‘Book Journey’ ภาพถ่าย หนังสือ กับการเดินทางของ พิชัย แก้ววิชิต / รายงานพิเศษ : กรกฤษณ์ พรอินทร์

รายงานพิเศษ

กรกฤษณ์ พรอินทร์

 

‘Book Journey’

ภาพถ่าย หนังสือ กับการเดินทาง

ของ พิชัย แก้ววิชิต

 

กลับมาอีกครั้งกับงานหนังสือที่นักอ่านทั้งประเทศรอคอย “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-6 เมษายน 2565 ณ สถานีกลางบางซื่อ

ในงานนี้ สำนักพิมพ์มติชน ชักชวน “พิชัย แก้ววิชิต” ช่างภาพสไตล์มินิมอลอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและคอลัมนิสต์ “เอกภาพ” จากนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ พร้อมเดินหน้าลุยภายใต้ธีม “Book Journey” ตีความการเดินทางของหนังสือผ่านภาพถ่ายของเขา ที่บูธมติชน A16

ต้อนรับมิตรรักนักอ่านที่ห่างหายกันไปนาน ให้กลับมาคึกคักกับการเลือกช้อปหนังสือกันอีกครั้ง

 

Matichon X Phichai โปสเตอร์บูธสำนักพิมพ์มติชน A16 กับธีม “Book Journey” ที่ พิชัย แก้ววิชิต รับหน้าที่เป็นศิลปินประจำปีนี้

จุดเริ่มต้นของภาพถ่ายสไตล์มินิมอลของตนเองนั้น พิชัยเล่าว่า เริ่มต้นจากการที่ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยว เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว บวกกับการมีอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์อยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ พออยากจะถ่ายรูปสักครั้งก็มีปัญหา เพราะไม่รู้จะไปถ่ายอะไร กรุงเทพฯ ก็มีแต่ตึก มีแต่สายไฟ มีแต่รถติด

แต่เคยมีคนพูดว่าการถ่ายภาพเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง พิชัยได้ยินเช่นนั้นจึงคิดต่อว่า ศิลปะมาจากเส้น รูปร่าง รูปทรง แสงเงา สีสัน ซึ่งหากสังเกตดีๆ สิ่งพวกนี้อยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว แต่เราอาจจะมองข้ามไปด้วยการมองเป็นตึก มองเป็นประตูหน้าต่าง แต่ถ้าเกิดเรามองสิ่งที่อยู่รอบตัวเราว่ามันเป็นองค์ประกอบศิลปะแล้วจัดคอมโพสต์ในแบบที่เรารู้สึกมันจะเป็นอย่างไร นี่จึงเป็นที่มาของภาพถ่ายสไตล์มินิมอลอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา

ความหมายของคำว่ามินิมอลสำหรับพิชัยคือความเรียบง่าย และวิธีคิดในการถ่ายภาพของเขาเริ่มต้นมาจากลายเส้นเรขาคณิตและการจัดวางองค์ประกอบภาพ เช่น สมมุติว่าเราไปทะเล เราก็อาจจะเน้นที่เส้นแนวนอนของขอบฟ้ากับทะเล ที่เป็นเส้นแนวนอนแบบเรขาคณิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่แล้วในธรรมชาติ แต่อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นมันอย่างไร หรือแม้กระทั่งการถ่ายภาพคน ถ้ามองดีๆ โครงสร้างของคนแต่ละคนนั้นก็ยังมีลักษณะเป็นเส้น อยู่ที่ว่าช่างภาพจะจัดวางองค์ประกอบอย่างไร

 

พิชัย แก้ววิชิต

พิชัยเปิดเผยว่า เมื่อรู้ตัวว่าถูกทาบทามให้มาเป็นศิลปินประจำบูธมติชน A16 ใน “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20” ก็รู้สึกตื่นเต้น และรู้สึกท้าทายที่ตนได้รับโอกาสเหมือนศิลปินชื่อดังคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น อเล็กซ์ เฟซ หรือซันเต๋อ ที่ได้รับเสียงตอบรับจากนักอ่านที่มาเยี่ยมชมบูธอย่างล้นหลาม

สำหรับธีม “Book Journey” ของบูธมติชน A16 ที่สถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้ พิชัยตีความว่าเป็น “การเดินทางผ่านหนังสือ” ที่มีความหลากหลาย ไม่ต่างจากสถานีรถไฟที่รวบรวมหนังสือมากมายเอาไว้ให้คนเลือกอ่าน

และการเดินทางครั้งนี้ ผู้อ่านสามารถเลือกสรรการเดินทางได้มากมาย อยู่ที่ว่าตั้งใจจะมุ่งหน้าไปที่ไหน ผ่านหนังสือที่เลือกอ่านแทนตั๋วโดยสารเพื่อไปยังสถานีปลายทาง

ภาพถ่ายบางส่วนกับธีม Book Journey ที่ พิชัย แก้ววิชิต รับหน้าที่เป็นศิลปินประจำบูธให้สำนักพิมพ์มติชน
ภาพถ่ายบางส่วนกับธีม Book Journey ที่ พิชัย แก้ววิชิต รับหน้าที่เป็นศิลปินประจำบูธให้สำนักพิมพ์มติชน

สำหรับขั้นตอนการทำงานนั้น พอรู้ว่าจะต้องมาถ่ายภาพสถานีกลางบางซื่อให้กับทางมติชน พิชัยได้เข้าไปดูว่าอาคารของสถานีมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งข้างในและข้างนอกอาคาร บวกกับสภาพแวดล้อมของชุมชนข้างนอกรอบๆ แล้วก็ทดลองใช้งานดูว่าแตกต่างกันยังไงบ้างกับการเดินทางด้วยรถเมล์หรือมอเตอร์ไซค์ตามปกติของตน เพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจต่อสถานที่จัดงานหนังสือในครั้งนี้ให้มากที่สุด

ในคอนเซ็ปต์นี้ ใช้เวลาทำงานประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในการออกไปถ่ายภาพสถานีกลางบางซื่อให้ตรงกับธีม “Book Journey” ตามโจทย์ของมติชนที่สุด ซึ่งตอนที่ออกไปถ่ายรูปไม่ได้มีการวางแผนไว้เลยว่าจะถ่ายอะไรกลับมา เพราะว่าทุกๆ ที่ที่จะถ่าย มักจะมีบุคลิกของตนเอง ซึ่งการทำงานครั้งนี้ทำให้ได้เจอสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

 

ภาพวัดอรุณฯ ภาพถ่ายภาพแรกที่พิชัยถ่ายและโพสต์ลงใน Instagram ส่วนตัว จนเป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพ

การทำงานครั้งนี้ ทำให้พิชัยนึกถึงภาพวัดอรุณฯ ซึ่งเป็นภาพถ่ายภาพแรกที่ถ่ายและโพสต์ลงใน Instagram ส่วนตัว หลังจากตัดสินใจว่าจะเข้าไปในโลกออนไลน์อย่างเต็มตัวและได้เปลี่ยนชีวิตจากวินมอเตอร์ไซค์มาเป็นช่างภาพที่มีคนรู้จักระดับประเทศ ว่าหากนับจากวันนั้นถึงวันนี้ ตนเองได้เดินทางมาไกล ไม่ต่างอะไรกับการเดินทางของสถานีกลางบางซื่อที่รับส่งผู้คน หรือธีม “Book Journey” ที่เป็นการเดินทางผ่านหนังสือ

ภาพถ่ายบางส่วนกับธีม Book Journey ที่ พิชัย แก้ววิชิต รับหน้าที่เป็นศิลปินประจำบูธให้สำนักพิมพ์มติชน
ภาพถ่ายบางส่วนกับธีม Book Journey ที่ พิชัย แก้ววิชิต รับหน้าที่เป็นศิลปินประจำบูธให้สำนักพิมพ์มติชน

พิชัยขยายความว่า หากนับความสำเร็จในชีวิตจริงๆ ถือวันที่ได้ออกไปถ่ายรูปวันแรกคือวันที่ประสบความสำเร็จที่สุด เพราะในวันนั้น ได้พบว่าตนเองรักศิลปะจนได้ออกไปถ่ายรูปในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นมา ในแบบที่ว่าฉันเป็นแบบนั้นจริงๆ ฉันไม่ใช่วินมอเตอร์ไซค์ แต่ว่าเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีตัวตนนี้อยู่จริง

นี่คือการค้นพบตนเองจากการเดินทางภายในที่สำคัญที่สุดพิชัยบอกว่าประเมินค่าไม่ได้

มีคนเคยพูดให้พิชัยฟังว่า เขาเป็นตัวอย่างของผู้คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณของตนเอง ไม่ได้ขับวินเพื่อเป็นวินมอเตอร์ไซค์ แต่ว่าขับวินมอเตอร์ไซค์เพราะว่าต้องหาเงิน แต่ตัวตนที่อยู่ในจิตวิญญาณของเขา เขาได้ปลดปล่อยมันออกมา ผ่านการถ่ายภาพ

พิชัยย้ำว่า หากมีความรู้สึกเช่นนั้น เราอย่าไปกด อย่าไปเหยียบย่ำความรู้สึกเหล่านั้นไว้อยู่ข้างใน เพราะมันเป็นการดูแคลนความเป็นมนุษย์ของเรา มันเป็นการกดขี่ตัวเองอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ดังนั้น การด้อยค่าตัวเองมันจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราเข้าใจตัวเราจริงๆ และหากเรานำศิลปะมารับใช้สังคมจริงๆ สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น มันจะมีรสนิยมมากขึ้น มันจะไม่แข็งกระด้าง

พิชัย แก้ววิชิต ขณะถ่ายภาพสถานีกลางบางซื่อ

ในฐานะเจ้าของคอลัมน์ “เอกภาพ” พิชัย แก้ววิชิต ฝากข้อความถึงนักอ่านของเขาว่า ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนักเขียนเลยจนทางนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ให้โอกาส และพบว่า ระหว่างทางที่เขียนคอลัมน์นี้มันเป็นการสอนตนเอง ตัวงานมันสอนเองว่า ไม่ใช่เราทำงานเพราะว่างานเป็นงาน แต่งานมันจะสอนให้เราเป็นเรา

อยากให้ติดตามอ่านกัน อาจจะมีเนื้อหาที่ดีบ้างหรือไม่ดีบ้าง เป็นเรื่องปกติของสามัญชนคนธรรมดาที่เขียนหนังสือ ซึ่งอาจไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ทุกตอนที่นำเสนอ ให้คิดว่ามันเป็นเรื่องเล่าของคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไป แล้วอยากให้มองว่าเป็นการติดตามพัฒนาการจากคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน เหมือนเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

และนี่ก็คือถ้อยคำของพิชัย แก้ววิชิต ศิลปินประจำปีแห่งบูธมติชน A16 ใน “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-6 เมษายน 2565 ณ สถานีกลางบางซื่อ •