ภาพสะท้อนเครือโรงแรมใหญ่ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

ภาพสะท้อนเครือโรงแรมใหญ่

 

ว่าด้วยธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว กับการเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ๆ

หลายคนอาจลืมไปแล้ว มีนักธุรกิจคนหนึ่ง นำเสนอความคิดอย่างเปิดกว้าง ท่ามกลางกระแสและสถานการณ์ที่น่าวิตกไว้เมื่อต้นปีที่แล้ว จะว่าไปแล้ว คงมีส่วนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ที่ผลักดันให้รัฐออกมาตรการเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง

“นับตั้งแต่การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2020 นักท่องเที่ยวไทย และธุรกิจภาคบริการ ได้รับผลกระทบ… วัคซีนซึ่งถือเป็นแสงสว่างแห่งความหวังเพียงอย่างเดียวที่ปลายอุโมงค์อันมืดมิด” สาระสำคัญจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีไทย (ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ลงวันที่ 28 มกราคม 2564) ลงนามโดยวิลเลียม ไฮเน็ค (William E Heinecke) ประธานกรรมการบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

ในเวลานั้นท่ามกลางสังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่อย่างไม่คาดคิด- Covid-19 ได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเป็นระลอกที่สอง ไม่นานจากนั้นเข้าสู่ระลอกที่ 3 เป็นไปอย่างหนักหนากว่าครั้งก่อนๆ ก่อนจะมีภาวะผ่อนคลายในช่วงปลายปี 2564 พร้อมๆ กับได้มาซึ่งวัคซีนอย่างเพียงพอ แม้จะมีการปะทุอีกครั้งช่วงต้นมีนาคม 2565 นี้เอง แต่ดูเหมือนผู้คนจะมีความวิตกน้อยกว่าเดิมมาก

รวมทั้งกรณี “ภูเก็ตโมเดล” (ต่อมาเป็น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว) วิลเลียม ไฮเนค ก็มีส่วนได้เสนอแนะไว้ในครั้งนั้นด้วย “เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาพร้อมกับหนังสือเดินทางวัคซีน–เสนอให้ใช้ “ภูเก็ต” เป็นพื้นที่นำร่อง…ในการเปิดกว้างเพื่อรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนมาแล้วจากประเทศตัวเอง”

 

อย่างที่รู้กัน วิลเลียม ไฮเนค กับบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีความเกี่ยวข้อง “มีส่วนได้เสีย” โดยตรง ในฐานะธุรกิจรายสำคัญรายหนึ่งในชิ้นส่วนแห่งภาพใหญ่ “ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 21 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยปี 2562” (ข้อมูลบางตอนจากรายงานประจำปี 2563 บริษัทไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล)

ที่ว่าไว้อย่างกว้างๆ ให้ภาพใหญ่ที่น่าตื่นเต้น เกี่ยวกับเรื่องราววิลเลียม ไฮเนค กับ MINT

“เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเปิดรีสอร์ตริมทะเลในพัทยาในปี 2521 ต่อมาบริษัทได้ขยายธุรกิจจนปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจพักผ่อนและสันทนาการที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยโรงแรมและรีสอร์ตกว่า 520 แห่ง ร้านอาหารกว่า 2,373 สาขา และมีจุดจำหน่ายสินค้ากว่า 447 แห่งในประเทศไทยและอีก 62 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย ยุโรป และอเมริกา” ข้อมูลพื้นฐานของ MINT (www.minor.com)

MINT กับภาวการณ์เผชิญวิกฤตการณ์ข้างต้น สะท้อนผ่านผลประกอบการที่ผ่านๆ มา (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะทางการเงิน” ประกอบด้วย) สอดคล้องกับมุมมองที่เคยคาดว่าไว้เมื่อปีก่อน

“ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ของการท่องเที่ยวโลก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ลดลงถึงร้อยละ 74 จากข้อมูลล่าสุดขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลง 1 พันล้านคน ในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562” รายงานตอนหนึ่งว่าด้วยสถานกาณ์การท่องเที่ยว (รายงานประจำปี 2563 MINT) จากนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ตามความคลี่คลายของสถานการณ์

มุมมองโลกในแง่ดีจึงมีมากขึ้น

 

 

“…ได้เห็นถึงการฟื้นตัวโดยบริษัทได้ผ่านพ้นช่วงที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว และคาดว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วต่อไปในอนาคต… แม้ว่าการจะมีความท้าทายใหม่จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่การกระจายของวัคซีน การรักษา และความเป็นมาของการระบาด ส่งผลให้สามารถรับมือกับโรค COVID-19 ได้ดียิ่งขึ้น… หลายประเทศทั่วโลกจึงได้กลับมาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกครั้ง และผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทาง… ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในมุมมองเกี่ยวกับโรค… โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป รัฐบาลอยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรค COVID-19 จากข้อบังคับทางกฎหมายเป็นมาตรการการให้คำปรึกษา และมองว่าโรค COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น”

(อ้างจากคำอธิบาย และการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินและผลประกอบการของ MINT, 25 กุมภาพันธ์ 2565) เป็นที่น่าสังเกตว่า MINT ให้ความสำคัญกล่าวถึงสถานการณ์ในยุโรปอย่างเจาะจงเป็นพิเศษ

ด้วยเป็นฉากตอนสำคัญในเรื่องราวเกี่ยวกับ “วิลเลียม ไฮเนค (William Heinecke) ชาวต่างชาติผู้บุกเบิกสร้างฐานธุรกิจในไทย ภายใต้กระแสเชื่อมโยงระหว่างอเมริกันกับสงครามเวียดนาม จนประสบความสำเร็จและขยายตัวในระดับโลก” อย่างที่เคยว่าไว้ มีบางช่วงอย่างเจาะจงควรขยายความ

ว่าด้วยความสามารถของบริษัทไทยเป็นไปอย่างน่าทึ่ง ก้าวขึ้นเป็นเครือโรงแรมระดับโลกในช่วงเวลาเพียงทศวรรษเดียว จากแผนขยายเครือข่ายโรงแรมครอบคลุมจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญในประเทศไทย เข้ากับจังหวะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเติบโต จากปี 2553 ถึงปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ในระลอกแรก จากราวๆ 16 ล้านคน เป็น 27 ล้านคน

สู่การขยายเครือข่ายสู่ต่างประเทศ ชิมลางภูมิภาคท่องเที่ยวย่านมหาสมุทรอินเดีย ไม่ว่ามัลดีฟส์ ศรีลังกา และภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา

 

จังหวะก้าวกระโดดทางธุรกิจเกิดขึ้นในปี 2554 เมื่อซื้อเครือโรงแรมในออสเตรเลีย (ปี 2554) โดยเฉพาะตามมาด้วยซื้อเครือโรงแรมในยุโรปซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมถึงแอฟริกา เป็นไปอย่างครึกโครมในช่วงปี 2558 และปี 2561 นั่นคือ NH Hotel Group เครือข่ายโรงแรมระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ใน Madrid ประเทศสเปน “ดำเนินธุรกิจโรงแรมกว่า 350 แห่งใน 28 ประเทศ โดยเฉพาะยุโรป และแอฟริกา ในเมืองจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญ ไม่ว่า Amsterdam, Barcelona, Berlin, Bogota, Brussels, Buenos Aires, Düsseldorf, Frankfurt, London, Madrid, Mexico City, Milan, Munich, New York, Rome และ Vienna”

เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด พบว่ามีเครือข่ายโรงแรมในประเทศยุโรปตะวันออกด้วย อาทิ โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย

ที่สำคัญที่น่าสนใจไม่ปรากฏมีโรงแรมในประเทศรัสเซีย และยูเครน

MINT กับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจหลัก ที่มีความสำคัญที่สุด ด้วยครองส่วนแบ่งรายได้รวมถึง 68% โดยมีเครือข่ายโรงแรมถึง 527 แห่ง และ 75,621 ห้อง (อ้างจาก MINT Company profile Q421) ว่าด้วยแบรนด์โรงแรม เครือ NH Hotel (มีหลายแบรนด์ย่อย) ครองสัดส่วนรายได้รวมมากที่สุดถึง 73%

ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาเชิงภูมิศาสตร์ พบว่าโรงแรมในเมืองต่างๆ แห่งยุโรปครองส่วนแบ่งรายได้มากที่สุดเช่นกัน ถึง 68%

ดัชนีหนึ่งที่จะมาถึงไตรมาสแรก 2565 (รายงานผลประกอบการ MINT) อาจจะบอกบางสิ่งที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับอีกวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย •