สมหมาย ปาริจฉัตต์ : บันทึกแห่งปีครูเพาะพันธุ์ เรื่องเล่าเคล้าน้ำตา (6)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผมทิ้งท้ายไว้เมื่อตอนที่แล้ว โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาปีที่ 3 ไม่มีการคัดเลือกครูเพาะพันธุ์ปัญญาแห่งปีเช่นเดียวกับปีแรกและปีที่สอง แต่ปรับเปลี่ยนเป็นรางวัลบันทึกแห่งปีให้กับครูที่ถ่ายถอดประสบการณ์ ความคิด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นออกมาได้น่าสนใจและประทับใจที่สุด

ศูนย์พี่เลี้ยงเพาะพันธุ์ปัญญาทั้ง 8 มหาวิทยาลัย ต่างเสนอบันทึกเรื่องเล่าของครูด้วยลีลา ท่วงทำนองแตกต่างกันไป แต่ล้วนมีอรรถรส

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ศูนย์มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อ บันทึกการเดินทางของชาวเพาะพันธุ์ปัญญา (จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงคราม) ก้าวข้ามสู่ความเปลี่ยนแปลงของครูเพาะพันธุ์ปัญญา

ศูนย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อ ขับนอก เคลื่อนใน เชื้อไฟจากเพาะพันธุ์ปัญญา

ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ชื่อ ด้วยแรงแห่งหัวใจครูเพาะพันธุ์ปัญญา ถอดความรู้จากกระบวนการพัฒนานักเรียนในโครงการรุ่นที่ 3 ด้วยเพาะพันธุ์ปัญญา ฉันจึงเปลี่ยน บทบันทึก ครูเพาะพันธุ์ปัญญา

ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชื่อ ครูพันธุ์แท้ ครูสอนโครงงานฐานวิจัย

ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ชื่อ กระบวนการบ่มเพาะปัญญาให้เติบโต ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ชื่อ บนเส้นทางการรู้ตนเอง ครูเพาะพันธุ์ ศรีสะเกษ

ศูนย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชื่อ เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเติบโต การเปลี่ยนแปลงของครูเรวดี นีระภักษ์ หัวหน้าโครงการโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม

ศูนย์มหาวิทยาลัยพะเยา ชื่อ เรื่องเล่าจากครูเจ้ง กัณจณา อักษรดิษฐ์ (ครูเจ้ง) โรงเรียนเทิงวิทยาคม

แต่ละเล่มล้วนน่าอ่าน เขียนเล่าด้วยภาษาง่ายๆ กลั่นมาจากก้นบึ้งแห่งหัวใจ

บันทึกเล่าเรื่องราวระหว่างทางจึงเป็นสื่อกลาง สื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการความคิด ปัญหาอุปสรรค ความยากลำบาก วิธีแก้สถานการณ์ ถ่ายทอดสู่กันด้วยบรรยากาศกัลยาณมิตร เป็นแรงขับเคลื่อนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เก็บบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางให้กับรุ่นต่อๆ ไป

ทำให้คนนอกเข้าใจกระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงาน สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทำโครงงานฐานวิจัยตลอดปีการศึกษา ผลิตออกมาเป็นผลงานเชิงประจักษ์ ตัวชี้วัดความสำเร็จจากรอยยิ้มและน้ำตาของคนอ่าน แม้คนเขียนเองก็ตาม

 

บันทึกแห่งปีที่ได้รับเลือกให้รางวัล 2 เล่ม ได้แก่ รางวัลหนังสือ “หลอมรวมใจการศึกษากับชุมชน” เรื่องเล่า…จากครูเจ้ง ของ ครูกัณจณา อักษรดิษฐ์ โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนเป็นฐานทำให้นักเรียนได้รู้รากเหง้าตนเองและเห็นคุณค่าความรู้ที่เรียนจากการเอาไปประยุกต์ใช้

ครูเริ่มหลอมใจตนเองกับชุมชนด้วยการเข้าไป “จุ่มตัว” กับวิถีชุมชน ซึมซับจนสามารถแปลงเป็นโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาได้อย่างดีเยี่ยม

เล่าการทำงานในโรงเรียนประจำอำเภอห่างไกล ทำให้เห็นบรรยากาศการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน ทำให้ครูเปลี่ยนความคิดการจัดการการศึกษาวิชาโครงงานให้นักเรียนได้เข้าใจ ความเชื่อมโยงระหว่างสาระวิชาในห้องเรียนกับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัว เขาทำให้ครูอีกหลายท่านทราบวิธีการทำงานเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ไม่หลุดออกจากบริบทจริง

เป็นการศึกษาที่ครูและนักเรียนมีอิสรภาพอย่างแท้จริง

 

เล่มที่สอง รางวัลหนังสือ “การตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลง” ของ คุณครูเรวดี นีระภักษ์ โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี

คุณครูเรวดี เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาตั้งแต่ปีแรกได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ เขียนเล่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหนังสือชื่อ “เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเติบโต : การเปลี่ยนแปลงของครูเรวดี”

ผ่านอุปสรรคมากมายอะไรบ้าง แต่เพราะเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดี ในที่สุดสามารถเติบโตผลิดอกออกผลได้เต็มที่ในปีที่ 3

หนังสือนี้เสนอเรื่องราวสะท้อนให้เห็นว่าการตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงของครูนั้นแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่มิได้หมายความว่าเป็นจริงไม่ได้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้ครูอีกหลายท่านเรียนรู้และพยายามต่อไป เพื่อสร้างการศึกษาที่สมบูรณ์ให้นักเรียน

ครูเรวดีเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเธอ 10 ข้อ ทำให้ครูเป็นยิ่งกว่าครู เป็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด คือกระโดดข้ามสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ไปเลย

อีกด้านที่เพาะพันธุ์ปัญญาพัฒนาครูไปคู่กัน นั่นคือพัฒนาปัญญาภายใน เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรจากภายใน ทั้งแง่มุมของการทำงาน การเรียนรู้ ความอดทนอดกลั้น การมองนักเรียนทุกระดับด้วยแววตาอีกแบบหนึ่งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เพาะพันธุ์ปัญญาทำให้ครูรู้ว่า เราไม่ใช่คนที่รู้ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง เราไม่ใช่เจ้าของคำตอบของทุกๆ คำถาม แต่เป็นนักเรียนที่ต้องหาคำตอบนั้นเองภายใต้กรอบและคำถามที่ครูคอยป้อนให้นักเรียนกระจ่างด้วยตนเอง

เพาะพันธุ์ปัญญาทำให้จิตใจครูอ่อนโยนลง รับฟังมากขึ้น เข้าใจและเมตตามากขึ้น

การทำงานคลุกคลีกับนักเรียนตลอดหนึ่งปีที่เจอกันตลอด ทำให้ครูได้เรียนรู้แง่มุมชีวิตที่มาจากพื้นฐานครอบครัวต่างๆ กัน นักเรียนบางคนเป็นครูของเราในวันที่รู้สึกเหนื่อยและท้อ

เช่น นักเรียนหญิงแกร่งคนหนึ่งในห้องเป็นนักมวยเพื่อเลี้ยงชีพส่งตัวเองเรียนและเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน ที่มีเพียงยายวัยเกือบ 70 ปีและเด็กๆ หลานๆ เกือบสิบชีวิต ในวัยสดใสเช่นนี้กับต้องสู้ทนเพื่อความอยู่รอด การชกมวยตามงานวัดเลี้ยงชีพ หากชนะจึงจะเห็นเงินหลักพัน แต่ถ้าแพ้ก็ได้แค่ค่าตัวสามร้อยบาท ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ต้องขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้านตีสาม พร้อมกับรอยฟกช้ำ แต่นักเรียนคนนี้ก็ยังมาทำงานทุกครั้งที่เพื่อนนัดหมายและไม่มีทีท่าว่าจะทดท้อต่อชีวิตของตนเองเลย

ต้องแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจในวันที่แม่จากไปไม่หวนกลับ และพ่อก็ต้องไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด นับเป็นตัวอย่างการสู้ชีวิตที่แม้แต่คนเป็นครูก็ต้องเรียนรู้

เพาะพันธุ์ปัญญาทำให้ครูเห็นนักเรียนได้รอบด้านขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้เห็นบทบาทชีวิตของหลายๆ ตัวละคร ทำให้รู้สึกว่า การอยู่ในโครงการนี้แม้จะเหนื่อยแต่รู้สึกคุ้มค่า

 

ครับ เก็บมาเล่าอย่างไรก็ไม่หมด ไม่ได้รสชาติเท่ากับสัมผัสด้วยสายตาตัวเอง

ท่านใดสนใจ อยากอ่านบันทึกดีๆ ให้ความรู้ ความคิด ความสะเทือนใจหลากหลายเล่มเหล่านี้ ขอไปที่โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คงไม่ผิดหวัง

ผมอ่านแล้ว ทำให้ย้อนคิดถึงครูอีกคนหนึ่ง

ครูเรฟ เอสควิท เจ้าของผลงานเขียนหนังสือ “ครูนอกกรอบ กับ ห้องเรียนนอกแบบ” ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์จริงจากโรงเรียนประถมศึกษาโฮบาร์ต ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา

ครูเรฟเขียนในตอนท้าย บทบันทึกที่ 3 อ่านเพื่อชีวิต ว่า ถ้าเยาวชนได้พัฒนาความรักในการอ่านขึ้นแล้ว พวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในมาตรฐานหลักสูตรของรัฐไม่ปรากฏวัตถุประสงค์ข้อนี้

การประเมินการอ่านของเราอาจเริ่มต้นที่คะแนนจากแบบทดสอบมาตรฐาน แต่ท้ายที่สุด เราต้องวัดความสามารถในการอ่านของเด็กจากเสียงหัวเราะที่เปล่งออกมาและน้ำตาที่รินไหลขณะที่เด็กซึมซับตัวอักษร

เด็กนักเรียนทุกวันนี้เป็นนักเขียนที่แย่มากและก็ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เมื่อคำนึงถึงผลที่สะสมจากการขาดการฝึกฝน การสอนที่ไม่เอาไหน การส่งข้อความตัวอักษร การใช้ศัพท์แสงแบบอี-เมล และวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมการรู้หนังสือ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถเขียนข้อความที่กลมกลืนแม้เพียงสักย่อหน้าหนึ่ง อย่าว่าแต่เขียนเรียงความหรือรายงานเลย

ครูเพาะพันธุ์ปัญญากำลังเดินตามรอย สิ่งที่ครูเรฟทำและเขียนบันทึกเล่าให้ครูทั้งโลกได้รับรู้