ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ไทยมองไทย |
เผยแพร่ |
ผมถ่ายทอดบรรยากาศ เนื้อหาการประชุมวิชาการเพาะพันธุ์ปัญญาประจำปีที่ 3 ต่อจากตอนที่แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการเขียน การบันทึกเรื่องราว ความคิด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ทำโครงงานฐานวิจัยของนักเรียน และครู
ก่อนจะกล่าวถึงบทสรุปสุดท้าย จากประสบการณ์ติดตามโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามาตลอด พบประเด็นที่มีนัยสำคัญบางประการ ได้แก่ การผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้ผลตกถึงนักเรียนและครูเป็นหลัก การทำงานในพื้นที่จริงกับโรงเรียน ในห้องเรียนและแหล่งเรียนรู้ภายนอกรายรอบโรงเรียนไม่ใช่เพียงแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เห็นผลเป็นรูปธรรม ความสำเร็จเกิดขึ้นชัดเจน ยืนยันหลักการทำงานเชิงพื้นที่เป็นคำตอบที่ถุูกต้อง นั่นเอง
การผลักดันผ่านกลไก กระบวนการ บุคคลที่มีอำนาจในส่วนบน เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมีหลายนโยบาย หลายความคิด หลายโครงการ หลายสำนัก ขณะที่งบประมาณจำกัด การขยายโครงการออกไปสุู่โรงเรียน นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศจึงติดขัดด้วยสาเหตุต่างๆ นานา
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายการเมือง ฝ่ายปฏิบัติ ไม่ได้รับรู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัมผัส มองเห็นกระบวนการดำเนินงานเพาะพันธุ์ปัญญาอย่างลึกซึ้ง นอกจากบางคน บางกลุ่ม ในสำนักนวัตกรรมและวิจัยทางการศึกษา ส่วนสำนักอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สำนักพัฒนาครู สำนักกิจการนักเรียน สำนักการศึกษาภาคบังคับ ไม่ได้รับรู้ รับทราบแนวคิด กระบวนการดำเนินงานและผลผลิตของโครงการที่ทำมาเท่าที่ควร
ข้อเสนอเชิงนโยบายของบางท่านที่ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 44 สั่งให้ทุกโรงเรียนทำ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ความเชื่อมั่น การยอมรับ กระบวนการดำเนินงานด้วยจิตใจที่เปิดกว้างของผู้ปฏิบัติ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูแกนนำ อาจารย์มหาวิทยาลัยศูนย์พี่เลี้ยงต่างๆ เชื่อว่าแนวทางเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นทางออกของการปฏิรูปการศึกษา
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของครู นักเรียน ทั้งความรู้ พฤตินิสัย ทักษะการคิด วิเคราะห์ และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็น อาทิ การสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี การทำงานร่วมกับผุู้อื่น ฯลฯ
ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการต้องสนับสนุนให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ให้กว้างขวาง เพื่อใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาต้องเข้าร่วมศึกษา ลงมือปฏิบัติเป็นผุู้ช่วยสถานศึกษา เป็นโค้ชให้ครูแกนนำในโรงเรียนต่างๆ
คณะทำงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน หรือประชารัฐทางการศึกษา ที่ประกาศระดมความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาการศึกษาครั้งใหญ่ ใช้งบประมาณไม่น้อย ต้องศึกษาแนวทาง กระบวนการควมคิด การทำงานของโครงการนี้เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่ผ่านมามีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาขน) เป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งจะครบกำหนดสัญญาความร่วมมืออีกเพียง 2 ปี
ผลักดัน เชิญชวน สนับสนุนให้ทุนสถานศึกษา ทำโครงงานฐานวิจัย เริ่มทำจากห้องเรียน นำร่อง ต่อไปทั้งระดับชั้น และทั้งโรงเรียน ทีละขั้นตอน เช่นเดียวกันทำกับครูจากบางกลุ่มสาระ ก้าวสู่กลุ่มสาระอื่นๆ จนครบทุกกลุ่ม ครบทุกคนทั้งโรงเรียน ที่ต้องพัฒนาครู เปลี่ยนจากผุู้สั่ง ผุู้สอน ครูอำนาจเป็นครูอำนวย เรียนรู้ร่วมไปกับนักเรียน และชุมชน
เป็นไปอย่างที่ครูใหญ่ รศ.สุธีระ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางกล่าว “กระบวนการห้องเรียนต้องเปลี่ยน ใช้จิตตปัญญา พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนใหม่ ล้างพื้นที่อำนาจ ให้เด็กเป็นผู้สร้างความรู้เอง เปลี่ยนพฤติกรรมกระบวนการทำงานกลุ่ม รับฟังคนอื่นมากขึ้น ถามคือสอน เขียนคือคิด สะท้อนคิดคือเรียน”
“ที่ผ่านมาเราพัฒนาครูได้ปีละ 1,000 คน ทำเท่าที่ทำได้ จากครูที่มีทั้งหมดทั่วประเทศ 5 แสนคน”
อย่างไรก็ตาม ผลงานเชิงประจักษ์ของโครงการ นอกจากความเปลี่ยนแปลงของครู และนักเรียน จากครูคนเก่า นักเรียนคนเดิม เป็นครูคนใหม่ นักเรียนคนใหม่ บทบันทึกความคิด ระหว่างทาง และรายงานผลการวิจัยหลากหลายหัวข้อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบทรอบโรงเรียน ที่นำทฤษฎี ความรู้ หลักการในสาระวิชาที่เรียนมาอธิบายให้เกิดการสังเคราะห์เป็นความรู้
ตัวอย่างเฉพาะโรงเรียน ในกลุ่มศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยมหิดล ร.ร.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ สมุทรสาคร ชั้น ม.2 ประเด็นหลัก มะพร้าว แตกเป็นหัวข้อย่อย 10 โครงงาน ร.ร.ทานตะวันไตรภาษา ม.1 4 ประเด็นหลัก ลดปัญหา เพิ่มคุณค่า ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 17 โครงงานย่อย ร.ร.เทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) ชั้น ม.2 ประเด็นหลัก วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นท่าฉลอม หัวข้อย่อย 10 โครงงาน ร.ร.ท้ายหาด ชั้น ม.1 2 ประเด็นหลัก ชะคราม หัวข้อย่อย 11 โครงงาน
ร.ร.บ้านคลองสมบูรณ์ ชั้น ม.1 3 ประเด็นหลัก ดิน หัวข้อย่อย 10 โครงงาน ร.ร.บ้านแพ้ววิทยา (ตี่ตง) ชั้น ม.3 หัวข้อหลัก สะเดา หัวข้อย่อย 10 โครงงาน ร.ร.พันท้ายนรสิงห์วิทยา ชั้น ม.3 4 ประเด็นหลัก นาเกลือ หัวข้อย่อย 10 โครงงาน ร.ร.วัดสวนส้ม (ชื่นสินอนุสรณ์) ชั้น ม.1 3 ประเด็นหลัก อาชีพในชุมชน แตกเป็นหัวข้อย่อย 10 โครงงาน ร.ร.อัมพวันวิทยาลัย ชั้น ม.2 ประเด็นหลัก มะม่วงหาวมะนาวโห่ แตกเป็นหัวข้อย่อย 10 โครงงาน รวมเป็นเล่มรายงาน 100 โครงงาน ถ้ารวมทั้งประเทศ 85 โรง รายงานวิจัยเป็นกี่เล่ม
ไม่อ่าน ไม่สัมผัส ไม่รุู้หรอกว่า มีครู มีนักเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเอง กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการศึกษาโรงเรียนให้เห็นแล้ว
อ่านแล้วไม่น่าเชื่อ เป็นผลงานระดับนักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัยบางคนชิดซ้าย
การขยายผลของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา นวัตกรรมการศึกษาที่ใช้โครงงานฐานวิจัย เป็นเครื่องมือ เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ พัฒนาอาจารย์คณะครุศาสตร์และครูประมาณ 300 คนต่อปีให้เข้าใจ RBL Research Based Learning อาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่โค้ชครู ที่จะเป็นผู้โค้ชนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ครูช่วยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบ RBL ของนักเรียนประมาณ 4,000 คน
โดยเครื่องมือ 4 ด้านคือ เครื่องมือพัฒนาจิตใจ เครื่องมือพัฒนาความคิด เครื่องมือสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเครื่องมือการทำโครงงานฐานวิจัย
เครื่องมือที่ใช้พัฒนาจิตใจคือการประชุมปฏิบัติการจิตตปัญญาศึกษา ที่ให้ครูพิจารณาตนเองให้เข้าใจจิตวิญญาณของความเป็นครูและการสร้างความ สัมพันธ์ใหม่กับนักเรียนเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศห้องเรียนจากระบบใช้อำนาจมาเป็นระบบความสัมพันธ์แนวราบที่ครูและศิษย์ต่างก็เรียนรู้ไปด้วยกัน
เครื่องมือที่ใช้พัฒนาความคิด คือการประชุมปฏิบัติการความคิดเชิงเหตุผล ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโครงการนี้
เครื่องมือที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ การสร้างชุมชนเรียนรู้ (Professional Learning Community PLC) ผ่านการสื่อสารด้วยระบบ ICT การเขียนสะท้อนคิด (Reflection)
แนวคิด Research Based Learning ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดการการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ลำปาง ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช นำกระบวนการ RBL ไปใช้ในการผลิตบัณฑิต สถาบันที่ไม่ได้ร่วมเป็นศูนย์พี่เลี้ยงให้ความสนใจนำไปขยายผล เช่น มรภ.วไลยอลงกรณ์ กำลังพยายามนำกระบวนการ RBL ไปใช้ในวิชาการศึกษาทั่วไป General Education
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ ขอให้ช่วยขยายผลกับโรงเรียนมัธยมขยายโอกาส 9 แห่ง และโรงเรียนในโครงการ อย่างน้อย 7 โรง วิชชานารี บุญวาทย์วิทยาลัย จักรคำคณาธร เสริมงามวิทยาคม แจ้ห่มวิทยา บ้านแพ้ววิทยา (ตี่ตง) นารีวิทยา เริ่มขยายผลทำทั้งโรงเรียน
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ 5 โรงเรียนในจังหวัดน่านและแพร่ ภายใต้การสนับสนุนของส้มจีน อุณหะนันท์ มูลนิธิ นำแนวคิดไปสู่การจัดการศึกษาของโรงเรียน
ครับ นวัตกรรมทางการศึกษาที่เห็นผลเป็นรูปธรรมเช่นนี้ จะมีอนาคตแบบไหน เป็นภาระหน้าที่ของทุกฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุน ผลักดันอย่างไร หรือปล่อยให้กลายเป็นเพชรในตม ต่อไป