เมื่อยุโรปร่วมขยับปมอุยกูร์/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

เมื่อยุโรปร่วมขยับปมอุยกูร์

 

ในช่วงที่จีนกำลังสร้างชื่อตัวเองกับกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม แต่จีนก็ไม่ถูกใจหากความภาคภูมิใจของตัวเองกำลังถูกอัปเปหิจากนานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกที่จู่ๆ หยิบยกประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอุยกูร์มาเป็นประเด็นจนนำไปสู่การคว่ำบาตรทางการทูต

สำหรับเรื่องนี้ในสายตาจีนหรือคนที่สนับสนุนจีน จะมองว่าไม่เหมาะสมที่เอาเรื่องที่มีแรงจูงใจทางการเมืองมาแปดเปื้อนกีฬา

แต่การที่รัฐบาลหลายประเทศประกาศจุดยืนไม่ส่งผู้แทนรัฐบาลร่วมพิธีเปิด ก็ทำให้จีนรู้สึกเหมือนถูกดูถูก แม้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง แต่ปริมาณข้อมูลและเรื่องราวน่าตกใจของการล่วงละเมิดอย่างเป็นระบบออกสู่สาธารณชนและประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงมากขึ้น ก็ยากที่จะพยายามทำให้เรื่องนี้เงียบลง

ตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องที่นำไปสู่มาตรการอีกระดับ เรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกแล้ว

 

ก่อนหน้านี้ หลายชาติก็ได้ประกาศคว่ำบาตรแบบเจาะจงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ จากกรณีค่ายกักกันขนาดใหญ่ที่จับชาวอุยกูร์กว่าล้านคนไว้ข้างใน และระบบกลืนกลายวัฒนธรรมชาวอุยกูร์แบบบังคับให้กลายเป็นพลเมืองของจีนที่เลื่อมใสและศรัทธาอุดมการณ์ของรัฐ ในนามการเข้าระบบการศึกษาใหม่

จนกระทั่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ ได้พูดในอีกระดับว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยเริ่มที่สหรัฐก่อนเป็นชาติแรก

แม้จีนจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ทุกครั้งที่มีคนพูดขึ้นมา แต่การนิยามว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” หรือ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” กลับค่อยๆ มีประเทศประกาศเป็นมติสำคัญเพิ่มขึ้น

ล่าสุดฝรั่งเศสโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแบบไม่ผูกมัด เห็นชอบ 169 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง ให้ประณามการกระทำของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์อย่างเป็นระบบ และถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นการแสดงจุดยืนก่อนที่กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวจะเกิดขึ้นเพียงสัปดาห์เดียว

มตินี้ถูกเสนอโดยพรรคสังคมนิยม ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายและเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ของฝรั่งเศส ก่อนที่พรรคอองซ์มาร์ช ซึ่งพรรครัฐบาลของเอ็มมานูเอล มาครง จะผลักดันนำไปสู่การลงมติ

โอลิเวียร์ เฟลอร์ หัวหน้าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ได้กล่าวก่อนลงมติว่า จีนถือเป็นชาติใหญ่ที่สำคัญของโลก เราต่างให้ความเคารพพวกเขา แต่ก็กลับหลงด้วยคำลวงที่อาศัยความกลัวและผลประโยชน์ของเรา เพื่อสามารถกระทำการละเมิดได้อย่างอุกอาจกลางวันแสกๆ

นอกจากนั้น เฟลอร์ยังบรรยายถึงค่ายกักกันชาวอุยกูร์กว่าล้านคน การซ้อมทรมาน ไปจนถึงการค้าอวัยวะในตลาดมืดที่มีจากชาวอุยกูร์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสหลีกเลี่ยงที่จะใส่คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เพราะเป็นศัพท์ทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องอยู่ที่การพิจารณาของคณะตุลาการ

นอกจากฝรั่งเศส ยังมีประเทศก่อนหน้าที่ออกมาแสดงจุดยืนลงมติประณามหรือเรียกการกระทำของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์ อย่างสหรัฐที่เริ่มเป็นประเทศแรก ตามด้วยแคนาดา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ส่วนเบลเยียมและอิตาลี ให้ลงมติประณามการละเมิดสิทธิ แต่ใม่ใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

เมื่อมีมติเช่นนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน โดยจ้าว หลี่เจียง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า เป็นการกระทำที่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างไร้ยางอาย

เช่นเดียวกับสถานทูตจีนประจำฝรั่งเศสก็ออกมาตอบโต้มติดังกล่าว ว่าการลงมติที่ไร้ตรรกะ

ท่าทีของสมาชิกสภาพฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลังจากที่สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาท่าทีต่อไป หลังจากจีนออกมาตอบโต้ลิทัวเนียด้วยการงดการนำเข้าสินค้าหลังจากยกระดับความสัมพันธ์ไต้หวันในฐานะประเทศเอกราช ไม่ใช่มณฑลหนึ่งของจีน และกรณีการปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง

นอกจากนั้น มาครงยังเสนอต่อที่ประชุมสภายุโรปในการพิจารณางดการนำเข้าสินค้าที่ใช้แรงงานบังคับชาวอุยกูร์ด้วย

 

ประเด็นชาวอุยกูร์ นอกจากมีประเทศที่ออกมาแสดงจุดยืนมากขึ้น ในระดับระหว่างประเทศ องค์การสหประชาติก็ขยับเรื่องนี้หลังจากพยายามมานานหลายปี โดยอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า เขา “ตั้งใจแน่วแน่” ว่าข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น (มิเชลล์ บาเชเล็ต) ควรเยือนเขตปกครองตนเองซินเจียงได้อย่าง “น่าเชื่อถือ”

“เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของจีน ถ้าพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ทำในสิ่งที่ผู้คนกล่าวหาว่าพวกเขาทำ นี่ก็เป็นผลประโยชน์ของจีนที่จะได้ไปเยือนข้าหลวงใหญ่อย่างน่าเชื่อถือ และเราจะทำทุกอย่าง เราทำให้แน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้น” กูเตอร์เรสกล่าว และว่า “ถ้ามันไม่เกิดขึ้น แน่นอนว่าข้าหลวงใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินใจที่สอดคล้องกับหน้าที่ของเธอ”

ด้านบาเชเล็ตก็กล่าวเมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ตามรายงานของเดอะการ์เดี้ยนว่า คณะตรวจสอบนำโดยบาเชเล็ตจะเดินทางเยือนจีนรวมถึงซินเจียงในเดือนพฤษภาคม หลังพยายามเจรจากับจีนมานานถึง 3 ปี ซึ่งทางการจีนก่อนหน้านี้กล่าวว่าเป็นการเดินทางพูดคุยแลกเปลี่ยน ไม่ใช่มาสอบสวน

บาเชเล็ตกล่าวว่า “ฉันยินดีที่จะประกาศว่าเราได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลจีนในการเยือนจีนแล้ว” โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่กับรัฐบาลจีนจะเตรียมที่เป็นรูปธรรมสำหรับการเดินทางเยือนในเดือนพฤษภาคม โดยทีมงานล่วงหน้าจะเตรียมการสำหรับตน ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด โดยพวกเขาจะเดินทางไปจีนในเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ กระบวนการสืบสวนเรื่องถูกกำหนดชัดเจนแล้ว แต่ในความคืบหน้าของการสืบสวนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน โลกได้เข้าสู่วังวนของสงคราม เมื่อกองทัพรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ พลังการทำลายล้างของอาวุธรัสเซียได้สร้างความเสียหายให้กับหลายเมืองในยูเครน ทำให้ชาวยูเครนกว่า 2 ล้านต้องลี้ภัยสงคราม ไปอยู่ประเทศข้างเคียง กลายเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ของยุโรปในศตวรรษที่ 21

จีนในฐานะมิตรประเทศกับรัสเซีย นอกจากเผชิญปมละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็กำลังอยู่ในจุดที่วางตัวยากที่สุดในการเมืองโลกตอนนี้ด้วย