ความฝัน! สตาร์ตอัพไทยแลนด์ เทียบขั้นยูนิคอร์น ใช่แค่ยกเว้นภาษี เจ้าสัวน้อย มองหา ‘ดูอิ้ง บิสซิเนส’/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ความฝัน! สตาร์ตอัพไทยแลนด์

เทียบขั้นยูนิคอร์น ใช่แค่ยกเว้นภาษี

เจ้าสัวน้อย มองหา ‘ดูอิ้ง บิสซิเนส’

 

ธุรกิจประเภทสตาร์ตอัพในประเทศไทย ได้เกิดขึ้นมาสักพักใหญ่แล้ว

แต่ไทยพึ่งมีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 32,000 ล้านบาทขึ้นไป) เพียงแค่ 2 ตัว คือ Flash Express และ Bitkub

หนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้สตาร์ตอัพในไทยโตได้ยาก คือ การเก็บภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือ ‘Capital Gain Tax’ จึงไม่ค่อยดึงดูดนักลงทุนมากนัก โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างชาติ

แต่ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ตอัพ จากการยื่นข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) โดยให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยอ้อม ผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) โดยระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนสตาร์ตอัพในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้สตาร์ตอัพไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น และง่ายขึ้น

ซึ่ง DCT ได้คาดการณ์ว่าจากมาตรการภาษีนี้ จะทำให้ภายในปี 2569 จะมีเงินลงทุนในสตาร์ตอัพไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 แสนล้านบาท

และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 7.9 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังจะมี LiVE Exchange เป็นกระดานเทรดหุ้นตัวใหม่ ที่รวบรวมธุรกิจประเภทสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี เป็นมิติใหม่ของการระดมทุน ช่วยให้สตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี มีช่องทางหาแหล่งเงินทุนใหม่ และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ได้ร่วมเป็นเจ้าของ

 

เมื่อหันมาดูประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘สิงคโปร์’ โดยรายงานจาก Startup Genome ในปี 2564 ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์มีระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ (Startup ecosystem) ที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยติดอันดับที่ 17 ของโลก ติดอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ตามหลังปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และโตเกียว)

ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ต้องการให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสิงคโปร์ จึงให้ความให้สำคัญกับการสนับสนุนสตาร์ตอัพในทุกช่องทาง

รวมไปถึงการผลักดันบทบาทของ VC ( Venture Capital หรือ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน) ในการร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่

อีกทั้ง VC บางรายยังมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและการสร้างเครือข่ายในธุรกิจให้แก่สตาร์ตอัพ เมื่อปี 2562 White Star Capital รายงานว่า VC ในสิงคโปร์ได้มีการระดมทุนทั้งสิ้น 210 ครั้ง สร้างมูลค่ารวมกันมากกว่า 1,880 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแต่ยกเว้นการเก็บภาษีเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน เพื่อให้สตาร์ตอัพเติบโตต่อไปได้

ทุกฝ่ายโฟกัสในที่ “ระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ” ที่ประเทศไทยยังมีไม่มากพอ

 

ศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) ระบุถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาจะเห็นวลีนี้บ่อยๆ ที่ว่า ‘สตาร์ตอัพเกิดในเมืองไทย แต่ไปเปิดบริษัทที่เมืองนอก’ ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง โดยหนึ่งในเหตุผลที่ไปเปิดเมืองนอก คือ มีการบริหารจัดการภาษีคล่องตัวกว่า ทั้งนักลงทุนและผู้ก่อตั้งเอง

โดยมติ ครม.ล่าสุดที่ออกมาสนับสนุนมาตรการทางภาษี ข้อดี คือ สตาร์ตอัพสัญชาติไทยจะไปจดทะเบียนต่างประเทศน้อยลง จะหันกลับมาจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยมาก

ต่อมา VC ต่างประเทศ จะนำเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากมีมาตรการยกเว้นทางภาษีแล้ว มีการจ้างบุคลากรในประเทศ พัฒนาความรู้ความสามารถให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตต่อได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ไม่ได้เห็นผลใน 3-6 เดือน แต่ในระยะยาวเห็นผลแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มาตรการยกเว้นภาษีอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตได้ทั้งหมด เพราะก่อนที่จะมีมาตรการยกเว้นภาษี สตาร์ตอัพต้องมีกำไรก่อน โดยสตาร์ตอัพไทยส่วนมากยังไม่สามารถสร้างกำไรได้

การจะปลดล็อกตรงนี้ ต้องมีมาตรการตัวอื่นๆ เสริมเข้าไปด้วย

ต้องมีการปลดล็อกทั้งระบบ โดยเฉพาะต้องทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในสตาร์ตอัพมากขึ้น แทนการทำงานบริษัทขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคลากรที่ทำงานในสตาร์ตอัพ พร้อมช่วยสนับสนุนงบประมาณในด้านต่างๆ เพื่อให้สตาร์ตอัพเกิดขึ้นให้ได้

โดยมาตรการเพิ่มเติมที่อยากให้ภาครัฐช่วย คือต้องดึงดูดคนเก่งเข้าทำงานในสตาร์ตอัพ ด้วยลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้คนเก่งเหล่านี้ช่วยสร้างผลกำไรให้กับสตาร์ตอัพที่ตัวเองทำ เบื้องต้นทางบีโอไอมีโปรแกรมจับคู่ ที่จะช่วยสนับสนุนงบประมาณด้านบุคลากรให้

“ถ้าเทียบมาตรการส่งเสริมสตาร์ตอัพของไทย คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับของสิงคโปร์ แต่ก็อย่าพึ่งได้ท้อ อย่าพึ่งได้ยอมแพ้ เพราะหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะได้ผลดีเหมือนกับสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกาในเร็ววัน ยังต้องใช้เวลาอีกนาน”

 

สอดคล้องกับนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า การทำธุรกิจสตาร์ตอัพในช่วงแรกไม่ได้สร้างผลกำไร การลดภาษีอย่างเดียวจึงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่นัก ถ้าจะมีประโยชน์ต้องไปดูการสนับสนุนสตาร์ตอัพด้านอื่นๆ อย่างการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่ปัจจุบันมีต้นทุนในการขออนุญาตต่างๆ ที่มีราคาแพง รวมไปถึงกฎระเบียบที่มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่รู้อยู่แล้ว และต้นทุนศึกษามีราคาแพง ถ้าลดความเคร่งครัดได้ ก็จะสร้างผลดีกับสตาร์ตอัพมากทีเดียว

“ต่อมาต้องให้แต้มต่อ โดยภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างกับสตาร์ตอัพเหล่านี้ แต่ต้องเป็นสินค้าที่ต้องใช้งานอยู่แล้ว ต่อมาต้องมีการใช้แรงงานคนเก่ง มีทักษะความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ซึ่งมีความพยายามแก้ไขกฎระเบียบอยู่ แต่จะดึงคนเก่งได้แบบประเทศสิงคโปร์หรือไม่ ซึ่งจะไปไกลกว่าแค่การอนุญาตให้เข้ามาทำงานอย่างเดียว แต่ต้องมีการจัดแพ็กเกจให้ เช่น การต่อวีซ่า การถือครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องทำได้ง่าย สภาพสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ถ้ามีการอุดหนุนคนเก่งให้เข้าประเทศได้ ก็จะมาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนเก่งได้”

ศรัณย์ทิ้งท้าย

 

จากความเห็นข้างต้น น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาลจากนี้ ที่ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในแง่ต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องภาษีอย่างเดียว

เชื่อว่าจะนำไปอยู่เลิกความคิดเดิมๆ “คิดทำธุรกิจในไทย แต่บินไปเปิดบริษัทนอกประเทศ”

พร้อมทำให้ความฝันรัฐบาลเป็นจริง ที่ต้องให้ธุรกิจสตาร์ตอัพไทยเติบโตได้มากกว่านี้

แม้ใกล้ช่วงการเมืองเปลี่ยนมือ