บลูเฮาส์ใต้ร่มธง ยุน ซอก ยอล สัญญาณร้อนบนคาบสมุทรเกาหลี/บทความต่างประเทศ

South Korea's new president-elect Yoon Suk Yeol (C) of the main opposition People Power Party gestures to his supporters as he is congratulated outside the party headquarters in Seoul on March 10, 2022. (Photo by Jung Yeon-je / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

บลูเฮาส์ใต้ร่มธง ยุน ซอก ยอล

สัญญาณร้อนบนคาบสมุทรเกาหลี

 

ยุน ซอก ยอล ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน (พีพีพี) วัย 61 สร้างประวัติศาสตร์ให้กับการเมืองเกาหลีใต้ จากการเฉือนเอาชนะอี มยอง แจ คู่แข่งสำคัญจากพรรครัฐบาล ไปอย่างเฉียดฉิวที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยคะแนนเสียงทิ้งกันไม่ถึง 1%

ขึ้นแท่นรอที่จะเข้าไปนั่งกุมบังเหียนบัญชาการใน “ชองวาแด” ทำเนียบสีน้ำเงิน (บลูเฮาส์) อันเป็นสถานที่ทำงานและทำเนียบที่พักทางการของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในฐานะผู้นำบริหารประเทศคนใหม่ แทนที่ประธานาธิบดีมุน แช อิน ซึ่งกำลังจะหมดวาระลงอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง

ชัยชนะที่คว้ามาครองได้อย่างฉิวเฉียดของยุน ซอก ยอล อดีตอัยการสูงสุดผู้คร่ำหวอดอยู่แวดวงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างโชกโชน แต่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ถูกปรามาสว่ายังอ่อนหัด ไม่เพียงส่อนัยให้เห็นถึงความแตกแยกในสังคมเกาหลีที่มีอยู่อย่างมากเท่านั้น

แต่ยังกำลังเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า คาบสมุทรเกาหลีอาจจะยิ่งร้อนระอุไปมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ จากปัญหาพิพาทขัดแย้งที่สะสมมานานกับคู่ปรับตลอดกาลอย่างเกาหลีเหนือ

 

ตัวแปรชี้วัดสัญญาณความร้อนระอุที่ว่า สะท้อนออกมาจากแนวนโยบายที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงของยุน ซอก ยอล โดยเฉพาะที่มีต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาประกาศกร้าวว่าจะพยายามฟื้นการเจรจากับเกาหลีเหนืออีกครั้ง และจะจัดทำแผนโรดแม็ปที่เป็นประโยชน์สำหรับเกาหลีเหนือ แต่จะมีขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอีกฝ่ายจะต้องทำอะไรที่เป็นรูปธรรมในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

ยุน ซอก ยอล ยังเรียกร้องให้ส่งเสริมการป้องปรามทางทหาร ที่รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นกับสหรัฐอเมริกา พันธมิตรด้านความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งยังเน้นย้ำว่าการโจมตีเชิงป้องกันของเกาหลีใต้ยังอาจเป็นวิธีเดียวที่จะตอบโต้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เทคโนโลยีอาวุธใหม่ของเกาหลีเหนือได้หากอีกฝ่ายดูมีท่าทีพร้อมจะลงมือโจมตีเกาหลีใต้

ในส่วนนโยบายต่างประเทศ ยุน ซอก ยอล ประกาศชัดว่าต้องการจะซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

แม้จะเสี่ยงทำให้จีนไม่พอใจและอาจเผชิญการตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากจีนได้ก็ตาม

 

ทิศทางนโยบายสายเหยี่ยวในเรื่องนี้ของยุน ซอก ยอล แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับมุน แช อิน ผู้นำสายพิราบที่มุ่งดำเนินนโยบายการมีส่วนร่วมกับเกาหลีเหนือมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในระหว่างดำรงตำแหน่ง ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง

เพราะอย่างน้อยการดำเนินนโยบายดังกล่าว สามารถทำให้เกิดการพบปะสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีมุน แช อิน กับผู้นำคิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือ ในเดือนเมษายนปี 2018 และยังปูทางไปสู่การพบปะสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือ คิม จอง อึน และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันที่ประเทศสิงคโปร์

โดยภาพประวัติศาสตร์การพบปะกันระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีมุน แช อิน ผู้นำเกาหลีใต้ ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง!

และเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกไว้อีกครั้งกับการย่างก้าวเข้าไปเหยียบดินแดนเกาหลีเหนือของผู้นำสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบปะสุดยอดเป็นครั้งที่ 3 กับผู้นำคิม จอง อึน บริเวณเขตปลอดทหารที่ขั้นกลางระหว่างสองเกาหลีในปี 2019 ในการเจรจาเพื่อหาทางคลี่คลายข้อพิพาทขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

ก่อนที่การเจรจาเสริมสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีต้องชะงักงันไป หลังจากความพยายามเกลี้ยกล่อมให้สหรัฐอเมริกาผ่อนคลายการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือไม่ประสบผล

 

การก้าวขึ้นมากุมทำเนียบบลูเฮาส์ของยุน ซอก ยอล จึงอาจจะเป็นการตอกตะปูปิดตายการดำเนินนโยบายพัวพันมีส่วนร่วมกับเกาหลีเหนือของเกาหลีใต้ลงได้ ที่อาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างสองเกาหลี ตลอดจนชาติพันธมิตรของแต่ละฝ่ายในภูมิภาคนี้ยิ่งตึงเครียดรุนแรงหนักขึ้นไปอีก

แนวโน้มความเป็นไปได้ยิ่งมีมากขึ้นจากท่าทีของทางฝั่งเปียงยาง ที่เพียงแค่เริ่มต้นปีนี้มาไม่ทันไร เราก็ได้เห็นเกาหลีเหนือยิงทดสอบอาวุธเป็นว่าเล่นไปแล้วร่วมสิบครั้ง ที่รวมถึงการทดสอบขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) และขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์)

ในความเห็นของนักวิเคราะห์ท่านหนึ่งมองว่าภายใต้รัฐบาลยุน ซอก ยอล เราอาจจะได้เห็นการรีเซ็ตความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสองเกาหลี โดยแทนที่จะมีการเจรจาและการมีส่วนร่วมปฏิสัมพันธ์กัน แต่ยุน ซอก ยอล จะดำเนินท่าทีแข็งกร้าว และถอยห่างออกจากนโยบายการมุ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมกับเกาหลีเหนือมาเป็นอันดับแรกของมุน แช อิน

ขณะที่ศาสตราจารย์พัค วอน กอน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา กล่าวว่า การแสดงความรักเพียงฝ่ายเดียวของมุน แช อิน กำลังจะสิ้นสุดลง โดยยุน ซอก ยอล จะยึดเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นวาระสำคัญ ตรงกันข้ามกับการดำเนินแนวทางทางการทูตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของมุน แช อิน

ซึ่งศาสตราจารย์พัคฟันธงว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เกาหลีเหนือจะหันหลังให้กับประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ผู้นี้