จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ “ผมเป็นคนธรรมดาที่มาเป็น ส.ส.”

ก่อนจะมาเป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” เป็นใครมาจากไหน?

หนุ่มบางปะกงวัยย่าง 34 ปี ผู้จบปริญญาตรีด้านนิเทศศิลป์จากมหาวิทยาลัยบูรพา เล่าว่า เขาเป็นคนทำงานหลายอาชีพ ตั้งแต่รับเหมาก่อสร้าง มีโรงงานผลิตกล่องกระดาษ ทำเครื่องมือช่างแนว DIY ขาย แล้วยังรับรีไซเคิลวัสดุเก่าๆ เช่น พลาสติก ทองแดง และอะลูมิเนียม

ส่วนในยามว่าง ชายหนุ่มผู้มีโลกส่วนตัวสูงและไม่ชอบใช้ชีวิตตามพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน จะชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน

สมัยเด็กๆ จิรัฏฐ์ไม่เคยฝันอยากจะเป็น “นักการเมือง” ตรงกันข้าม เขาอยากรับราชการตำรวจตามรอยพ่อ ผู้เป็นตำรวจชั้นประทวน

“จุดเปลี่ยน” พลันบังเกิดขึ้น เมื่อชายหนุ่มเปิดไปเจอคลิปยูทูบที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กำลังบรรยายถึงการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

จิรัฏฐ์รู้สึกประหลาดใจที่นักธุรกิจผู้ผันตนมาทำงานการเมืองในคลิปนั้นพูดถึงสิ่งที่เขาเคยครุ่นคิดอยู่คนเดียวมาเนิ่นนาน เขาจึงไม่รอช้าที่จะสมัครเข้าไปช่วยงานพรรคการเมืองหน้าใหม่ของธนาธร

จุดประสงค์แรกของจิรัฏฐ์คือการช่วยทำงาน “แบ๊กออฟฟิศ” ให้กับสำนักงานพรรคอนาคตใหม่ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่พอใกล้วันรับสมัครเลือกตั้ง ทางพรรคกลับยังหาคนลงสมัคร ส.ส.เขต 4 ไม่ได้ ทีมงานเบื้องหลังอย่างเขาจึงต้องตัดสินใจพลิกบทบาทไปอยู่เบื้องหน้า โดยมิได้คาดหวังว่าตนเองจะได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขต

ทว่า หวังจะช่วยกอบโกยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคการเมืองต้นสังกัดมากกว่า

ปัจจุบัน จิรัฏฐ์เข้ามาทำงานในสภาผู้แทนราษฎรเป็นเวลาสามปีแล้ว

ผู้แทนฯ บางปะกง-บ้านโพธ์-แปลงยาว บอกว่าเรื่องดีที่สุดในการได้มาเป็น ส.ส. ก็คือการมีโอกาส “พูด”

“ถ้าย้อนไปเมื่อก่อนในอดีต มันมีหลายๆ เรื่องที่ผมไม่สามารถพูดได้ หรือว่าไม่สามารถที่จะแสดงออกได้ บางอย่างพูดไปก็กลายเป็นคนขวางโลก พูดไปก็กลายเป็นเด็กดื้อ มันจะมีเยอะมากเลยในสังคมไทย

“พอมาถึงวันนี้ ไม่น่าเชื่อว่าพอได้เป็น ส.ส. ผมได้พูดเรื่องแบบนี้ทุกวันเลย เรื่องที่อึดอัดเก็บกดมาตั้งนาน แล้วไม่น่าเชื่อนะครับได้พูดในสภาด้วย แล้วก็ยังมีคนสนับสนุนด้วย ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นเมื่อก่อน ถ้าพูดไปโดนด่า โดนสังคมรุมประณามแล้ว เรื่องอะไรแบบนี้มันไม่สมควรจะพูด มันเป็นธรรมเนียมนะ มันเป็นประเพณีนะ

“ทุกวันนี้ ผมเลยคิดว่าน่าจะเป็นอาชีพที่ผมทำแล้วมีความสุขที่สุดตั้งแต่เคยทำมาเลย การได้เป็น ส.ส.เนี่ย”

ที่รัฐสภา จิรัฏฐ์ถูกจับตาในฐานะ “ดาวสภารุ่นใหม่” ผู้มีลีลาการอภิปรายเคร่งเครียดและยียวนไปพร้อมๆ กัน

ไม่ว่าจะอภิปรายเรื่องผลกระทบของโครงการอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) การอภิปรายเรื่องงบประมาณหรือกองทัพ การปะทะคารมกับ ส.ว. มาถึงการตั้งคำถามต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ในการอภิปรายทั่วไปตาม ม.152 หนล่าสุด

แก่นแกนหลักในทุกๆ การอภิปรายของ ส.ส.จิรัฏฐ์ ก็คือปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม-ความอยุติธรรมของประเทศนี้

 

จิรัฏฐ์พูดกับคนอื่นๆ และตนเองว่าเขาคือ “คนธรรมดาที่มาเป็น ส.ส.”

“ถ้าจะให้นิยาม ผมก็คิดว่าผมเป็น ส.ส.ธรรมดา คือเป็นคนธรรมดาที่มาเป็น ส.ส. ไม่ได้เป็นนักการเมืองเก่า ไม่ได้มีอิทธิพล ไม่ได้เป็นคนร่ำรวย ไม่ได้เป็นใครจากไหนเลย เป็นแค่คนในบ้านนี้เมืองนี้ เป็นคนในเขตพื้นที่ตรงนี้ บางปะกง แล้วก็เสนอตัว อยากให้คนบางปะกงให้โอกาสลูกหลานคนที่นี่มาทำงานเพื่อพวกเขา เท่านั้นเองครับ ผมเป็นคนธรรมดา”

เขาเล่าต่อว่า นับแต่เดือนมีนาคม 2562 ตนเองและทีมงานก็ไม่เคยหยุดงานในฐานะผู้แทนราษฎรและ ส.ส.เขตเลยสักวันเดียว

อย่างที่หลายคนรับรู้กันว่าเขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ฉะเชิงเทรา นั้นเป็น “เขตปราบเซียน” ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาสากกะเบือยันเรือรบ

ทั้งปัญหาราคาข้าว จากการมีพื้นที่การเกษตรร่วม 80 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาที่ดินอีอีซี ปัญหาจากการมีโรงงานอุตสาหกรรม 2 พันกว่าแห่ง ปัญหาเรื่องการทำประมงและการเลี้ยงปลาน้ำจืด

ส.ส.สมัยแรก ผู้ถูกบางคนปรามาสว่าอาจ “ฟลุก” เป็นผู้แทนฯ ได้แค่สมัยเดียว เปิดเผยว่าเขาพยายามรวบรวมและส่งต่อปัญหาทุกๆ ด้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด พร้อมๆ กับการแสวงหาจุดสมดุลระหว่าง “การเมืองเก่า” และ “การเมืองใหม่”

ด้านหนึ่ง จิรัฏฐ์จึงรักษาธรรมเนียมในการไปร่วม “งานศพ-งานบวช” ของชาวบ้านแบบไม่เคยขาด

แต่อีกด้าน เขาก็เลือกจะ “ไม่ใส่ซองสักบาทเดียว” หรือไม่เคยนำ “กระเช้า” ไปมอบให้ใคร

เหตุผลข้อแรก เป็นเพราะเขาต้องการเปลี่ยนแปลงจารีตดั้งเดิมบางประการ

ส่วนเหตุผลข้อสอง “ผู้แทนฯ คนธรรมดา” ยอมรับตรงๆ ว่าลำพังเงินเดือนแสนกว่าบาทที่เขาได้รับนั้นก็อยู่ในระดับ “ไม่พอใช้” เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจิปาถะอย่างเป็นทางการที่ ส.ส.เขตรายหนึ่งต้องแบกเอาไว้

 

แนวทางเช่นนั้นทำให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลต้องเผชิญแรงกดดัน-ความท้าทายมหาศาล

“ต้องบอกว่าเป็น ส.ส.เขต ในพรรคที่เป็นพรรคที่อยู่ไม่เป็นอย่างก้าวไกล อย่างอนาคตใหม่ มันก็กดดันพอสมควร เพราะว่าตอนช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่ามันหาจุดสมดุลระหว่างการเมืองใหม่กับการเมืองเก่ายากมากๆ จริงๆ การที่จะพยายามทำตัวเป็นนักการเมืองใหม่ ภายใต้บริบทสังคมการเมืองแบบเก่า มันยากพอสมควร มันเป็นแรงกดดันมหาศาล

“มันเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง เหตุผลที่ทำให้มี ‘งูเห่า’ เกิดขึ้นนี่แหละครับ ซึ่งผมเข้าใจนะครับว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะว่าแรงกดดันมันมหาศาลขนาดไหน

“เวลาไปลงพื้นที่จะเจอคำถามจากชาวบ้านเป็นคำที่ติดหูเลย ไม่ใช่ติดหูสิ ติดปากชาวบ้าน ก็คือไม่เคยเห็นหน้าเลย คำนี้ได้ยินบ่อยมากๆ จนผมแบบบางทีก็รู้สึกเซ็งว่าก็คือขนาดมาเจอครั้งที่สอง เขาก็ยังพูดคำเดิม ไม่เคยเห็นหน้าเลยเหมือนกัน

“คือผมเพิ่งทำงานการเมืองไม่ถึง 3 ปีเลยครับ คนเก่าเขาทำมา 30 ปี ผมก็เข้าใจว่ามันอาจจะไม่คุ้นหน้าผมเท่าคนเก่าหรอก

“แล้วก็เวลาที่ชาวบ้านมีปัญหามาให้เรา แล้วเราแก้ไม่ได้ ผมก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไมเขาถึงพูดแบบนั้น เพราะว่าเราไม่มีอำนาจรัฐคอยสนับสนุนเลย ข้าราชการก็ไม่ได้จะซัพพอร์ตเราสักเท่าไหร่

“ยิ่งช่วงแรกๆ ของการทำการเมืองของผม โดนสั่งห้ามเลยด้วยซ้ำ ข้าราชการละแวกนี้ถูกสั่งห้าม ห้ามสนับสนุนไอ้ ส.ส.อนาคตใหม่กันหมดเลย ไม่มีใครอยากจะรับสาย ผมนัดใครไม่เคยจะได้เลย เอาอย่างนี้ดีกว่า ตั้งแต่ผู้ว่าฯ ยันผู้ใหญ่บ้าน ทุกอย่างแทบจะต้องทำด้วยตัวเองหมด เรื่องที่ร้องเรียนไปก็ไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าไหร่

“แต่หลังๆ ก็เริ่มดีขึ้นครับ เริ่มขยันขันแข็งกันมากขึ้น ขยับตามสิ่งที่เราได้พูดในสภา เพราะว่ารัฐสภามันเป็นตัวที่กดดันให้เขาต้องทำด้วยแหละ

“แล้วพอสิ่งที่เราทำ มันไม่ได้ทำแบบเดิมที่เขาเคยได้รับมา นึกออกไหมครับ เวลาเขาบอกว่า เนี่ยทำอะไรก็ไม่สำเร็จสักอย่างหนึ่งเลย คนเก่าเขายังเอาถนนมาลง เอางบประมาณมาลงตรงนี้ ยังทำศาลาตรงนี้ คนเก่าเขายังช่วยฝากลูกเข้าโรงเรียนได้ คนเก่าเขายังเคลียร์ใบสั่งให้ได้ ซึ่งพอเราทำแบบนั้นไม่ได้ มันก็เหมือนเราไม่มีผลงาน

“ช่วงแรกๆ มันก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ซึ่งทำให้มันเกิด ‘งูเห่า’ ขึ้น เพราะเขาก็เจอแรงกดดันแบบนี้ เพราะมันเจอแบบนี้ ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน เป็นปีๆ แล้วมันไม่มีผลงานจริงๆ เวลาการเป็น ส.ส.ก็ยิ่งหมดไป แล้วพอครั้งต่อไปคุณไม่ได้เป็น คุณจะอยู่ในพื้นที่นี้ต่อยังไงครับ? เดินไปไหนก็จะมีคนมาบอกว่าไอ้นี่มาเป็น ส.ส. ไม่ได้ทำอะไรเลยสักอย่างเดียว

“มันก็เลยจำเป็นต้องแข็งพอสมควรเหมือนกัน คือคุณจะต้องมีความมุ่งมั่นในสิ่งที่คุณเชื่อมากพอสมควร ซึ่งผมก็พยายามพิสูจน์ให้พี่น้องประชาชนที่บางปะกง-บ้านโพธิ์-แปลงยาวเห็น ก็หวังว่าจะได้รับการเลือกเข้ามาในสมัยต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ได้ซีเรียสเลยครับ ถ้าไม่ได้ ผมก็รอแค่สี่ปีเอง มันไม่ได้นาน มันแป๊บเดียว”

 

เมื่อถามว่าทำไมเขาจึงไม่ยอมแปรพักตร์เป็น “งูเห่าสีส้ม” เฉกเช่นเพื่อน ส.ส.เขต (และบัญชีรายชื่อ) หลายคน คำตอบของจิรัฏฐ์นั้นทั้งเรียบง่ายและซื่อตรง

“ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่มีไฟ มีความมุ่งมั่นมากเท่ากับคนอื่นที่เคยเห็น หลายคนที่มีความมุ่งมั่นมากกว่าผมก็มีเยอะแยะ อย่างคนที่มุ่งมั่นถึงขนาดยอมติดคุกด้วยซ้ำ อย่างอานนท์ อย่างเพนกวิน ผมยอมรับว่าผมไม่ได้กล้าเท่าพวกเขา

“แต่ด้วยความที่มันเป็นสิ่งที่เราตั้งใจ มันเป็นอุดมการณ์ที่เราเชื่อ เราอยากให้มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่งั้นไม่รู้ว่าลูกเราจะอยู่ในสังคมแบบไหน? แล้วก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งที่ลูกเราตั้งคำถามว่าพ่อทำไมบ้านเมืองเป็นอย่างนี้? พ่อเป็น ส.ส.ไม่ใช่เหรอ? ทำไมพ่อทำอะไรแบบนี้ทิ้งไว้เหรอ? ผมจะตอบเขาว่ายังไง?

“อีกอย่างหนึ่ง ผมเป็นคนที่นี่ ผมไม่ได้เป็นคนชนชั้นสูงของที่นี่ด้วยนะ ผมเป็นคนธรรมดาของที่นี่เลย ของพื้นที่ตรงนี้เลย ผมจำเป็นจะต้องไปตลาดนัด จำเป็นจะต้องไปซื้อกับข้าว จำเป็นจะต้องไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ จำเป็นจะต้องออกไปใช้ชีวิต

“เพราะฉะนั้น ผมจะออกไปเจอประชาชนยังไง? เราจะตอบเขายังไง? แล้วผมจะทนฟังเสียงซุบซิบนินทาก่นด่าผมได้ต่อไปเหรอ? ถ้าผมทำอย่างนั้น

“ผมเชื่อว่าผมคงทนไม่ได้ ถ้ารับเงินจริงๆ ผมอาจจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นเลย ซึ่งมันไม่ใช่บ้านผม พ่อแม่ผมก็อยู่ที่นี่ แล้วผมก็ผูกพันกับที่นี่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันเป็นไปได้ยากถ้าจะให้ผมเปลี่ยนความคิดหรือว่าย้ายพรรคไปอยู่ฝั่งตรงข้าม

“อย่างน้อยๆ ห้องน้ำบ้านผมมีกระจก แล้วผมจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำทุกวันด้วย แล้วผมจะทนมองทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ว่าเมื่อก่อนคุณพูดอย่างนี้ไว้ แล้ววันนี้คุณมาเปลี่ยนอย่างนี้เหรอ?

“ผมว่าผมรับตัวเองในกระจกแบบนั้นไม่ได้”

ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=KDj2VVm3xW0&t=2368s