต่มากกว่านั้นคือได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม กปปส.เดิม ล่าสุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถึงกับอัดคลิปประกาศสนับสนุนสกลธี ยืนยันว่าคนนี้ไว้ใจได้และขอให้คนกรุงเทพฯ เลือก

สุดท้ายคือสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่พยายามโชว์นโยบายรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ Mega Project หลายรายการ ได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คาดหวังจะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในกรุงเทพฯ

 

มาดูกันที่กลุ่มขั้วอำนาจฝ่ายค้าน เราจะพบว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดตัวก่อนใคร ประกาศลงในนามอิสระ ไม่ลงในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งในช่วงแรกก็สร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรค แต่ภายหลังพรรคเพื่อไทยประกาศจุดยืนไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค และจะสนับสนุนผู้สมัครจากฝั่งประชาธิปไตย นัยยะหนึ่ง ก็คือการสนับสนุนนายชัชชาติอย่างไม่เป็นทางการนั้นเอง

นายชัชชาติมีจุดเด่นจากการที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารจากรัฐบาลปัจจุบัน และเคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมานายชัชชาติจะเคยเป็นรัฐมนตรี แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง จนถึงรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อย ช่วงหนึ่งเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะจู่ๆ มีชื่อไปนั่งเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ ก่อนถูกวิพากษ์วิจารณ์จนวันต่อมาได้ขอลาออก ก่อนที่จะเดินหน้าทำการเมือง กทม.และประกาศว่าหากไม่ได้รับเลือกตั้งก็จะไม่เล่นการเมืองอีกแล้ว

ขั้วฝ่ายค้านอีกคนหนึ่ง ที่เพิ่งประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ในนามพรรคก้าวไกล คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหมู่ทะลวงฟันของพรรค ส.ส.ปากกล้า ที่มีภาพลักษณ์การท้าชนกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประกาศจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ถ่วงดุลกับรัฐบาลปัจจุบัน ถ่วงดุลกับการบริหารราชการส่วนกลางคือกระทรวงมหาดไทย

วิโรจน์เสนอภาพลักษณ์ท้าชนในทางการเมืองมากกว่าหากเทียบกับว่าที่ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน

 

ส่วนกลุ่มที่สาม คือ รสนา โตสิตระกูล ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มขั้วอำนาจใดชัดเจน เคลื่อนไหวภาคประชาสังคมมายาวนาน ชูจุดเด่นเรื่องปราบทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ในทางการเมือง รสนาก็เคยเป็นอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แน่นอนว่า ผู้สมัครหลายคนก็ไม่ได้ประกาศชัดว่าทุกคนอยู่ฝ่ายไหน ขั้วไหนในทางการเมือง แต่พัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมาล้วนเกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ระหว่างขั้วเอาทหาร ไม่เอาทหาร เอาการยึดอำนาจ ไม่เอาการยึดอำนาจ ซึ่งพัฒนาการของการเมืองไทยที่ผ่านมา ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ ล้วนเข้าไปเกี่ยวข้อง จนถึงเข้าไปเป็นส่วนในการเปลี่ยนแปลงด้วย

ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ จึงยังสะท้อนความเข้มข้นของการต่อสู้ทางการเมืองของนักการเมืองสองขั้ว ที่สำคัญ ต้องจับตาว่า เวทีนี้จะเป็นเวทีแห่งการแสดงออกถึงความต้องการทางการเมืองของชาวกรุงเทพฯ ที่จะบอกว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับโจทย์การเมืองระดับชาติอีกด้วย