ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล
นายดาต้า
‘ความกลัว’ ที่ลดลง
โครงสร้างสังคมมนุษย์ที่สร้างกันมาจนถึงวันนี้ ชีวิตจะดำรงอยู่ได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน
เป็นวิถีชีวิตที่นับวันต้องอาศัยกันและกัน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ
แม้ชีวิตมนุษย์จะเหมือนต่างคนต่างมีชีวิตของตัวเอง แต่การดำรงอยู่กับต้องเกาะเกี่ยวพึ่งพิงกันและกัน ต่างคนต่างมีความจำเป็นต้องอาศัยชีวิตอื่น เพื่อให้ชีวิตของตัวยังอยู่ได้
ว่าไปแล้วหากจะเรียกว่าที่สุดเป็นชีวิตเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อวันหนึ่งเกิด “โควิด” ระบาด อันทำให้การสัมพันธ์ระหว่างชีวิตเป็นปัญหาขึ้น เพราะเป็นเหตุของการแพร่กระจายเชื้อ
ผลกระทบต่อโครงสร้างชีวิตจึงใหญ่หลวง ระดับที่ต้องเลือกเอาว่าจะทอดทิ้งโครงสร้างสังคมเดิมที่เคยชินมานาน หรือยอมที่จะอยู่ในโครงสร้างนั้นโดยเสี่ยงกับความตาย
การหาทางที่จะทำให้เกิดความลงตัวระหว่างโครงสร้างชีวิตที่เคยชินมายาวนาน กับการอยู่รอดปลอดภัยจากเชื้อโรคร้ายที่ระบาดจากวิถีชีวิตตามโครงสร้างเดิมจึงเกิดขึ้น
ชั่วโมงนี้ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเรา เลือกที่จะเสี่ยงกับโรคร้าย เพื่อรักษาโครงสร้างสังคมแบบเดิมไว้ ยอมที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบสัมพันธ์กันและกัน โดยลดค่าความน่าสะพึงกลัวของโควิด ด้วยการบอกกล่าวกันว่าความรุนแรงของโรคลดน้อยลงแล้ว
ฉีดวัคซีนกันมากขึ้น จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง
ขณะที่ความเป็นจริงก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นสูงมาก
แต่ความกลัวโควิดมีน้อยลง
“นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “โอมิคอรน น่ากลัวหรือไม่”
เมื่อเทียบผลจากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กับมิถุนายน 2564
ที่ตอบว่าค่อนข้างมีความกลัว ลดลงจากร้อยละ 37.96 เหลือร้อยละ 34.54, ที่ไม่มีความกลัวเลย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.95 เป็นร้อยละ 22.20, ที่มีความกลัวมาก ลดลงจากร้อยละ 32.09 เหลือร้อยละ 21.82 และที่ไม่ค่อยมีความกลัว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.00 เป็นร้อยละ 21.44
สรุปรวมความว่าถึงวันนี้ ความกลัวที่จะติดโควิดลดลงมากมาย
สะท้อนว่าที่สุดแล้วมนุษย์เราปรารถนาจะอยู่กับวิถีชีวิตที่เคยชินมากกว่า เราเลือกที่จะอยู่อย่างมีสัมพันธ์ต่อกันและกันอันเป็นโครงสร้างวิถีชีวิตแบบเดิม
ทั้งที่ในความเป็นจริง ในวงการแพทย์ให้ให้ข้อมูลมาตลอดว่า แม้โอมิคอรนที่ระบาดในช่วงที่คนจำนวนมากฉีดวัคซีนป้องกันกันแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้แม้จะยังติดเชื้อและป่วย แต่ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมีน้อยลง
แต่ที่ “โอมิครอน” จะทำให้เกิดขึ้นคือที่เรียกว่า “ลองโควิด” อันหมายถึงอาการที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายหลังป่วย ซึ่งว่าไปค่อนข้างหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อย
และบางทีอาการหลังป่วยนี้ อาจจะมีอันตรายที่ตามมาหนักหนาไม่น้อย
จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่า เมื่อความกลัวลดลง ขณะที่อาการที่ตามมาเป็นผลเช่นนี้
บางทีหากปล่อยให้ความกลัวลดลง เพื่อกลับคืนอยู่ชีวิตปกติ
น่าจะเป็นเรื่องที่ควรจะต้องพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความรู้ที่ทั่วถึงมากกว่านี้