ลองของ ‘โอร่า กู้ด แคท’ ขับสนุกเกินตัว-ไฮเทคแน่นคัน / ยานยนต์ สุดสัปดาห์ : สันติ จิรพรพนิต

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์

สันติ จิรพรพนิต

[email protected]

 

ลองของ ‘โอร่า กู้ด แคท’

ขับสนุกเกินตัว-ไฮเทคแน่นคัน

 

ให้เข้ากับบรรยากาศงาน “มอเตอร์โชว์ 2022” ที่ปีนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าสารพัดรุ่นเข้ามาเปิดตัว หรืออวดโฉมให้เห็นพอเป็นกระษัย ว่าปีนี้เตรียมออกมาถล่มตลาดเมืองไทยอย่างเต็มเหนี่ยว

เนื่องเพราะกระแสยานยนต์ไฟฟ้าที่พลุ่งพล่านทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยมีนโยบายสนับสนุนทั้งเรื่องภาษี หรือการให้เงินช่วยสูงสุดคันละ 1.5 แสนบาท

นอกจากนี้ แผนเพิ่มสถานีชาร์จในกรุงเทพฯ ทั้งสถานีทั่วไป หรืออยู่ตามห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม ฯลฯ และยังปูพรมริมถนนเส้นหลักกระจายทั่วประเทศ ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจมากขึ้น

รุ่นที่ผมได้มาทดสอบ เรียกว่าเป็นรุ่นดังที่สร้างกระแสร้อนแรงตั้งแต่เปิดตัวนั่นคือ “โอร่า กู้ด แคท” (ORA GOOD CAT) จากค่ายเกรทวอลล์ มอเตอร์ (GWM)

มีทั้งรุ่น 400 PRO และ 500 ULTRA ตัวเลขนี้หมายถึงระยะการวิ่งต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง

รุ่นที่ได้มาทดสอบเป็นรุ่นท็อป 500 ULTRA

 

หน้าตาภายนอกบอกเลยว่าได้อารมณ์ย้อนยุคสุดๆ ออกแบบภายใต้แนวคิด Retro Futuristic ผสมผสานความทันสมัยเข้ากับความคลาสสิค เน้นความโค้งมน

เพราะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจึงไม่จำเป็นต้องมีกระจังหน้าไว้ดักลมเข้าเครื่อง อารมณ์คล้ายๆ รถยนต์เครื่องวางหลังอย่างโฟล์กบีทเทิล หรือรถยุโรปหรูๆ

กันชนหน้ามีการตกแต่งด้วยกรอบโครเมียม มีช่องรับอากาศที่ชายด้านล่างสำหรับช่วยในการไหลเวียนอากาศและระบายความร้อนระบบไฟฟ้า

ไฟหน้า LED เต็มรูปแบบในรูปทรง Cat Eye พร้อม Daytime Running Light แบบวงแหวนและยังเป็นไฟเลี้ยวในตัว มีระบบไฟส่องสว่างหลังดับเครื่องยนต์ Follow Me Home

กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว เก็บไฟฟ้าพร้อมฟังก์ชั่นบันทึกตำแหน่ง

มือจับประตูสีเดียวกับตัวรถ ชายล่างตัวถังเป็นพลาสติกสีดำ มีช่องเสียบปลั๊กชาร์จไฟอยู่ที่บริเวณซุ้มล้อหน้าฝั่งซ้าย

ดีไซน์ท้ายรถโดดเด่นด้วยไฟท้าย LED Bar แถบคาดยาวฝังอยู่ในกระจกบานหลัง ไฟเบรกดวงที่สามแบบ LED สปอยเลอร์ และเสาอากาศครีบฉลาม

ล้ออัลลอยขนาด 18 พร้อมยาง 215/50

 

ส่วนในห้องโดยสาร เป็นโทนสีน้ำตาล-เบจ ซึ่งสีภายในจะผันแปรตามสีภาพนอก โดยมีอีก 2 สีคือ ดำ และเทา-เขียว

ด้านในดูเรียบหรูและย้อนยุคเช่นเดียวกับภายนอก

พวงมาลัยทรง 2 ก้านตกแต่งด้วยขอบโครเมียม พร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่นควบคุมเครื่องเสียง ควบคุมหน้าจอ และระบบ Adaptive Cruise Control

เรือนไมล์แบบดิจิตอลและหน้าจอระบบอินโฟเทนเมนต์เชื่อมต่อเป็นแผงเดียวกันขนาด 17.25 นิ้ว แบ่งเป็นหน้าจอแสดงผลการขับขี่ 7 นิ้ว และหน้าจอระบบมัลติมิเดียระบบสัมผัสขนาด 10.25 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนผ่าน Bluetooth ระบบนำทางเนวิเกเตอร์ เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา

แน่นอนว่ามีระบบคำสั่งเสียงภาษาไทย เปิด-ปิดวิทยุ ระบบแอร์ หรือซันรูฟ ฯลฯ

ลำโพง 6 ตำแหน่ง มีระบบปรับระดับเสียงอัตโนมัติตามความเร็วรถด้วย

ต่ำลงมาเป็นช่องแอร์แถบยาวขนาดเล็ก ลงมาอีกนิดเป็นปุ่มกดอารมณ์คล้ายๆ รถเล็กยอดนิยมของฝั่งยุโรป แต่การปรับระบบต่างๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่หน้าจอ และบนพวงมาลัยมากกว่า

ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติพร้อมระบบกรองฝุ่น PM2.5 มีช่องชาร์จโทรศัพท์ไร้สาย USB 2 ช่องด้านหน้า และด้านหลัง 1 ช่อง มีช่องจ่ายไฟ 12V

เบรกมือไฟฟ้าพร้อมฟังก์ชั่น Hold

ที่แปลกตาอีกอย่างคือเกียร์ไฟฟ้า Electronic Shifter ลักษณะเป็นแป้นหมุนทรงกลม ไม่ต่างจากเพื่อนร่วมค่ายอย่าง “ฮาวาล H6”

เบาะนั่งหนังกลับ แผงประตูด้านข้างจะมีการตกแต่งด้วยหนังบุนุ่มลาย Diamond cut

เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง มีระบบบันทึกตำแหน่งเบาะนั่งของผู้ขับพร้อมระบบ Welcome Seat ระบบบันทึกตำแหน่งเบาะของผู้ขับและกระจกมองข้าง และเบาะนวดไฟฟ้า

 

ถึงเวลาลองขับกันแล้ว เบาะนั่งสบายพอประมาณที่ชอบอีกอย่างคือเมื่อพอกุญแจรีโมตติดตัวสามารถสตาร์ตเครื่องง่ายๆ เพียงเหยียบเบรก 1 ครั้ง ส่วนด้านดับเครื่องมีปุ่มกดให้ หรือถ้าลืมเมื่อออกจากรถและกดล็อก เครื่องจะดับให้อัตโนมัติเช่นกัน

ตามสไตล์รถยนต์ไฟฟ้าที่เสียงเครื่องจะเงียบถึงเงียบที่สุด หากไม่มองเรือนไมล์อาจงงๆ ได้ว่าติดเครื่องหรือยัง

เกียร์ทรงกลมหมุนไปทางขวาเป็นเกียร์ D ตรงกลาง N และหมุนทางซ้ายคือ R ตรงกลางเป็นปุ่มกดเพื่อเข้าเกียร์ P หรือจอด

ขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent magnet synchronous motor กำลังสูงสุด 143แรงม้า แรงบิด 210 นิวตันเมตร ระบบเกียร์ Eletronic Shifter แบตเตอรี่ ลิเธียม Ternary การชาร์จแบบปกติใช้เวลา 10 ชั่วโมง ส่วนถ้าชาร์จเร็วใช้เวลา 40-60 นาที

พิสัยทำการสูงสุด 500 กิโลเมตร

หลังเข้าเกียร์เดินหน้ากดคันเร่งเบาๆ รถพุ่งวาบออกไปไม่ถึงกับหลังติดเบาะ แต่มาเร็วพอสมควร

โหมดขับขี่มี 5 แบบ มาตรฐาน, eco, eco+, sport และอัตโนมัติ

ตอนแรกใช้แบบมาตรฐานไปก่อน ตามด้วย eco แต่พบว่าแอร์ทำงานไม่เต็มที่เท่าไหร่ สรุปแล้วผมชอบโหมด sport มากสุด แม้จะเปลืองพลังงานบ้างแต่ขับสนุกกว่าโหมดอื่นๆ เยอะ

เช่นเดียวกับพวงมาลัยตั้งได้ 3 โหมดเช่นกัน ที่ใช้บ่อยคือมาตรฐาน และ sport เพราะอีกโหมดรู้สึกเบาไปหน่อย

หลักๆ ผมใช้แค่ 2 โหมดนี้ มาตรฐาน จะใช้เวลาอยู่ในเมือง ส่วน sport เวลาวิ่งทางไกลและใช้ความเร็วสูง

 

อัตราเร่งช่วงต้นอาจไม่เร็วมากนักหากมองว่านี่คือรถยนต์ไฟฟ้า ที่ปกติต้องจี๊ดจ๊าดกว่านี้ ส่วนความเร็วกลาง-ปลายทันใจอยู่พอสมควร

กดหนักแบบมิดคันเร่งเมื่อได้จังหวะถนนโล่งๆ ความเร็ววาดขึ้นไปเรื่อยๆ จนปริ่ม 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงสุด

แค่นี้ก็แปลกใจแล้วเพราะตามสเป๊กความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 152 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจตั้งสเป๊กต่ำไว้ก่อน เอาเป็นว่าได้เกินสเป๊กแล้วกัน

ช่วงล่างออกแนวสปอร์ตคือแข็งนิดๆ หากใครไม่ชอบอาจต้องดูลมยางนิดหนึ่ง

การกระชากเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูง มีวูบๆ อยู่บ้าง แต่ถ้าความเร็วทั่วๆ ไป ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง รับมือได้สบาย เช่นเดียวกับการเข้าโค้งไม่มีปัญหา

ระบบช่วงล่างด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม พร้อมเหล็กกันโคลง

ที่ชอบเป็นพิเศษคือตัวช่วยต่างๆ ให้มาไม่น้อยหน้า “ฮาวาล H6” แต่ที่ถูกใจคือระบบช่วบควบคุมให้อยู่ในเลน รู้สึกพวงมาลัยขยับไปมาน้อยกว่าเพื่อนร่วมค่าย

อื่นๆ มีอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันตามรถคันหน้า พร้อมระบบช่วยเข้าโค้งอัจฉริยะ แต่คนขับต้องคอยประคองพวงมาลัยไว้ด้วย

ระบบช่วยเบรกเมื่อมีรถอยู่ในมุมอับสายตาขณะถอยหลัง

ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินที่ความเร็วต่ำ

ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ 3 รูปแบบ ทั้งเข้าซอง แบบทะแยง หรือจอดขนานฟุตปาธ ฯลฯ

เป็นรถเล็กน่ารัก น่าชัง แถมตอนนี้เข้ากับยุคน้ำมันแพงอย่างดี

“โอร่า กู้ด แคท” มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ราคา 989,000-1,199,000 บาท •