ชาและผ้ายันต์ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

ชาและผ้ายันต์

 

วันก่อน ไปเยี่ยมห้องทำงานของ “พี่วี” ชาญชัย กุลถาวรากร กับ “พี่อ๋อง” ที่เคยทำข่าวที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยกัน

“พี่วี” เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด

เป็น “แมว 9 ชีวิต” ของวงการธุรกิจ

ชีวิตของเขาสนุกมาก

ตอนแรกที่ “พี่วี” ชวนไปนั่งคุยในห้องทำงาน ก็คิดว่าไปนั่งคุยปกติก่อนมากินข้าวเที่ยงกัน

ห้องทำงานของประธานกรรมการบริหารก็ต้องใหญ่โตเป็นธรรมดา

แต่องค์ประกอบในห้องสิครับ ไม่ธรรมดา

ริมประตูด้านขวา เป็น “ผ้ายันต์” ใส่กรอบเต็มไปหมด

ด้านซ้าย เป็น “ชา” วางเรียงกันเหมือนเครื่องประดับ

พอเข้าห้องทำงานปั๊บ “พี่วี” ชวนให้ดื่มชาจีนก่อน

แต่ไม่ใช่ “ชาร้อน” ที่แม่บ้านเข้ามาเสิร์ฟนะครับ

“พี่วี” จะลงมือชงชาให้ดื่มเอง

เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญและคลั่งไคล้ในเรื่อง “ชา” มาก

พาเดินไปดู “ผนังชา”

อธิบายประวัติชาแต่ละตัวให้ฟัง

เปิดโถเล็กๆ ที่โดดเด่นเป็นสง่า

มีชาก้อนอัดเม็ดเล็กๆ อยู่ในโถ

“เม็ดละ 10,000 บาท”

ผมมองในโถ มีอยู่ประมาณ 10 กว่าเม็ด

แอบคิดในใจ

“เมื่อไรพี่วีจะเข้าห้องน้ำ”

3-4 เม็ดก็ได้ทอง 1 บาทแล้ว

“วันนี้ผมจะชงชาตัวนี้ให้ลองชิม เป็นชาที่ดีมาก”

“พี่วี” บอกว่าเป็นชาจากสิบสองปันนา คนจีนเรียกว่าชารัชกาลที่ 9 เพราะผลิตออกมาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559

วันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9

ราคาตอนนี้พุ่งไปกิโลกรัมละ 40,000 บาท

ตรงมุมห้อง เขามีโต๊ะยาวที่วางอุปกรณ์ดื่มชาเต็มรูปแบบ มีถาดชงชาที่สามารถเทน้ำทิ้งได้

“พี่วี” เริ่มพิธีกรรมด้วยการคีบชาออกจากโถใส่ที่ชงชา

เอาน้ำร้อนลวก 1 ครั้ง

“เป็นการทำความสะอาดชา และปลุกให้ชาตื่น”

ผมเพ่งมองตาม

อยากเห็นใบชาลุกขึ้นมาบิดขี้เกียจ

“พี่วี” รินน้ำแรกทิ้งแล้วเทน้ำร้อนอีกครั้งหนึ่ง

แยกชาออกจากน้ำชา

“ชาน้ำแรก เราดื่มแล้วจะขมหน่อย ปรับลิ้นให้คุ้นกับรสชา”

ผมกับ “พี่อ๋อง” จิบตามคำสั่ง

ชาหอมมาก

“พี่วี” สั่งให้ทำอะไร เราทำตามหมด

พิธีกรรมในการชงชาละเมียดละไมมาก

ซดไป 3 ถ้วยก็หมด

“พี่วี” เทน้ำร้อนใส่อีกครั้ง

น้ำที่สอง รสชาเริ่มนุ่มขึ้น ความขมลดลง

และน้ำที่สาม ชาจะเริ่มหวาน ชุ่มคอ

“พี่วี” สอนว่าเวลาชงชา อย่าแช่ชาทิ้งไว้ในน้ำร้อน

“มันจะทำให้ท้องผูก”

 

ผ้ายันต์ในห้องทำงานของ “พี่วี” ชาญชัย กุลถาวรากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด

 

จาก “ชา” ผมเดินไปที่ “ผ้ายันต์”

ขอความรู้เช่นเดิม

“ทำไมถึงชอบผ้ายันต์ครับ”

“พี่วี” บอกว่าเขาไม่ได้ชอบเพราะเป็น “ของขลัง”

“ผมมองเป็นงานศิลปะ”

เพราะผ้ายันต์นั้นต้องเขียนด้วยลายมือ

เป็นงานแฮนด์เมด

มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่อยู่ตรงกลางสวยมาก เหมือนกับภาพลายโบราณ

“พี่วี” เล่าประวัติให้ฟังทีละผืน

แต่สารภาพว่าจำไม่ได้ว่าเป็นพระอาจารย์คนไหน

มีอยู่ผืนหนึ่งมีรอยขาดเหมือนหนูแทะ

“พี่วี” บอกว่าพระอาจารย์มีหลายผืน ท่านให้เลือกผืนไหนก็ได้

แต่เขาเลือกผืนที่มีรอยขาด

“เอาผืนที่ดีๆ ไปดีกว่า เอาทำไมผืนขาด” พระอาจารย์สงสัย

“พี่วี” ยืนยันว่าขอผืนนี้

“ทำไมล่ะครับ” ผมถาม

เขาชี้ให้ดู “รอยขาด”

“สังเกตไหมว่ามันจะขาดตรงที่เฉพาะผ้าขาวๆ แต่ที่เขียนยันต์ไว้ไม่มีรอยขาดเลย”

โห…ลึกซึ้ง

เป็นงานศิลปะที่มีความหมายแบบขลัง-ขลัง

“พี่วี” พาเดินไปที่ห้องเล็กๆ หลังโต๊ะทำงาน

มีพระพุทธรูปวางอยู่เต็มไปหมด

เป็นพระเก่าทั้งนั้น

อธิบายมาก็จำไม่ได้

เขาเปิดลิ้นชัก หยิบยันต์รูป 3 เหลี่ยมขนาดใหญ่ขึ้นมา

บอกว่าตอนแรกเป็นของเพื่อนคนหนึ่ง

แต่เขามาให้ “พี่วี”

ด้วยเหตุผลง่ายๆ

“อยู่กับเขาแล้วร้อน”

ไม่ได้อธิบายอะไรต่อ

เพราะผมรีบเดินออกจากห้องทันที

 

คุยกับ “พี่วี” แล้วได้ความรู้เยอะมาก

ทั้งเรื่อง “ของสะสม” และเรื่องหลักคิดในการทำงาน

“พี่วี” จะคุ้นเคยกับนักธุรกิจไต้หวัน เคยดึงมาร่วมทุนด้วย

เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งไปพบนักธุรกิจใหญ่ของไต้หวัน ทำสินค้าอุปโภคบริโภคใหญ่ระดับค่ายสหพัฒนพิบูลของไทย

ตอนนั้นเขายังเป็นนักธุรกิจเล็กๆ อยู่

วันที่ไปพบเจ้าสัวใหญ่ของไต้หวันคนนี้ มีลูกๆ ของเจ้าสัวมานั่งด้วย

เจ้าสัวเชิญเขานั่งข้างๆ

“พี่วี” ปฏิเสธ ขอนั่งท้ายๆ

เพราะลูกๆ ของเจ้าสัวล้วนแต่เป็นนักธุรกิจใหญ่ทั้งนั้นควรจะนั่งข้างๆ พ่อ

เสี่ยใหญ่ชี้ที่เก้าอี้ข้างๆ ยืนยันให้เขานั่งติดกัน

“ถ้าท่านจะให้ผมนั่งจริงๆ ท่านต้องอธิบายว่าทำไมผมถึงต้องนั่งตรงนี้”

เจ้าสัวหัวเราะถามว่าเคยได้ยิน 3 คำนี้ไหม

“พ่อสร้าง ลูกใช้ หลานทำพัง”

เป็นคำที่พูดถึงธุรกิจครอบครัวว่าส่วนใหญ่จะล้มใน 3 เจเนอเรชั่น

รุ่นพ่อ จะเป็นคนสร้างธุรกิจขึ้นมา

มักจะประหยัด เพราะรู้ว่าเงินหายาก

นั่งเครื่องบินก็จะนั่งชั้นอีโคโนมี

รุ่นลูก เกิดมาก็มีเงินแล้ว

จะเป็นรุ่นที่ใช้เงิน

นั่งเครื่องบินก็จะนั่งบิสซิเนสคลาส

พอถึงรุ่นหลาน ยิ่งรวยใหญ่

นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาส

หรือซื้อเครื่องบินส่วนตัว

เจ้าสัวชี้มาที่ “พี่วี” แล้วบอกว่า “คุณเป็นรุ่นแรกเหมือนผม”

…สร้างธุรกิจมาเหมือนกัน

“ต้องมานั่งข้างๆ กัน”

เจ้าสัวไต้หวันคนนี้ไม่ได้ให้ค่ากับขนาดของธุรกิจ

แต่เขาให้ค่ากับ “ผู้บุกเบิก” มากกว่า

ใครสร้างมากับมือ

คนนั้นต้องชื่นชม

ผมนึกถึง “ผ้ายันต์” ผืนนั้น

…ต้องขาด ถึงจะขลัง •