เรื่องสั้น : ต้นอะไรก็ไม่รู้

ท้องนาลุ่มเจ้าพระยาฟากตะวันออกในเขต จ.ปทุมธานี หลังจากสะพานข้ามแม่น้ำสร้างเสร็จ ความแออัดของกรุงเทพฯ และนนทบุรี ก็ถูกผลักมาให้ทางด้านนี้ช่วยบรรเทา หมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แข่งกันผุดทำราวกับบ้านหลังหนึ่งซื้อขายง่ายในราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

แต่งงานไม่นาน ข้าพเจ้ากับภรรยาก็ได้เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่งในย่านดังกล่าว อาจจะไกลเมืองสักหน่อย แต่ก็ทำให้เราทั้งคู่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในราคาไม่สูงมาก ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว หยุดเร่ร่อนตระเวนหาห้องเช่า

บ้านหลังนี้เปรียบเสมือนเรือนหอของเราสองคน อีก 30 ปีเป็นอย่างน้อยที่ข้าพเจ้าและภรรยาจะต้องมีหนี้สินผูกพันกับธนาคาร ต้องใช้ชีวิตที่นี่ กินอยู่หลับนอนที่นี่ เว้นแต่ว่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นมาเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องตัดสินใจขายบ้านต่อ

หลังจากย้ายของเข้าอยู่ เพื่อนชื่อทศพลซึ่งเดินทางมาเยี่ยมในเย็นวันหนึ่ง ได้มอบกล้าพันธุ์ต้นไม้คู่หนึ่งให้เป็นของขวัญขึ้นบ้านใหม่

“ต้องปลูกเป็นคู่” เขาว่า

“ต้นอะไรวะ” ข้าพเจ้าถามด้วยไม่รู้จัก และไม่เคยเห็นพันธุ์ไม้ชนิดนี้มาก่อนเลยในชีวิต

เพื่อนส่ายหน้า “กูก็ไม่รู้ว่ะ แต่ที่บ้านปลูกเหมือนกันคู่หนึ่ง เป็นไม้ใหญ่ ให้ผล ลูกดก กินอร่อย”

“มึงกินทั้งที่ไม่รู้จักนี่นะ”

“คนอื่นกิน คนบ้านกูก็กินตามๆ กันมา ไม่เห็นจะตายห่าอะไรเลย เอาน่า มึงลองปลูกดูแล้วกัน มันเป็นไม้มงคลด้วย” ว่าพลางชำเลืองมองบริเวณบ้าน “นั่น… มุมนั้น แล้วอีกต้นตรงมุมโน้น”

ทศพลจัดแจงเรื่องตำแหน่งปลูกให้เสร็จสรรพ เขาถามถึงจอบ แล้วก็ชักชวนขุดดินเพื่อปลูกต้นอะไรก็ไม่รู้คู่นี้ในทันที แน่นอน ข้าพเจ้าไม่อาจที่จะปฏิเสธความหวังดีของเพื่อนได้

นอกจากต้นอะไรก็ไม่รู้ที่ทศพลให้มา ปลูกอยู่ตรงมุมด้านหน้าซ้าย-ขวา ที่บ้านของข้าพเจ้ายังมีต้นไม้อีกหลายชนิด ซึ่งซื้อหามาปลูกเพิ่มเติม หวังอนาคตอยากเห็นบริเวณบ้านร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผลอย่าง มะขาม มะม่วง มะยม ขนุน ทับทิม มะเฟือง หรือไม้ดอกอย่าง จำปี จำปา คูน ฯลฯ ทั้งหมดอัดกันแน่นอยู่ในบริเวณบ้านแคบๆ ที่รวมตัวบ้านแล้วราว 50 ตารางวา

แม้จะรักต้นไม้ แต่เพราะไม่ค่อยมีเวลา ทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ

แต่ละวันทำได้เพียงลากสายยางมาฉีดน้ำให้ชุ่มฉ่ำอย่างฉุกละหุกในช่วงเช้า นานๆ ครั้งที่เป็นวันหยุดถึงจะได้ซื้อหาปุ๋ยตามมีตามเกิดมาใส่ ซึ่งไม่ใช่ตามสูตรอย่างที่พืชต้องการเลย

นานเป็นสัปดาห์ที่ไม่ได้รดน้ำนั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ต้นที่เหี่ยวเฉาแห้งตายไป และซื้อต้นใหม่มาปลูกทดแทนก็มีอยู่เรื่อยๆ

แต่ไม่ใช่กับต้นอะไรก็ไม่รู้คู่นั้น!

มันทนทายาท ขนาดขาดน้ำไปเกือบเดือนช่วงที่ข้าพเจ้ากับภรรยาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ พบว่าทั้ง 2 ต้นยังดูสดชื่น ใบเขียวขจีโบกไหวๆ เหมือนทักทายการกลับมา มิหนำซ้ำยังแตกกิ่งก้านสะพรั่ง เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

ผ่านไป 3 ปี จากความสูงเพียงศอก บัดนี้ ต้นอะไรก็ไม่รู้คู่นี้ก็สูงท่วมหัว และดูหมือนว่ากำลังแข่งกันออกดอก ซึ่งไม่นานก็คงจะติดผล

“ตกลงรู้หรือยังคะว่าต้นอะไร” ภรรยาข้าพเจ้าถามในหัวค่ำวันหนึ่งที่กำลังฉีดน้ำใส่ต้นไม้นี้

“ไม่รู้สิ”

“ไม้มงคลหรือเปล่า” เธอถาม

ภรรยาข้าพเจ้าเป็นคนถือเรื่องโชคลาง การปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน ถ้าเป็นไปได้ ต้องตามคติโบราณ เรื่องทิศทาง เรื่องชื่อพ้อง เช่น ต้นขนุนเพื่อให้คนสนับสนุน อุดหนุน ควรปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยให้หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ปลูกในวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี ต้นมะยมเพื่อให้คนนิยมชมชอบ ต้องปลูกไว้ทางทิศตะวันตก เชื่อว่าจะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจได้ ต้นมะขามเพื่อให้คนที่อยู่อาศัยในบ้านเป็นผู้ที่น่าเกรงขาม เป็นต้น ดังนั้น การที่เธอต้องมาเจอกับต้นอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่หน้าบ้าน ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่น้อย

“ไม้มงคลมั้ยเหรอ… เห็นไอ้พลมันว่าอย่างนั้นนะ” ข้าพเจ้าทำหน้าทะเล้น หันไปทางภรรยา “แต่… แต่ที่สำคัญ กินได้”

“บ้า” เธอส่ายหน้า “ไม่รู้ว่าต้นอะไร แต่ยังจะกินนี่นะ”

“อร่อยนะ” ข้าพเจ้ายกเอาคำของเพื่อนมาอ้างต่อ จากนั้นชี้ชวนเธอดูต้นไม้ “นี่ๆ ติดผลแล้ว เดี๋ยวเราก็ได้กินกันแล้ว”

“ไม่เอาด้วยหรอก” ว่าจบก็สะบัดหน้าเดินเข้าบ้าน

ทิ้งตัวลงนั่งบนโซฟา กดรีโมตเปิดโทรทัศน์ ทุกสถานีกำลังรายงานสดปฏิบัติการของดีเอสไอเข้าค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสของวัด ในฐานะผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน อันเป็นเงินที่ลูกศิษย์ได้มาอย่างผิดกฎหมายแล้วนำมาถวาย

เสียงภรรยาตะโกนถามออกมา “ตัวเอง…คิดว่าธัมมชโยยังอยู่ในวัดมั้ย”

ข้าพเจ้าตอบทีเล่นทีจริงว่า “ล่องหนไปแล้วมั้ง”

ทศพลและเพื่อนอีกคนติดรถข้าพเจ้ามาสังสรรค์ที่บ้านในหัวค่ำวันหนึ่ง เป็นอย่างนี้บ่อยๆ สำหรับวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ในวันศุกร์ช่วงเงินเดือนออก ต้องฉลอง

ขณะเพื่อนช่วยกันขนข้าวของที่ซื้อมาไปให้ภรรยาข้าพเจ้าที่อยู่ในครัว ข้าพเจ้าก็ลากสายยางมารดน้ำต้นไม้ไปเรื่อยๆ จนเมื่อทั้งหมดตั้งโต๊ะ เตรียมข้าวปลาอาหารเสร็จ ทศพลก็ตะโกนเรียกข้าพเจ้าให้ไปร่วมวงได้ เขามาเยี่ยมบ่อยจนแทบจะกลายเป็นเจ้าของบ้านคนหนึ่งไปแล้ว

“พอเถอะ มึงจะรดอะไรนักหนาวะ มันไม่ตายง่ายๆ หรอก… มานี่ กูมีของดี…” ทศพลพูดเสียงดังลั่น จากนั้นหยิบเหล้าชั้นดียี่ห้อหนึ่งออกมาวางบนโต๊ะ เป็นเหล้าราคาแพงที่พวกเราไม่เคยคิดจะซื้อดื่ม หรือต่อให้คิดก็คงไม่มีปัญญาแน่นอน

“เฮ้ย ของดีว่ะ มึงไปเอามาจากไหน” ข้าพเจ้าถาม

เขายืดอกภูมิใจ แล้วบอกว่า “เดือนก่อน กูกลับไปเยี่ยมบ้าน เห็นเหล้านี่อยู่ในตู้นานละ เลยขออนุญาตพ่อติดมือมา”

“ขอ”

“เปล่า ติดมือมาเฉยๆ”

“ไอ้ห่า พ่อมึงรู้ระวังโดนด่ายับ”

ส่ายหน้าพร้อมรอยยิ้มเจ้าเล่ห์ แล้วทศพลก็พูดว่า “พ่อไม่รู้หรอก เดี๋ยวหมดนี่ เราก็หาซื้อเหล้าถูกๆ ใส่ไปแทน เอากลับไปไว้ที่เดิม แกไม่มีทางรู้ ตั้งไว้อย่างนั้นๆ แหละ คงไม่คิดดื่ม และถึงจะดื่มก็ไม่รู้ว่าเป็นเหล้ายี่ห้ออื่น… มึงอย่าคิดเยอะ มา มา มา… เลิกถามมาก ดื่มกันได้แล้ว”

พูดจบก็รินเหล้าแบบเพียวๆ 3 แก้ว ร้องเรียกเปิดการสังสรรค์ “อ้าวชน!”

ผมยกดื่มรวดเดียวหมด ส่งเสียงร้องอ้า! เพื่อนอีกคนก็เช่นกัน หลังวางแก้วเหล้าเขาก็พูดขึ้นว่า “รสชาติแปลกๆ ของแท้หรือเปล่าวะ”

ทศพลขมวดคิ้ว “แปลกยังไงวะ”

ข้าพเจ้าเสริม “เออ นั่นสิ แปลกยังไง… ไอ้ห่า ทำยังกะมึงรู้ว่ารสชาติเหล้านี้มันยังไง เคยดื่มเหรอ ถึงรู้ว่าแบบไหนแท้ แบบไหนไม่แท้”

“เออว่ะ” เพื่อนว่า

แล้วเราทั้งหมดก็หัวเราะพร้อมกันดังลั่น จนภรรยาผมซึ่งนั่งดูโทรทัศน์อยู่ในบ้านต้องส่งเสียงปรามออกมาทำนองว่าให้เกรงใจเพื่อนบ้าน

ทั้งหมดเงียบ – เงียบจนได้ยินเสียงรายงานข่าวจากโทรทัศน์

ข่าวนำเสนอปฏิบัติการบุกค้นวัดพระธรรมกาย การเข้าจับกุมตัวพระธัมมชโยซึ่งยืดเยื้อยาวนานมากๆ ภาพตัดมาสู่เหตุการณ์ชายคนหนึ่งประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการปีนขึ้นเสาสัญญาณโทรศัพท์ สูงขึ้นไป 10 กว่าเมตร ท่ามกลางเจ้าหน้าที่อ้อนวอนให้กลับลงมา และสายตาผู้คน สื่อมวลชนมากมาย

แล้วจู่ๆ เขาก็ใช้เชือกผูกคอตัวเองตายอยู่บนนั้น เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตไว้ไม่ทัน

“ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย สำหรับศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายที่ออกมาประท้วง ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้นมีความผิด ขอให้สลายตัว เดินทางกลับบ้านได้แล้ว เลิกปกป้องคนผิด อย่าตกเป็นเครื่องมือของคนผิด ถามว่าที่ปกป้องกันอยู่นี้ ยังเป็นพระอยู่ไหม แล้วนี่ เป็นพุทธแท้หรือเปล่า”

เสียงใครสักคนในรัฐบาลชุดนี้ ข้าพเจ้าและเพื่อนไม่ได้สนใจลุกไปดูหน้าผู้พูด

วงเหล้ายิ่งดึกยิ่งครึกครื้น เราสามคนคุยกันเรื่องสัพเพเหระ แล้วจู่ๆ ทศพลก็วกมาเรื่องต้นอะไรก็ไม่รู้

“กูรู้แล้วว่า ไอ้สองต้นนี้มันชื่ออะไร” เขาชี้ไปที่ต้นไม้ มือสะเปะสะปะด้วยฤทธิ์ความเมา

“เฮ้ย จริงดิ ดีเลย กูติดใจต้นไม้มึงมานานมาก ชื่ออะไรวะ”

ทศพลหันไปมองต้นไม้ทั้งคู่สลับไปสลับมา เขาลุกพรวดจากเก้าอี้ “กูว่าน่าจะกินได้แล้วนะ” พูดจบก็เดินไปที่ต้นอะไรก็ไม่รู้ทางมุมซ้าย เด็ดผลติดมากำมือหนึ่ง วางไว้บนโต๊ะ เดินไปอีกต้นทางมุมขวา เด็ดผลมาอีกกำมือหนึ่ง วางไว้บนโต๊ะใกล้ๆ กัน

ผลของต้นอะไรก็ไม่รู้ทั้งคู่ มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ขนาดเท่าลูกมะยม ต่างก็แต่กำมือแรกที่ทศพลเด็ดมานั้นผลมีสีแดง ส่วนอีกกำมือหนึ่งผลมีสีเหลือง

ต้นไม้พันธุ์เดียวกัน แต่ให้ผลสีต่างกัน

ทศพลหันมามองหน้าข้าพเจ้า แล้วพูดว่า “มึงปลูกยังไงของมึงวะ ทำไมมันไม่เหมือนกัน”

“กูจะรู้มั้ย” ข้าพเจ้าสวน “ก็มึงให้กูมาเองทั้งสองต้น กูก็ปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ปกติ”

ทศพลครุ่นคิด ขณะเพื่อนอีกคนทำท่าจะหยิบผลไม้ใส่ปาก แต่ถูกห้ามไว้ก่อน

“เดี๋ยวๆ” ทศพลว่า “ที่บ้านกูมีอยู่สองต้น ลูกสีเหลืองทั้งคู่ เพราะฉะนั้น ถ้ามึงจะกิน ต้องกินสีเหลือง กูว่าลูกแดงนี่มีปัญหา ไม่ใช่พันธุ์แท้”

“ไม่มั้ง” เพื่อนแย้ง “อาจเพราะดิน เพราะแดดด้วยหรือเปล่า มึงดูไอ้ต้นเหลืองนั่นสิ อยู่ใกล้แท็งก์น้ำ แถมยังมีต้นมะขามใหญ่ให้ร่มอีก ส่วนไอ้ต้นแดง อยู่กลางแจ้ง โดนแดด ร้อนทั้งวัน น่าจะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้มันต่างกัน”

“มึงพูดมีเหตุผล” ทศพลว่า “แต่ยังไงกูก็ยังยืนยันนะว่า สีเหลืองเป็นพันธุ์แท้ เพราะมันเหมือนที่บ้านกู แต่ไอ้ลูกแดงนั้นต้องกลายพันธุ์ ไม่แท้ ไม่น่าอร่อย มึงอย่ากินเลย”

เพื่อนส่ายหน้า คว้าผลไม้สีละลูกไว้ในมือซ้าย-ขวา แล้วเอ่ยว่า “กูแดกมันทั้งคู่นี่แหละ ลองดู” เคี้ยวลูกหนึ่งกลืนลงท้องแล้วโยนอีกลูกเข้าปาก

“เออ กูเห็นด้วย” ข้าพเจ้าหยิบผลไม้ทั้งสองสีแล้วทำตามเพื่อน

รสชาติของผลไม้พันธุ์เดียวกันแต่คนละสีนั้น ต่างกันไปคนละทาง หนึ่งเปรี้ยวช่วยกระตุ้นความรู้สึกสดชื่น อีกหนึ่งนั้นหวานให้ความรู้สึกเปี่ยมสุข

“ตอนนี้มึงบอกกูได้ยังวะ นี่มันต้นอะไร” ข้าพเจ้าถาม

ทศพลยกมือขึ้นป้องปาก ทำท่าเหมือนกระซิบอย่างเกรงภรรยาข้าพเจ้าจะได้ยิน เขาว่า “ต้นปรู๊ด”