คำ ผกา | ประชาธิปไตยไม่มาปัญญาไม่เกิด

คำ ผกา

อยู่กับรัฐบาลภายใต้ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนจะเข้าปีที่แปด และต่อให้ไม่มียุบสภา มันก็ใกล้จะถึงการเลือกตั้งต่อไปเต็มที

และฉันเริ่มเห็นสูตรสำเร็จการตอบคำถามต่อสังคมของทั้งตัวประยุทธ์ และหลายรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะชี้แจงได้แต่เพียงว่า

– นายกฯ รับทราบปัญหาแล้วและได้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิดและแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด (แต่ไม่เคยขยายความว่า เข้าใจปัญหานั้นอย่างไร สั่งการใคร สั่งการอะไร?)

– บางปัญหา เช่น หมูแพง ผักชีแพง น้ำท่วม ประยุทธ์มักจะเสนอทางออกปัญหาว่า ให้ทหารเอาหมูมาขาย, ให้ค่ายทหารปลูกผักชี แล้วเอามาขายประชาชนในราคาถูกกว่าท้องตลาด, ให้ทหารไปช่วยน้ำท่วม, ให้ทหารไปฉีดน้ำไล่ฝุ่น pm 2.5 หรือล่าสุดจะเอาทหารไปรับสาย 1330 ของ สปสช. เรื่องการทำ Home isolation

– หลายๆ ปัญหา ประยุทธ์จะอธิบายว่า นายกฯ และรัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว (แต่ไม่ได้บอกว่ พยายามอย่างไร พยายามทำอะไร) แต่นายกฯ และรัฐบาลไม่สามารถทำให้คนทั้งประเทศพอใจได้ เพราะคนมีหลายสิบล้านคน ความต้องการไม่เหมือนกัน จะให้ทุกคนพอใจเหมือนกันหมดเป็นไปไม่ได้ และทั้งหมดนี้ รัฐบาลและนายกฯ ทำงานหนักมาก ไม่เคยพักเลย (เราก็อยากจะบอกว่า เราไม่สนใจว่าทำงานมากหรือน้อย เราสนใจว่าทำงานได้ผลไหม คนบางคนอาจทำงานนิดเดียวแต่มีผลลัพธ์มหาศาล คนบางคนทำเยอะ แต่ทำแล้วไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น เรียกอีกอย่างว่าขยันแต่โง่ ทำทิ้งทำขว้าง ทำแล้วเหนื่อยเปล่าๆ ปลี้ๆ) ดังนั้น จึงอยากขอร้องให้ประชาชนช่วยหลือรัฐบาลบ้าง อย่าเอาแต่บ่น อย่าเอาแต่ด่า

ซึ่งประชาชนฟังแล้วก็งงว่า จะให้ประชาชนช่วยอะไรวะ?

ประชาชนก็ทำหน้าที่ของประชาชนอยู่แล้วคือ ทำงาน เสียภาษี มีชีวิตภายใต้กฎหมาย กติกา ใช้สติปัญญาความสามารถไปในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลทำงานดีขึ้น ไม่ผลาญภาษีของเราทิ้งไปวันๆ

นี่แหละที่เรียกว่า การช่วยรัฐบาล ช่วยประเทศชาติ

ตรงกันข้าม ประยุทธ์ชอบคิดว่า การเชียร์ และอวยประยุทธ์ เท่ากับการช่วยชาติ ช่วยรัฐบาล ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

– ล่าสุด ประยุทธ์และรัฐบาลจะปัดความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ด้วยการบอกว่า เป็นปัญหาอันเกิดจากปัจจัยภายนอก (ดังนั้น รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่บกพร่อง ก็อยากจะอธิบายว่า เออ หน้าที่ของรัฐบาลคือ แก้ไขปัญหาทุกปัญหาให้เต็มความสามารถ ไม่เกี่ยวว่าปัญหานั้นเกิดจากความบกพร่องของคุณมึงหรือไม่ จะเป็นปัญหาเกิดมาจากดาวอังคาร ถ้าคุณมึงเป็นรัฐบาล คุณมึงมีหน้าที่ก้มหน้าก้มตาแก้ปัญหานั้นโดยไม่มีข้อยกเว้น) ก่อนโควิดก็อ้างว่า เศรษฐกิจแย่เพราะสงครามการค้า จีน อเมริกา พอมีโควิดก็อ้างโควิด

หมดโควิดก็อ้างการสู้รบที่เกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

สุดท้ายที่พีกมากของวิสัยทัศน์ทั้งนายกฯ และ รมว.พลังงานคือ ให้ประชาชน “ช่วยกันประหยัด” และระลึกอยู่เสมอว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ประยุทธ์และสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อาจจะไม่รู้ แต่คนไทยทั้งประเทศรู้ว่า การสอนให้คนประหยัดนั้น เป็นคำสอนที่เราเสนอกันในบ้าน ในครัวเรือน เป็นวิถีปฏิบัติระดับปัจเจกบุคคล เราประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ เพราะเราไม่อยากเสียค่าน้ำ ค่าไฟแพง เงินทองหายาก เราต้องช่วยกันประหยัด เสื้อผ้าใหม่ๆ เลิกซื้อ ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ เท่าที่มีไปก่อน เก็บเงินไว้สำหรับเรื่องที่จำเป็น ฯลฯ

เหล่านี้เป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตที่คนทั่วไปรู้และเข้าใจดี แต่จะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่อง

ทว่า ในระดับโครงสร้างและการบริหารประเทศภายใต้งบประมาณหลายล้านล้านบาทนั้น เราต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์และมีสติปัญญามากกว่านี้

และคงไม่เป็นเกินเลย ถ้าฉันจะบอกว่า การแก้ปัญหาระดับชาติด้วยการบอกให้ประชาชนประหยัดนั้นแสดงให้เห็นว่าผู้พูดไม่มีทั้งสติ ปัญญา และสมอง

ถึงวันนี้สังคมคงต้องตาสว่างกันบ้างว่า การเตรียมความพร้อมให้ประเทศในการรับมือกับสงครามนั้น ไม่ใช่การซื้ออาวุธโครมๆ

ไม่ใช่การซื้อเรือดำน้ำ (ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีเครื่องยนต์หรือไม่)

ไม่ใช่แค่การอัพเดตรุ่นของอากาศยานต่างๆ ให้ทันสมัยอย่างเดียว แต่การเตรียมความพร้อม และการสร้างประเทศให้เข้มแข็งนั้นประกอบไปด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมในหลายมิติไปพร้อมๆ กัน

และการเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศของเราพึ่งตนเองได้ทางพลังงานเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่ราคาน้ำมันโลกขยับที แผ่นดินไทยก็ลุกเป็นไฟที

ประเทศที่มีความมั่นคงคือประเทศที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่ภายนอกนั้น นอกจากเราจะสามารถดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้ว เรายังเป็นประเทศที่สามารถยื่นมือไปโอบอุ้มช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย

นี่คือนิยามของคำว่า “ความมั่นคงของประเทศ”

สิ่งที่ขาดหายไปในมิติของการบริหารจัดการเมืองไทยคือตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว เราควรพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานจำน้ำมัน

ยิ่งเรามีพลังงานทางเลือกมากเท่าไหร่ ชะตากรรมของเราก็ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางพลังงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

พูดภาษาชาวบ้านคือกระจายความเสี่ยง

นอกจากกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพิงพลังงานมาสู่พลังงานทางเลือก ประเทศที่ผู้นำมีสติปัญญาย่อมพยายามและลงทุนอย่างหนักกับการสร้างขนส่งมวลชนสาธารณะ ทั่วประเทศ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และนั่นคือการใช้พลังงานอย่าง “คุ้มค่า” นั่นเอง

ที่สำคัญผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จะไม่ใช้คำว่า “ประหยัด” แต่ใช้คำว่า “คุ้มค่า” เพราะคำว่าประหยัดอาจเป็นความเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ประหยัดเรื่องเล็กแต่ไปเสียหายเรื่องใหญ่

การวางแผนเรื่องพลังงานต้องอยู่บนโจทย์ของความ “คุ้มค่า” ใช้พลังงานน้อยลง แต่คุณภาพชีวิตไม่น้อยลงตาม ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้น เราไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านที่อากาศร้อน เพียงเพราะเราประหยัดไฟเลยปิดแอร์

แต่นโยบายของการบริหารพลังงานที่ฉลาดคือ ทำอย่างไรประชาชนยังอยู่บ้านที่น้ำไหล ไฟสว่าง อากาศไม่ร้อนเกิน ไม่หนาวเกิน ขณะเดียวกันก็ไม่เผาผลาญพลังงานให้เป็นภาระแก่โลกและสิ่งแวดล้อม

การลงทุนกับผังเมือง การสร้างพื้นที่สีเขียว การลดปริมาณรถยนต์ รถบรรทุก การสร้างแรงจูงใจให้โรงงานทั้งเล็กและใหญ่ออกแบบโรงงานให้เป็นโรงงานสีเขียว เป็นสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรการทางภาษี การออกแบบเมืองให้เดินได้ ปั่นจักรยานได้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกันกับการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน

การทำ public housing หรือบ้านการเคหะของรัฐ ที่สมัยนี้อาจเป็นอพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ ให้คนผู้มีรายได้น้อยในราคาถูกไปพร้อมๆ กับการออกแบบอาคารเหล่านี้ให้เป็นต้นแบบของอาคาร “สีเขียว” มีระบบเก็บน้ำฝนไว้ใช้งาน รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาด แทนการใช้น้ำประปา

ตึกถูกออกแบบมาให้อากาศถ่ายเท มีต้นไม้เยอะ อากาศไม่ร้อน คนไม่ต้องเปิดแอร์โดยไม่จำเป็น เป็นอาคารสาธิตการใช้พลังงานทางเลือก ออกแบบไฟ ไลต์ติ้งให้สวยงาม โดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์

คนไทยก็จะได้เรียนรู้ว่า ดวงไฟไม่จำเป็นต้องสว่างจ้าไปทุกหนทุกแห่ง ความงามมาพร้อมกับการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด

นี่เป็นตัวอย่างเล็กจิ๋วที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเรามีรัฐบาลที่ “คิดเป็น” เราจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคง เพราะในเมื่อเราสร้างความหลากหลายในการพึ่งพิงโลกภายนอก เวลาที่โลกภายนอกมีความผันผวน เราก็อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เศรษฐกิจเราพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยว – นั่นแปลว่า ชีวิตของเราถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกเกือบทั้งหมด

เรื่องพลังงาน เราพึ่งปัจจัยภายนอกร้อยละร้อย แถมยังเป็นพลังงานน้ำมันโดยไม่มีตัวเลือกของพลังงานทางเลือกอื่นใดเลย

สุขภาพ เราพึ่งพิงยาและวัคซีนจากภายนอกเกือบทั้งสิ้น

เทคโนโลยี แม้แต่รถยนต์สักคนเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง

อาหาร เราเป็นผู้ผลิตอาหาร แต่เราไม่เคยกำหนดราคาผลผลิตของเราได้ และอิงอยู่กับความผันผวนของโลกตลอดมา

ไล่เรียงมาแค่นี้ก็จะเห็นว่า เราเป็นประเทศที่ไม่มีความมั่นคงแม้แต่น้อยนิด และเรือดำน้ำอีกกี่ลำก็ช่วยเราไม่ได้ แค่เยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ให้จีนเราก็ใบ้รับประทานแล้ว

มีแต่รัฐบาลพลเรือนเท่านั้นที่คิดนโยบายความมั่นคงอันอยู่นอกปริมณฑลของกองทัพ

แต่เรื่องที่น่าเสียดายคือ เราไม่เคยอนุญาตให้รัฐบาลพลเรือนได้ทำงานอย่างต่อเนื่องเกิน 12 ปี แม้แต่ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของเรา

คิดดูเถอะว่าใครคือผู้บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติที่แท้จริง?