นักสร้างบทสนทนากับสังคมด้วยโครงการศิลปะสาธารณะ Giacomo Zaganelli / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

นักสร้างบทสนทนากับสังคม

ด้วยโครงการศิลปะสาธารณะ

Giacomo Zaganelli

 

ในตอนนี้เราขอกลับมานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินที่เข้าร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021 ที่จังหวัดนครราชสีมา ผู้มีผลงานโดดเด่นน่าจับตาอีกคน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า จิอาโคโม ซากาเนลลี (Giacomo Zaganelli)

ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และนักบริหารจัดการวัฒนธรรม จากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ผู้ทำงานศิลปะในหลากสื่อสาขา และมุ่งเน้นความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม สังคม และชุมชน

Giacomo Zaganelli, ภาพถ่ายโดย Silvia Piantini

ซากาเนลลีมักสำรวจประเด็นเกี่ยวกับสังคมและการเข้าไปมีส่วนร่วมกับพื้นที่สาธารณะ

เขาพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่, ท้องถิ่น และชุมชนที่เขาเข้าไปทำงานในแต่ละแห่ง

ผลงานของเขาถูกทำขึ้นทั้งในรูปแบบของโครงการขนาดใหญ่บนพื้นที่สาธารณะ, นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์หรือพื้นที่ทางศิลปะต่างๆ หรือแม้แต่โครงการวิจัยในรูปแบบดิจิตอล, การจัดประชุม, สัมนา, เวิร์กช็อป ไปจนถึงการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างหนังสือต่างๆ

ซากาเนลลีทำงานด้วยแนวคิด “Collective and Community” ด้วยการเข้าไปใช้สอยพื้นที่รกร้างว่างเปล่า, ภูมิประเทศ หรือทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ และสร้างให้กลายเป็นโครงการศิลปะ ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้, ทำกิจกรรม หรือสถานที่พักผ่อนในเชิงวัฒนธรรม

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลงานของเขาแตกต่างไปจากงานศิลปะตามขนบทั่วๆ ไป ที่นำเสนอผลงานให้ดูชมด้วยสายตาแต่เพียงอย่างเดียว

หากผลงานของเขามักเป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ เวลา ผู้คน ชุมชน และสังคม ด้วยความเชื่อว่า พรมแดนระหว่างศิลปะกับชีวิตนั้นไม่อาจแยกขาดจากกันได้

 

N.A.T.P.L.E_NON A TUTTI PIACE L’ERBA (2008)

ผลงานที่ทำให้ซากาเนลลีเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นครั้งแรกๆ ก็คือ N.A.T.P.L.E_NON A TUTTI PIACE L’ERBA (2008) โครงการศิลปะสาธารณะ บนจัตุรัสลาร์โก อันนิโกนี (Largo Annigoni) กลางเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี

ในผลงานชิ้นนี้ ซากาเนลลีเข้าไปเปลี่ยนภูมิทัศน์ของพื้นที่สาธารณะอย่างจัตุรัสลาร์โก อันนิโกนี ด้วยการปูสนามหญ้าขนาด 2,000 ตารางเมตรบนนั้น เพื่อให้คนในเมืองได้เข้าไปนั่ง (หรือนอน) พักผ่อน สังสรรค์ และทำกิจกรรมต่างๆ บนจัตุรัสแห่งนี้ แทนที่จะใช้เป็นแค่เส้นทางเดินผ่านไปผ่านมาตามปกติ

นอกจากอาสาสมัครจำนวนสี่สิบคนที่ซากาเนลลีเกณฑ์ช่วยกันมาสร้างผลงานชิ้นนี้แล้ว คนที่เดินผ่านไปผ่านมาในละแวกนั้นก็เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันปูสนามหญ้าบนลานกว้างของจัตุรัส จนแล้วเสร็จในเวลาแค่เพียงคืนเดียว

โครงการศิลปะสาธารณะครั้งนี้ของเขา ไม่เพียงเปลี่ยนภูมิทัศน์ของจัตุรัสที่เคยแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวอันสดชื่นเท่านั้น

หากแต่ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้คนในเมืองนี้เล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่แห่งนี้ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองมองข้ามและเดินผ่านไป โดยไม่รู้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง

N.A.T.P.L.E_NON A TUTTI PIACE L’ERBA (2008) (ซ้าย) ก่อนปูสนามหญ้า (ขวา) หลังปูสนามหญ้า

ด้วยกิจกรรมธรรมดาสามัญ อย่างการปูสนามหญ้าบนพื้นที่ธรรมดาๆ ที่คนเคยมองผ่าน ซากาเนลลีปลุกให้ชุมชนแห่งนี้มองเห็นความเป็นไปได้และความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา

“ทุกวันนี้ สิ่งต่างๆ รอบตัวเราถูกครอบงำด้วยระบบบริโภคนิยม คุณต้องจับจ่ายซื้อหาแทบทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณนัดพบเพื่อนๆ คุณก็ต้องนัดที่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านกาแฟ, แต่ผมต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริงๆ ในโครงการนี้ ผมสร้างจัตุรัสที่ผู้คนเข้ามารวมตัว, พบปะ, พูดคุยกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย, แนวคิดของผมคือการแบ่งปันและสร้างพื้นที่ที่ผู้คนเข้าไปใช้ได้ฟรีๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เกิดแง่มุมและความเป็นไปได้อันหลากหลายด้วย”

จะว่าไป ก็คงมีใครมองเห็นความเป็นไปได้นั่นแหละนะ แต่ก็คงเป็นคนละแบบกับที่ซากาเนลลีคาดหวังเอาไว้ เพราะได้ยินมาว่า ปัจจุบันจัตุรัสแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ตลาดนัดไปเรียบร้อยโรงเรียนฟลอเรนซ์ไปเสียแล้ว (อะนะ!)

 

หรือผลงาน MAPPA DELL’ABBANDONO (map of abandoned places หรือ แผนที่ของพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง) (2010-ปัจจุบัน) โครงการค้นคว้าที่มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง ว่าสามารถกลายเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าทางศิลปะ วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมทางสังคม ในช่วงเวลาที่เราต่างเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ต่างๆ

ซากาเนลลีเริ่มต้นโครงการนี้ด้วยการใช้โปรแกรมกูเกิลแม็ป สำรวจและบันทึกภาพพื้นที่อาคาร หรือสถาปัตยกรรมที่ถูกทิ้งร้างในเมืองฟลอเรนซ์

หลังจากนั้นไม่นาน โครงการสำรวจก็ขยายไปจนครอบคลุมพื้นที่ทั่วแคว้นทัสคานี และยังคงขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

นอกจากการสำรวจออนไลน์แล้ว ในโครงการนี้ยังมีการจัดประชุมสัมนาเชิงวิชาการ หรือแม้แต่การเข้าไปใช้พื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างเหล่านั้นทำกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ

นับแต่เปิดโครงการจนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ของโครงการนี้ราว 5 แสนครั้ง และมีผู้เข้าชมภาพถ่ายเหล่าบรรดาพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างในคลังภาพกว่า 3 ล้านครั้ง จนในปี 2018 โครงการนี้ก็ถูกทำออกมาเป็นหนังสือ

ความสำเร็จของโครงการนี้ ทำให้วุฒิสภาแห่งสาธารณรัฐอิตาลีหันมาสนใจส่งเสริมและสานต่อโครงการ จนนำไปสู่การนำเสนอผลงานวิจัยในกรุงโรมในปี 2015

และมีการเสนอร่างกฎหมายการทำ “แผนที่ของพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง” ในปี 2019 (เข้าไปดูผลงานได้ที่ https://bit.ly/34rnPMp) ในที่สุด

 

Fluire (2019), Setouchi Triennale 2019

หรือผลงานที่เขาเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะนานาชาติเซโตะอุจิ 2019 (Setouchi Triennale 2019) อย่าง Fluire (2019) (แปลว่า “น้ำไหล”) ที่เกาะโชโดชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของสระว่ายน้ำเก่าในโรงเรียนประถมฮิโตยามะที่ถูกทิ้งร้างมา 15 ปี ด้วยการใช้กล่องใส่เส้นบะหมี่เก่า จำนวน 350 กล่อง ของโรงทำเส้นบะหมี่ (อุตสาหกรรมท้องถิ่นของหมู่บ้านฮิโตยามะและนากายามะ บนเกาะโชโดชิมะ) มาเปลี่ยนเป็นกระถางปลูกต้นไม้จำนวน 2,500 ต้น เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างแห่งนี้ให้กลายเป็นสวนสาธารณะและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน, ปัจจุบัน ต้นไม้และสวนในโครงการนี้ยังคงถูกดูแลรักษาเป็นอย่างดีโดยผู้คนในชุมชน

Fluire (2019), Setouchi Triennale 2019

นอกจากพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างแล้ว ซากาเนลลียังทำโครงการในพื้นที่ทางศิลปะสำคัญๆ อย่างหอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi Gallery) พิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในเมืองฟลอเรนซ์ ในโครงการ GRAND TOURISMO (2018-2019)

ที่เขาบันทึกปฏิกิริยาของผู้ชมงานศิลปะหลากเพศ, วัย, เชื้อชาติ ที่เข้ามาชมงานในหอศิลป์อุฟฟีซี และถ่ายทอดภาพออกมาให้พวกเขาได้เห็นตัวเองราวกับเป็นกระจกเงา

ซึ่งผู้ชมเหล่านี้ (และผู้ชมในปัจจุบัน) ต่างชมงานผ่านอุปกรณ์อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือกล้องวิดีโอกันแทบทั้งนั้น

GRAND TOURISMO (2018 – 2019)
GRAND TOURISMO (2018 – 2019)

ผลงานชุดนี้กระตุ้นผู้ชมในเชิงหยิกแกมหยอก ให้พวกเขาหันมาสำรวจพฤติกรรมของตัวเองด้วยอารมณ์ขัน เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้อย่างน่ารักน่าชัง จนต้องเลื่อนระยะเวลาการแสดงให้ยืดยาวกว่าเดิมถึงสี่ครั้ง และมีผู้ชมเข้ามาชมถึง 2 ล้านคน ในช่วงเวลาจัดแสดง

จนกลายเป็นสถิติใหม่ของหอศิลป์อุฟฟีซีไปในที่สุด

 

สมเสร็จ : SOMSEDTEMPORARY CULTURAL CENTER (2021 – 2022)

ล่าสุด ซากาเนลลีเดินทางมาร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2021 ในผลงานที่มีชื่อว่า สมเสร็จ : SOMSEDTEMPORARY CULTURAL CENTER (2021-2022) โครงการศิลปะเชิงสังคมบนพื้นที่สาธารณะ ที่สร้างบทสนทนากับบริบทของพื้นที่ในโคราชได้อย่างโดดเด่น

โดยเขาทำการดัดแปลงพื้นที่อดีตบ้านพักคนชราเก่าทิ้งร้าง บริเวณประตูพลล้าน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมชั่วคราว ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้พื้นที่, รวมถึงเปิดให้ศิลปินท้องถิ่น, คนทำงานสร้างสรรค์ หรือประชาชนทั่วไป เข้าไปจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างการแสดงสด, เวิร์กช็อป และนิทรรศการต่างๆ ได้ฟรี ภายใต้การสนับสนุนของศิลปิน

สมเสร็จ : SOMSEDTEMPORARY CULTURAL CENTER (2021 – 2022)
สมเสร็จ : SOMSEDTEMPORARY CULTURAL CENTER (2021 – 2022)
สมเสร็จ : SOMSEDTEMPORARY CULTURAL CENTER (2021 – 2022)
สมเสร็จ : SOMSEDTEMPORARY CULTURAL CENTER (2021 – 2022)

ซากาเนลลีใช้ “สมเสร็จ” สัตว์ที่มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดผสมอยู่ในตัวเดียวกัน และยังเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มาใช้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเปรยถึงแนวคิดเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลายของการสร้างสรรค์ และการที่ศิลปะสามารถเข้าถึงผู้คนทุกคนได้ (เขายังมองว่า “สมเสร็จ” ในภาษาไทยมีความหมายถึงความสมบูรณ์แบบอีกด้วย)

โครงการศิลปะสาธารณะ “สมเสร็จ : SOMSEDTEMPORARY CULTURAL CENTER” จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติครั้งที่ 2 Thailand Biennale Korat 2021 ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2564-31 มีนาคม 2565

โครงการได้รับการสนับสนุนจาก Italian Council (9th Edition, 2020) ในโครงการส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัยของอิตาลีสู่โลก โดยหน่วยงาน Directorate-General for Contemporary Creativity แห่งกระทรวงวัฒนธรรมอิตาลี •

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน